Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายคนอาจจะผ่านตา (ผ่านหู) มาบ้าง ทุกๆ ครั้งที่มีการสนทนาประเด็นปัญหาค่าครองชีพ และอัตรารายได้ขั้นต่ำของคนไทย ซึ่งมักจะตามมาด้วยการที่มีคนวัย 50-60 ปีขึ้นไป (Baby boomer/Gen X) ช่วยแสดงความหวังดี…ผ่านการสบประมาทคนรุ่นหลังไม่ว่าจะกับวัยทำงานรุ่นน้อง (Gen Y) หรือกลุ่มวัยรุ่น (Gen Z) ที่เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ไม่นานว่าเป็นพวกไม่รู้จักเก็บออมเงิน ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากกว่าเงินที่หาได้ ไปจนถึงเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อบ้าง หรือในกรณียอดนิยมที่สุด คือ นำไปเปรียบเทียบกับคนจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ว่าง่ายๆ คือยกมาทั้งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (ขาดแค่จีนประเทศเดียว) ด้วยวรรคทอง “พวกเขา [อาทิ เมียนมา] เงินเดือนน้อยกว่าคนไทยตั้งเยอะ ทำไมยังเก็บเงินส่งที่บ้านได้” เพื่อจะด้อยค่าลูกหลานคนไทยด้วยกันเอง

ยอมรับว่าเมื่อต้องเห็นบ่อยครั้งเข้าก็รู้สึกหน่ายและระอาใจอยู่ไม่น้อย อยากจะใช้พื้นที่นี้อธิบายสักเล็กน้อยว่าแท้จริงแล้วข้อเท็จจริงดังที่คน Baby boomer และ Gen X หลายๆ คนเข้าใจนั้นมันแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของทั้งหมด กล่าวคือ เรื่องเพื่อนบ้านจากชายแดนทางตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ เหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเก็บเงินส่งกลับไปบ้านเกิดได้ในอัตราร้อยละมากกว่า 60-70 จากรายได้ทั้งเดือนประมาณ 10,000-13,000 บาทนั้น เพราะคนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานในลักษณะที่มีนายจ้างสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการครองชีพ ทั้งค่าอาหาร และที่พักไม่จำเป็นต้องควักหรือหักจากรายได้หลัก หลายๆ รายพักในครัวเรือน และอยู่ในรั้วเดียวกับผู้ว่าจ้างเสียด้วยซ้ำ ทำให้แรงงานต่างชาติบางกลุ่มสามารถเก็บออมรายได้ของตนเองทั้งหมดเกือบจะร้อยละ 100 ไว้สำรองและส่งกลับไปยังครอบครัวได้สบายๆ  (ไม่ก็นำไปซื้อทองคำรูปพรรณมาสวมเพราะไม่มีบัญชีธนาคาร)

เรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน วัฒนธรรมองค์กรภายในอุตสาหกรรมใช้แรงงานหลายแห่งปัจจุบันนั้นอาจจะไม่ได้โก้หรูถึงขนาดมีไลน์อาหารประเภทบุฟเฟต์ และบาร์เบียร์ตั้งไว้กลางสถานที่ทำงานแบบบริษัทสตาร์ทอัพ หรือบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เคยเป็นกระแสกันในสื่อสังคมออนไลน์ก่อนหน้านี้ แต่อย่างน้อยๆ  ก็เป็นที่รู้กันในหมู่นายจ้างว่าสวัสดิการอาหารการกินต้องมีให้เหล่าแรงงานที่ข้ามมาทำงาน แห่งใดขี้ริ้วขี้เหร่หน่อยก็อาจจะจัดหาไว้เพียงมื้อกลางวัน หรือไม่อย่างนั้น หากนายจ้างไม่ได้เตรียมอาหารไว้ให้เลย กลุ่มผู้ใช้แรงงานกลุ่มดังกล่าวก็มีความกระตือรือร้นมากพอที่จะออกไปจ่ายตลาดหาวัตถุดิบง่ายๆ จากรถรกะบะพุ่มพวง แล้วมาจับกลุ่มรวมหัวกันประกอบอาหารด้วยวัตถุดิบง่ายๆ กันเอาเอง ถามว่ามนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศนั่งทำงานในห้องแอร์มีเวลาพักแค่ 1 ชั่วโมงทุกวันนี้จะมีโอกาสทำแบบแรงงานข้ามชาติเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายบ้างได้หรือไม่ ตลกร้ายคือต่อให้มีคนคิดจะประกอบอาหารในอาคารสำนักงานจริง แต่หลายๆ แห่งก็ไม่ได้ใจกว้างมากพอจะให้พนักงานประกอบอาหารกันเองในที่ทำงานอยู่ดี

ไม่ใช่แค่นั้น อาหารที่ผู้ใช้แรงงาน กับผู้ที่ประกอบอาชีพนั่งทำงานในห้องแอร์บริโภคเองก็แตกต่างกัน เพราะหลายๆ ครั้งอาหารของผู้ใช้แรงงานมีความซับซ้อนค่อนข้างน้อย ไม่จำเป็นต้องถูกสุขอนามัย หรือได้รับโภชนาการครบถ้วนตามบรรทัดฐานที่แพทย์สมัยใหม่แนะนำก็ได้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองมาใช้แรงงานเพื่อลืมตาอ้าปากช่วยเหลือครอบครัว เรื่องสุขภาพนั้นจึงถูกพิจารณาไว้เป็นปัจจัยอันดับรองลงมาท้ายๆ เมื่อเทียบกับปัจจัยจากด้านการเงิน ในขณะที่คนไทยไม่ใช่แบบนั้น จะให้เยาวชนไทยกลับไปใช้ความเป็นอยู่แบบอัตคัตไม่คำนึงถึงสุขภาพตามที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขมุ่งหน้ารณรงค์มาหลายปีเช่นนั้นรัฐก็คงล้มเหลวด้านการดูแลประชากรอย่างเสียมิได้แล้ว หลายคนอาจจะลืมไปว่าอายุขัยเฉลี่ยคนไทยอยู่ที่ 78 ปี ในขณะที่เมียนมาอยู่ 65 ปี ลาว 68 ปี กัมพูชา 69 ปี และเวียดนาม 73 ปี 

ให้กล่าวอย่างยุติธรรมคือมันเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดกลุ่มแต่แรก การจะนำแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมาเปรียบกับคนไทยที่นั่งทำงานในห้องแอร์ ปัจจัยและเงื่อนไขแวดล้อมก็ต่างกันอย่างเทียบมิได้แล้ว กลุ่มแรกทำเพื่อส่งเงินกลับประเทศตนเอง ในขณะที่กลุ่มหลังมาทำงานเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในสังคม มันแตกต่างกันในหลายๆ มิติ มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ และไม่สมเหตุสมผลกับคำค่อนขอดที่ถูกส่งต่อมาให้ยัง Gen Y และ Gen Z ที่รู้สึกไม่พึงพอใจในคุณภาพชีวิตและอัตราความก้าวหน้าของเงินเดือนในไทย ให้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องค่าใช้จ่ายด้านที่พักพิงยิ่งแล้วใหญ่ แรงงานประเทศเพื่อนบ้านสามารถจับกลุ่มอาศัยรวมกันอยู่ได้ในห้องพักแคบๆ  ราคาไม่เกินเดือนละ 1,000-2,000 แถมสามารถหารค่าใช้จ่ายกันได้อีก 

ความเป็นไปได้ และความ “อยู่ได้” (habitability) มันพอมี แต่การ “อยู่ได้” ไม่ได้แปลว่าต้อง “ดันทุรังไปอยู่” ในหลายๆ พื้นที่ของหัวเมืองเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดของไทยมีห้องพักราคาดังกล่าวอยู่ไม่น้อย แต่หากได้ลองไปสัมผัสจริงจะพบว่ามันมีข้อจำกัดที่แทรกเข้ามาเยอะมาก ไม่ว่าจะด้านสภาพแวดล้อม ไปจนถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน แรงงานข้ามชาติอาจจะอยู่กันได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าแรงงานข้ามชาติอยู่กันเป็นกลุ่มมีพรรคพวกเพื่อนพ้องคอยระมัดระวังให้กันได้ คนไทยสมัยนี้ตระหนักดีว่าอาชญากรรมมันเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะกับผู้ที่เดินทางสัญจรคนเดียวหรือพักอาศัยในสถานที่เปลี่ยว ไม่ว่าจะคดีอาชญากรรมทางเพศ หรือทรัพย์สิน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มนุษย์เงินเดือนคนไทยจะไม่สามารถปรับตัวไปใช้วิถีชีวิตแบบแรงงานข้ามชาติที่เดินทางข้ามมาไทยตัวเปล่าแบบไม่มีไรจะเสียเพื่อสั่งสมความมั่งคั่งผ่านการทำงานหนักได้ง่ายๆ  

และหากได้มีโอกาสสัมผัสชุมชนแรงงานของไทยจริง จะพบว่าแรงงานไทยหลายกลุ่มที่อพยพไปใช้แรงงานในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอิสราเอล ก็มีรูปแบบวิถีชีวิตไม่ค่อยแตกต่างจากลักษณะที่เกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในไทยขณะนี้นัก การเปรียบเทียบจึงควรเป็นไปในลักษณะดังกล่าวนี้ จึงจะถูกฝาถูกตัวมากกว่ามาเปรียบเทียบมนุษย์เงินเดือนในอาคารสูงเสียดฟ้าดังที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมา จะเห็นว่าคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศที่มีอัตราค่าแรงสูงกว่าไทยมีปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอใช้น้อยมาก เพราะพวกเขาอพยพไปอาศัยในประเทศที่เศรษฐกิจ และค่าเงินดีกว่าไทย ถึงแม้คุณภาพชีวิตพวกเขาอาจจะเทียบไม่ได้กับประชาชนในประเทศนั้นๆ ก็ตาม แต่ก็ถือว่าดีตามอัตภาพเมื่อเทียบกับสถานที่ที่พวกเขาจากมา หลักคิดเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติจากเพื่อนบ้าน CLMV ของไทย คนเหล่านี้หลีกหนีสภาพความเป็นอยู่ที่แย่กว่ามายังไทย มันมีช่องว่างและความแตกต่างระหว่างค่าเงินและความเป็นอยู่อยู่ ต้องเทียบอัตราค่าครองชีพกัน อย่างเมียนมา ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 80 บาท  ลาว 85 บาท ส่วนเวียดนาม 234 บาท พวกเขาจึงสามารถอาศัยอยู่ในไทยโดยยึดโยงกับคุณภาพชีวิตดั้งเดิมที่เคยอยู่ในบ้านเกิดได้ 

แต่ในทางกลับกัน ถ้าจะย้อนกลับไปบอกว่าให้ประชาชนซึ่งมีสถานะเป็นพลเมืองของไทยให้หันไปนำวิถีชีวิตแบบแรงงานประเทศเพื่อนบ้านมาใช้เพื่อแลกกับการเก็บเงินลืมตาอ้าปากในประเทศไทยให้ได้นั้น ถือว่าประเทศนี้ค่อนข้างจะมีปัญหาใหญ่แล้วถึงขนาดต้องไล่ให้พลเมืองลดความคาดหวังในคุณภาพชีวิตลงเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ อาจจะด้วยเหตุผลนี้กระมังที่ทำให้วัยรุ่น เยาวชนหลายคนถึงกระโดดเข้าร่วมกระแสย้ายประเทศเพื่อไป ‘ล้างจาน’ ในครัวของประเทศที่พัฒนาแล้วกันหมดแทนที่การนั่งจมอยู่ในคอกสี่เหลี่ยมเล็กๆ บนอาคารสูงเสียดฟ้าใจกลางเมืองของกรุงเทพ



 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net