Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนา “สิทธิประกันตัวสู่ปฏิรูปยุติธรรม” ในวาระครบ 30 วันการเสียชีวิตของ "บุ้ง ทะลุวัง" กล่าวย้ำปัญหากระบวนการยุติธรรมจะต้องได้รับการปฏิรูปทั้งความไม่เป็นอิสระของศาล ไม่มีการถ่วงดุลย์กันระหว่างกลไกในกระบวนการยุติธรรมและปัญหาความเป็นการเมืองของคดีม.112 ที่ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง พร้อมย้ำว่าจะต้องได้นิรโทษกรรมด้วย

13 มิ.ย.2567ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เครือข่ายองค์กรทำงานด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและนักโทษการเมืองร่วมกันจัดเวทีเสวนา “สิทธิประกันตัวสู่ปฏิรูปยุติธรรม”  ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตขณะถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หลังจากอดอาหารประท้วงมากว่า 100 วัน โดยในเวทีที่มีทั้งเพื่อนนักกิจกรรมของเนติพรและทนายความด้านสิทธิมนุษยชนสะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมและความเป็นการเมืองของข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

ไม่มีความคืบหน้าในการได้หลักฐานการตายของ “บุ้ง”

ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ นักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุวัง” และเพื่อนของเนติพรกล่าวว่า ตั้งแต่เนติพรต้องจากไปเพราะถูกคุมขังในคดี ม.112 ทั้งสถานการณ์ความพยายามของรัฐบาลในการเข้าร่วมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ การนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง มีผู้ต้องขังคดีการเมืองไม่ได้สิทธิในการประกันตัวไปจนถึงคำพิพากษาของศาลก็ไม่มีการรอลงอาญา ทำให้ตอนนี้มีคนที่ต้องอยู่ในเรือนจำมากกว่าตอนรัฐบาลประยุทธ์อีกจึงเป็นเรื่องที่ทำให้เธอคิดว่าสถานการณ์เมืองในตอนนี้แย่กว่าตอนรัฐบาลประยุทธ์ด้วย

ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ

ณัฐนิชอัพเดตปัญหาในการติดตามหลักฐานและทวงความเป็นธรรมให้กับเนติพรด้วยว่า ขณะนี้ผ่านมาหนึ่งเดือนแล้วบุ้งก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่เคยรับปากว่าจะให้หลักฐานก็ยังไม่ให้ รัฐบาลก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะมีคำตอบอย่างไรต่อเรื่องนี้ ทั้งที่การเสียชีวิตของเนติพรเป็นการเสียชีวิตระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำก็ควรจะได้หลักฐานภาพกล้องวงจรปิดและหลักฐานต่างๆ มาแล้วตอนนี้ก็ยังได้ไม่ครบ

ตุลาการไม่เป็นอิสระตามหลักแบ่งแยกอำนาจ

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน นักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” กล่าวว่า ภาพรวมปัญหาที่ผู้ต้องหาคดีการเมืองเจอมาตลอดคือศาลที่เป็นอิสระมีอำนาจที่เข้ามาแทรกแซงการทำงานของศาลได้ ถ้าสามารถแก้ปัญหานี้ได้ก็จะไม่ต้องเจอปัญหาที่เผชิญอยู่ตอนนี้ และปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของนักกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้นแต่เป็นของประชาชนทุกคนด้วย เพราะตามรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญที่ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อนจะถูกพิสูจน์ความผิดจะทำเหมือนบุคคลนั้นมีความผิดก่อนไม่ได้ แต่สถานการณ์ที่มีผู้ต้องขังกว่า 60,000 คนที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน

อย่างไรก็ตาม ทานตะวันก็ได้กล่าวถึงปัญหาสิทธิประกันตัวในคดีการเมืองด้วยว่า ถึงกฎหมายจะระบุหลักเกณฑ์ไว้ 5 ข้อที่ศาลจะไม่ปล่อยตัวชั่วคราว เช่น เกรงจะหลบหนี ปล่อยแล้วจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่เมื่อเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองศาลก็มักสั่งไม่อนุญาตให้ประกันโดยอ้างเหตุผลที่ไม่ได้หลัเกณฑ์ตามกฎหมายอย่างเช่น เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง มีพฤติการณ์ร้ายแรง ซึ่งการที่ศาลสั่งแบบนี้กระทบกับการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจน ฝ่ายตุลาการไม่ได้แยกกับฝ่ายบริหาร ถ้าหากตำรวจยัดข้อหารุนแรงมาให้ศาลก็สั่งขังได้

ทานตะวันเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอในคดีบีบแตรขบวนเสด็จที่ หมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา 2 หมายแรกที่ส่งถึงบ้านเธอเป็นเพียงข้อหาสร้างความเดือดร้อนรำคาญเท่านั้นและเธอได้ขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาออกไปเพราะติดเรียน แต่ทางตำรวจไม่ให้เลื่อนหรือขอนัดเป็นตอนบ่ายในวันนัดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็บอกว่าไม่ว่างตอนบ่าย สุดท้ายตำรวจออกหมายจับมาและข้อหาเปลี่ยนเป็นข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 แทน ซึ่งการจะแก้ปัญหาเหล่านี้จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องไม่มีอำนาจใดแทรกแซงการทำงานของศาลได้ ไม่เช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ใช้ระบบกล่าวหาที่ใครก็กล่าวหาได้ ระบบนี้ทุกคนจึงตกเป็นเหยื่อได้เสมอ

ทานตะวันเห็นว่าต้องกลับไปที่ข้อเรียกร้องของเนติพรที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ทานตะวัน กล่าวถึงความจำเป็นในการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วยโดยการตั้งคำถามย้อนไปว่าการนิรโทษกรรมคนที่ทำรัฐประหารที่มีโทษตามกฎหมายถึงขั้นโทษประหารก็ยังสามารถทำได้ แล้วเหตุใดการจะนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 จึงทำไม่ได้ เพราะถ้าบอกว่าคดีมาตรา 112 กระทบความมั่นคง แล้วการรัฐประหารไม่กระทบความมั่นคงอย่างไร เพราะฉะนั้นเพื่อให้ผู้ต้องขังได้ออกมาใช้ชีวิตของพวกเขาก็ต้องรวมคดีมาตรา 112 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทานตะวันก็ยังน้ำถึงข้อเรียกร้องของเนติพรที่ต้องการให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย เพราะต่อให้มีการนิรโทษกรรมแล้วก็ทำได้แค่แก้ปัญหาได้ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นในระยะยาวก็ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย เพราะจะส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนด้วย

กระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

สมชาย หอมละออ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวถึง ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ ในทั้ง 3 ขั้นตอนคือชั้นสอบสวนอย่างตำรวจ ชั้นอัยการ และชั้นศาล

สมชายเริ่มจาก ปัญหาในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวนหรือก็คือชั้นตำรวจที่มีหน้าที่สอบสวนหาความจริงเมื่อมีคนแจ้งความว่ามีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าความจริงเป็นอย่างไร พนักงานสอบสวนต้องรับฟังหลักฐานจากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษและผู้ถูกกล่าวหา แต่ปัญหาที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนไม่ว่าจะทั้งของตำรวจหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษต่างก็ไม่ได้ใช้วิธีการหรือหลักการในการสอบสวนเพื่อหาความจริงแต่เน้นสอบสวนเพื่อหาความผิด และไม่ค่อยฟังหลักฐานหรือคำให้การจากผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาเท่าไหร่

ระดับต่อมาคือ อัยการที่มีหน้าที่สั่งคดีว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องตามที่ทางตำรวจหรือพนักงานสอบสวนนำเสนอ อย่างไรก็ตามในกฎหมายไม่ได้กำหนดหน้าที่ให้อัยการมีหน้าที่หรือมีอำนาจในการพิจารณาสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งให้เท่านั้น แต่อัยการยังสามารถตรวจสอบว่าสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมาว่าได้ทำมาอย่างถูกต้องตามหลักของกฎหมายและยุติธรรมแล้วหรือไม่ โดยอัยการสามารถเรียกพยานหลักฐานต่างๆ หรือรับฟังการร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ต้องหาได้ด้วยแล้วอัยการจึงใช้ดุลพินิจได้ เพราะอัยการมีความรู้ทางกฎหมายเป็นพิเศษที่ได้มาจากการสอบฝึกอบรมต่างๆ จึงต้องใช้กฎหมายอย่างถูกต้องทำนองคลองธรรมจะบิดเบือนไม่ได้

สมชาย หอมละออ

นอกจากนั้น สมชายยังกล่าวด้วยว่าในการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนอาจมีการแทรกแซงหรือชี้นำจากบุคคลหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงของตำรวจ อัยการเองจึงควรมีหน้าที่กลั่นกรองสำนวนของตำรวจและมีอิสระมากพอสมควร ถ้าอัยการสามารถทำงานอย่างมืออาชีพได้ก็จะให้ความยุติธรรมกับประชาชนได้ไม่ใช่แค่ในคดีการเมืองเท่านั้น แต่คนที่มักตกเป็นผู้ต้องหาส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนเล็กคนน้อยคนชายขอบ แรงงานข้ามชาติ คนจน กลุ่มชาติพันธุ์ คนเหล่านี้ไม่มีพรรคพวกที่จะไปวิ่งเต้นคดีได้ไม่มีความรู้ทางกฎหมายอีกทั้งอาจจะไม่มีทนายความด้วย อัยการจึงต้องทำหน้าที่ดูแลปกป้องคนเหล่านี้เป็นพิเศษในการสอบสวนข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบจนสามารถเชื่อได้พอสมควรให้ปราศจากข้อสงสัยจึงจะมีคำสั่ง

สมชายเห็นว่าคำถามใหญ่ที่สังคมตั้งคำถามต่ออัยการคือ อัยการยังทำหน้าที่ที่กล่าวไปเหล่านี้อยู่หรือไม่ เพราะพอตำรวจมีความเห็นว่าให้สั่งฟ้องอัยการก็ฟ้องตามจนคดีไปถึงศาล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่อัยการจะต้องกลั่นกรองสำนวนและต้องยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนด้วยนอกจากตัวบทกฎหมายเท่านั้น

เมื่อเป็นนักกฎหมายแล้วก็ต้องมีความเป็นยุติธรรมเป็นกฎหมายสูงสุด แม้ว่าในทางทฤษฎีรัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายของประเทศ แต่รัฐธรรมนูญของไทยนั้นจัดทำโดยคณะรัฐประหารเป็นส่วนใหญ่เมื่อรัฐประหารก็ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วก็ร่างกฎหมาย รัฐธรรมนูญกันขึ้นมาใหม่โดยไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม

ดังนั้นอัยการต้องยึดถือความยุติธรรมเป็นกฎหมายสูงสุด ต้องกลั่นกรองว่าผู้ต้องหาถูกลั่นแกล้งมาหรือไม่ นายทุนอาจแจ้งความหมิ่นประมาทเพราะคนเหล่านี้ไปร้องเรียนว่าโรงงานของนายทุนปล่อยน้ำเสีย คนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 หรือ 116 เพราะฝ่ายที่แจ้งความดำเนินคดีพวกเขาเป็นคนในกลุ่มที่มีความคิดการเมืองอยู่ฝั่งตรงข้ามหรือไม่ที่อาจใช้กฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่เช่นนั้นอัยการก็จะตกเป็นเพียงเครื่องมือของผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลไปด้วย

สมชายกล่าวต่อว่า ความเป็นธรรมในชั้นอัยการในคดีการเมืองนั้นหาได้ยาก เพราะส่วนใหญ่อัยการจะส่งสำนวนไปให้ศาลเป็นผู้พิจารณาไม่อยากรับผิดชอบวินิจฉัยสั่งคดีเอง ทำให้ต้องมีคนติดคุกกันมาก แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีคดีที่ศาลยกฟ้องเยอะคดีในศาลไทยมีอัตรายกฟ้องที่สูงมากถึง 40% แสดงให้เห็นว่าอัยการไม่ได้ทำหน้าที่กลั่นกรองคดี แล้วคดีที่ศาลยกฟ้องไปก็ด้วยเหตุผลว่าสำนวนที่ส่งมาหลักฐานไม่ครบถ้วนไม่ชัดเจน หรือถ้ามีการตั้งข้อหาหนักมาหลายข้อหาศาลก็มักลงโทษในข้อหาเบาๆ เพราะมีหลักคิดว่าให้ฟ้องไปหลายข้อหาไว้ก่อน จึงเห็นได้ว่าอัยการยังขาดการคิดคำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหา

สมชายกล่าวถึงระดับที่สามคือ ศาล เขาเห็นว่าศาลในคดีทั่วไปอาจพูดได้ว่าระบบศาลไทยได้รับการยอมรับพอสมควรในความเป็นอิสระและความยุติธรรมแต่ก็ยังไม่เพียงพอ และเมื่อเป็นคดีการเมืองโดยเฉพาะมาตรา 112 ที่ข้อหานี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองนำมาใช้กลั่นแกล้งโดยอ้างความจงรักภักดีซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่มีใครยอมพูด

เขากล่าวว่าแม้ทุกประเทศจะมีกฎหมายคุ้มครองปกป้องประมุขของประเทศ แต่การตีความกฎหมายอาญาก็ยังต้องตีความอย่างเคร่งครัด และในมาตรา 112 ผู้ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายก็มีเพียงแค่ 4 ตำแหน่งเท่านั้น คือพระมหากษัตริย์ ราชีนี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการเท่านั้น ไม่ใช่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์เพราะคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นองคาพยพที่รวมหน่วยงานและบุคคลจำนวนมากเข้ามาไว้ แต่บุคคลเหล่านี้ก็มีทั้งคนที่ดีหรือคนที่เป็นจุดบกพร่องอยู่บางทีก็ไม่รู้ว่าจะมีการแอบอ้างหรือไม่

นอกจากนั้นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างเช่น อังกฤษที่ไทยไปเอาแบบมาเป็นตัวอย่างก็ยังมีหลักการสำคัญที่ใช้ในการปกป้องสถาบันกษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์ คือ The King can do no wrong คือกษัตริย์ไม่สามารถทำผิดได้ แต่ความหมายก็ไม่ใช่กษัตริย์ทำอะไรก็ไม่ผิดแต่ที่ทำผิดไม่ได้เพราะว่ากษัตริย์ต้องไม่ทำอะไรเลย เมื่อทำไม่ได้ทำอะไรเลยจึงไม่สามารถทำผิดได้ ดังนั้นการกระทำต่างๆ ของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขจะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการคนที่รับผิดไปแทนจึงเป็นคนที่ลงนามรับสนองเช่น นายกรัฐมนตรีหรือประธานรัฐสภา เพื่อให้กษัตริย์ได้วางตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง ซึ่งการที่มีคนดึงเข้าสถาบันกษัตริย์เข้ามาอยู่ในความขัดแย้งจึงผิดหลักการและไทยต้องจริงจังกับเรื่องนี้ซึ่งหากต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์เข้ามาในความขัดแย้งก็เป็นการทำให้เสื่อมเสียเอง

ดังนั้นการตั้งข้อหามาตรา 112 ถ้าไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทองค์กษัตริย์ ดูหมิ่น อาฆาต บุคคลตามกฎหมายทั้ง 4 ตำแหน่งก็ไม่ควรมีความผิดหรือตกเป็นจำเลยในคดี แต่ในตอนนี้แม้แต่คนที่วิจารณ์กษัตริย์ในอดีตก็โดนตั้งข้อหาได้หรือวิจารณ์ไปที่สถาบันกษัตริย์ก็ถูกดำเนินคดี หรือคนที่วิจารณ์สมาชิกในสถาบันที่ไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองก็ยังถูกดำเนินคดี ซึ่งหากเป็นไปตามหลักกฎหมายแล้วคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ก็ควรได้รับการปล่อยตัว เพราะการแสดงความคิดที่ไม่ใช่ความรุนแรงหรือมีการยุยงให้ใช้ความรุนแรงก็ไม่ควรถูกดำเนินคดี และเขาเห็นว่ามาตรา 112 และ 116 เป็นเครื่องมือที่คนบางกลุ่มใช้ปิดปากนักกิจกรรม การดำเนินการของบุคคลหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามเช่นที่กำลังเกิดกับพรรคการเมืองบางพรรค

สมชายกล่าวถึงประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราว ที่เขาเห็นว่าตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้วควรเป็นการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวคนที่ถูกดำเนินคดีควรเป็นข้อยกเว้น เพราะตามหลักคนเกิดมามีเสรีภาพถ้าไม่มีเหตุจำเป็นก็ไม่ควรจะนำตัวไปคุมขังไว้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เคยมีการแก้ไขในมาตรา 108/1 ก็ยืนบนหลักการนี้คือ คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวจะทำได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีจะทำ เช่น เกรงว่าจะมีการหลบหนี เข้ายุ่งกับพยานหลักฐานเป็นต้น การปล่อยชั่วคราวควรเป็นหลักและให้การคุมขังเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น

สมชายกล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยโดยเฉพาะศาลนั้นมีหน้าที่จะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ตกอยู่ภายใต้การกลั่นแกล้งรังแกของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ  เพราะถ้ามีรัฐบาลที่เป็นทรราช ไม่ว่าจะมาจากการรัฐประหารหรือการเลือกตั้งก็สามารถสั่งเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ได้ทั้งทหาร ตำรวจไปจนถึงครูในโรงเรียนก็สั่งการได้หมด เพราะมีกฎระเบียบและให้อำนาจแก่รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารสามารถทำได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรในการป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารที่มีกำลังเจ้าหน้าที่เป็นหลักล้านมาละเมิดสิทธิประชาชน

หน้าที่ของฝ่ายตุลาการในประเทศที่มีนิติรัฐจึงมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารที่จับคนมาศาลการจับกุมนั้นมีเหตุสมควรหรือไม่ จะรอให้มีทนายความไปช่วยจะมีหรือไม่ หน้าที่จึงอยู่ที่ศาลต้องถามเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน การที่ศาลจะทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้เงื่อนไขสำคัญที่สุดคือต้องเป็นอิสระ เพราะถ้ามีคนไปวิ่งเต้นกับศาลได้ ฝ่ายบริหารหรือผู้มีอำนาจนอกระบบก็จะไปวิ่งเต้นกับศาล แล้วศาลจะคุ้มครองประชาชนได้อย่างไร

นอกจากนั้น สมชายยังเห็นว่าความเป็นอิสระของศาลไม่ใช่แค่รัฐบาลจะมาชี้นิ้วสั่งไม่ได้เท่านั้น แต่ผู้พิพากษาก็ต้องเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารของศาลเองด้วย การตัดสินพิพากษาคดีต้องเป็นดุลพินิจของศาล แล้วศาลเองนอกจากจะก็ต้องมีความรู้เข้าใจกฎหมายแล้วยังต้องเข้าใจปัญหาของประชาชนตามสมควรด้วย  อีกทั้งผู้พิพากษาก็ต้องเป็นอิสระจากอคติของตัวเองแม้ว่าศาลเองเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเชื่อและอุดมการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเป็นของตัวเอง แต่เมื่อมาทำหน้าที่บนบัลลังก์แล้วก็ต้องปราศจากอคติด้วย

สมชายกล่าวว่า ถ้าสังคมไทยขาดความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมแล้วสังคมไทยจะเดินไปต่อไม่ได้เลย แต่ถ้าอยากให้สังคมไทยฟื้นความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมกลับคืนมาก็ต้องปฏิรูป แต่จะต้องปฏิรูปอย่างไร

สมชาย  ตอบในประเด็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมควรยืนข้างประชาชนหรือไม่นั้น เขาเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นต้องยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนหรือหลักนิติธรรมหรือไม่ เพราะไทยก็เคยผ่านยุคที่เผด็จการเสียงข้างมากมาแล้ว ดังนั้นการที่กระบวนการยุติธรรมจะยืนข้างประชาชนก็คือต้องเคารพสิทธิของประชาชนและยึดถือการทำงานตามหลักนิติธรรมไม่ใช่ยืนข้างประชาชนตามเสียงข้างมาก

เขาได้ยกตัวอย่างถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันโดยอ้างเหตุผลว่าเพราะเป็นคดีที่กระทบจิตใจของประชาชน คำถามก็คือศาลมองว่าใครคือประชาชนและใครก็สามารถอ้างถึงประชาชนได้ แล้วการอ้างของศาลนี้ก็มีข้อบกพร่องอยู่ 2 ประเด็นคือ ศาลใช้ดุลพินิจโดยยอมตามแรงกดดันตามความรู้สึกของประชาชนอันนี้ขัดแย้งกับหลักความเป็นอิสระของศาล และปัญหาที่สองคือการกักขังนั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นการจำกัดสิทธิและอิสรภาพของจำเลยเป็นการลงโทษจำเลยโดยไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยอ้างความรู้สึกของสังคมและประชาชนมาลงโทษก็เป็นเรื่องที่ไม่ชอบโดยหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนดังนั้นเราต้องยึดถือเรื่องนี้ การอ้างประชาชนขึ้นมานี้ใครๆ ก็อ้างได้ทั้งนั้น

สมชายยังได้กล่าวถึงกรณีการรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนด้วยว่า ที่มีการแดสงความเห็นไม่เห็นด้วยถึงกว่า 60% นั้นก็ไม่รู้ว่ามีการปั่นกันมาหรือเปล่า เพราะการเอาคนที่แสดงความคิดเห็นโดยไม่ใช้ความรุนแรงและความเชื่อตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานไปขังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การนิรโทษกรรมคือการเยียวยาและการเยียวยาก็ไม่ใช่แค่การปล่อยตัวพวกเขาออกมาเท่านั้นแต่ต้องรวมถึงตัวเงินและด้านจิตใจต่างๆ ด้วยไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะติดกับดักของความขัดแย้งตลอดไป และความขัดแย้งนี้ทำให้ประเทศไทยไปไหนไม่ได้ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และความยุติธรรม

เขาเสนออีกว่าถ้าเราจะหลุดพ้นความขัดแย้งอันนี้ การละเมิดสิทธิจากการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจับคนไปเข้าคุกจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก นอกจากต้องห้ามเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แล้วตัวบทกฎหมายเองก็มีเรื่องที่ต้องปลดล็อกในตัวกฎหมายบางประเด็นด้วย เพราะที่ผ่านมาศาลในบางคดีอาจอยากแค่รอลงอาญา แต่ศาลก็ทำไม่ได้เพราะการพฤติการณ์คดีที่การแชร์ข้อความหนึ่งอันก็ถือเป็น 1 กรรมแล้วก็พิพากษาลงโทษกันเป็น 10 ปี

สมชายเห็นว่าเมื่อความเป็นธรรมคือกฎหมายสูงสุด ก็มีหลายเรื่องต้องปฏิรูปแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ เพราะเมื่อเกิดการรัฐประหารแล้ว คนบางกลุ่มก็เข้าไปยึดกลไกของรัฐไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้ง สว. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ มีมือของบุคคลที่มองไม่เห็นเป็นรัฐพันลึก เพราะต่อให้มีคนในกระบวนการยุติธรรมอยากจะช่วยเหลือแต่พวกเขาก็ต้องยอมที่จะอยู่ให้เป็นยอมจำนนต่อรัฐพันลึก การที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ยังทำได้ด้วยความรอบคอบด้วยความระมัดระวัง ซึ่งเขาก็ขอฝากเรื่องนี้ไว้กับประชาชนมากกว่าจะฝากไว้กับผู้มีอำนาจที่เป็นรัฐพันลึก

ความเป็นการเมืองของมาตรา 112

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงปัญหาของการใช้มาตรา 112 ว่ามีประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงยุค คสช. ที่คนอาจไม่ตระหนักกันนัก คือเคยมีช่วงที่มีมาตรา 112 หยุดใช้ไปในช่วงปี 2561-2563 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 2557 คดีมาตรา 112 ได้กลายเป็นคดีนโยบายและมักมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษที่รุนแรง เช่นในช่วง 2559 ที่มีเหตุการณ์สวรรคตก็มีการใช้มาตรานี้อย่างรุนแรง

พูนสุข พูนสุขเจริญ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2561-2563  มีการเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรา 112 อย่างไม่เป็นทางการ ที่นอกจากจะมีการรวบอำนาจพิจารณาในข้อหานี้ไปไว้ที่อัยการสูงสุดแล้ว คดีมาตรานี้ก่อนหน้าช่วงเวลาดังกล่าวนอกจากคนที่โดนคดีไม่ได้ประกันตัวและลงโทษจำคุกแล้ว ในช่วงเวลานี้ศาลกลับมีคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลเช่น อัยการเขียนฟ้องไม่ชัดเจน อย่างในคดีประเวศ ประภานุกูลที่เลือกต่อสู้คดีมาตรา 112 โดยการอารยะขัดขืนไม่แต่งตั้งทนายความสู้คดีเลยทั้งที่โดนฟ้องด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ถึง 13 กรรมแต่ศาลก็ยกฟ้องทั้งหมดทั้งที่ไม่มีการสู้คดี

พูนสุขกล่าวว่าความน่ากลัวของเรื่องนี้ก็คือ สถานการณ์การไม่ใช่มาตรา 112 นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในชั้นศาล แต่เกิดตั้งแต่ในชั้นอัยการและตำรวจด้วย จากวันหนึ่งเคยมีการใช้อย่างรุนแรงแต่วันหนึ่งก็ไม่ใช้เลยแล้วไปใช้ข้อหาอื่นหรือกระบวนการนอกกฎหมายอื่นๆ แทน

พูนสุขเล่าว่ามีคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้เป็นคดีที่ศูนย์ทนายความฯ ไม่เคยรายงานมาก่อนเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย มีจำเลยที่ถูกฟ้องทั้งหมด 10 กรรมจาก 10 ข้อความด้วยมาตรา 112 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษหนึ่งข้อความเป็นข้อความที่เขียนว่า “เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ตื่นเต้นอะไรเหรอ” ซึ่งเป็นโพสต์ที่ตั้งขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 9 สวรรคต และศาลมีคำพิพากษาก่อนมีการเปลี่ยนนโยบายการใช้ จนในศาลอุทธรณ์กลับมีคำพิพากษายกฟ้อง 112 แล้วลงโทษด้วยข้อหา 116 แทน

พูนสุขอธิบายว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รุนแรงมากเพราะแม้ว่าจะมีความผิดบางประเภทถ้าอาจสามารถยกฟ้องข้อหาหนึ่งแล้วลงข้อหาหนึ่งได้เพราะการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกันอย่างเช่นในคดีลักวิ่งชิงปล้น ถ้าการกระทำไม่เข้าข่ายเป็นการปล้นก็ยังอาจเข้าข่ายลักทรัพย์ได้ แต่ในคดีของจำเลยคนนี้ไม่เคยมีการฟ้องข้อหานี้มาก่อนแล้วคดีจำเลยก็ถูกขังในชั้นอุทธรณ์และไม่ได้ประกัน เมื่อเขาถูกขังแล้วรอสู้คดีไม่ไหวก็ถอนอุทธรณ์แล้วไปรอการอภัยโทษแทน

พูนสุขกล่าวว่าความน่ากลัวของช่วงที่มีการหยุดใช้มาตรา 112 ก็คือว่า เคยมีการใช้ข้อหานี้อย่างรุนแรงแล้วมีช่วงที่หยุดใช้ไป เป็นความไม่มั่นคงแน่นอนของการใช้กฎหมาย และการใช้กฎหมายมาตรานี้ใครเป็นผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ และศาล ได้เพราะทั้ง 3 ชั้นนี้ต่างแยกจากกัน การเปลี่ยนแนวทางไปในแนวเดียวกันหมดแบบนี้จึงน่ากลัวเพราะหมายถึงว่ามีคนใดคนหนึ่งที่อยู่เหนือกระบวนการยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงระบบได้ และหลังจาก 2563 ข้อหานี้ก็ถูกนำมาใช้อย่างรุนแรงกว่าเดิม

ทั้งนี้การใช้กฎหมายแบบนี้ไม่ได้ทำให้การใช้กฎหมายมีปัญหากับแค่มาตรา 112 อย่างเดียวเมื่อกระบวนการยุติธรรมเสียหายไม่ได้เสียแค่ประเภทคดีประเภทใดประเภทหนึ่งแต่เสียทั้งระบบและกระจายไปทั้งสังคม เป็นเรื่องที่รุนแรงมาก

พูนสุขเปรียบเปรยว่า เรากำลังเผชิญช่วงเวลาที่แผลมันพุพองออกมาให้เห็นมากขึ้นจึงมีคำถามว่าเราจะรักษาและให้ยาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นข้อเสนอของเนติพรที่เสนอว่าต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

หัวใจกฎหมายอาญา คือการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิสูจน์ความผิดได้ แต่ที่ผ่านมามีคนโดนขังโดยไม่ได้ทำผิดหรือพวกเขาต้องรับสารภาพหรือรับผิดเพื่อที่จะขออภัยโทษและได้ออกจากเรือนจำให้เร็วที่สุดเพราะแต่ละคนมีความสามารถในการทนทานต่อการถูกคุมขังไม่เท่ากัน ทั้งที่ไม่ควรมีคนถูกคุมขังเพราะการใช้เสรีภาพการแสดงออกของตัวเอง ซึ่งเนติพรได้แสดงให้เห็นแล้วว่ากระบวนการยุติธรรมที่เปรียบเสมือนร่างกายนี้เน่าเต็มทีแล้วควรต้องอยู่ในไอซียูและควรได้รับการรักษาได้แล้ว

พูนสุขกล่าวถึงองค์กรอัยการว่า แม้จะมีฐานะเป็นทนายความของรัฐก็ตามแต่หน้าที่จริงๆ คือต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่มีหน้าที่แค่จะเอาผิดจำเลยให้ได้อย่างเดียว แต่ต้องดูด้วยว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วยหรือไม่ ช่วงที่ผ่านมาก็มีคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อัยการก็เข้ามากลั่นกรองมีคำสั่งไม่ฟ้องทำให้คดียุติลงได้เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเป็นคดีที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 กลับไม่เป็นเช่นนั้นและอัยการเองยังเคยชี้แจงประเด็นนี้ในกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรด้วยว่าอัยการมีคำสั่งฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ทั้งหมด 100% แสดงให้เห็นว่าอัยการไม่ได้มีการกลั่นกรองคดีเลยแต่เป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ส่งสำนวนจากตำรวจไปศาลเท่านั้นโดยไม่ได้พิจารณาว่าการกระทำนั้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ทำให้หลายครั้งที่คนอาจเมื่อเห็นคำพิพากษาแล้วอาจตั้งคำถามว่าพิพากษามาได้อย่างไรนั้นก็มาจากการทำสำนวนของอัยการและตำรวจเองด้วยอย่างการใช้มาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ากษัตริย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้มาใช้ในการบรรยายฟ้องซึ่งเป็นการใช้อย่างเข้าใจผิดของอัยการที่เอามาใช้กับการวิจารณ์กษัตริย์

พูนสุขกล่าวถึงอีกปัญหานอกจากเรื่องความเป็นอิสระของศาลแล้ว ยังมีปัญหาการปิดโอกาสให้คู่ความในคดีได้พิสูจน์ว่าการกระทำนั้นเป็นหรือไม่เป็นความผิดด้วย การที่จะบอกว่าข้อความใดผิดกฎหมายนั้นเมื่อจะพิสูจน์ด้วยการขอให้ศาลเรียกหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริงไม่ ศาลกลับปฏิเสธในการเรียกพยานหลักฐานแล้วก็ตัดสินว่าการพูดนั้นไม่เป็นความจริงไปแล้วจึงไม่ต้องเรียกหลักฐาน เป็นการมัดมือมัดขาจำเลยแล้วโยนเข้าเรือนจำไปแล้วก็มาบอกว่าคู่ความมีสิทธิสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่พอจะแสวงหาหลักฐานศาลก็ตัดโอกาสนั้นไปแล้วก็บอกว่าจำเลยผิดและพิพากษาโดยอ้างว่าจำเลยพิสูจน์ไม่ได้เองว่าไม่เป็นความผิด กระบวนการยุติธรรมแบบนี้เป็นอย่างที่เราใฝ่ฝันจริงหรือเปล่า และนี่คือสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมบอกว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ถึงที่สุดนั้นเป็นจริงหรือไม่

พูนสุขกล่าวอีกว่าในตอนนี้มีคนที่โดนคดีมาตรา 112 กว่า 300 คน แต่ไม่ใช่แค่คนจำนวน 300 กว่านี้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ยังมีครอบครัวของพวกเขาที่หลายครอบครัวต้องแตกสลายตามไปด้วยไม่ว่าจะทั้งทางจิตใจหรือไปจนการหย่าร้างกันจริงๆ และในขณะนี้ก็มีคนที่ถูกคุมขังอยู่ 42 คน และมีอยู่ 24 คนในจำนวนนี้เป็นการขังระหว่างการพิจารณาคดี แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการยื่นขอประกันตัวพวกเขาไปเกือบ 60 ครั้ง แต่มีเพียงทานตะวัน ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และถนอมที่เป็นคนไร้บ้านเท่านั้นที่ศาลอนุญาตให้ประกัน และคนเหล่านี้ไม่ต้องรอให้มีการนิรโทษกรรมหรือมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก่อนเพียงแค่ศาลมีคำสั่งอย่างที่ควรจะเป็นเท่านั้น

พูนสุขกล่าวว่าการนิรโทษกรรมเป็นข้อเสนอขั้นต่ำที่สุดแล้วเพื่อให้เกิดการพูดคุยกัน เพราะถ้าดูข้อเสนอก่อนหน้านี้ที่ 3 ข้อ ที่ข้อแรกคือประยุทธ์ต้องออกไปที่ตอนนี้ก็ออกไปแล้วแต่ก็ได้รัฐบาลใหม่มาโดยที่พรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่ได้เป็นรัฐบาลเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ข้อสองต้องแก้รัฐธรรมนูญที่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ข้อสามที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ยิ่งเป็นเรื่องห่างไกลเพราะแค่การนิรโทษกรรมตอนนี้ยังเป็นได้ยาก ทั้งที่การนิรโทษกรรมยังไม่ได้ไปแก้มาตรา 112 ตัวกฎหมายก็จะยังอยู่ แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 61- 63 ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าต่อให้ไม่มีมาตรา 112 ก็ยังมีสิ่งที่ใหญ่โตกว่าตัวกฎหมายและพูดถึงไม่ได้อยู่

พูนสุขกล่าวว่าการจะทำให้สังคมกลับเข้าสู่รูปรอยที่ควรจะเป็นควรจะต้องมีการนิรโทษกรรม แต่การนนิรโทษกรรมแค่บางข้อหาก็อาจกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตามเธอได้เล่าว่าตอนนี้มีคนที่พยายามเสนอถึงกระบวนการที่ทำให้ไม่ถึงกับจะไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 เลยแต่จะให้มีการสร้างกระบวนการที่เป็นการผลักภาระให้กับคนที่ถูกกล่าวหาต้องทำก่อนจะได้นิรโทษกรรมเช่นการยอมรับผิดก่อนทั้งที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในอนาคตที่จะต้องจับตา

พูนสุขย้ำว่าคดีมาตรา 112 นี้ในทางสากลแล้วควรเป็นคดีประเภทแรกที่ได้นิรโทษกรรม เพราะในทางสากลไม่มีใครยอมรับอีกแล้วว่าการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกแล้วจะต้องถูกคุมขัง แม้ว่าเรื่องนี้จะสู้ในประเทศไม่ชนะแต่กับทั้งโลกเราชนะแน่นอน 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net