Skip to main content
sharethis

ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องให้ ‘ทนายอานนท์’ สู้คดี ม.112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ระบุขัดหลักพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เนื่องจากเอกสารการเดินทางไปประทับที่เยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ของรัชกาลที่ 10 เป็นประเด็นโดยตรงแห่งคดีที่จำเลยปราศรัยถึงตามคำฟ้อง หากศาลไม่ออกหมายเรียกเอกสารข้อมูลการเดินทางของรัชกาลที่ 10 มาในสำนวนคดีนี้ จำเลยย่อมไม่สามารถนำสืบต่อสู้ได้ว่าสิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นความจริงหรือไม่

 

7 มิ.ย. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องให้ในคดีตามมาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 39 ปี กรณีปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 นัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ ศาลได้มีคำสั่งตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสาร ฉบับลงวันที่ 2 พ.ย. 2565 ว่า เอกสารการเดินทางของพระมหากษัตริย์และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีเห็นว่าคดีสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่อนุญาต

อานนท์และทนายความได้ทวงถามเหตุผลศาลที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ แต่ศาลตอบเพียงเหตุผลในข้างต้น และหากฝ่ายจำเลยไม่เห็นด้วย ก็ขอให้ทำคำร้องคัดค้านคำสั่งศาล

อานนท์จึงลุกขึ้นแถลงว่า เมื่อผมไม่สามารถได้รับความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวขนาดนี้ได้ ผมขอถอดเสื้อประท้วงท่าน พร้อมถอดเสื้อนักโทษสีน้ำตาลออก เพื่อยืนยันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของตนเอง

คำร้องระบุเอกสารการเดินทางของ ร.10 ต้องใช้พิสูจน์ความจริงและความบริสุทธิ์ของจำเลย - คำสั่งศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดหลักพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

คำร้องคัดค้านคำสั่งศาลระบุว่า ที่ศาลมีคำสั่งว่า “ตามที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เพื่อขอเอกสารการเดินทางของพระมหากษัตริย์ และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีเห็นว่าคดีสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่อนุญาต” นั้น จำเลยขอคัดค้าน ด้วยเหตุผลและข้อกฎหมาย สามารถสรุปได้เป็น 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก จำเลยเห็นว่าเอกสารดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้มาเพื่อต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย จำเลยจึงประสงค์ให้ศาลใช้อำนาจตามกฎหมายออกหมายเรียกมาเพื่อใช้ประกอบการสืบพยานหรือถามค้านพยานโจทก์เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองตามที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยปราศรัยข้อความอันเป็นเท็จ

เอกสารการเดินทางไปประทับที่เยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ของรัชกาลที่ 10 เป็นประเด็นโดยตรงแห่งคดีที่จำเลยปราศรัยถึงตามคำฟ้อง หากศาลไม่ออกหมายเรียกเอกสารข้อมูลการเดินทางของรัชกาลที่ 10 มาในสำนวนคดีนี้ จำเลยย่อมไม่สามารถนำสืบต่อสู้ได้ว่าสิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นความจริง เช่นเดียวกับข้อมูลเอกสารการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ ตามที่จำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียก ล้วนเป็นประเด็นโดยตรงแห่งคดี

ประการที่สอง เหตุผลในคำสั่งเพียงว่า “กรณีเห็นว่าคดีสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่อนุญาต” คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ปรากฏเหตุผลที่ชัดแจ้งเพียงพอให้จำเลยเข้าใจคำสั่งได้

จำเลยไม่อาจเข้าใจได้ว่า “คดีสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าว” นั้น ศาลหมายถึงการวินิจฉัยความผิดฐานใด เฉพาะความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ หรือหมายรวมถึงความผิดอื่น ๆ ตามที่โจทก์ฟ้องด้วย

กรณีที่ศาลสั่งว่า “สามารถวินิจฉัยคดีได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าว” นั้น ศาลจะวินิจฉัยอย่างไร และวินิจฉัยไปในทางที่เป็นคุณกับจำเลยหรือไม่ ศาลจะวินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลยได้อย่างไรในเมื่อจำเลยไม่สามารถเข้าถึงพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง

เหตุผลเดียวที่จำเลยพอจะอนุมานหรือคาดเดาไปได้จากคำสั่งดังกล่าว คือ ศาลเห็นว่าแม้จำเลยจะมีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างพยานโจทก์ได้หนักแน่นเพียงใดก็ตามว่าสิ่งที่จำเลยกล่าวปราศรัยล้วนเป็นความจริงทั้งสิ้น แต่ศาลเห็นว่าการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ และยอมให้มีการเรียกพยานเอกสารมาเพื่อพิสูจน์ความจริงเช่นนั้นในศาลไม่ได้ หากนัยของคำสั่งศาลเป็นเช่นนั้น ย่อมเสมือนว่าจำเลยได้ถูกศาลพิพากษาไปแล้วล่วงหน้าก่อนจะได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อศาล

คำสั่งดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมกับจำเลยอย่างยิ่ง และขัดแย้งต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งหลักการดังกล่าวพึงดำรงอยู่และถูกยึดถือปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นคดีทั่วไปหรือคดีในความผิดตามมาตรา 112 ก็ตาม แต่ในคดีความผิดตามมาตรา 112 จำเลยกลับต้องพบเจอกับการปฏิเสธและงดเว้นการใช้อำนาจของศาลในการออกหมายเรียกพยานหลักฐานเข้ามาในสำนวนคดีเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นความจริง

คดีนี้ไม่ใช่คดีแรกที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมของไทยพร้อมใจกันปฏิเสธและงดเว้นการใช้อำนาจดังกล่าว จนกระทบต่อหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในการต่อสู้คดีและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของจำเลยจำนวนมาก ผ่านการใช้ดุลยพินิจของศาลที่ขัดแย้งต่อมโนสำนึกพื้นฐานว่าด้วยความยุติธรรมที่กระบวนการยุติธรรมพึงยึดถือและเคารพ

ในตอนท้ายของคำร้องยังระบุว่า “การปฏิเสธและงดเว้นการใช้อำนาจของศาลในลักษณะดังกล่าว ในท้ายที่สุดแล้วอาจถือได้ว่าเป็นรอยด่างพร้อยของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยที่จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่ายุคสมัยหนึ่ง จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องเผชิญชะตากรรมในการถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานในการต่อสู้คดีและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเช่นใด”

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net