Skip to main content
sharethis

‘วิโรจน์ ก้าวไกล’ ติงงบประมาณปี 2568 ของกองทัพบก งบฯ บุคลากรสูงมาก จนไม่มีเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ขณะที่งบประมาณจัดหาอะไหล่เพื่อซ่อมแซมต่ำ สวนทางงบฯ รถประจำตำแหน่งนายพล เชื่อยานเกราะขาดอะไหล่จอดพักอีกยาว มั่นใจพร้อมรบไม่ถึง 2 ใน 3 รับมือสถานการณ์เมียนมา หรือบริบทความท้าทายใหม่ยาก

 

21 มิ.ย. 2567 ยูทูบ TP Channel และเฟซบุ๊ก Wiroj Lakkanaadisorn ถ่ายทอดสดออนไลน์วานนี้ (20 มิ.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 3 เป็นพิเศษ ประจำวันที่ 20 มิ.ย. 2567 วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2

เมื่อเวลา 18.08 น. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณปี 2568 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งพบว่ากระทรวงกลาโหม มีการเบิกจ่ายรายจ่ายในระดับที่ต่ำมากๆ อย่างน่าเป็นห่วง

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อ 7 มิ.ย. 2567 พบว่าอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายของกระทรวงกลาโหม อยู่ที่ 17.67 เปอร์เซ็นต์ กองทัพบก 4.69% กองทัพเรือ 23.24% กองทัพอากาศ 11.73% และปีงบประมาณ 2567 ที่เหลืออยู่อีกแค่ 3 เดือน จะเบิกจ่ายทันได้อย่างไร ต่อให้เบิก ใบ PO และกันงบสั่งซื้อเหลื่อมปี ยังไงก็ถือเป็นการเบิกจ่ายที่ย่ำแย่มากๆ และสุดท้ายต้องมาเปิดเรียกใบสั่งซื้อในช่วงท้ายปีงบประมาณ ท่ามกลางข้อครหาว่า ที่ล่าช้าอาจเพราะว่าต้องเรียกรับเงินทอนจากบริษัทโบรกเกอร์ที่ทำหน้าที่ซื้ออาวุธมาและขายไป

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ยานเกราะที่ซื้อมาต้องจอดซ่อมนานแรมปี เพราะต้องรออะไหล่ ซึ่งปัญหาการรออะไหล่ก็เป็นปัญหาเดิมๆ ที่รู้ๆ กันอยู่ แต่ก็ไม่ยอมสั่งซื้อยานเกราะต่างๆ จากบริษัทภายในประเทศ ทั้งที่บริษัทเหล่านี้เคยผลิตเพื่อส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก ขายให้สหประชาชาติด้วยซ้ำ มีสำรองช่างวิศวกรและอะไหล่อย่างเพียงพอ ขาดแค่ไม่มีเงินสำรองพอปรนเปรอนายพล

งบบุคลากรลดลง แต่ไม่ได้เกิดจากการปรับโครงสร้าง

วิโรจน์ กล่าวว่า นายทหารระดับสูงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทราบดีว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระทรวงกลาโหมขาดงบประมาณที่จะพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพก็คือ งบประมาณบุคลากรที่มีสัดส่วนที่สูงมาก จนกองทัพไม่เงินมากพอที่จะส่งเสริมด้านความมั่นคง และพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ทันสมัย ทั้งๆ ที่เห็นภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ผุดขึ้นตรงหน้า ถ้าดูงบประมาณบุคลากรของกระทรวงกลาโหม แม้ว่าจะลดลง แต่ไม่ได้มาจากการปรับปรุงโครงสร้างภายในกระทรวงกลาโหม

วิโรจน์ กล่าวว่า โดยงบประมาณบุคลากรทั้งกระทรวงฯ ลดลงเพียงแค่ 2,519 ล้านบาท ลดลงแค่ 2.31% แต่ภาพรวมกระทรวงกลาโหมทั้งกระทรวงได้รับงบฯ ในปี’68 เพิ่มขึ้น 2,603 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.31 เปอร์เซ็นต์ สรุปคือทุกเหล่าทัพงบประมาณเพิ่มขึ้น แต่ว่าการลดงบประมาณบุคลากรเป็นการลดโดยธรรมชาติ ไม่ได้ลดจากการปรับปรุงโครงสร้างภายในกระทรวงแต่อย่างใดที่กองทัพอ้างว่าเคยมีการควบรวมหน่วยงาน แต่เป็นการควบรวมหน่วยงานเพียงไม่กี่หน่วยเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นการลดงบประมาณบุคลากร เพราะว่าการทยอยเกษียณของกำลังพลในช่วงสงครามเย็น

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ตอนนี้โครงการ ‘เกษียณก่อนกำหนด’ (Early Retire) ทำมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุที่ไม่สำเร็จ เพราะว่าไม่มีเงินชดเชยจ่ายให้ทหารที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งใช้งบฯ แค่ปีละประมาณ 250 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายเงินชดเชยประมาณ 7 เดือน ซึ่งเคยมีการเสนอเข้า ครม.ไปแล้ว แต่ไม่อนุมัติ ซึ่งในงบประมาณปี 2568 ตรวจดู ก็ไม่พบงบประมาณในส่วนนี้เหมือนกัน และโครงการเกษียณก่อนกำหนดจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร

นอกจากนี้ ที่บอกว่าจะลดนายพลลงครึ่งหนึ่ง ต้องอ่านหมายเหตุว่าจะเป็นนายพลผู้ทรงคุณวุฒิลงครึ่งหนึ่ง จากปี 2551 ที่มีนายพลอยู่ 752 นาย ปัจจุบันลดลงอย่างต้วมเตี้ยม 433 นาย กว่าจะเหลือ 384 นายตามเป้าหมายต้องรอถึงปี 2571 ส่วนนายพลอีก 965 นาย ถ้าไม่คิดควบรวมหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนในกระทรวงกลาโหม นายพล 965 นายจะดำรงอยู่ต่อไป

ต้องจริงจังกับการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ

วิโรจน์ กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมาที่มีการบโดยใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ในการโจมตี การค้ายาเสพติด การค้าของเถื่อน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่กองทัพบกให้ความสำคัญกับโดรนต่ำมากๆ แม้ว่ามีโครงการจัดหาอากาศไร้นักบินทางยุทธวิธี  หรือโดรน ก็เป็นการจัดซื้อเพียง 10 ตัว มีกรอบวงเงิน 700 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2568 จำนวนเงิน 105 ล้านบาท สำหรับโครงการจัดหา ‘Anti-Drone’ เพื่อสกัดกั้นโดรนของฝ่ายต่อต้าน มีวงเงิน 540 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณในปี 2568 จำนวน 81 ล้านบาท งบแค่นี้สะท้อนการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำและล้าหลังมาก ละเลยต่อรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

วิโรจน์ กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงการจัดซื้อที่ดูเบาต่อสถานการณ์ เขาบอกเลยต่อให้ซื้อเยอะกว่านี้ ก็จะเจอปัญหาอีกแบบหนึ่ง เพราะปัจจุบัน หลักนิยมที่จัดทำโดยกรมยุทธศึกษาทหารบก หรือกรมยุทธการก็ตาม ซึ่งหลักนิยมเป็นการกำหนดการใช้โดรนของกองทัพบกก็ไม่มีการกำหนดถึงแนวทางในการใช้โดรนอย่างครอบคลุม ไม่มีการระบุถึงแนวทางของการใช้โดรน เพื่อยุทธการ ไม่มีการใช้โดรนพลีชีพ โดรนติดอาวุธ มีแค่การใช้โดรนในการลาดตระเวนเท่านั้น ไม่มีแผนฝึกกำลังพล กำลังพลสำรองเกี่ยวกับการบังคับและพัฒนาโดรน นอกจากนี้ โดรนที่กองทัพบกจัดซื้อมาจากหลากหลายประเทศ เช่น อิสราเอล ตุรกี จีน และอื่นๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันหรือไม่ เมื่อ Datalink ไม่ทำงานเพราะซื้อมาจากหลายแหล่งและต้องปฏิบัติภารกิจกับยุทโธปกรณ์ประเภทอื่นๆ อีก

วิโรจน์ ระบุว่า ปัจจุบัน ขบวนการยาเสพติดมีการใช้โดรนตรวจตราเจ้าหน้าที่ และขนย้ายยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ชั้นใน มีรายงานจากกองกำลังผาเมืองตั้งแต่ปี 2565 ว่าก่อนกองกำลังจะขนยาเสพติดเข้ามา จะมีการใช้โดรนบินสำรวจจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อดูความเคลื่อนไหวจากเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยก่อน ซึ่งรายงานระบุว่าทหารไทยเห็นเองกับตา แต่กองทัพบกใส่ใจหรือไม่ ไม่ทราบ เพราะทุกวันนี้ยังให้ทหารบกออกไปเสี่ยง ลาดตระเวนและไปเจอกับขบวนการเหล่านี้โดยบังเอิญ นี่ยังไม่นับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ กับปัญหายาเสพติด ค้าของเถื่อน การค้ามนุษย์ ก็รู้ทั้งรู้ว่าคนยาขนคนผ่านแม่น้ำสุไหง-โกลก ทั้งที่รู้ตำแหน่งแน่ๆ แทนที่จะจัดงบประมาณติดตั้ง AI ที่มีขีดความสามารถในการตรวจจับผู้ต้องสงสัยอย่างแม่นยำ บันทึกข้อมูลในระบบคลาวด์ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังไม่มีใครทำลายข้อมูลที่บันทึกไปได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการที่จะปราบปรามปัญหายาเสพติด แต่ไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ ไม่มีการลงทุนเทคโนโลยีในส่วนนี้เลย  ซึ่งมีข้อสงสัยว่าที่ไม่ยอมติดตั้งกล้อง ถ้าติดตั้งกล้อง AI จะไม่สามารถติดสินบนเจ้าหน้าที่หรือเสนอผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ให้เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ กับเรื่องเหล่านี้ใช่หรือไม่

ที่มา: เฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ยานเกราะพังจอดยาว งบประมาณซ่อม และหาอะไหล่ ยานเกราะ สู้งบฯ รถประจำตำแหน่งของนายพลไม่ได้

วิโรจน์ ระบุงบประมาณซ่อมบำรุงกันบ้าง แม้ว่างบประมาณในการซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก จะเพิ่มขึ้นจาก 2,810 ล้านบาท เป็น 2902 ล้านบาทในปี 2568 เพิ่มขึ้น 92 ล้านบาท แต่พอมาพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจัดหาสิ่งอุปกรณ์ หรือชิ้นส่วนซ่อมคงคลัง หรืองบฯ ซื้ออะไหล่ ปรากฏว่าถูกปรับลดในปี 2568 จากเดิม 1,675 ล้านบาท เหลือ 1,095 ล้านบาท ลดลง 580 ล้านบาท ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ในเมื่องบประมาณซื้ออะไหล่ลดลง แล้วจะแก้ไขปัญหายานเกราะ ล้อยาง ยานพาหนะที่ใช้ในทางยุทธการ ที่จอดซ่อมสะสมจำนวนมากที่รออะไหล่นานแรมปีได้อย่างไร จึงเชื่อว่างบประมาณซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น 92 ล้านบาท น่าจะเป็นการบำรุงรักษาพื้นฐาน แต่ยานเกราะที่จอดซ่อมเพราะรออะไหล่ ก็ยังต้องจอดรอต่อไป

วิโรจน์ ระบุว่า พอเจาะมาที่รายละเอียดในโครงการที่เกี่ยวข้องกับซ่อมบำรุงยานเกราะล้อยางโดยเฉพาะ ซึ่งยานเกราะล้อยางมีความสำคัญในการปฏิบัติภารกิจพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณเท่าไร 40 ล้านบาท ยานเกราะตระกูล BTR-3E1 จำนวน 20 ล้านบาท VN-1 จำนวน 15 ล้านบาท และ V-150 จำนวน 5 ล้านบาท งบประมาณเพียงเท่านี้จะทำให้กองทัพรักษาเป้าหมายการดำรงสภาพยานเกราะล้อยางให้มีความพร้อมใช้ไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 จะทำได้อย่างไร นอกจากนี้ ศักยภาพของศูนย์ซ่อมสร้างของกรมสรรพาวุธทหารบกไม่สามารถซ่อมได้ เพราะศักยภาพจำกัด แต่กองทัพบกกลับตั้งงบประมาณในการว่าจ้างภายนอกในการซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธกรณ์ไว้แค่ 155 ล้านบาท ซึ่งเชื่อได้เลยว่าอัตราความพร้อมใช้ยานเกราะล้อยางจะต้องลดต่ำลงไปกว่านี้อีกในขณะที่สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมามีความจำเป็นต้องใช้อย่างมาก

งบประมาณซ่อมยานเกราะเองกับจ้างซ่อมรวมกัน 195 ล้านบาท แต่เมื่อลองเทียบกับรถประจำตำแหน่งของนายพล ปีหนึ่งกว่า 550 ล้านบาท นี่ละครับการจัดงบประมาณที่คำนึงถึงภัยคุกคาม มากกว่างบซ่อมยานเกราะล้อยางถึง 355 ล้านบาท ซึ่งเป็นการงบฯ ที่ไม่คำนึงการปฏิบัติงานของทหารหาญ

ที่มา: TP Channel

หากไม่ลดเงินบุคลากร จะไม่มีพื้นที่ลงทุนเทคฯ

วิโรจน์ กล่าวว่า มาที่งบประมาณการฝึกศึกษาทางการทหาร เมื่อเอามารวมกับค่าใช้จ่ายในการเตรียมกำลังพลในการป้องกันประเทศ ในปี 2568 ได้รับงบประมาณรวมกัน 2 ก้อน รวมกัน 2,747 ล้านบาท ในขณะที่ในปี 2567 อยู่ที่ 2,165 ล้านบาท ต้องถามว่างบประมาณที่เพิ่มขึ้นเพราะอะไร มีการฝึกร่วมกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศหรือไม่ มีการฝึกพร้อมกับการบังคับโดรนหรือหน่วยต่อต้านโดรนหรือไม่ ในเมื่อยอดการเกณฑ์ทหารก็ลดลง และงบประมาณบุคลากรซึ่งสะท้อนถึงกำลังพลก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน ถ้าไม่แก้ไขโครงสร้างหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม ปรับลดอัตราบรรจุราชการให้สอดรับกับบริบทความมั่นคงโลกยุคใหม่ กองทัพจะไม่พื้นที่ทางการคลัง ไม่มีงบประมาณลงทุนเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งจะทำให้กองทัพอ่อนแอในระยะยาว

จับตา งบฯ ส่งกำลังบำรุงฯ โยกไปใช้ส่วนอื่นๆ

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายการส่งกำลังเพื่อซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่ายของกองทัพบก ในปี 2568 งบก้อนนี้สูงถึง 3,904 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ถึง 1,286 ล้านบาท คืองบประมาณก้อนนี้มีอัตราการเบิกจ่ายที่ต่ำ และมักถูกเปลี่ยนแปลงไปใช้ซื้ออาวุธประเภทอื่นๆ โดยอ้างมาตรา 36 ของ พ.ร.บ. งบประมาณ และระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยใช้ระเบียบนี้เป็นเครื่องมือ ซึ่งหากวงเงินไม่เกิน 1 พันล้านบาท เพียงแค่ให้ผู้อำนวยการสำนักงบเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายงบประมาณก้อนนี้ได้เลยโดยอ้างว่าอุปสงค์เดียวกัน ดังนั้น ต้องฝากกรรมาธิการวิสามัญสอดส่องงบประมาณก้อนนี้ด้วย โดยไม่ให้กองทัพบกเพิ่มงบประมาณพันกว่าล้าน และมาขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณภายหลัง โดยที่สภาฯ ได้แต่มอง และระเบียบข้อที่ 17 ระบุไว้ด้วยว่า เมื่อต่อรองกับสำนักงบประมาณแล้ว ให้รายงานให้รัฐมนตรีทราบภายใน 45 วัน เขาหวังว่า สุทิน คลังแสง จะกล้าแก้ไขระเบียบฉบับนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงงบประมาณแบบข้ามหัว

ที่มา: TP Channel

รมว.กลาโหม ต้องกำชับซื้ออาวุธสัญชาติไทย

วิโรจน์ กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้นโยบายในการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา รมว.กลาโหมได้ขอให้กองทัพจัดซื้ออาวุธจากผู้ผลิตภายในประเทศให้มากขึ้น และขอให้มี TOR ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ และในกรณีที่จำเป็นต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ ก็ควรกำหนดเงื่อนไขให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีกำกับไว้ด้วย สิ่งที่ท่านขอไว้ กองทัพทำตามที่ท่านขอไว้หรือไม่ เพราะว่าท่านบอกว่าขอคือการสั่งการ เพราะลำพังว่าท่านแค่การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนยังทำได้ต่ำมาก เพราะฉะนั้น จึงไม่เชื่อว่าขอแล้วกองทัพจะทำตาม คิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องสั่งการ เพราะว่าถ้าไม่มีการสั่งการที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีการกำชับอย่างจริงจัง การส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศไทยภายในประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในยุทธศาสตร์ชาติ จะไม่มีทางขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ

ไม่ขวางซื้อเครื่องบินจู่โจม แต่ต้องมีนโยบาย 'offset policy' ที่คุ้มค่า

วิโรจน์ กล่าวว่า สุดท้าย โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทนของกองทัพอากาศ ซึ่งมีวงเงินสูงถึง 19,500 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณอยู่ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2568-2572 งวดแรกผูกพัน 29% หรือผูกพันไว้ 2,925 ล้านบาท ผมเองเข้าใจถึงความจำเป็นของโครงการนี้ เพราะว่าเครื่องบินขับไล่รุ่นก่อนหน้านี้ประจำการมาตั้งแต่ปี 2531 ปัจจุบันก็มีอายุการใช้งานมากว่า 35 ปีแล้ว แต่เขาอยากเรียกร้องว่า การซื้อครั้งนี้ไม่ใช่การเอาภาษีมาแลกเครื่องบินมาดื้อๆ จะต้องคำนึงถึงนโยบายชดเชย หรือที่เรียกว่า offset policy ที่ทำให้ประชาชนที่เป็นพลเรือนได้ประโยชน์ร่วมด้วย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การลงทุน และถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาประเทศ ต้องคำนึงถึงนโยบายชดเชยทางตรง หรือที่เรียกว่า direct offset policy หมายรวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการทหาร รวมถึงยืดหยุ่นการดัดแปลงซอฟต์แวร์ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยุทโธปกรณ์ ซึ่งกองทัพอากาศควรได้รับลิขสิทธิ์ทางปัญญาส่วนหนึ่งเพื่อได้ใช้ในวัตถุประสงค์ของกองทัพอากาศเองด้วย การลงทุนในอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุง การผลิตชิ้นส่วนบางรายการ เพื่อให้กองทัพอากาศสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเกิดการจ้างงานแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เขายืนยันว่าหากการซื้อเครื่องบินขับไล่ครั้งนี้มีความโปร่งใส มีราคาที่สมเหตุสมผล มีนโยบายชดเชยที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่เหมาะสม ในฐานะ กมธ.สัดส่วนของพรรคก้าวไกล นอกจากจะไม่ค้านแล้ว ยังพร้อมปกป้องงบประมาณก้อนนี้ของกองทัพอากาศอีกด้วย เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับงบโครงการฟริเกจที่เป็นการต่อเรือภายในประเทศที่เป็นคุณูปการต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างสูง

สส.ก้าวไกล ระบุว่า นอกจากนโยบายชดเชยทางตรงที่เกี่ยวข้องกับการทหารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงนโยบายชดเชยทางอ้อม (indirect-offset policy) หรือนโยบายที่เกิดประโยชน์กับพลเรือนในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ เช่น การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมนวัตกรรม อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ อุตสาหกรรมไซเบอร์ ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้จะนำมาสู่การจ้างแรงงานทักษะสูง รวมถึงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ทุนการศึกษา และการพัฒนาทักษะใหม่ให้กับพลเรือน ซึ่งหากกองทัพอากาศต่อรองดีๆ มูลค่านโยบายชดเชยอาจสูงถึง 1,900 ล้านบาท หรือเทียบเท่ากับมูลค่าการจัดซื้อเครื่องบินโจมตีขับไล่ในครั้งนี้ ก็สามารถเป็นไปได้ อย่างน้อยนโยบายชดเชยให้กับประเทศไทยต้องไม่น้อยกว่า ประเทศเช็ค ฮังการี เกาหลีใต้ และอื่นๆ

กระทรวงกลาโหม ควรจัดทำสมุดปกขาวเป็นแม่บท

วิโรจน์ กล่าวว่า สัดส่วนงบประมาณกองทัพ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อยู่ในสัดส่วน 2:1:1 เหมือนเดิม แปลว่าการจัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมยังเป็นระบบโควต้า  ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่บริบทโลกสังคมยุคใหม่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ลดความเสี่ยงการเอาทหารราบไปปฏิบัติหน้าที่ตามลำพังในแบบสงครามยุคก่อน ถ้าให้พูดตรงๆ คือหลักนิยมทางการทหารของโลกใบนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ทุกประเทศไม่เอาทหารราบไปปะทะกันตรงๆ ยกเว้นว่าจำเป็นจริงๆ การปะทะและการป้องกันประเทศเป็นสงครามทางเทคโนโลยีไปแล้ว สมุดปกขาวที่เป็นคำมั่นระหว่างประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษีได้ทราบถึงแนวทางในการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพสั้น กลาง และยาว ปัจจุบันที่มีการจัดทำแล้วก็มีกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งกองทัพอากาศมีรายละเอียดพอสมควร และประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบงบประมาณของกองทัพอากาศได้อย่างต่อเนื่อง แต่กองทัพบกมีกำลังคนและงบประมาณมากสุด แต่การจัดทำสมุดปกขาวก็ไม่มีกำหนดการแล้วเสร็จที่ชัดเจน เลื่อนแล้วเลื่อนอีก นอกจากสมุดปกขาวของแต่ละเหล่าทัพแล้ว ต้องมีสมุดปกขาวของกระทรวงกลาโหม ที่ควรจะต้องเป็นแม่บทให้แต่ละทัพไปจัดทำสมุดปกขาวของตัวเอง ซึ่งจะช่วยเรื่องการจัดซื้ออาวุธอย่างเป็นยุทธศาสตร์ และจะทำให้ประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อและงบซ่อมบำรุง และทำให้การปฏิบัติภารกิจร่วมกันระหว่างเหล่าทัพมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ถ้าไม่มีสมุดปกขาวรวม ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือการพัฒนาของแต่ละเหล่าทัพ รวมทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อาจจะไปในคนละทิศคนละทาง เมื่อไม่มีสมุดปกขาว การจัดงบประมาณก็ชี้ได้ว่าไม่มียุทธศาสตร์ ไม่คำนึงถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลง และไม่คำนึงถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ รวมถึงภัยคุกคามที่ผุดขึ้นที่พรมแดนไทย-เมียนมา เชื่อว่าการจัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมไม่สามารถจะสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติ และประชาชนได้เลย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net