Skip to main content
sharethis

กมธ.เตรียมร่างกฎหมายขับเคลื่อนสันติภาพดับไฟใต้ คุ้มครองผู้ร่วมโต๊ะพูดคุย เผยหมุดหมายที่ทำให้เดินหน้าต่อ พร้อมปมสำคัญที่เชื่อไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ส่วนข้อวิจารณ์ร่างแผน JCPP ฝ่ายรัฐอ่อนหัด แพ้ทาง BRN ก็ไม่อาจทำให้สะดุด เผยปัญหาที่ต้องมีกฎหมายสันติภาพก่อนมีข้อตกลง แต่หวั่นนิติสงครามทำสันติภาพล่ม จึงต้องออกกฎหมายคุ้มครองผู้ร่วมโต๊ะพูดคุย

26 ก.พ.2567 ที่โรงแรมซีเอส อ.เมือง จ.ปัตตานี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธา กัมปงตกวา Minority Rights Group สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (EU) จัดเสวนาเรื่อง ชุดกฎหมายสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ทบทวน ท้าทาย ที่ทาง

กมธ.เตรียมร่างกฎหมาย คุ้มครองผู้ร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คณะกรรมาธิการฯ สันติภาพชายแดนใต้) กล่าวว่า ขณะนี้ คณะกรรมาธิการฯ กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่มีผู้เสนอมาจำนวน 2 ฉบับ โดยจะรวมให้เป็นร่างฉบับเดียวกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.สันติภาพในภาพรวม และ ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ หรือเรียกว่า กฎหมาย Immunity

อาดิลัน เปิดเผยว่า เมื่อรวมเป็นฉบับเดียวแล้วก็จะส่งให้สำนักกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรเรียบเรียงข้อความใหม่ให้เป็นภาษากฎหมาย โดยยังคงเจตนาเดิมของผู้ร่าง จากนั้นจะส่งกลับให้ผู้ร่างผลักดันเข้าสู้สภาผู้แทนราษฎรผ่านพรรคการเมือง หากมีพรรคการเมืองเห็นด้วย โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลงนาม 20 คน หรือ ให้มีการล่ารายชื่อประชาชนให้ได้จำนวน 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อไป โดยสามารถแนบรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ สันติภาพปะกอบไปด้วย

เผยหมุดหมายสำคัญ ทำให้กระบวนการพูดคุยไปต่อได้

ด้าน ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวให้ข้อมูลในเวทีว่า 10 ปีที่ผ่านมา กระบวนการพูดคุยมีความต่อเนื่อง มีการพูดคุยตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบันประมาณ 30 กว่าครั้ง โดยเป็นการพูดคุยกับขบวนการ BRN ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมารวม 7 ครั้ง แม้มีความต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน โดยปัญหาสำคัญมี 2 ประเด็น ที่เป็นข้อท้าทาย คือ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี (เสื้อสีน้ำเงิน)

1. เจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็ง ทั้งของฝ่ายรัฐบาล และฝ่าย BRN แต่ที่ผ่านมาโดยฝ่าย BRN บอกว่าฝ่ายรัฐไม่ชัดเจนไม่จริงใจ ส่วนฝ่ายรัฐบอกว่าฝ่าย BRN ไม่ตั้งใจจริง มีความไม่เชื่อมั่นไว้วางใจกัน จึงมีกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ หรือ confidence building ซึ่งการพูดคุยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในขั้นการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ

2. หมุดหมายสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนในช่วงหลัง คือการออกแบบกระบวนการพูดคุยร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่าย BRN ที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ออกมาเป็นข้อตกลงริเริ่มเบอร์ลิน หรือ Berlin Initiative เป็นข้อตกลงเบื้องต้นนำไปสู่การพูดคุยในปี 2564 ที่ตุรกีเรียกว่า Turkey protocol ใน 3 ประเด็นสารัตถะ คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

เปิดปมเงื่อนสำคัญ ที่ไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน

ศรีสมภพ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้นเมื่อพ้นสถานการณ์โควิดก็มีการพูดคุยเป็นทางการในปี 2565 จนเกิดหมุดหมายสำคัญต่อมา คือ หลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งมีเนื้อหาที่ท้าทายคือ ทั้งสองฝ่ายยอมให้บรรจุในข้อตกลงเบื้องต้นว่า “ให้ยอมรับชุมชนมลายูปาตานี ภายใต้รัฐเดี่ยวของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ” 

ข้อความนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดว่า BRN จะพูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐก็ยอมรับคำว่า “ชุมชนมลายูปาตานี” นี่เป็นปมเงื่อนที่สำคัญในกระบวนการสันติภาพที่มีการบันทึกไว้

“ข้อกังวลที่ว่า รัฐไทยยอม BRN แล้ว เราจะเสียดินแดนแล้ว มันจะไม่เกิดขึ้นก็เพราะประเด็นนี้ เพราะเงื่อนไขมาถึงจุดนี้” แม้ทั้งสองฝ่ายจะกลืนเลือดตัวเอง และมีคนที่ไม่พอใจ

จากนั้นมีการคุยกันใน 3 ประเด็น คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีเงื่อนไข 7 - 8 ข้อ

จุดเริ่ม JCPP (แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม)

ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า จากนั้นในปี 2566 ก็นัดคุยกันอีกในเดือนกุมภาพันธ์ มีการพูดถึง JCPP (แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม) โดยวางแผนว่าจะวางแผนปฏิบัติการร่วมตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ แต่ BRN ไม่มาตามนัด บอกว่ารอหลังเลือกตั้ง ส.ส.

หลังจากเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ของเศรษฐา ทวีสิน ได้แต่งตั้งฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ที่ดูแลเรื่องการพูดคุยอยู่เบื้องหลังมาตลอดตั้งแต่ปี 2559 เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยและเป็นคนแรกที่เป็นพลเรือน

ในการพูดคุยครั้งล่าสุด ( 6-7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา) ฝ่าย BRN ขอปรับร่าง JCPP นิดหน่อยแต่ยังเป็นอันเดิม ฝ่ายไทยหงุดหงิดนิดหน่อยทำไมต้องทบทวนใหม่ แต่ก็ยอม จึงตกลงว่าจะให้คณะพูดคุยทางเทคนิคไปพูดคุยอีก 2 ครั้ง และทาง BRN บอกว่าจะนำร่างของตัวเองเอามาให้ดู ซึ่งเป็นเอกสารเดียวกับที่รั่วไหลออกมาทางสื่อ จนเกิดข้อข้อพิพากษ์วิจารณ์ว่า ฝ่ายรัฐแพ้แล้ว ฝ่ายรัฐอ่อนหัด เป็นมือใหม่หัดขับ ทั้งที่จริงขับมานานแล้ว แต่อาจมีจุดอ่อนบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ใช่มือใหม่แน่นอน

ข้อวิจารณ์ ฝ่ายรัฐอ่อนหัด ไม่อาจทำให้การพูดคุยสะดุด

ศรีสมภพ กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะทำให้กระบวนการพูดคุยจะหยุดชะงักหรือไม่ ตนคิดว่าไม่น่าจะหยุดชะงัก เพราะกรอบการพูดคุยก็วางไว้แล้ว ขั้นตอนกระบวนการก็วางไว้แล้ว แต่อาจจะมีการปรับ ก็ต้องรับฟังว่าจะมีการปรับอย่างไร แต่หลักการ JCPP ไม่ทิ้ง

“คิดว่าไม่น่าจะสะดุด อย่างที่บอกไว้ว่า พื้นฐานของการพูดคุยมีมาตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2565 มันต่อเนื่องกัน ฐานค่อนข้างจะดี ทุกอย่างเป็นไปตามที่วางไว้”

ผมนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการฯ ได้เห็นการแชร์หลังฉากของการตัดสินใจไปที่เบอร์ลินว่า มีการตกลงในกลไกระดับสูงในของรัฐบาลขณะนั้นให้ไปได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็แอบไป แต่เป็นไปตามอาณัติสัญญาณของผู้มีอำนาจสั่งการ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ไปโดยพละการ

“ไปแล้วมันดันทะลุขึ้นไปได้ จึงทำให้การพูดคุยมีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน” ซึ่งจะไปต่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพราะเขาต้องทำตามกรอบกระบวนการและกฎหมาย

เผยปัญหาที่ต้องมีกฎหมายสันติภาพก่อนมีข้อตกลง

ในต่างประเทศ กฎหมายจะออกมาหลังจากมีข้อตกลงแล้ว แต่ก่อนเจรจามีการตกลงกัน ยังไม่มีกฎหมาย ทั้งที่มินดาเนา(ฟิลิปปินส์) และที่อาเจะห์(อินโดนีเซีย) แต่มีกลไกกระบวนการของฝ่ายบริหาร ใช้คำสั่งเตรียมการต่างๆ จนกว่าจะมีข้อตกลง เมื่อตกลงกันแล้วก็ทำ MOU ระหว่าง 2 ฝ่าย แล้วนำ MOU ไปร่างเป็นกฎหมาย ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

ก่อนออกกฎหมายจะผ่านขั้นการตกลงกันก่อนในทางการเมือง แต่เราอยากรู้ว่า จะมีกฎหมายอะไรบ้างที่ใช้ระหว่างทางก่อนที่จะตกลงกัน ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศบอกว่า ใช้แค่คำสั่งจากฝ่ายบริหารก็พอ

แต่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เป็นระบบการเมืองแบบประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้นคำสั่งของประธานาธิบดีถือเป็นกฎหมาย แต่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเฉยๆ ไม่ได้เป็นประมุขของรัฐ เพราะฉะนั้น องค์อธิปัตย์ไม่เหมือนกัน

หวั่นนิติสงครามทำสันติภาพล่ม-ต้องออกกฎหมายคุ้มผู้ร่วมโต๊ะพูดคุย

ประการต่อมา มีนิติสงครามบ้านเราอยู่ ประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่มาตรา 113, 114, 115, 116 และ 157 ล็อคไม่หมดแล้ว ทั้งข้อหากบฏ แบ่งแยกดินแดนฯ ถ้าเจ้าหน้าที่หรือใครทำผิดโดนหมด คือระหว่างคุยตกลงกัน ถ้าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้ และถ้านักร้องเกิดร้องขึ้นมาจะติดคุกกันหมด ซึ่งเท่าที่รู้ประเทศอื่นไม่มีขนาดนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศก็ไม่เข้าใจว่าประเทศไทยมีเงื่อนไขนี้

เพราะฉะนั้นระหว่างทางหรือระหว่างการพูดคุยจะต้องมีกฎหมายอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา เพื่อปกป้องคุ้มครอง (Immunity) ให้กับผู้แทนหรือคนที่เข้าร่วมกระบวนการเจรจาทั้งของฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายขบวนการ หรือประชาชนที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ เพราะระหว่างตกลงกันมีหลายเรื่อง บางเรื่องอาจมีการพาดพิงทางกฎหมาย หมิ่นเหม่ หรือเซาะกร่อนบ่อนทำลาย อะไรอย่างนี้จะโดนไปหมดเลย เพราะฉะนั้น นอกจากกฎหมายที่เป็นองค์รวมของกระบวนการสันติภาพแล้วก็น่าจะเสนอกฎหมายพิเศษอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องนี้อยู่

ภาพประชาสังคมพร้อมหนุนกฎหมายสันติภาพ

สำหรับผู้เข้าร่วมเสวนา และผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มหรือองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งกลุ่มคนพุทธและมุสลิม ส่วนให้ความคิดเห็นสนับสนุนการผลักดันให้มีกฎหมายสันติภาพ และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายสันติภาพเพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนสันติภาพในพื้นที่ต่อไป

เช่น  รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายสันติภาพ เพื่อให้การขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพในพื้นที่มีทิศทาง ขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุงกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในพื้นที่ด้วย ซึ่งมีปัญหามาตลอด 20 ปี

บูรฮัน ติพอง คณะกรรมาธิการฯ สันติภาพ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเสนอร่าง พ.ร.บ.สันติภาพด้วย และขอให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด

ส่วนรักชาติ สุวรรณ อดีตประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เห็นด้วยกับการมีกฎหมายสันติภาพ และอยากให้มีการลงนามที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน และอยากให้มีพื้นที่สำหรับชาวพุทธได้มีส่วนร่วมด้วย

 

ชมถ่ายทอดสดเวทีเสวนาได้ที่ https://web.facebook.com/CSCD.IPS.PSU/videos/786792686596579

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net