Skip to main content
sharethis

กมธ.สันติภาพ คือ วาระการมีส่วนร่วมของประชาชน การปรึกษาหารือสาธารณะ วาระสำคัญของการสร้างสันติภาพ ที่ครอบคลุม ปชช.ทุกกลุ่ม เพราะการพูดคุยคือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา โครงการ IP3 วาดหวังประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง เปิดข้อเสนอ-ข้อกังวลจากวงปรึกษาหารือประชาชน จะเอาอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพ

 

การเคลื่อนไหวรณรงค์สันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้น่าจะคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคประชาสังคมที่เริ่มมีการจัดเวทีสาธารณะรูปแบบต่างๆ เพื่อฟังเสียงประชาชนในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ ทั้งวงใหญ่ วงเล็กวงน้อย แม้ยังไม่รู้ว่ารัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน จะเอายังไงต่อ

โดยเฉพาะหลังจากสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ตุลาคม 2566 ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า คณะกรรมาธิการสันภาพฯ โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสงเป็นประธาน

กมธ.สันติภาพ วาระการมีส่วนร่วมของประชาชน

คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการอีก 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและติดตามผลกระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี สุธรรม แสงประทุม เป็นประธานและคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา เป็นประธาน

คาดว่าทั้ง 2 คณะอนุกรรมาธิการจะเริ่มเริ่มลงพื้นที่จัดเวที หรือพบปะฝ่ายต่างๆ เพื่อสอบถามข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นในธันวาคมนี้ เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานผลการศึกษาเสนอต่อสภาให้ทันภายในกรอบเวลา 90 วันนับจากการแต่งตั้ง 

สำหรับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกสั้นๆ ว่า คณะอนุกรรมาธิการมีส่วนร่วมฯ ที่จะทำหน้าที่รับฟังประชาชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะ "การปรึกษาหารือสาธารณะ" (Public Consultation) ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของการสร้างสันติภาพชายแดนใต้

ปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) วาระสำคัญของการสร้างสันติภาพ

"การปรึกษาหารือสาธารณะ" (Public Consultation) เป็นหนึ่งใน 3 ประเด็นสำคัญที่นำไปสู่สันติภาพตาม "แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม" หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) ที่ได้รับความเห็นชอบรวมกันของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และคณะผู้แทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional หรือ BRN) นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน เมื่อกุมภาพันธ์ 2566 ในการพบปะพูดคุยกันของทั้งสองฝ่ายในช่วงก่อนการเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมาไม่นาน

จากนั้น การพูดคุยครั้งไปก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยคนใหม่แทน พล.อ.วัลลภ ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557

สร้างสันติภาพที่ครอบคุลมประชาชนทุกกลุ่ม (Inclusivity)

ตามคำสั่งนี้มีการจัดตั้งกลไก 3 ระดับ นอกจากคณะกรรมการอำนวยการแล้ว ยังมีคณะพูดคุยฯ และคณะประสานงานระดับพื้นที่ หรือที่เรียกว่า สล.3 ที่มีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (แม่ทัพภาคที่ 4) เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งสิ้นสภาพไปแล้วหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ที่ผ่านมา สล.3 ก็ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างจากคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่หลายครั้ง ซึ่งมีหลายข้อเสนอที่เสนอต่อคณะพูดคุยสันติสุขโดยตรง  

แน่นอนว่ายังมีคนอีกหลากหลายกลุ่มไม่ต้องการเข้าร่วมเวทีของ สล.3 แต่เชื่อว่าคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ ที่มีอดีตสมาชิก สล.3 หลายคนสามารถอุดช่องว่างนี้ได้ เพื่อให้การมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพครอบคุลมประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ (Inclusivity)

การพูดคุยคือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา

แม้ว่ากระบวนการมีส่วนร่วมผ่านกลไกทางรัฐสภานี้เพิ่งจะเริ่ม แต่ในภาคประชาสังคมหลายกลุ่มในพื้นที่ได้เริ่มไปแล้ว ในลักษณะของ "การปรึกษาหารือสาธารณะ"

ที่จริงการปรึกษาหารือสาธารณะหรือการจัดเวทีพูดคุยในพื้นที่สาธารณะในภาคประชาสังคมก็จัดมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อปี 2556 เสียอีก เพื่อสร้างบทสนทนาที่สร้างสรรค์เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพและสถานการณ์ในพื้นที่ให้มากขึ้นกว้างขึ้น เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถส่งเสียงออกมาได้อย่างปลอดภัย

ความเคลื่อนไหวนั้น มาพร้อมกับมีข้อเรียกร้องในเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" ที่ไม่ใช่แค่พื้นที่ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมี "พื้นที่พูดคุยที่ปลอดภัยและเสรี" เพราะ "การพูดคุยคือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา"

ปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ความหมายและรูปแบบ

หัวใจสำคัญของ "การปรึกษาหารือสาธารณะ" คือ การมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการตัดสินใจ ซึ่งสติธร ธนานิธิโชติ อธิบายความหมายของคำนี้ในหนังสือ "การปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) แนวคิด ประสบการณ์ และข้อเสนอรูปแบบสำหรับการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ" (หน้า 30-31) ว่าเป็นกระบวนการแสวงหาข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกฎหมายที่มีผลกระทบต่อผู้คนกลุ่มต่างๆ หรือประชากรทั้งหมดโดยภาพรวม เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจสาธารณะ

"ในความหมายนี้ การปรึกษาหารือสาธารณะคือการทำให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองของตนเองได้โดยตรง การดำเนินการปรึกษาหารือสาธารณะจึงต้องให้ความสำคัญกับศักยภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้เกี่ยวข้องและการนำข้อคิดความเห็นดังกล่าวมาพิจารณาตอบสนองอย่างมีนัยยะสำคัญของรัฐบาลในฐานะตัวแทนผู้ใช้อำนาจของประชาชน" 

เพราะฉะนั้น กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะจึงต้องพิจารณาจากลักษณะของความคิดเห็นสาธารณะที่ต้องการรับฟังและวิธีการได้มาซึ่งผู้มีส่วนร่วม โดยสติธร ระบุว่า รูปแบบของการปรึกษาหารือสาธารณะสามารถแบ่งออกเป็น 8 รูปแบบ ดังนี้

ลักษณะของความคิดเห็นวิธีการได้มาซึ่งผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น
สมัครใจด้วยตัวเองไม่ใช้การสุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างทุกคนมีส่วนร่วม
ข้อมูลดิบการเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นการรับฟังความคิดเห็นโดยใช้การกรอกแบบฟอร์มการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะการออกเสียงประชามติ
ข้อมูลที่มีการกรั่นกรองเวทีเสวนาเวทีปรึกษาหารือกลุ่มเฉพาะการสำรวจความคิดเห็นแบบปรึกษาหารือเวทีสาธารณะภายใต้แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

โครงการ IP3 ฅน ค้นหา สันติภาพ

สำหรับกลุ่มแรกที่เริ่มจัดกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ จัดขึ้นในนามโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ของประเทศไทย (IP3) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก The Canada Fund for Local Initiatives – Thailand (2023) ได้แก่ กลุ่มด้วยใจ, The Motive, Wartani, Digital for Peace, กลุ่มเยาวชน และนักวิชาการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา

ทางโครงการได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก "ฅน ค้นหา สันติภาพ Deep South Public Consultation" เป็นช่องทางหนึ่งในการปรึกษาหารือสาธารณะในรูปแบบออนไลน์ และจะจัดแบบออนไซด์ด้วยโดยใช้กระบวนการสานเสวนาอีก 10 เวทีใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของสงขลา โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล 

โครงการ IP3 ได้นำ 8 ประเด็นหลักที่ถูกพูดถึงบนโต๊ะเจรจาสันติภาพมาสร้างบทสนทนา เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสันติภาพในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นและส่งข้อเสนอแนะไปยังโต๊ะเจรจาสันติภาพ และเตรียมพื้นฐานสำหรับการปรึกษาหารือสาธารณะที่เป็นทางการในอนาคต 

ทั้ง 8 ประเด็น ได้แก่ ความปลอดภัยและความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม การรับรองอัตลักษณ์ เศรษฐกิจและการพัฒนา รูปแบบการปกครอง สิทธิมนุษยชน วัฒนธรรม และการศึกษา

เพจนี้ได้เปิดการปรึกษาหารือสาธารณะครั้งแรกผ่านระบบ Zoom เมื่อ 31 ตุลาคม 2566 หัวข้อ "การศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี" (ชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/61551493552077/videos/997430714889154)

ครั้งที่ 2 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 หัวข้อ "เศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้รูปแบบใดที่เราอยากเห็น" (ชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/61551493552077/videos/2361203124063631)
หวังประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง 

อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ IP3 กล่าวว่า โครงการนี้ได้ยื่นของบประมาณสนับสนุนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งได้รับอนุมัติ โดยคาดหวังว่า 1. มีการส่งเสียงจากประชาชน 2. มีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปประธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และ 3. ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง 

อัญชนา หีมมิหน๊ะ

"เหตุผลหลักที่เสนอโครงการคือ คณะพูดคุยฝ่ายไทยมี สล.3 ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่แล้ว แต่ก็มีบางส่วนไม่อยากเข้าร่วมกับ สล.3 จึงเสนอโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อจัดกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนเล็กคนน้อยในพื้นที่"

โดยเริ่มจากการสำรวจความคิดเห็นก่อนแล้วจึงออกแบบกระบวนการพูดคุยและรูปแบบคำถาม ซึ่งในการสำรวจนั้นก็มีการให้ความรู้แก่ชาวบ้านก่อนว่า กระบวนการสันติภาพคืออะไร ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

ปรึกษาหารือสาธารณะคือกระบวนการประชาธิปไตย

อัญชนา กล่าวว่า ตอนนี้มาได้ครึ่งทางแล้ว โดยการจัดเวทีแบบ on site จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ และทั้งสองรูปแบบใช้เวลา 6-7 เดือน จากนั้นในมกราคม หรือกุมภาพันธ์ 2567 ก็จะเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเจรจาสันติภาพ ทั้งปาร์ตี้ A ปาร์ตี B รัฐบาล คณะกรรมาธิการ และเสนอต่อประชาชนทั่วไปด้วย 

อัญชนา กล่าวว่า การปรึกษาหารือสาธารณะเป็นทิศทางหนึ่งของประชาธิปไตย เป็นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ได้แสดงความคิดเห็นร่วมและได้ตัดสินร่วม ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเห็นชอบ แต่เป็นมติร่วมของทุกคนที่จะยอมรับความคิดเห็นนั้น หรือข้อเสนอแนะนั้น เพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง นี่คือนิยามคำว่าการปรึกษาหารือสถานะของเรา เป็นการยอมรับในมติร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเป็นประชาธิปไตย 

ปรึกษาหารือประชาชน : จะเอาอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพ

กลุ่มที่สอง คือ ในนามโครงการการสร้างสันติภาพอย่างครอบคลุมในจังหวัดชายแดนใต้ (Inclusive Peacebuilding in Thailand's Southern Border Provinces) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (EU) โดยสถาบันสันติศึกษา ร่วมกับสมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธากัมปงตักวา, สภาประชาสังคมชายแดนใต้, เครือข่ายวิชาการ Peace Survey, สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ, Projek SAMA SAMA และ Minority Rights Group International (MRG)
โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2566 กลุ่มนี้ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนและจัดทำข้อเสนอ “ปรึกษาหารือประชาชน : จะเอาอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพ” ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ (ม.อ.ปัตตานี) โดยได้เชิญภาคประชาชนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่เข้าร่วม (ชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/deepsouthwatch/videos/898351134505143)

โครงการระบุว่า เวทีนี้เป็นการพยายามก่อรูปของ "การสร้างสันติภาพในเชิงบวก" ที่ครอบคลุมผู้คนที่หลากหลายที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการสะท้อนประเด็นของตนเองให้สังคมชายแดนใต้และสังคมไทยได้เรียนรู้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน

เปิดข้อเสนอ-ข้อกังวล จากวงปรึกษาหารือประชาชน 

ข้อสรุปจากงานเสวนา "ปรึกษาหารือประชาชน : จะเอาอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพ" มีดังนี้
ผู้ร่วมส่วนใหญ่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ เพราะเห็นว่า "ความขัดแย้งทั้งหลายล้วนต้องจบลงด้วยการเจรจาพูดคุย" แต่มีไม่น้อยที่กังวลว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร เนื่องจาก 

(1) คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายไม่มีเจตจำนงให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง ต่างมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ทำให้แต่ละฝ่ายไม่พร้อมจะประนีประนอม แต่พยายามยัดเยียดให้อีกฝ่ายยอมรับเงื่อนไขของฝ่ายของตน

(2) อุปสรรคสำคัญต่อความก้าวหน้าของกระบวนการสันติ ได้แก่ ระบบราชการแบบรวมศูนย์ที่ไม่เข้าใจพื้นที่ จึงกำหนดนโยบายที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 

ผู้ร่วมจำนวนมากมีความเชื่อมั่นและมีความหวังต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพมากยิ่งขึ้น 

(1) หากมีการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง โดยการให้ความสำคัญของรัฐสภา ให้คณะพลเรือน (ไม่ใช่ข้าราชการประจำ) เป็นตัวแทนในคณะพูดคุยสันติภาพ มีความต่อเนื่องและมีกลไกตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ 

(2) จำเป็นต้องเป็นกระบวนการที่ครอบคลุมและมีส่วนร่วมจากผู้คนหลากหลายภาคส่วน รวมทั้งกลุ่มชายขอบ-เปราะบาง (ไม่เฉพาะแต่ผู้เชี่ยวชาญหรือฝ่ายความมั่นคง) เพื่อให้แน่ใจได้ว่าข้อเสนอจากภาคประชาชนได้รับการให้ความสำคัญจากคู่เจรจาและข้อตกลงจากกระบวนการพูดคุยได้รับการยอมรับจากประชาชน 

(3) จะยกเลิกหรือคงการบังคับใช้ "กฎหมายพิเศษ" ไว้ เนื่องจากผู้ร่วมจำนวนหนึ่งเห็นว่า เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ผู้นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากกังวลว่าหากยกเลิก อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพวกเขา จึงเสนอให้จัดเวทีประชาชนเพื่อปรึกษาหารือเรื่องนี้อย่างจริงจัง

(4) การอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเป็นเงื่อนไขสำคัญให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน

(5) การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสันติภาพอย่างมีความหมาย จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายรับประกันความปลอดภัยของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี 

(6) ควรทบทวนข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่เคยนำเสนอมาก่อนและรวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย 

(7) คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายควรสื่อสารความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และสื่อมวลชนควรร่วมกันส่งเสริมให้ผู้คนทั่วประเทศและนานาประเทศเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ เพื่อร่วมสนับสนุนกระบวนการสันติภาพไปพร้อมกับคนในพื้นที่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net