Skip to main content
sharethis

'ภราดร' รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แจงเหตุผลทำไมร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ กรณีแก้รัฐธรรมนูญ ถึงคงหลักเกณฑ์ชั้นบน หรือต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด ชี้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ยืนยันยินดีหารือชั้น กมธ.พร้อมร่างของพรรคอื่นๆ

 

19 มิ.ย. 2567 ยูทูบ TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์ วานนี้ (18 มิ.ย.) ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 4 ฉบับ คือของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิไจไทย โดยจะพิจารณารวมทั้ง 4 ฉบับ เนื่องจากมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน

ภราดร ปริศนานันทกุล ในฐานะตัวแทนอนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดยขออ่านเอกตามหลักการและเหตุผลดังนี้ ข้อ 1 กำหนดให้มีการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ หรือเพื่อให้ปรึกษารัฐมนตรี ตามมาตรา 9 ข้อ 2 หากมีการกำหนดวันเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรใหม่ หรือเลือกตั้งท้องถิ่น หรือหากมีการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วแต่กรณี ให้กำหนดวันออกเสียงเป็นวันเดียวกันตามมาตรา 10 วรรค 1 และมาตรา 11 วรรค 3

ข้อ 3 กำหนดคะแนนการออกเสียงที่จะถูกว่ามีข้อยุติ และคะแนนการออกเสียง เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีแก้ไข มาตรา 13 กำหนดการจัดทำและการเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องที่จะมีการออกเสียงแก้ไขมาตรา 14 วรรค 3 เพื่อดำเนินการให้ข้อมูลเรื่องที่จะจัดทำประชามติให้ประชาชนได้รับทราบอย่างเพียงพอ

ภราดร รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึง มาตรา 9 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ประเภทมีข้อยุติ มีหลักเกณฑ์ที่ระบุว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ และต้องมีผู้ลงคะแนนเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมองว่าเป็นการกำหนดคะแนนที่ยากเกินไป ยากที่จะทำให้ได้ข้อยุติการทำประชามติ และอาจทำให้การออกเสียงประชามติไม่ประสบความสำเร็จ และการจัดประชามติใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 9 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564

ภราดร ระบุต่อว่า พรรคภูมิใจไทย เสนอแก้ไข มาตรา 9 ทั้งกรณีการออกเสียงเพื่อให้มีข้อยุติ บางกรณีเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี มีคะแนนการออกเสียงที่แตกต่างกัน

เฉพาะประชามติแก้ รธน. คง 'เกณฑ์ชั้นบน'

ภราดร ระบุว่า เขาเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองเห็นปัญหาและข้อจำกัดของกฎหมายประชามติ พ.ศ. 2564 เหมือนกัน คือการกำหนดใน มาตรา 13 หรือการหาข้อยุติหรือข้อชี้ขาดแบบ 2 ชั้น หรือหากจะมีข้อชี้ขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะต้องผ่านเกณฑ์ 2 ชั้น เกณฑ์แรกต้องมีประชาชนมาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และต้องมีผู้เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งยากมากที่จะทำให้ประชามติมีผลสัมฤทธิ์ หรือผลสัมฤทธิ์ในทางบวก และสำหรับฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติสามารถรณรงค์ไม่ออกไปใช้สิทธิ ซึ่งจะทำให้ประชามติล้มเหลวได้ เขาคิดว่าทุกพรรคเห็นพ้องกันเรื่องนี้

สำหรับพรรคภูมิใจไทย เห็นต่างจาก 3 ร่างที่เหลือเล็กน้อยซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน คือลดเหลือเกณฑ์ชั้นเดียว คือต้องมีเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง แต่ว่าร่างของพรรคภูมิใจไทย เสนอว่า กรณีจัดทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 9 (1) ต้องมีประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ต่างจากกฎหมายเดิม พรรคภูมิใจไทย ปลดล็อกเกณฑ์ชั้นล่าง หรือจำนวนผู้ออกเสียงเห็นชอบ ไม่จำเป็นต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ

ภราดร ปริศนานันทกุล (ที่มา: TP Channel)

ภราดร ระบุต่อว่า เหตุที่ทำเช่นนี้ในกรณีของรัฐธรรมนูญ เพราะว่าต้องขอฉันทามติจากประชาชน เพราะว่าหากมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงแก้รัฐธรรมนูญน้อยเกินไป จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผู้มาออกเสียงเห็นชอบจำนวนมากถึงสิบล้านเสียง แต่ถ้าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงเห็นด้วย น้อยกว่าจำนวนผู้เห็นชอบประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ความน่าเชื่อถือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้น

“จะต้องมีล็อกชั้นแรกคือ กึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศมาแสดงความคิดเห็นเพื่อที่จะเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เฉพาะรัฐธรรมนูญ” ภราดร กล่าว และระบุว่า ส่วนในประเด็นอื่นๆ จะขอให้มีการทำประชามติ ก็ให้เพียงเสียงข้างมากเท่านั้น อันนี้เป็นความแตกต่างระหว่างพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และ ครม.

อย่างไรก็ตาม ภราดร กล่าวว่า เขาเข้าใจร่างของพรรคอื่นๆ ที่ให้มีการแก้ไขโดยปลดล็อกเกณฑ์ชั้นบน ซึ่งเขาไม่ขัดข้อง และยินดีไปคุยต่อในชั้นกรรมาธิการต่อไป

"ผมเข้าใจทั้ง คุณพริษฐ์ ที่อธิบาย ทั้งอาจารย์ชูศักดิ์ ที่อธิบายเมื่อสักครู่ เข้าใจว่าการที่จะให้คนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง คือ 26 ล้านเสียงให้ออกมาทำวันประชามติ เป็นเรื่องยากมาก ผมจึงไม่ขัดข้องถ้าในชั้นกรรมาธิการมีการไปปลดล็อก หรือมีการลดเกณฑ์ที่จะให้ผ่านในชั้นแรก ลดลงจากกึ่งหนึ่ง หรือ 1 ใน 3 หรือมีเกณฑ์อย่างอื่น มีตัวเลขอย่างอื่นที่เป็นตัวเลขเหมาะสมพอสมควร ผมไม่ขัดข้อง หรือไม่ขัดข้องถ้าจะใช้ร่างของคุณพริษฐ์ หรือร่างของคุณชูศักดิ์ เพราะผมเชื่อว่าวัตถุประสงค์ของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้การทำประชามตินี้บรรลุผลในบั้นปลายได้ง่ายมากขึ้น มากกว่าการทำประชามติตามกฎหมายประชามติฉบับที่เราใช้กันอยู่" โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าว

นอกจากนี้ พรรคภูมิใจได้กล่าวถึงเหตุผลที่ให้สามารถจัดวันประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้ง สส. หรือเลือกตั้งสภาท้องถิ่นนั้น เพื่อประหยัดงบประมาณต่อไป 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net