Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์กรณีเหตุคาร์บอมหน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา เรียกร้องรัฐบาลเยียวยาผู้เสียหายทุกมิติ นำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ทุกฝ่ายต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เหตุคาร์บอมหน้าแฟลตตำรวจบันนังสตาทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 1 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมากทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชน

 

3 ก.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถยนต์บริเวณบ้านพักและแฟลตตำรวจภูธรบันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีตลาดนัดที่ชาวบ้านออกมาจับจ่ายซื้อของและสัญจรพลุกพล่าน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 1 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก รวมถึงทรัพย์สินของประชาชนและหน่วยงานราชการได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็น ผู้หญิง เด็ก และเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความรุนแรงที่อาจสะท้อนให้เห็นความต่อเนื่องของเหตุการณ์ในพื้นที่และบริบทของความขัดแย้งด้วยอาวุธ (armed conflict) ระหว่างกองกำลังของรัฐและกองกำลังนอกภาครัฐ ทั้งนี้รวมถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่ผ่านมา และกระบวนการสันติภาพที่ยังไม่มีข้อตกลงหรือข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม จึงยังคงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาทิ การลอบสังหารนายรอนิง ดอเลาะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน การจับกุมนักกิจกรรมและบุคลากรภาคประชาสังคมในพื้นที่ หรือการปิดล้อมจับกุมควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ รวมถึงการสังหารนอกระบบกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การก่อเหตุวางระเบิดรถยนต์ในพื้นที่สาธารณะมีผู้คนพลุกพล่านเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นผลว่าจะมีประชาชนพลเรือน เด็กและสตรี ผู้บริสุทธิ์ ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม เป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหลายประการ ซึ่งโดยหลักการพื้นฐาน 3 ประการเน้นย้ำถึงการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน (Distinction) ความได้สัดส่วน (Proportionality) และการระมัดระวัง (Precaution) ซึ่งห้ามการโจมตีพลเรือนและวัตถุพลเรือน รวมถึงการโจมตีโดยตั้งใจและการโจมตีเป็นวงกว้างแบบไม่แบ่งแยก และทุกฝ่ายจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของพลเรือนเป็นสำคัญ ในกรณีนี้มีเด็กและผู้หญิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงเข้าข่ายเป็นการละเมิดร้ายแรงหนึ่งในหกประการต่อเด็กในช่วงความขัดแย้งด้วยอาวุธ (Six Grave Violations Against Children During Armed Conflict) ตามมติที่ 1612 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่ก่อเหตุ นอกจากจะต้องรับผิดตามกฎหมายในประเทศแล้ว จะต้องรับผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ฐานกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอีกด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มูลนิธิฯ เห็นว่า เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญอย่างยิ่ง และตอกย้ำสถานการณ์ความรุนแรงท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ภายใต้การประกาศใช้กฎหมายพิเศษมากว่า 20 ปี มูลนิธิฯ ขอประณามบุคคลและฝ่ายใดก็ตามที่เป็นผู้ก่อเหตุ และขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนดำเนินการ ดังนี้

1. องค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการตอบสนองโดยให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัวของพวกเขาในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการช่วยเหลือด้านการเงิน เศรษฐกิจ ฟื้นฟูสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ การให้ที่พักพิงและการศึกษา การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายอย่างครอบคลุม

2. ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงจะต้องเคารพหลักการในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบต่อประชาชนพลเรือนเป็นสำคัญ โดยจะต้องยุติการปฏิบัติการหรือการกระทำใดๆที่อาจส่งผลกระทบต่อพลเรือนโดยเด็ดขาด ทั้งจะต้องลงโทษบุคลากรของตนที่ละเมิดหลักการดังกล่าว

3. ขอให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ และนานาชาติ ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และจับกุมผู้ก่อเหตุและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำตัวมาดำเนินคดี โดยปฏิบัติตามกฎหมายและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โปร่งใสและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคน รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับประชาชนผู้เสียหายและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net