Skip to main content
sharethis

'ชยพล' ก้าวไกล เสนออิกไนต์ (Ignite) ไทยด้วยงบประมาณกระทรวงกลาโหม รัฐต้องจัดสรรงบฯ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สู่การต่อยอดการส่งออกพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แข่งขันระดับภูมิภาค

 

20 มิ.ย. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง

เวลา 18.46 น. ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขตหลักสี่-จตุจักร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวถึงงบประมาณปี 2568 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม ที่เขาอยากเสนอเพิ่มเติมเข้าไปคือแผนในอนาคต ที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และนำองค์ความรู้มาต่อยอด การส่งออกเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

ชยพล ระบุว่า อ้างอิงจากหนังสือยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความสุข และความพร้อมในระดับประเทศ และได้รับความชื่นชมจากนานาชาติ ขณะที่ตัวชี้วัดโครงการก็คล้ายๆ กัน แต่ปัจจุบัน เราไม่ได้รบการตรงๆ อีกต่อไปแล้ว มีการใช้วิธีการกดดันทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ เพื่อกดดันประเทศคู่กรณี

ชยพล ระบุต่อว่า ในมิติด้านของความมั่นคงของประเทศไทย กองทัพไทยพึ่งพายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเราซื้อมาและใช้ไป พึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศต้นเรื่องเทคโนโลยีทางค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอะไหล่ การซ่อม และการอัปเกรดอาวุธ ถ้าเราถูกตัดความสัมพันธ์ในส่วนนี้อาจทำให้กองทัพอ่อนแอลง และอาจถูกการโจมตีรูปแบบอื่นๆ ต่อไปในอนาคต มันจึงเป็นธีมการอภิปรายของเขาในครั้งนี้คือ “อนาคตใหม่กลาโหมไทย ที่สามารถ Ignite Thailand” ได้

เปลี่ยนจาก 'ซื้อมา ใช้ไป' เป็น 'พัฒนา และต่อยอด'

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า เขาอยากเสนอไอเดียการจัดสรรงบประมาณที่ทำให้เราเข้มแข็งจากภายใน พร้อมกับการได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเข้าสู่การแข่งขันในระดับภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ของงบฯ กระทรวงกลาโหม จากเดิมมีเพื่อรักษาสถานภาพและไม่ให้ถดถอย แต่เขาอยากเสนอด้วยว่า รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญมากพอที่จะเดินหน้า และตั้งเป้าหมายสู่การเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เช่น การพัฒนาอาวุธสัญชาติไทย ก่อนจะนำไปสู่การยกระดับ โดยอาจระบุตัดชี้วัดการบรรจุอาวุธสัญชาติไทยเข้าไปใช้ในกองทัพ และมีเป้าหมายส่งออกให้ประเทศอื่นๆ  

ชยพล ระบุว่า ตอนนี้สถานการณ์ความมั่นคงไทยต้องจับตาดู 2 อย่าง คือ สถานการณ์สงครามกลางเมืองเมียนมา และข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งทั้ง 2 สถานการณ์ประเทศไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง และไม่มีที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรง และเชื่อว่าประเทศไทยไม่น่าจะมีสถานการณ์ความขัดแย้งกับใครในประเทศไทย จนกระทั่งเกิดเหตุปะทะด้วยกำลังทหาร และจากการวิเคราะห์ในหนังสือนโยบายและแผนระดับชาติความมั่นคงระดับชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2566-2570 จัดทำโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หากไม่มีสถานการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงไป ช่วงเวลา 5 ปีหลังจากนี้ไทยไม่ได้มีการกระทบกระทั่งกับใครเลย นั่นหมายความว่าประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณสะสมอาวุธ และสามารถนำงบประมาณไปพัฒนาเพิ่มศักยภาพการป้องกันประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยร่วมกับเอกชน เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ สร้างองค์ความรู้ต่อยอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ที่มา: TP Channel

งบวิจัยต่ำเกินไป เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ

ชยพล เปรียบเทียบการจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนาอาวุธระหว่างประเทศไทย และสหรัฐฯ โดยถ้าดูการจัดสรรงบประมาณในปี 2568 ของกระทรวงกลาโหม งบประมาณการซื้ออาวุธ และซ่อมยุทโธปกรณ์ของทุกหน่วยงาน รวมกันจะมีสัดส่วนที่ 11% ขณะที่สัดส่วนงบประมาณวิจัย และการพัฒนา 0.37 % ซึ่งน้อยมาก

กลับกันในประเทศสหรัฐฯ มีงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศจำนวนเกือบ 850,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาจำนวน 17 กว่าเปอร์เซ็นต์ และสหรัฐฯ ยังสามารถนำอาวุธขายให้ประเทศอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งทำให้สหรัฐฯ คงความเป็นมหาอำนาจด้านกลาโหมมาได้ตลอด ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณ และการตั้งเป้าหมายจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายที่จะพาประเทศไทยไปข้างหน้าอีกด้วย

ที่มา: TP Channel

ชวนใช้โมเดลสหรัฐฯ อุตสาหกรรมกองทัพในอดีต

ชยพล กล่าวว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหารแบ่งเป็น 3 ประเภท อุตสาหกรรมอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อุตสาหกรรมแห่งอดีต ซึ่งไทยสามารถทำเองและผลิตเองได้ โดยประเทศไทยมีโรงงานเภสัชกรรมทหารที่ทำหน้าที่ผลิตยาส่งเข้ากองทัพ เมื่อผลิตเองได้ เราต้องคิดถึงการพัฒนาต่อยอดเพื่อขายและส่งออกต่างประเทศ เพื่อนำเม็ดเงินกลับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์โรงงานเภสัชกรรมทหารในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินกิจการด้วยเงินทุนของตัวเองได้เลย เพราะรายได้หัก/ลบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการจากข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2566 มีกำไรเพียง 7.76 ล้านบาทเท่านั้น หากจะยกระดับโรงงาน อัปเกรดไลน์ผลิตเพื่อเพิ่มขีดสมรรถนะ หรือแม้แต่จะซ่อมอุปกรณ์ก็ต้องของบประมาณประจำปีมาใช้เรื่อยๆ

สส.พรรคก้าวไกล ยกตัวอย่าง โมเดลของกองทัพสหรัฐฯ ที่ถือเพียงสิทธิบัตร หรือลิขสิทธิ์ แต่ไม่ผลิตยาใช้เอง งบประมาณนี้ถูกไปใช้ให้บริษัทเอกชนมาผลิตยาโดยผ่านระบบประมูลราคา เพื่อรับสัญญาการผลิตสำหรับการใช้งานภายในกองทัพสหรัฐฯ เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถแข่งขัน มีโอกาสทำการค้า และมีส่วนร่วมเพื่อนำกำไรมาพัฒนาตัวเองต่อไป

“ผมอยากให้ประเทศไทยเริ่มวางแผนปรับรูปแบบกิจการในลักษณะคล้ายกัน ทั้งโรงงานเภสัชกรรมทหาร โรงงานยาง และโรงงานอื่นๆ เพราะกองทัพดำเนินกิจการด้านนี้เอง นอกจากจะเป็นภาระทางงบประมาณแล้ว ยังไม่สามารถสร้างผลกำไรเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังเสียโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมนั้นๆ” ชยพล กล่าว

ที่มา: TP Channel

พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธสัญชาติไทย

ต่อมา คืออุตสาหกรรมปัจจุบัน ชยพล ระบุว่า คืออุตสาหกรรมกองทัพที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว แต่ต้องพัฒนาเพิ่มเพียงเล็กน้อย เพื่อให้มีความเพียงพอในการผลิตเองได้ทั้งหมด หรือขาดเพียงแค่ตลาด เพื่อให้กองทัพหันมาสนใจจัดซื้อจากภายในประเทศบ้าง เช่น ปืนไรเฟิลที่ตอนนี้ไทยก็ผลิตเองได้แล้ว ขอยกตัวอย่าง ปืน DTI7 พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) และบริษัท KHT Firearms ซึ่งออกแบบเพื่อใช้ในเขตเมือง เนื่องจากมีลำกล้องสั้น ซึ่งปืนรุ่นนี้ออกแบบและพร้อมใช้งานตั้งแต่ปี 2564 แต่หลังจากนั้นไม่ได้มีการต่อยอด ทำให้ทุกวันนี้ยังไม่ได้มีการบรรจุเข้าประจำการกองทัพ

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ช่วงนี้ทางกองทัพร่วมพัฒนาอาวุธกับบริษัทเอกชนจนถึงการเริ่มมีการตั้งโรงงานที่ลพบุรี แต่ยังไม่มีออเดอร์จากกองทัพ ส่วนตรงนี้หากอุตสาหกรรมปัจจุบันที่ขาดการสนับสนุนเพียงเล็กน้อย ก็สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตขึ้นได้จริง แต่เพราะเป้าหมายในการใช้จ่ายงบประมาณยังไม่มีการคำนึงถึงการวางแผนประโยชน์ทางด้านนี้ จึงทำให้ไทยยังไม่สามารถกระตุ้น หรือจุดประกายให้เกิดอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศในระดับไหนได้เลย และไม่สามารถร่วมขบวนรถไฟแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้

ที่มา: TP Channel

พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ร่วมขบวนแข่งขันระดับภูมิภาค

ชยพล กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมแห่งอนาคต นั่นคือสิ่งที่ไทยยังไม่มี และเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไทยยังไม่สามารถทำเองได้ และไทยยังต้องซื้อจากต่างประเทศอยู่ แต่ถ้าเรารีบเตรียมความพร้อมตอนนี้ ตอนที่ยังมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่เป็นผู้นำ ส่วนประเทศในภูมิภาคของเรายังเพียงตั้งท่าเท่านั้น ประเทศไทยก็จะไม่ตกขบวนการแข่งขันในด้านนี้ คือ เทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งก็คือเรื่องของความมั่นคงทางอวกาศ

ชยพล อธิบายคร่าวๆ ว่า ปัจจุบัน ‘ดาวเทียม’ ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ เพราะปัจจุบัน สมรรถภาพการรบขึ้นอยู่กับการโจมตีในระยะที่ไกลเกินที่ตามองเห็น การตรวจจับที่เร็วและไกล การลวงตำแหน่งหลอกข้าศึก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดแข็งของอาวุธยุคใหม่ เช่น เครื่องบิน F35 เพราะฉะนั้น การหาข่าว การสอดแนม และการหาเป้าหมายระยะไกล จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยกตัวอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีการใช้โดรนโจมตีบ่อยครั้ง หรือมีการทดสอบขีปนาวุธระยะไกลยิงข้ามทวีป ซึ่งสิ่งที่ทำให้การโจมตีเหล่านี้มีประสิทธิภาพคือเครือข่ายดาวเทียม

ศูนย์ข้อมูลปฏิบัติการอวกาศกองทัพอากาศ ระบุว่า หลักๆ ที่เราใช้งานกันอยู่ ถ้ากองทัพอากาศใช้อยู่จะเป็น ‘ดาวเทียมนภา’ เป็นดาวเทียมถ่ายภาพ แต่เนื่องจากงบประมาณจำกัดจึงทำได้เพียงติดกล้องหาข่าวได้เพียงเท่านั้น ความละเอียดยังสูงไม่มากพอ ด้านการสื่อสารเราใช้เป็นดาวเทียม ‘ไทยคม’ ที่พัฒนาร่วมกันกับบริษัทแอร์บัสของฝรั่งเศส แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นดาวเทียมที่ใช้ในกิจการพลเรือน ทำให้กองทัพได้โควต้าในการใช้งาน 4 เมกะบิตต่อวินาทีต่อหน่วยเท่านั้น หรือเท่ากับความเร็วระดับ 3G สำหรับการโทรคุยหรือส่งเสียงกันได้ แต่ถ้าส่งภาพหรือข้อมูลอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่ ก็จะใช้เวลานานมากกว่าที่จะสามารถส่งได้

นอกจากนี้ ข้อจำกัดของประเทศไทยคือ ไม่มีระบบป้องกันดาวเทียมที่มากเพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกโจมตีดาวเทียมรูปแบบต่างๆ เช่น การยิงเลเซอร์ทำลายอุปกรณ์ ใช้คลื่นไมโครเวฟทำลายวงจร หรือพ่นสเปรย์บังเซ็นเซอร์ และอีกรูปแบบหนึ่งคือการยิงจรวดจากพื้นโลกขึ้นไป นอกจากนี้ ยังต้องระวังขยะอวกาศ ซึ่งเกิดจากกระสวยที่ใช้พาจรวดขึ้นไปบนอวกาศ หรือดาวเทียมที่ปลดประจำการและยังโคจรอยู่รอบโลก

ที่มา: TP Channel

คุ้มค่าหรือไม่พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ

เทคโนโลยีเครือข่ายดาวเทียมจะมีประโยชน์นอกจากความมั่นคงทางอวกาศหรือไม่ หรือมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ชยพล ยกตัวอย่างจากประเทศในทวีปเดียวกันคือ 'อินเดีย' ที่เริ่มพัฒนาด้านนี้มาสักระยะแล้ว เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอาจเริ่มจากเครือข่ายดาวเทียม หรือพัฒนาท่าปล่อยจรวด กรณีประเทศอินเดีย โครงการท่าปล่อยจรวด "Satiash Dhawan" ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1969 และใช้งานได้ในปี ค.ศ. 1971 และปัจจุบันมีมูลค่าอุตสาหกรรมของอินเดีย 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทย ชยพล เสนอว่า ประเทศไทยมีข้อเปรียบทางภูมิศาสตร์ 'เส้นศูนย์สูตร' ในการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาใช้ทรัพยากรในการตั้งเป็นฐานปล่อยจรวดได้  เพราะตลอดแนวเส้นศูนย์สูตร ทำให้ใช้พลังงานส่งดาวเทียมขึ้นบนอวกาศได้น้อยกว่าจุดอื่นๆ และจากการที่ได้คุยกับหน่วยงานรัฐ อย่าง ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ และศูนย์ปฏิบัติการอวกาศกองทัพอากาศ มีบริษัทต่างชาติหลายประเทศเข้ามาคุยถึงความเป็นไปได้ในการตั้งฐานปล่อยจรวดแล้ว เหลือเพียงนโยบายและงบประมาณในการสนับสนุนเท่านั้น ก็สามารถดึงดูดนักลงทุนที่มีประสบการณ์จากต่างประเทศเข้ามาได้ ชยพล ระบุด้วยว่า บริเวณที่เหมาะสมกับการปล่อยจรวดคือ จ.ตรัง เพราะไม่กระทบกับน่านฟ้าประเทศอื่นๆ เลย 

ชยพล ระบุว่า นอกจากนี้ กองทัพยังมีโจทย์อื่นๆ ที่ต้องไปแก้ไข เช่น การตั้งโครงสร้างหน่วยงานให้ชัดเจน และ พ.ร.บ.อวกาศ ก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้เรามีหน่วยงานด้านอวกาศที่แยกกันทำงานอยู่ ทั้งกองทัพอากาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gisda) หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ไข เพื่อให้เม็ดเงินที่ใส่ลงไปให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ยุบโครงการซ้ำซ้อน

งบประมาณเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนั้น ชยพล เสนอว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหม มีหลายส่วนที่เกินความจำเป็น และปรับให้กระชับตรงไหนได้บ้าง ยกตัวอย่าง งบประมาณของกองบัญชาการกองทัพไทย 15,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณของบุคลากร 7,500 ล้านบาท และงบฯ อื่นๆ 7,600 ล้านบาท ทั้งที่กองฯ มีพันธกิจคล้ายกับสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน แต่ไม่จำเป็นถึงขนาดตั้งหน่วยงานแยก เพื่อรับงบประมาณขนาดนี้ เขาเสนอว่า ควรคงงบบุคลากรไว้ และเอาส่วนอื่นๆ ไปรวมกับสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมแทน ซึ่งจะประหยัดเงินได้ 7,600 ล้านบาทต่อปี

ชยพล เสนอว่า เราสามารถนำงบประมาณตรงนี้มาลงโครงการอื่นๆ เช่น โครงการประกอบเรือฟริเกจของกองทัพเรือ ที่ถูกปัดตกเมื่อปี 2567 เป็นโครงการที่นำเรือขนาดใหญ่มาต่อในประเทศไทยเป็นปีแรก สามารถใช้เป็นฐานเหยียบเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศไทยได้ สร้างงานสร้างอาชีพเศรษฐกิจหมุนเวียนมหาศาล แต่ในงบประมาณปี 2568 ไม่ได้รับการบรรจุเข้าไปในงบประมาณ หรือจะนำงบประมาณที่เหลือมาลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศก็ได้

รวมศูนย์สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

ชยพล ระบุว่าควรมีการใช้กลไกสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ  ซึ่งทางสถาบันฯ ก็สามารถทำทำงานวิจัย เช่น อาวุธปืนไรเฟิล หรือจรวดหลายลำกล้องได้แล้ว เราก็ควรต้องหาตลาดเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเติบโตได้ด้วย โดยใช้กลไกแบบเดียวกันก็คือใช้ความต้องการยุทโธปกรณ์ของกองทัพมาป้อนให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายในไทยได้เติบโต

ชยพล ระบุว่า ถ้าหากท่านกลัวว่าจะมีงบประมาณไม่พอที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง เขาขอเน้นว่าประเทศไทยในปัจจุบันมีความพร้อมหลายด้านแล้ว ไม่ได้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเลย เพียงแค่การปรับนโยบายและการจัดสรรนโยบายให้เหมาะสม นอกจากที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ โดรน กองทัพอากาศก็สามารถผลิตใช้เองได้แล้ว สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศก็ผลิตใช้ได้ กองทัพเรือก็มีการร่วมวิจัยกับเอกชนเพื่อผลิตใช้เอง เหลือเพียงการจัดระเบียบการวิจัยให้รวมอยู่ที่หน่วยเดียว ซึ่งเขาเสนอว่าควรรวมอยู่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อที่องค์ความรู้ที่ได้ นำมาต่อยอดอย่างเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานของทุกเหล่าทัพ

"ต้องกลับมาดูการจัดสรรงบประมาณ ที่ต้องตั้งเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย ไม่ใช่แค่รักษาไว้ตามเดิม และหลังจากนั้นเราถึงจะได้เห็นการรักษาอุตสาหกรรมจากภายในเข้มแข็งไปด้วยแรงของตัวเอง และพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองไปด้วยในตัว จนเป้าหมายสุดท้ายที่เราควรทำได้คือ การเป็นหนึ่งในซัปพลายเชนการป้องกันประเทศบนโลกนี้ และนี่แหละคือบทบาทการพัฒนาประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจที่กองทัพสามารถทำได้ด้วยงบประมาณจากกระทรวงกลาโหม เพียงแต่ที่เรากล้าที่จะฝัน และกล้ามองเห็นความเป็นไปได้ และใช้ไอเดียตรงนี้เพื่อจุดประกายความเปลี่ยนแปลงให้กับอนาคตไทย เพื่อนำไปสู่การ ignite Thailand อย่างแท้จริง" ชยพล ทิ้งท้าย
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net