Skip to main content
sharethis

รังสิมันต์ โรม โพสต์เฟซบุ๊ก ชวนจับตาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปรับปรุงแก้ไขหลังผ่านวาระแรก เตรียมเข้าสภาอภิปรายต่อวาระ 2-3 วันพรุ่งนี้ (23 ก.พ. 65)

22 ก.พ. 2565 วันนี้ เวลา 18.00 น. รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม ระบุว่าวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ. 2565) จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นสัปดาห์สุดท้ายของสมัยประชุมสามัญที่ 2/2564 โดยมีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่คณะกรรมาธิการได้ปรับปรุงแล้ว เตรียมเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 (ลงมติรายมาตรา) และ 3 (ลงมติทั้งฉบับเป็นครั้งสุดท้าย) หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมา

ในช่วงแรกเริ่ม ตนได้เคยกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ควรมีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ทว่าในร่างฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ถูกใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการนั้นยังขาดหายไป ซึ่งตนได้ยกมา 5 ประเด็นด้วยกัน

และในวันนี้ ตนขอทบทวนอีกครั้งว่าใน 5 ประเด็นที่เคยกล่าวถึงไปนั้น กมธ. ได้มีการปรับปรุงอย่างไรบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา

1. ต้องเพิ่มความผิดฐานย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการ ได้เพิ่มฐานความผิดดังกล่าวโดยกำหนดไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐลงโทษหรือกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

บัทบัญญัติดังกล่าวมีไว้เพื่อป้องกันการกระทำผิดที่อาจไม่ถึงขั้นเป็นการทรมาน แต่เข้าข่ายการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Cruel, Inhumane or Degrading Treatment or Punishment) ซึ่งในอนุสัญญาระหว่างประเทศมุ่งให้ประเทศต่าง หามาตรการป้องกันไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การนำไปขังไว้ในที่ในมืดไม่ให้รู้วันรู้คืน, การปฏิบัติต่อบุคคลเยี่ยงสัตว์, การบังคับให้แก้ผ้าต่อหน้าธารกำนัล, การบังคับให้สัมผัสคลุกคลีกับสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไม่มีมนุษย์ผู้ใดสมควรถูกปฏิบัติเช่นนี้ จึงต้องมีการกำหนดความผิดดังกล่าวไว้ด้วย

2. ต้องไม่มีอายุความ

แม้ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการ จะไม่ถึงขนาดไม่ให้มีอายุความตามที่ผมได้เสนอไป แต่ก็ได้กำหนดให้ความผิดตามฐานทรมานและฐานอุ้มหายมีอายุความถึง 40 ปี และความผิดฐานย่ำยีศักดิ์ศรีมีอายุความ 10 ปี ซึ่งถือว่าเป็นอายุความที่ยาวนานกว่าปรกติ (โดยทั่วไปตามกฎหมายอาญากำหนดอายุความสูงสุดที่ 20 ปี) นอกจากนี้ในความผิดฐานอุ้มหายยังไม่ให้เริ่มนับอายุความจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ถูกอุ้มหาย

เหตุที่กำหนดเช่นนี้ ก็เนื่องจากความผิดตามร่าง พ.ร.บ. นี้โดยธรรมชาติแล้วอาจใช้เวลายาวนานเป็นอย่างยิ่งในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ พอที่จะสามารถระบุตัวผู้ที่เกี่ยวข้องและนำตัวมาขึ้นศาลดำเนินคดีได้ เช่นคดีอุ้มหายที่อาจเพิ่งพบศพหรือร่องรอยการเสียชีวิตเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้ว การตรวจพิสูจน์หลักฐานต่างๆ ก็อาจยิ่งต้องใช้เวลานานตามไปด้วย นอกจากนี้คดีตามร่าง พ.ร.บ. นี้ยังเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐและอาจรวมถึงรัฐบาลด้วย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลนั้นอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานหลายสิบปี ผู้ที่รู้เห็นและอาจเป็นพยานได้ก็อาจไม่กล้าให้ความร่วมมือในการคลี่คลายคดี เมื่อเป็นเช่นนี้หากให้มีอายุความสั้นแล้วคดีก็อาจขาดอายุความไปก่อนที่พยานสำคัญจะยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงได้

3. คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย ควรนำโดยภาคประชาชน

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการ กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จำนวน 15 คน โดยประกอบด้วย

  1. กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ประธาน) ปลัดกระทรวงยุติธรรม (รองประธาน) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (กรรมการและเลขานุการ)
  2. กรรมการที่ได้รับการสรรหา 7 คน โดยสรรหามาจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ในด้านสิทธิมนุษยชน 2 คน ด้านกฎหมาย 1 คน แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ 1 คน แพทย์ทางจิตเวชศาสตร์ 1 คน ผู้เสียหายหรือผู้แทนผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลที่เคยมีประสบการณ์ในการถูกกระทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้ หรือผู้แทนของบุคคลดังกล่าว 2 คน

นอกจากยังกำหนดให้เมื่อจะต้องสรรหากรรมการตาม 2. ให้กระทำโดย "คณะกรรมการสรรหา" ที่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้าน, ผู้แทนพรรคการเมืองที่มี ส.ส. อยู่ในสภา ร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย

องค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหายดังกล่าว อาจยังไม่ถึงขนาดที่เรียกได้ว่า "นำโดยภาคประชาชน" อย่างที่ได้มุ่งหวังไว้ อย่างไรก็ตามก็นับว่าเป็นการปรับปรุงจากร่างฉบับ ครม. อย่างมีนัยสำคัญ จากที่เดิมสัดส่วนกรรมการโดยตำแหน่งต่อกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ เป็น 9 ต่อ 6 และกระบวนการแต่งตั้งทำโดย ครม. เท่านั้น ปรับปรุงเป็นสัดส่วนกรรมการโดยตำแหน่งต่อกรรมการโดยการสรรหา เป็น 8 ต่อ 7 และให้สรรหาโดยผู้แทนประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งกรรมการเหล่านี้จะมีบทบาทหน้าที่ทั้งในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ และการดำเนินการเพื่อคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกทรมาน, อุ้มหาย หรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อไป

4. ต้องให้มีการสืบสวนคดีในอดีต

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการ กำหนดให้นำกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีการอุ้มหายตามร่าง พ.ร.บ. นี้ ไปใช้กับกรณีการอุ้มหายที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้จะได้บังคับใช้ด้วยโดยอนุโลม การกำหนดดังกล่าวไม่ได้เป็นการออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อให้เป็นโทษแก่บุคคลใด โดยที่ความผิดฐานอุ้มหายตามร่าง พ.ร.บ. นี้จะไม่ถูกใช้ลงโทษแก่ผู้กระทำผิดในอดีตก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ที่กำหนดเช่นนี้ก็เพื่อให้กระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้มีการปรับปรุงตามร่าง พ.ร.บ. นี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่การสืบคดีที่เกิดขึ้นในอดีตให้ทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดด้วย และหากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายใดที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ก็ให้ดำเนินคดีตามความผิดฐานนั้นต่อไป หรือแม้อาจจะไม่สามารถเอาผิดใดๆ ในทางกฎหมายได้อีกแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการช่วยค้นหาความจริงและคืนความยุติธรรมให้แก่เหยื่อผู้ถูกอุ้มหายในอดีตได้

5. ต้องตัดอำนาจศาลทหาร

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการ กำหนดให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ และให้รวมถึงคดีซึ่งผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำความผิดด้วย การกำหนดดังกล่าวเพื่อปิดช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นกรณีผู้กระทำผิดเป็นทหารแล้วอาจถูกนำไปเข้ากระบวนการของศาลทหาร ซึ่งเป็นศาลที่อยู่ใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม ไม่ได้เป็นอิสระเทียบเท่าศาลอื่น เพื่อให้ผู้กระทำผิดพ้นผิด ไม่ต้องรับโทษเท่าที่ควร หรือถูกดำเนินคดีล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นได้ จึงต้องกำหนดให้แม้ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นทหาร ก็ต้องมาเข้ารับการพิจารณาคดีในศาลพลเรือนด้วย

"นี่คือ 5 ประเด็นในร่าง พ.ร.บ. นี้ที่ผมเห็นว่าหากสามารถผลักดันให้บังคับใช้เป็นกฎหมายได้ จะเป็นการบุกเบิกที่ส่งผลอย่างสำคัญต่อการพิทักษ์สิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชนให้ปลอดจากการทรมาน, อุ้มหาย และย่ำยีศักดิ์ศรีโดยฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังมีกรรมาธิการบางท่านที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงนี้ และได้สงวนความเห็นไว้ตามแนวทางของร่าง ครม. เดิม จึงจะต้องมีการลงมติกันรายมาตราในที่ประชุมสภาห้องใหญ่ต่อไป" รังสิมันต์ระบุ พร้อมทิ้งท้ายด้วยการขอให้ประชาชนติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่เป็นผลพวงของความร่วมมือกันของทั้งภาคประชาชนและ ส.ส. ในสภาจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ. 2565)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net