Skip to main content
sharethis

สส.ปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับพรรคก้าวไกล ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติออนไลน์ได้ พร้อมยืนยันสนับสนุนหลักการทุกร่าง

 

20 มิ.ย. 2567 เฟซบุ๊ก สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) โพสต์คลิปวิดีโอสั้นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 4 ฉบับ คือของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิไจไทย โดยจะพิจารณารวมทั้ง 4 ฉบับ เนื่องจากมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน

สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ชลบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล ขอมีส่วนร่วมอภิปราย พ.ร.บ.ประชามติ ในสภาฯ และขอสนับสนุนการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ทุกร่าง

สหัสวัต ระบุว่า กลไกประชามติถือเป็นกลไกที่สำคัญตามระบอบประชาธิปไตยรูปแบบตรงที่สุดที่เรายังสามารถเห็นได้ในปัจจุบัน โดยเดิมทีคำว่าประชามติ คือมติของประชาชน คือความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ภาษาอังกฤษคือคำว่า “referrendum” มีรากศัพท์มาจากภาษา ‘ละติน’ แปลตรงตัวว่า ‘นำกลับ’ หรือก็คือการนำประเด็นคำถาม หรือเรื่องที่ต้องตัดสินใจกลับไปถามประชาช แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2564 หรือฉบับปัจจุบัน สามารถนำเรื่องสำคัญๆ กลับไปถามประชาชนได้หรือไม่ และเราสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้หรือยัง ทำไมการทำประชามติแต่ละครั้งยากมากในแต่ละครั้ง

สามารถเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติออนไลน์ได้

สหัสวัต กล่าวว่า เวลาทำประชามติ ต้องมีคำถามประชามติ แต่กว่าจะมาซึ่งคำถามประชามติแต่ละครั้ง หากมาจากรัฐมนตรีก็ไม่ได้ยุ่งยาก แต่หากว่ามาจากประชาชน กลับเป็นเรื่องยุ่งยากแสนยาก เพราะว่าทุกวันนี้หากประชาชนจะเสนอคำถามประชามติ ต้องล่ารายชื่อบนกระดาษเอกสารต่างๆ และเป็นสำเนา แล้วนำสำเนานั้นมาทำเป็นไฟล์ดิจิทัล

“ให้ส่งเป็นกระดาษผมยังพอเข้าใจ และนี่มาให้สแกนและส่งเป็นไฟล์ คำถามของผมก็คือทำไมเราไม่ออกแบบให้เข้าชื่อผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่ตรวจสอบได้แทน ตอนเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่างๆ เราเคยทำมาแล้ว และทำได้ ผมเห็นว่าเรื่องนี้ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนเพื่อจะนำเรื่องสำคัญเหล่านี้กลับไปสู่ประชาชนให้ง่ายขึ้น” สหัสวัต กล่าว

ต้องมีคำตอบมากกว่า yes หรือ no

สส.พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า เรื่องคำถามประชามติ เพราะว่ามาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เขียนไว้กำกวม ให้ตีความได้ว่าคำถามอาจเปิดคำตอบได้แค่ 2 ตัวเลือก คือเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ซึ่งสร้างปัญหามากในปัจจุบัน

สหัสวัต ยกตัวอย่างคำถามแรกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งระบุว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะจัดทำไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไปและ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าเราตอบ เห็นชอบ ก็จะไม่มีปัญหาอะไร

กลับกัน ถ้าเราตอบว่า ‘ไม่เห็นชอบ’ จะแปลว่าอะไรได้บ้าง อาจไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 หรือ ไม่เห็นชอบกับคำถามแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พรรคก้าวไกล จึงเสนอว่า เราควรเปิดคำตอบให้ได้มากกว่า เห็นชอบ (yes) หรือไม่เห็นชอบ (no) มากกว่า 1 ข้อ เช่น ในคำถามเดียวกัน อาจจะมีคำตอบ ‘ไม่เห็นด้วย เพราะท่านเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ เป็นต้น

“เราต้องนึกถึงความเป็นไปได้ที่มากขึ้น การตีกรอบให้แคบเกินไปแบบนี้จะเป็นการจัดให้คนที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และคนที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอยู่ในกล่องเดียวกัน ทำให้จริงๆ แล้วต่างกันคนละขั้ว เราจึงจำเป็นต้องมีทางเลือกมากขึ้น เพื่อให้การถามประชาชนในแต่ละครั้ง เป็นไปอย่างมีความหมาย ไม่ใช่แค่บีบให้ประชาชนเป็นตรายางสนองวาระของตนเอง” สหัสวัต กล่าว

จัดวันออกเสียงประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้งทางการเมืองได้ทุกระดับ

สส.พรรคก้าวไกล ระบุเรื่องวันประชามติ เพราะว่าเป็นเรื่องใหญ่มากในการจะออกไปลงประชามติ ทุกร่างที่ยื่นเข้ามาให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยให้สามารถจัดวันลงประชามติวันเดียวกับการเลือกตั้งในระดับต่างๆ เพราะว่าแม้ว่ารัฐประกาศให้วันประชามติเป็นวันหยุดก็ตาม แต่การออกไปประชามติแต่ละครั้งมีต้นทุน การเดินทางกลับต่างจังหวัดแต่ละครั้งวันเดียวไม่พอ ไม่นับว่าค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง แต่ถ้าจัดเป็นวันเดียวกันได้เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และงบประมาณรัฐ

ปลดล็อก double majority

นอกจากวันลงประชามติ สหัสวัต กล่าวถึงรูปแบบกติกา การแพ้-ชนะของประชามติ โดยมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ซึ่งระบุเกณฑ์การทำประชามติจะผ่านได้ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น (Double Majority) โดยต้องมีผู้มาออกเสียงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และผู้ออกเสียงเห็นชอบ ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิออกเสียง

สส.ปีกแรงงานพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ระบบนี้ทำให้เกิดปัญหา เพราะว่าถ้ากลุ่มที่รู้ว่าตัวเองจะแพ้ประชามติ ซึ่งที่เกิดขึ้นคือกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ออกไปโหวต แถมรณรงค์ให้คนไม่ออกเสียง เพื่อคว่ำประชามติแทน ซึ่งข้อนี้น่ากังวลมาก เพราะถ้าพรุ่งนี้มีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 สิ่งที่ทำง่ายที่สุดคือรณรงค์ให้คนไม่ออกไปใช้สิทธิลงประชามติ เพื่อให้ประชามติล่ม ซึ่งทำให้ประชาชนต้องเสียเงินและเสียงบประมาณรัฐ ทำให้คนต้องออกมาลงประชามติซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่จบเสียที  

สหัสวัต ระบุว่า ดังนั้น ทุกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ จึงยืนยันในหลักการแก้ไขเดียวกัน คือปลดล็อกเกณฑ์ชี้ขาดชั้นบน และกลับไปใช้ระบบเสียงข้างมาก โดยฝ่ายไหนเสียงมากกว่า คนนั้นก็ชนะ ง่ายๆ แบบนี้กลับไปถามประชาชน และทำให้ประชาธิปไตยทางตรงยังมีความสำคัญ ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นและตัดสินชีวิตของพวกเขาเอง

“การแก้ไข พ.ร.บ.ลงประชามติจึงไม่ได้สำคัญแค่พี่น้องประชาชนเท่านั้น แต่สำคัญกับระบอบประชาธิปไตยด้วย ผมขอสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติทุกร่าง” สหัสวัต กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาฯ มีมติเอกฉันท์ เห็นชอบ 450 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง รับหลักการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 และขั้นตอนต่อไปจะมีการไปหารือในชั้นกรรมาธิการ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net