Skip to main content
sharethis

'ชูศักดิ์' สรุปผลศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังไม่ใช่ร่างกฎหมาย ชง ครม.ศึกษาต่อ ส่วน ม.112 และ ม.110 เป็นประเด็นอ่อนไหวสูง กมธ.มิได้บังคับหรือผูกมัด ครม.ให้มีความเห็นตามที่เสนอ

 

17 ต.ค. 2567 TP channel ถ่ายทอดสดออนไลน์ ที่รัฐสภา แยกเกียกกาย  มีวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 33 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ประจำวันที่ 17 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 14.07 น. ชูศักดิ์ ศิรินิล​ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวว่า สภาประชุมกันเมื่อ 1 ก.พ. 2567 พิจารณาญัตตินี้ ซึ่งขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎณ (สส.) พรรคเพื่อไทย เสนอให้ตั้ง กมธ.นิรโทษกรรม และสภามีมติให้ตั้ง กมธ.ขึ้น กำหนดกรอบการทำงาน 60 วัน ต่อมา เมื่อครบกำหนดเมื่อ 1 เม.ย. 2567 ขอขยายต่อ 2 ครั้ง ครั้งละ 60 วัน บัดนี้ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วอย่างรอบด้าน ประชุมกัน 19 ครั้ง โดยศึกษาจากข้อสังเกตของ สส.ข้อมูลวิชาการ ข้อมูลกฎหมาย ข้อมูลสถิติคดี การรับฟังจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อเรียกร้องคัดค้านต่างๆ การเสวนาขององค์กรต่างๆ    

'ผลศึกษา ยังไม่ได้เป็นร่างกฎหมาย'

ชูศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนถึงข้อสรุป ขอฝากหลักพิจารณาดังนี้

การนิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิกความผิด เพียงแต่ยกเว้นความรับผิดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อไม่ใช้จมปลักกับความขัดแย้งหรือถอยหลัง ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีกฎหมายนิรโทษแล้ว 23 ฉบับแบ่งเป็น พ.ร.บ.19 ฉบับ  พ.ร.ก.4 ฉบับ  

ต่อมา ชูศักดิ์ เน้นย้ำว่า รายงานนี้เป็นการศึกษาแนวทาง ไม่ใช่การยกร่าง พ.ร.บ. เพื่อเสนอว่าเวลาจะตรากฎหมายจะทำอย่างไร กมธ.ได้เสนอความเห็นในทุกมิติไว้ด้วย เพื่อให้สภาได้รับฟังอย่างรอบด้าน  

แม้รายงานจะเป็นการศึกษาการตรากฎหมาย แต่ กมธ.ยังสนอแนะแนวทางอื่นๆ ด้วย เช่น พ.ร.บ.ล้างมลทิน การขออภัยโทษ การชะลอการฟ้อง การสั่งไม่ฟ้องคดีไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ  

สรุปสาระสำคัญดังนี้  


1. ช่วงเวลานิรโทษกรรม - ควรเอาเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ กมธ.เสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร 

2. การกระทำ - มุ่งเน้นที่มีมูลเหตุเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยแยกเป็นคดีหลัก เช่น เป็นกบฏ คดีรอง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน รวมทั้งแยก 'คดีอ่อนไหวทางการเมือง' ออกมาเป็นการเฉพาะ โดยได้แสดงเหตุผลทุกมิติทั้งผู้เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย รวมถึงแสวงหามาตรการอื่นเช่น นิรโทษกรรมอย่างมีเงื่อนไข

3. รูปแบบการนิรโทษ - มีทั้งนิรโทษกรรมแบบอัตโนมัติ แบบให้มีคณะกรรมการ และแบบผสมผสาน การให้มีคณะกรรมการมาพิจารณา เนื่องจากการนิรโทษกรรมเริ่มปี 2548 ซึ่งเกิดมานานแล้ว มีทั้งคดีหลัก คดีรอง การมีคณะกรรมการพิจารณาจะทำให้การนิรโทษถูกต้อง และเป็นธรรม  


4. กำหนดขอบเขต - รวมการกระทำใดบ้าง และควรทำบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ไว้ว่ารวมความผิดใดบ้าง นอกจากนั้นยังเสนอว่า การตรา พ.ร.บ.อาจทำเป็นหลายฉบับ เพราะเหตุการณ์แต่ละช่วงมีความแตกต่างกัน  

5. กมธ.มีข้อสังเกตไว้หลายประการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและ ครม.รับไปพิจารณา การอำนวยความยุติธรรมในกลไกกฎหมายปัจจุบัน ที่เรียกว่ากระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน  ข้อสังเกตที่เกิดจากคณะกรรมการอิสระหลายชุดที่ผ่านมา และความเห็น กมธ.ที่เห็นว่า ความผิดตาม 110 และ 112 ประมวลกฎหมายอาญา ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวที่อาจนำสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม ความเห็น กมธ.มิได้บังคับหรือผูกมัด ครม.ให้มีความเห็นตามที่เสนอ

ชูศักดิ์ ขอย้ำว่า รายงานนี้เลื่อนมา 2-3 ครั้ง เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่า รายงานนี้ไม่ใช่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ เป็นเพียงการศึกษาของ กมธ.ที่ได้รับมอบหมายจากสภา ซึ่งที่ประชุมสภานำข้อมูลนี้ไปประกอบการพิจารณาในการยกร่าง พ.ร.บ.ในอนาคต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net