Skip to main content
sharethis

จำเลย 'คดีอาญาตากใบ' ไม่มาตามนัด นัดสุดท้ายวันที่ 28 ต.ค.นี้ หากไม่มีจำเลยคนใดมาศาล คดีนี้ก็จะขาดอายุความ เนื่องจากครบกำหนด 20 ปี

 

17 ต.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงาน เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส จำเลยคดีอาญาตากใบไม่มารายงานตัวต่อศาล ในนัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน กำหนดวันนัดสืบพยาน และติดตามผลจับกุมจำเลยที่ 3-6 และ 8-9 และฟังผลการขออนุญาตจับกุมจำเลยที่ 1 ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยศาลจังหวัดนราธิวาสรอจนกระทั่งเวลา 11.00 น. ไม่มีจำเลยคนใดใน 7 ราย หรือทนายจำเลย ปรากฏตัว ศาลสอบพนักงานอัยการในฐานะทนายจำเลยที่ 8 และ 9 แถลงว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 8 และ 9 ศาลนัดเพื่อประชุมคดีหรือนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันที่ 28 ต.ค. 2567 เวลา 9.00 น. หากไม่มีจำเลยคนใดมาศาลคดีนี้ก็จะขาดอายุความเพราะครบกำหนด 20 ปี

ศาลแจ้งให้คู่ความทราบว่า ปัจจุบันศาลไม่ได้รับแจ้งจากพนักงานตำรวจศาล พนักงานฝ่ายปกครอง และเจ้าพนักงานตำรวจว่าได้จับกุมจำเลย 3-6 และ 8-9 ส่วนจำเลยที่ 1 สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือ ลงวันที่ 24 ก.ย. 2567 ตอบกลับมา โดยสภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่า ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ในชั้นพิจารณาของศาล ระหว่างสมัยประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาไม่มีรับความคุ้มกันใดๆ รวมทั้งการจับกุมและการคุมขังในคดีอาญา ศาลจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 และยังไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานที่มีอำนาจจับกุมข้างต้น ว่าสามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ได้

ทั้งนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาสได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยเหล่านี้เข้ารายงานตัวต่อชั้นศาลก่อนเวลาเที่ยงคืน ณ วันที่ 25 ต.ค. 2567 หากมีหนึ่งในจำเลยคนใดคนหนึ่งมามอบตัว หรือถูกจับกุมได้ก่อนคดีหมดอายุความ

สิ่งที่น่ากังวลต่อคดีอาญาตากใบนั้น คือ การที่คดีใกล้กำหนดอายุความหากครบ 20 ปี ณ วันที่ 25 ต.ค. 2567 และไม่มีแนวโน้มในการติดตามจับกุมได้ ด้วยเหตุนี้ผู้เสียหายและญาติ รวมทั้งสื่อมวลชนและสังคมในวงกว้างต่างตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีหน่วยงานใดสามารถจับกุมจำเลยได้

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 เวลา 10.15 น. ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ผู้แทนอธิบดีอัยการภาค 9 ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้เข้าให้ข้อเท็จจริงกับ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ในส่วนความคืบหน้าของการติดตามจับกุมจำเลยและผู้ต้องคดีตากใบ ทั้ง 14 ราย ตามหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาสและศาลจังหวัดปัตตานี โดยผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ออกมายืนยันกับที่ประชุมว่าปัจจุบันมีจำเลย 2 คนได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี จำเลยที่ 1 ออกนอกประเทศไปพำนัก ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และศิวะ แสงมณี จำเลยที่ 8 ได้ ออกนอกประเทศไทยไปประเทศญี่ปุ่นแล้วเช่นกัน  แม้จะมีการยื่นคำร้องขอออกหมายแดงสำหรับจำเลยที่หนีออกนอกประเทศ และมีการออกหมายจับและหมายค้นบุคคลตามหมายจับแต่ก็ล่าช้าและไม่มีข้อมูลที่ทำให้เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการอย่างจริงใจและไม่ให้บุคคลตามหมายจับเล็ดลอดหรือหลบหนีได้จนกระทั่งคดีขาดอายุความ

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 มีข้อมูลเปิดเผยโดยพรรคเพื่อไทยว่า จำเลยที่ 1 ที่มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคและเป็นผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคฯ ขอลาออกด้วยจดหมายที่ส่งมาถึงรองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย ขณะแถลงข่าวรองนายกฯ มีท่าทีดีใจและยิ้มแย้มเหมือนว่าจดหมายนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบใดใดอีกในคดีตากใบที่กำลังจะกลายเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และเป็นการทำลายหลักนิติรัฐรวมทั้งความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยหรือไม่

จำเลยทั้ง 7 คนที่ต้องมารายงานตัวต่อศาลในนัดนี้ ได้แก่ จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการพล.ร. 5 ในขณะนั้น จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้าในขณะนั้น จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ในขณะนั้น จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสภอ. ตากใบในขณะนั้น จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี รองผอ.สสส.จชต. หรือกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น และจำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะเกิดเหตุ

จำเลยมีมูลความผิดในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 83, 288 ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 310 วรรคสองประกอบมาตรา 290 ,83

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net