Skip to main content
sharethis

'อรรถพล' ผู้พิการการเคลื่อนไหว และผู้สมัคร สว. ยื่น จม.เปิดผนึกถึง กกต. จี้จัดสถานที่เลือก สว.’67 เอื้อประชาชนทุกกลุ่มให้เข้าถึง หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บขณะอำนวยความสะดวกยกวีลแชร์ของตนขึ้น-ลงอาคารช่วงเลือก สว. 2567 เมื่อ 9 มิ.ย. 67

 

13 มิ.ย. 2567 เพจเฟซบุ๊ก The reporters รายงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรุงเทพฯ อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ ผู้พิการการเคลื่อนไหว และผู้สมัคร สว. 2567 กลุ่มที่ 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จังหวัดนครปฐม และคณะกรรมการฯ ระดับอำเภอนครชัยศรี จ.นครปฐม เรื่อง "การเลือกสถานที่การเลือก สว. ประจำปี 2567 ที่เอื้อต่อการเข้าถึงของผู้สมัครทุกกลุ่ม เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้สมัคร และเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือผู้สมัคร"

อรรถพล ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อก่อนยื่นหนังสือถึง กกต.ระบุว่า เขามีความประสงค์อยากชี้แจงถึงปัญหา และอยากให้มีการดำเนินการแก้ไข โดยอ้างถึงระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา สว. 2567 ดังนี้

จากข้อ 19 (1) ที่ระบุให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ควบคุมดูแลรักษาสงบเรียบร้อย อีกทั้ง ข้อ 62 วรรคท้าย ได้ระบุว่า สถานที่เลือกต้องเป็นสถานที่ที่เดินทางได้ด้วยสะดวก มีขนาดเหมาะสมเพียงพอ เน้นย้ำอีกเช่นเดิม ครั้งนี้ไม่คำนึงความสะดวกของผู้ลงคะแนนคนพิการ ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือก

อรรถพล ระบุว่า เหตุที่เขาต้องมายื่นหนังสือวันนี้ (13 มิ.ย.) สืบเนื่องจากเมื่อ 9 มิ.ย. 2567 เป็นวันเลือก สว.ระดับอำเภอ เขาขอชี้แจงว่า เนื่องด้วยในกลุ่มของเขามีผู้สมัคร สว. ที่เป็นผู้พิการจำนวน 2 คน คนแรกคือตัวเขา และผู้สมัครอีก 1 ราย ซึ่งเป็นผู้พิการที่มีความรุนแรงมากกว่าตัวเขา และใช้วีลแชร์ไฟฟ้าที่มีน้ำหนักมากกว่า

ผู้สมัคร สว.กลุ่ม 15 ระบุต่อว่า เมื่อช่วงเวลา 8.00 น. ในการขึ้นอาคารประชุมที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี หน้าที่ว่าการอำเภอนครชัยศรี ช่วงขาขึ้นพวกเขาได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการเลือกตั้งอย่างดี ได้รับการปฏิบัติอย่างสมเกียรติและเหมาะสมอย่างที่เจ้าหน้าที่จะรองรับได้ แต่ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเวลา 14.30 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวกต้องช่วยเขา และผู้สมัครอีก 1 ราย โดยการพาลงมาจากอาคารดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังยกอรรถพล ลงมาจากอาคารห้องประชุม เจ้าหน้าที่ได้เกิดลื่นล้มที่บันไดขั้นสุดท้าย และล้มกลิ้งลงมา แต่จังหวะนั้น เจ้าหน้าที่พยายามประคับประคองไม่ให้วีลแชร์อรรถพลพลิกคว่ำ ซึ่งตัวของอรรถพลไม่ได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายใดๆ แต่เจ้าหน้าที่คนที่ช่วยและลื่นล้มนั้น เขามองว่าน่าจะได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย

อรรถพล ระบุว่า เขามีทัศนคติและความรู้สึกผิดต่อเรื่องนี้ว่าเขารู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นห่วงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากการอำนวยความสะดวก ซึ่งถ้าหากมีการเลือกสถานที่ที่เอื้อต่อทุกคนตั้งแต่ทีแรก คงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เขาพยายามสื่อสารตั้งแต่วันรับสมัครแล้ว เพราะว่าอาคารที่ใช้เลือก สว. กับอาคารที่ใช้รับสมัคร สว. คืออาคารเดียวกัน

อรรถพล ระบุว่า เขาไม่โกรธเจ้าหน้าที่ที่อำนวยความสะดวกในวันนั้น แต่รู้สึกผิดหวังกับผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เลือกสถานที่ที่ไม่ได้เอื้อต่อประเด็นของผู้พิการมากเพียงพอ จากเหตุการณ์ดังกล่าวผมจึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนี้

1. ในระดับพื้นที่ หากมีการจัดสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะในระดับจังหวัด หรือในระดับอำเภอก็ตาม ต้องเลือกสถานที่ควรเอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงให้ประชากรทุกกลุ่มเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและใช้สิทธิ์ ได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม ปลอดภัย

2. เจ้าของสถานที่หรือผู้ที่กำกับดูแลอาคารสถานที่ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี อำเภอนครชัยศรี ต้องจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงทำทางลาดที่ได้มาตรฐานตามกฎกระทรวง กำหนดสิ่งอํานวยความสะดวกในอาคาร สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 ซึ่งอันเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนในระยะยาวและยั่งยืนกว่า

3. ภาพรวมในระดับประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องกำชับในระดับภาคส่วนจังหวัด อำเภอ ของแต่ละพื้นที่ให้ตระหนักและเลือกสถานที่ที่มีความเป็นมาตรฐานต่อการเข้าและใช้งานสถานที่ของประชาชนทุกกลุ่มได้ อย่างเท่าเทียมเสมอภาค และปลอดภัย

อรรถพล ทิ้งท้ายว่า ท้ายสุดโดยเหตุผลที่ควรปรับ เพราะจะช่วยลดภาระการใช้กำลังคนในการช่วยเหลือยกขึ้นยกลงได้ และสิ่งสำคัญเป็นการป้องกันถนอมร่างกายของคนช่วยยกไม่ให้เสี่ยงบาดเจ็บต่อสุขภาพร่างกาย ปลอดภัยต่อทุกฝ่าย รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขณะยกได้ อีกทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เคารพต่อความแตกต่างหลากหลายของประชาชน

ภาพบรรยากาศการยื่นจดหมายเปิดผนึก


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net