Skip to main content
sharethis

ทนายความของพลทหารกิตติธร ยื่นคำคัดค้านคำร้องสองครูฝึกทหาร ขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พรบ.อุ้มหายฯ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องเขตอำนาจศาลทหาร

 

24 พ.ค. 2567 ทีมสื่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งข่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ทนายความของพลทหารกิตติธร (โจทก์ร่วม) ยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องของสองครูฝึกทหาร (จำเลย) ขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีเจ้าหน้าที่ทหารตกเป็นจำเลยต้องขึ้นศาลทหาร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 199 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ความผิดใดที่เกิดขึ้นตามพรบ.นี้ ขึ้นศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หลังจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา คดีนี้ศาลอาญาทุจริตฯ ภาค5 รับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ปท. 1/2566 ในข้อหาร่วมกันกระทำการโหดร้ายฯ ตามพรบ.อุ้มหายฯ กรณีพลทหารกิตติธร เวียงบรรพตเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 หลังเข้ารับการเกณฑ์ทหารใหม่ พลัดที่ 1/66 ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย

ข้อโต้แย้งคัดค้านคำร้องของจำเลยทั้งสองมีประเด็นโต้แย้งสำคัญ ดังนี้

1.       พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย มีเจตนารมณ์เพื่อห้ามการกระทำทรมาน กระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเด็ดขาด (Absolutely prohibited) กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลซึ่งใช้หรือได้รับมอบอำนาจรัฐเป็นความผิดทางอาญา และเพื่อยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าวในทุกระดับบังคับบัญชา โดยกำหนดให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นศาลที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้มีอำนาจพิจารณาคดีตามพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายฯ ซึ่งมีผู้พิพากษาเป็นพลเรือน มีความอิสระ โปร่งใส เป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซง

2.       สิทธิ เสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองในระดับสากล กฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2560 ได้รับรองไว้ในมาตรา 4 ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น สิทธิ เสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

3.       การอ้างถึงการฝึกวินัยทหาร โดยอ้างว่าทหารนั้นมีหลักเกณฑ์และวิธีที่ปฏิบัติที่จำเป็นในการเตรียมความพร้อมในการรบหากมีสงคราม และการอ้างว่าหากทหารถูกตรวจสอบโดยศาลอื่นอันมิใช่ศาลทหารนั้น ย่อมมีผลกระทบต่อการปฏิบัติ ธำรงวินัยของทหารและกระทบต่อความรักษาความมั่นคงของประเทศนั้น จะเป็นข้ออ้างหรือข้อยกเว้นที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ กระทำการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงต่อประชาชน เช่น การกระทำทรมาน กระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกระทำให้บุคคลสูญหาย ไม่ได้

4.       ศาลทหารไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย และการกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิฯ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง  เนื่องจากเป็นความผิดทางอาญาแบบปกติและอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกติ โดยไม่อาจถือว่าเป็นความผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้อกับการทำหน้าที่ทหารได้

5.       การพิจารณาคดีในศาลทหาร ผู้พิพากษาในศาลทหารมักขาดความเป็นอิสระในการสืบสวนสอบสวนและการพิจารณาคดี การพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของทหาร จะมีเจ้าหน้าที่ทหาร พระธรรมนูญศาลทหาร ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาตัดสินคดีของทหารที่ถูกกล่าวหา การฟ้องร้องดำเนินคดีทำได้เพียงอัยการทหารเท่านั้น ครอบครัวผู้เสียหายไม่สามารถแต่งตั้งทนายความเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการทหารได้ ผู้เสียหายไม่มีสิทธิโต้แย้งต่ออัยการทหารได้ การพิจารณาคดีอาจถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาได้ ผู้เสียหายเข้าไม่ถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม  ดังนั้น การให้ศาลทหารพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของเจ้าที่ทหารเสียเอง ย่อมสร้างความไม่ไว้วางใจให้กับญาติของผู้เสียชีวิต ส่งผลให้ญาติไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

6.       ในประเด็นเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายว่าเท่ากันหรือแย้งกันนั้น ย่อมบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับใหม่กว่า ดังนั้นเมื่อพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย มีลำดับศักดิ์เท่ากันกับพ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2598  กรณีนี้เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ทหารถูกฟ้องว่ากระทำความผิดในทางอาญา เรื่องอำนาจศาลย่อมใช้บังคับตามมาตรา 34 ของพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ว่า “ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รวมถึงคดีซึ่งผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำความผิดด้วย” ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่กว่า ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารแต่อย่างใด

                       นับแต่พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลาหนึ่งปีแล้วนั้น คดีนี้อาจถือเป็นคดีแรกและยังคงเป็นคดีเดียวในขณะนี้ที่อัยการสั่งฟ้องด้วยข้อหาอาญาตามกฎหมายฉบับดังกล่าว จึงเป็นคดีสำคัญยิ่งที่จะสร้างบรรทัดฐานและมาตรการป้องกันในการฝึกทหาร ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นกรณีดังกล่าวกับทหารใหม่คนใดอีก มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมกันติดตามความคืบหน้าคดีโดยเฉพาะการส่งคำร้องของจำเลยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลต่อไปอย่างใกล้ชิด 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net