Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง ม.112 ผู้ป่วยจิตเวช ทุบทำลายรูป ร.10 ชี้ กระทำขณะมีจิตบกพร่อง ไม่ชัดเจนว่ามีเจตนาดูหมิ่น-อาฆาตกษัตริย์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี มีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีของ “แต้ม” (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวชวัย 34 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และทำให้เสียทรัพย์ จากเหตุทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 รวม 3 จุด ใน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564

โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กล่าวคือ ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเห็นว่า ขณะก่อเหตุแต้มมีความผิดปกติในลักษณะที่มีจิตบกพร่อง แต่ไม่ถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้ ลงโทษสถานเบาโดยให้รอลงอาญา และยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากจำเลยกระทำการในขณะมีความผิดปกติทางจิต จึงไม่ชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่    

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของแต้มไม่ได้แสดงถึงการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเห็นว่า แม้แต้มจะเป็นโรคจิตเภท ที่มีอาการเรื้อรังมา 10 ปี แต่ขณะก่อเหตุแต้มไม่ถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้ลงโทษสถานเบา จำคุก 3 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกและปรับให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้เข้ารับการรักษาอาการจิตเภทที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ กับให้ชำระค่าเสียหายจำนวน 20,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี

แต่ต่อมา พนักงานอัยการศาลสูงจังหวัดอุบลราชธานียื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับคําพิพากษาของศาลชั้นต้น ลงโทษจำเลยสถานหนักในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ด้วย โดยอ้างว่า จำเลยสามารถพูดคุย ขับรถ และทุบป้ายได้ ไม่ได้ฟั่นเฟือน ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์เทียบเท่าองค์พระมหากษัตริย์

ก่อนที่ทนายจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุแต้มไม่สามารถรู้สำนึกและควบคุมการกระทำของตนเองได้ อีกทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้เทียบเท่าองค์พระมหากษัตริย์

อ่านข่าวนี้โดยละเอียดในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net