Skip to main content
sharethis

‘พิสิษฐ์’ ยันไม่ได้ถ่วงแก้ รธน. เพราะ รบ.สามารถจัดโดยใช้ พ.ร.บ.ประชามติเดิม ‘เสียง 2 ชั้น’ วันเดียวกับเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เชื่อมีคนใช้สิทธิเกินครึ่ง เตรียมเคาะ 14 สว.นั่ง กมธ.ร่วม พ.ร.บ.ประชามติ ในการประชุมวันที่ 21 ต.ค. 67

 

17 ต.ค. 2567 สำนักข่าวผู้จัดการ และเนชั่น รายงานวันนี้ (17 ต.ค.) พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยความคืบหน้าการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณารายชื่อสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 14 คน เพื่อร่วมเป็นกรรมาธิการร่วม 2 สภาร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จากกรณีสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับการปรับแก้ของวุฒิสภา ในประเด็นเกณฑ์การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority ว่า ที่ประชุมวิปวุฒิสภาในวันนี้ (17 ต.ค.) มีมติให้ที่ประชุมวุฒิสภาในการประชุมวันที่ 21 ต.ค.นี้ ได้พิจารณาแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาไปเป็นกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 

ส่วนรายชื่อว่าใครจะไปเป็นกรรมาธิการร่วมฯ บ้าง ต้องรอที่ประชุมวุฒิสภาในวันดังกล่าว ถึงจะสามารถประกาศได้ว่าสว.ทั้ง 14 คน มีใครบ้าง

ต่อประเด็นที่สื่อถามถึงอัตราส่วนสมาชิกวุฒิสภา 14 คนที่จะไปร่วม กมธ.จะเป็นอย่างไร ระหว่างสายสีน้ำเงิน พันธุ์ใหม่ และอิสระ พิสิษฐ์ กล่าวว่าไม่ทราบ ต้องรอการประชุมวุฒิสภาวันที่ 21 ต.ค. อย่างเดียวว่ามีใครบ้าง ซึ่งจะได้ความชัดเจนที่สุด

ยันไม่ได้ถ่วงเวลาแก้ รธน.

ต่อประเด็นที่สื่อถามว่าวุฒิสภายังยืนยันเนื้อหาตามที่แก้ไขที่ใช้เสียงข้างมากแบบ 2 ชั้นหรือไม่ พิสิษฐ์ กล่าวในนามส่วนตัวยังยืนยันว่าเราจะใช้แบบดังกล่าว (ประชามติ 2 ชั้น) เฉพาะการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการทำประชามติเรื่องอื่นก็จะใช้แบบธรรมดา (Simple Vote)

ส่วนขั้นตอนการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ พิสิษฐ์ ระบุว่า เมื่อเข้าที่ประชุมร่วมกันแล้ว และได้ข้อตกลงอย่างไร ก็จะแยกออกมาเป็นคนละสภาเพื่อที่จะโหวตกันอีกครั้งว่าแต่ละสภาเห็นชอบอย่างไร หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ก็จะถูกพักไว้ 180 วัน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงจะสามารถประกาศใช้ได้

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการมองว่าเกมที่วุฒิสภาเดินมีการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พิสิษฐ์ กล่าวว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลสามารถใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ฉบับเดิมก่อนที่จะมีการแก้ไขไปก่อนได้ และอย่าใช้ข้ออ้างที่จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ถ้ารัฐบาลมีการจริงใจและเจตนาที่ดีต่อประชาชนจริง ไม่ต้องการพิจารณาร่วมของ กมธ.ประชามตินี้ก็ได้ เพราะสามารถใช้ พ.ร.บ.ประชามติเดิมได้ เพราะจากที่ตนทราบการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน ก.พ. 2568 ตนเชื่อว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเกินครึ่งหนึ่งแน่นอน เพราะฉะนั้น คำว่าเสียงข้างมากแบบ 2 ชั้นไม่น่าจะมีผลอะไร ถ้าจะเอาไทม์ไลน์เดิมของรัฐบาลในการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน ก.พ.

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคประชาชนเสนอ เช่น การยกเลิกคำสั่ง คสช. หรือผลพวงรัฐประหาร 2557 สว.จะมีแนวทางอย่างไร พิสิษฐ์ ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุเพียงว่ามีหลายเรื่องในการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่สภาฯ ได้พิจารณาเป็น พ.ร.บ. และได้ลงมติเห็นชอบไปแล้ว แต่เรื่องรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่มีการเสนอมา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net