Skip to main content
sharethis

ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสอบสวนกรณี ‘รอนิง ดอเลาะ’ อาสาสมัครทำงานต่อต้านการซ้อมทรมานที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้าบ้านพักในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา

28 มิ.ย. 2567 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยแพร่แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสอบสวนอย่างเร่งด่วนและโปร่งใส กรณี รอนิง ดอเลาะ อาสาสมัครทำงานต่อต้านการซ้อมทรมาน วัย 45 ปี ถูกยิงเสียชีวิตหน้าบ้านพักในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา

“การสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้ายเป็นการตอกย้ำว่า ใครก็ตามที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยล้วนตกอยู่ในความเสี่ยง”

อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า “รัฐบาลไทยควรสืบสวนการลอบสังหารนี้อย่างเร่งด่วนและโปร่งใส และนำตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดมารับโทษ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. 4 สน.) ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของ รอนิง ดอเลาะ และขอให้พยานเข้ามาชี้แจงเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุว่ามีการสอบสวนคดีอาญาเต็มรูปแบบในกรณีการสังหารนี้

การสังหาร รอนิง ดอเลาะ ถือเป็นบททดสอบสำคัญต่อคำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในเรื่องการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้มีการแถลงต่อรัฐสภาไทยเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 และแถลงต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันที่ 22 ก.ย.

แม้ว่าไทยได้ทำงานตามวาระสิทธิมนุษยชนระดับชาติซึ่งถูกนำไปโฆษณาเป็นวงกว้าง รวมถึงความพยายามในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวาระปี 2568-2570 แต่ทางการไทยแทบไม่ได้ทำอะไรเลยในการจัดการกับภัยคุกคามและความรุนแรงต่อกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการฟ้องร้องปิดปากโดยหน่วยงานรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ

อีเลน เพียร์สัน กล่าวด้วยว่า “รัฐบาลเศรษฐาควรดำเนินการทันทีเพื่อพลิกฟื้นจากบรรยากาศแห่งความกลัวที่ทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย โดยแสดงให้เห็นว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหาร รอนิง จะต้องรับโทษ”

“ทางการไทยควรใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องสิทธิของชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในการส่งเสียงเรื่องการกดขี่โดยรัฐและการเรียกร้องความยุติธรรม”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net