Skip to main content
sharethis

เครือข่ายรักษ์สายน้ำปัตตานียื่นหนังสือถึง ศ.อบต.ยะลา เรียกร้องยกเลิกโครงการประตูระบายน้ำกรงปินังและเน้นการจัดการสายน้ำสีเขียวที่มุ่งเน้นการรักษานิเวศน์ลำน้ำให้มั่นคง

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2567 ที่ห้องประชุมเจริญจิตต์ ชั้น 1 อาคารอำนวยการของศูนย์อำนวยการบริหารจัดการชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา เครือข่ายรักษ์สายน้ำปัตตานี ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจัดหวัดชายแดนภาคใต้ (ศ.อบต.) ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา เพื่อหารือถึงข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมถึงแสดงเจตนารมณ์ในการยืนหยัดคัดค้านโครงการสร้างประตูระบายน้ำกรงปินัง อ.กรงปินัง จังหวัดยะลา ทั้งนี้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์แจ้งว่าติดภารกิจราชการที่กรุงเทพมหานครแต่ได้มอบหมายให้นายปิยะศิริ  วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ศ.อบต. เข้าพบกับเครือข่ายฯแทน

บรรยากาศก่อนเข้าพบเลขา ศ.อบต. เครือข่ายฯ กว่า 100 คน ได้รวมตัวกันที่หน้าป้ายอาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมทั้งชูป้ายผ้าซึ่งเขียนข้อความ หากทำเพื่อประชาชนจริงประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ,สายน้ำควรมีสิทธิ์ที่จะไหลได้อย่างอิสระไร้ซึ่งคอนกรีตมาพันธนาการ, หยุดเถอะการจัดการน้ำด้วยคอนกรีต เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเดินทางเข้าพบกับเลขา ศอบต.ในครั้งนี้

ต่อมานายปิยะศิริได้นั่งหัวโต๊ะเพื่อพูดคุยกับเครือข่าย ฯ โดยได้กล่าวก่อนเข้าสู่เวทีหารือบางช่วงบางตอนว่าเท่าที่ตนทราบเบื้องต้นก่อนที่ชาวบ้านจะมาตนได้คุยกับกรมชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานก็ได้รับทราบว่าชาวบ้านจะมาในวันนี้ และในหนังสือได้เขียนเรื่องการออกแบบประตูระบายน้ำ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หากชาวบ้านมาแล้วเขาแสดงความกังวลจะได้หรือไม่เพราะตนไม่ทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านและสิ่งที่กังวลว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง หากเราสื่อสารไป แตไม่ว่าโครงการอะไรจะเกิดขึ้นก็มีสองส่วนสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือ หนึ่งเมื่อมีโครงการอะไรเกิดขึ้นจะมีส่วนดีๆเกิดขึ้นให้กับคนส่วนหนึ่งและจะกระทบกับคนส่วนหนึ่งท่านต้องชั่งน้ำหนักเองว่าอะไรกระทบแค่ไหน ตนไม่มีปัญหาเพราะไม่ได้เป็นฝ่ายที่สร้างหรือเป็นฝ่ายที่คัดค้าน ดังนั้น ศ.อบต.ก็จะดำเนินการด้วยความเป็นกลางและขอข้อมูลที่ถูกต้อง  

โดย ซารีเยาะ สาเมาะแม ชาวบ้านจากหมู่ 9 อ.กรงปินัง จังหวัดยะลาซึ่งจะเป็นหมู่บ้านแรกที่ได้รับผลกระทบหากมีการสร้างประตูระบายน้ำได้สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า วันนี้เรามาในนามของเครือข่ายพิทักษ์สายน้ำปัตตานีหลายหมู่บ้านด้วยกัน ตนอยากจะเกริ่มนำก่อนที่จะนำเข้าสู่เนื้อหาต่างๆ โครงการสร้างประตูระบายน้ำกรงปินังสร้างในแม่น้ำปัตตานี ซึ่งนิยามของแม่น้ำปัตตานีเป็นแม่น้ำที่มีความยาว 270 กิโลเมตร มีทางที่ลดคดเคี้ยวตื้นลึกที่ธรรมชาติได้สร้างไว้อย่างลงตัว ทำให้ประชาชนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ก่อนที่จะมีถนน เส้นทางคมนาคมเองก็อยู่บนเส้นทางสายน้ำปัตตานีมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันแม่น้ำปัตตานีก็ยังเป็นที่พึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างธรรมชาติกับผู้คน

ในปี 2510 โครงการนโยบายของรัฐมีการพัฒนาลุ่มน้ำในแม่น้ำปัตตานี โดยการสร้างเขื่อนบางลางที่เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ รับผิดชอบโดยกฟผ. และขณะเดียวกันก็สร้างเขื่อนปัตตานีที่อำเภอแม่ลา เป็นระยะเวลา 40 กว่าปีแล้วที่เขื่อนถูกสร้างขึ้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นบางส่วนคือ สัตว์น้ำเกือบ 20 กว่าชนิดที่สูญพันธุ์ วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยข้ามฝั่งทำมาหากิน ต้องหยุดชะงัก ข้ามไม่ได้เพราะว่ามีน้ำมหาศาล หมู่บ้านหลากหลายหมู่บ้านเหนือเขื่อนต้องจมใต้บาดาล และอื่น ๆ อีกโดยจะมีทีมงานมากล่าวเพิ่มเติม

และในปี 2523 ปีเดียวกันกับการสร้างเขื่อนบางลาง เกิดการสร้างเขื่อนปัตตานีที่อำเภอแม่ลาน โดยมีวัตถุประสงค์ตามที่ตนได้ศึกษาไว้ว่า จะทำการระบายน้ำไปยังชาวนา เพราะชาวนานั้นทำนาปีละ 1 ครั้งตามธรรมชาติ และทำนามาแล้วเป็นร้อย ๆ ปี เขาทำนาได้ 100% แต่โครงการหรือนโยบายของรัฐนั้นจะสร้างเขื่อนปัตตานีเพื่อที่จะทำให้รายได้ของประชาชนที่ทำนานั้นเพิ่มขึ้น โดยการกันน้ำ ทำคูน้ำ ระบายน้ำไปยังที่นาต่าง ๆ 4-5 อำเภอหรือราวหมื่นไร่ แต่หลังจากนั้นเกิดผลให้ทุ่งนาเหล่านั้นกลายเป็นนาร้าง นาในพื้นที่ 4-5 อำเภอหรือราวหมื่นไร่กลายเป็นนาร้าง และร้างมานานกว่า 40 ปี คนที่สร้างคือ กรมชลประทาน ความรับผิดชอบต่าง ๆ ก็ไม่มี นี่คือนโยบายของรัฐทั้งนั้น ซึ่งอาจจะเป็นนโยบายที่ผิดพลาด หรือวันนี้ท่านอาจจะทบทวนนโยบาย และนี่คือผลกระทบที่ผ่านมาของทั้งสองเขื่อน และที่พวกเรามาวันนี้

และที่พวกเรามาวันนี้ เพราะมันจะมีเขื่อนที่สามเกิดขึ้นในแม่น้ำปัตตานี ระหว่างเขื่อนบางลางถึงเขื่อนชลประทานซึ่งตรงกลางคือ กรงปินัง โดยทางฝ่ายชลประทานใช้คำว่า ประตูระบายน้ำ มีความสูง 5 เมตร ความยาวหลายสิบเมตรมีประตูเปิดปิดน้ำแปดบาน ใช้งบประมาณ 3,200 ล้าน โดยการจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในช่วงปี 60 – 61 ใช้งบประมาณ 20 ล้าน ทำ EIA เสร็จเรียบร้อย ประชาชนไม่รู้เรื่อง มีการเรียกผู้นำชุมชนมาประชุมโดยกรมชลประทานหรือบริษัทก็ไม่แน่ใจ เรียกคนที่เห็นชอบการสร้างเขื่อนมายกมือ และเข้าร่วมการประชุม และนี่คือการกระทำของรัฐที่มีต่อประชาชน

แม่น้ำปัตตานีคือสายเลือดอันยิ่งใหญ่ของคนตั้งแต่อำเภอเบตงไปจนถึงจ.ปัตตานี เราจึงไม่สามารถให้กรมชลประทานนั้นกั้นแม่น้ำได้ เพราะเราเห็นผลกระทบมามากมายจากทั้งสองเขื่อน ทนอยู่กับผลที่รัฐสร้างไว้ 40 กว่าปีแล้วจากคนหลายอำเภอทั้งคนใต้เขื่อนและเหนือเขื่อนปัตตานี สองสามเดือนต้องอยู่บนถนนเพราะบ้านของพวกเขาอยู่ใต้น้ำ เพราะมีการเทคอนกรีต กั้นแม่น้ำของพวกเขา และทำคูน้ำเป็นสิบ ๆ ร่องน้ำเพื่อระบายน้ำไปยังทุ่งนา เพื่อที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีรายได้มาก แต่กลับเป็นการทำให้นาร้าง และพวกเขาก็อพยพไปยังพื้นที่อื่น ๆ และครั้งนี้มันกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในพื้นที่มีวิถีชีวิตอยู่มาก

ซอฮาบูดิน เลาะยะพา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำปัตตานีและผู้ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการสร้างประตูกั้นน้ำในครั้งนี้กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่และจะได้รับผลกระทบจากโครงการลุ่มน้ำปัตตานีเช่นกัน  ซึ่งถ้าเรามองย้อนไปตั้งแต่อดีตเราจะมองเห็นว่ากระบวนการการคิดในเรื่องของการออกนโยบายหรือว่าการออกโครงการตั้งแต่ระดับใหญ่ไปจนถึงในระดับท้องถิ่นในมุมมองของรัฐมันมีแนวคิดที่ว่าการจัดการน้ำที่ดีมันจะต้องใช้คอนกรีตมาเป็นตัวเสริมด้วย เป็นตัวจัดการ ซึ่งจากผลกระทบที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในพัทลุง ที่ชื่อว่าคลองลายพันที่มีการเอาคอนกรีตและทำเป็นผนังกั้นน้ำ แล้วก็มีการขุดรอบคลอง จากเดิมที่มันเคยคดเคี้ยว มีทั้งลึกและตื้นตามที่ธรรมชาติได้ออกแบบมาแล้ว พอมีโครงการพัฒนาในพื้นที่โดยใช้แนวคิดชีวกรรมคอนกรีตมาแทนที่ธรรมชาติที่มันสร้างอยู่แล้ว ผลกระทบที่เห็น คือต้นไม้ริมตลิ่งถูกตัดออกไปเป็นจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะที่ซอฮาบูดินกำลังจะชี้แจงถึงประเด็นเพิ่มเติมของประตูระบายน้ำกรงปินังนายปิยะศิริได้ตัดบทซอฮาบูดินโดยอ้างถึงชาวบ้านตอนหนึ่งว่า เอาแบบนี้ได้มั้ยตนสงสารชาวบ้านที่มาไกล ตนเข้าใจว่าการมาวันนี้เพื่อทำความเข้าใจ หารือข้อกังวล แล้วท่านก็บอกว่าท่านมาเพื่อทำการแลกเปลี่ยน แล้วก็บอกว่าท่านจะยืนหยัดคัดค้านคำถามของตนคืออย่างนี้ ที่ท่านมาท่านต้องการให้ศ.อบต.ทำอะไรให้ตนต้องการชัด ๆ แล้วตนก็จะถามกลับเหมือนกัน ตนเป็นประชาชนคนหนึ่งนะ สมมติว่าโครงการพัฒนาโครงการนึงมันจะมีคนเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย สมมติว่าฝั่งนึงค้านสุดดิ้นประตูเลยว่าไม่เอา อีกฝั่งนึงบอกจะเอา สังคมเราจะอยู่ยังไง ประเด็นคือท่านบอกว่าขาดการมีส่วนร่วมใช่มั้ย ท่านได้คุยกับคนที่ท่านเห็นด้วยแล้วหรือยัง ได้คุยกับกรมชลประทานแล้วหรือไม่

ขณะที่ชาวบ้านที่อยู่หลังห้องประชุมได้ตอบโต้ไปว่า ไม่ต้องสงสารเพราะวันนี้มาก็เพราะต้องการความชัดเจนจากศ.อบต. ต่อมาซอฮาบูดินชี้แจงกลับว่า ตนกำลังจะอธิบายเพื่อเข้าประเด็นที่เราบอกว่าการไม่มีส่วนร่วมของคนในพื้นนั้นตนมองตั้งแต่ระดับนโยบาย การมีส่วนร่วมของประชาชนมีจริงหรือเปล่า ซึ่งปรากฎการล่าสุดที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่ก็คือ ในปี พ.ศ. 2561 ชาวบ้านทราบข่าวว่าชลประทานจะมาประชุมกับชาวบ้านเรื่องที่จะมีการปิดกั้นโดยคอนกรีตของแม่น้ำปัตตานีที่กรงปีนัง  ซึ่งการประชุมในวันนั้นชาวบ้านได้คัดค้านโครงการอย่างชัดเจน พอมาในปี พ.ศ. 2566 ก็รู้ว่า EIA ผ่าน ชาวบ้านเลยเกิดความไม่สบายใจและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขามีการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งใน EIA ระบุว่า   ที่ผ่านมามีการประชุม 6 ครั้ง ชาวบ้านได้เข้าร่วมแค่ครั้งเดียว พอมีกระบวนการแบบนี้เลยมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ซึ่งต่อมาเราจึงได้มาจัดเวทีประชาคมกันเอง มีนักวิชาการ มีตัวแทนชาวบ้านมานั่งคุย เปิดรับฟัง มีชาวบ้านเข้าร่วม 653 คน เมื่อเทียบกับ EIA ที่มีแค่ 200 กว่าคน

แต่นายปิยะศิริก็แย้งซอฮาบูดินกลับอีกรอบว่า  สมมติว่ามีการโหวตแล้วมีฝ่ายที่เห็นด้วยมากกว่า ท่านจะฟังเสียงหมู่มากหรือท่านจะฟังเสียงของตัวเอง ซึ่งซอฮาบูดินได้ตอบกลับไปอีกว่า  เราต้องการสื่อสารไปทางศ.อบต. อย่างตรงไปตรงมาทางชลประทาน เราอยากให้ประกาศยกเลิกไปเลย ส่วนข้อเสนอแนะเราอยากให้จัดการสายน้ำให้เป็นไปตามธรรมชาติ รักษาระยะตลิ่ง 5-10 เมตร ทุกหน่วยงานต้องฟังเสียงของประชาชน ต้องฟังเจตนารมณ์ของประชาชน

“ตกลงมาคัดค้าน ต่อให้มีส่วนร่วมก็จะคัดค้าน  ศ.อบต.ไม่ทราบขั้นตอนของ EIA แต่ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องรับฟังท่านทั้งหมด สมมติโครงการพัฒนาหนึ่ง อยากให้คุยกับกรมชลประทานก่อน คำตอบของผมในฐานะคนกลาง ไม่สามารถสั่งให้กรมชลประทานหยุดได้ ท่านกังวลในระบบนิเวศ แต่มันยังไม่เพียงพอ เปิดคุยเลย ชะลอได้ถ้าท่านคุยกัน แต่หัวใจอยู่ที่ไหน ผมตรงไปตรงมา มันมีสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ผมเป็นเพื่อนทั้งสองฝ่าย ผมเป็นประชาชน ถ้าท่านไม่พอใจท่านก็ยังมาได้อีก“ ปิยะศิริระบุบางช่วงบางตอนในการหารือ

สำหรับท่าทีของปิยะศิริที่พยายามตัดบทและไม่เปิดกว้างให้ตัวแทนของเครือข่ายได้ชี้แจงอย่างเต็มที่สร้างความไม่พอใจให้กับเครือข่ายที่ได้เข้าร่วมหารือในครั้งนี้เป็นอย่างมากโดยอารีฟีน โสะ ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังติดตามโครงการพัฒนาปาตานีกล่าวกับนายปิยะศิริว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีทีทางเครือข่ายพยายามติดตามโครงการพัฒนาของรัฐมาตลอดและเห็นปัญหาข้อบกพร่องเยอะมากทั้งโครงการประตู้กั้นน้ำเขื่อนระบายน้ำเราติดตามอย่างเข้มข้นว่าไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนเลย ที่เรามาในวันนี้ก็เป็นตัวชี้วัดแล้วว่า ศ.อบต.ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ซึ่งงบประมาณเป็นร้อยๆพันๆล้านแต่สิ่งที่ท่านพูดชาวบ้านมาเป็นร้อยคนแต่ท่านพยายามปัดปัญหาบ่ายเบี่ยงให้เป็นปัญหาของชาวบ้าน สิ่งที่ศ.อบต.จะต้องทำเวทีรับฟังประชาชนของโครงการนี้ก็แทบจะไม่รับฟังเสียงของประชาชน พอประชาชนเดือดร้อนเข้ามาหาศ.อบต. ก็พยามไล่ให้ประชาชนไป ท่าทีของท่านชัดเจน พยายามตัดกระบวนการของประชาชนในวันนี้

ขณะที่เครือข่ายที่เดินทางมากว่า 100 คนได้ปรบมือสนับสนันคำพูดของอารีฟีน ท้ายสุดของเวทีประชุมตัวแทนของเครือข่ายได้ยื่นหนังสือให้กับปิยะศิริ โดยในหนังสือที่ยื่นให้กับปิยะศิริได้ระบุถึงข้อเรียกร้องที่ชัดเจนให้มีการยกเลิกประตู้ระบายกรงปินัง และให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการน้ำโดยคอนกรีตมาสู่การจัดการน้ำโดยหลักการสายน้ำสีเขียว

ขณะที่ซอฮาบูดีนให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า เจตนารมณ์ที่เราต้องการมาในวันนี้คือการคัดค้านประตูระบายน้ำกรงปินัง และนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการจัดการน้ำที่ไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชน แต่ท่าทีของศ.อบต.ในวันนี้ทำให้เราผิดหวัง ศ.อบต.ในฐานะที่มีอำนาจในเรื่องของการชะลอหรือยกเลิกโครงการที่คนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยได้ แต่ความเป็นจริงในวันนี้ทางศ.อบต.พยายามวางบทบาทตัวเองเป็นแค่คนประสานงานไปยังกรมชลประทานเท่านั้น เราไม่ยอมรับในบทบาทของศ.อบต.ตรงจุดนี้ และท่าทีของศ.อบต.ยังปิดกั้นและไม่เปิดโอกาสให้เราได้ชี้แจงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ดังนั้นเราจะทำหนังสือให้ศ.อบต.ยกเลิกโครงการนี้ให้ได้ นอกจากนี้ในประเด็นของการจัดทำ EIA จะต้องมีการชะลอเพราะเป็น EIA ที่ไมได้มีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้ทางเครือข่ายยังได้ออกมาอ่านแถลงการณ์หน้าป้ายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดยะลา  โดยระบุในแถลงการณ์บางส่วนว่า ในนามเครือข่ายพิทักษ์สายน้ำปัตตานี ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนผู้ทรงสิทธิขอเรียกร้องไปยัง ศอ.บต.ในฐานะหน่วยนโยบายที่กำกับโครงการการพัฒนาของรัฐในพื้นที่ปาตานี เคารพในเจตจำนงและความต้องการของประชาชนตามขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกโครงการคอนกรีตขวางลำน้ำขนาดใหญ่ หรือที่โครงการประตูระบายน้ำกรงปีนัง ในพื้นที่ ตำบลกรงปินัง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา

2. ขอให้ ศอ.บต. ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการน้ำด้วยคอนกรีตมา สู่หลักการสายน้ำสีเขียว หรือ GreenRiver ที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำด้วยการรักษานิเวศน์ลำน้ำให้มั่นคง และใช้องค์ความรู้ทางนิเวศน์ มาเป็นแก่นสารในการดำเนินการใดๆ โดยจะต้องไม่ลดทอนศักยภาพ และความหลากหลายทางชีวภาพของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน

สุดท้ายในฐานะประชาชนผู้พึ่งพาอาศัยแม่น้ำในการดำรงชีพ ขอเน้นย้ำว่าการจัดการน้ำด้วยคอนกรีตตามแนวทางที่กลมชลฯกระทำมาตลอดนั้น คือ การวินาศกรรมรากฐานสำคัญที่ก่อกำเนิดชีวิต วิถี วัฒนธรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น

ขณะที่ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในวันนี้ระบุว่า วันนี้ดีใจที่เห็นตัวแทนสำนักยุติธรรมจังหวัด ตัวแทนกระทรวงยุติธรรมมาสังเกตการณ์กรณีที่นักปกป้องสิทธิฯยื่นหนังสือต่อ ศ.อบต. แต่ผิดหวังต่อท่าทีของรองเลขาธิการของ ศ.อบต.เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้พันธกิจของหน่วยงาน ศ.อบต. คือต้องรวบรวมวิเคราะห์และกลั่นกรองข้อเสนอการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้บนฐานความรู้และการปฏิบัติการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้มีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่ ศ.อบต.จะต้องทำก็คือไปรวบรวมข้อมูล ข้อเรียกร้องของนักปกป้องสิทธิฯว่ามีการทำ EIA ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งรวบรวมข้อเสนอและกลั่นกรองข้อมูลทางวิชาการเพื่อเสนอทิศทางต่อโครงการนี้แทนที่จะเป็นเพียงแค่การจัดประชุมระหว่างกรมชลประทานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน  ศ.อบต.จะมาอ้างว่าโครงการยังไม่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะถึงแม้จะยังไม่มีการสร้างประตูกั้นน้ำกรงปินังจริงๆ แต่ความกังวลได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ และกระทบกับความรู้สึกและวิถีชีวิตของประชาชน ดังนั้นความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ ศ.อบต.จะต้องตื่นตัวและมีเจตจำนงที่แน่ชัดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net