Skip to main content
sharethis

'พรรคประชาชน' โวย รอง ปธ.สภาฯ ชิงปิดประชุมหนีถกผลศึกษา กมธ.นิรโทษกรรมฯ ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เปิดโอกาสให้ กมธ.แจง-ขจัดความเข้าใจผิด 'โรม' ถามทิศทางรัฐบาลเอายังไงต่อ ‘ปกรณ์วุฒิ’ ย้ำผลศึกษายังไม่ใช่ร่างกฎหมาย ครม.ต้องนำไปพิจารณาต่อ

 

17 ต.ค. 2567 เว็บไซต์ พรรคประชาชน ไทยโพสต์ และเดลินิวส์ รายงานวันนี้ (17 ต.ค.) ว่า ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ. … แถลงถึงกรณี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ชิงปิดการประชุมสภาระหว่างพิจารณารายงานร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ว่าไม่เห็นด้วย และมองว่าไม่มีเหตุผลให้ปิดประชุมสภา เพราะทาง กมธ.แทบไม่ได้ชี้แจงอะไรเลย ส่วนชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ. พูดเกริ่นในภาพรวมเท่านั้น

ชัยธวัช กล่าวว่า ในฐานะ กมธ.เราอยากให้ สส.ได้แสดงความเห็นมากที่สุด และ กมธ.จะได้ลุกขึ้นชี้แจงเนื้อหาสาระ และข้อเสนอที่สำคัญ เพราะอาจมี สส.เข้าใจคลาดเคลื่อน เขาไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงชิงปิดการประชุมสภา ทำให้เสียโอกาสในการผลักดันประเด็นวาระอื่นๆ เข้าสู่การพิจารณา และไม่รู้ว่าสุดท้ายจะมีปัญหาจนไม่สามารถพิจารณารายงานของ กมธ.ชุดนี้ให้แล้วเสร็จทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ เพราะวันที่ 25 ต.ค.เกิดปัญหาขึ้นมาอีก ก็น่าเสียดาย

ชัยธวัช กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แต่ไม่ว่ารายงานของ กมธ.ชุดนี้จะผ่านการพิจารณาของสภาหรือไม่ เมื่อเปิดสมัยประชุมสภามาในสมัยหน้าจะมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจ่อเข้าพิจารณาอยู่แล้วรวม 4 ฉบับ โดยร่างของอดีตพรรคก้าวไกลจ่อเป็นลำดับที่ 6 อย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ จึงไม่เข้าใจว่าจะเตะถ่วงกันเพื่ออะไร หรือเพื่อให้ทุกพรรคร่วมรัฐบาลเอาข้อสรุปความเห็นที่ทั้งสมาชิกในสภา และสาธารณะฟังแล้วไปสรุปเพื่อเสนอในร่างของตัวเอง ซึ่งทำแบบนี้ไม่มีประโยขน์อะไรเลย

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมนัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ คือวันที่ 31 ต.ค. 2567 และเปิดสมัยประชุมฯ อีกครั้ง 12 ธ.ค. 2567

รังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน กล่าวว่า ตกลงแล้วความชัดเจนของรัฐบาลต่อการนิรโทษกรรมจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เนื่องจากต้องยอมรับว่าหากดูตามรายงานจะมีเรื่องการนิรโทษกรรม ซึ่งไม่ได้เป็นข้อสรุป แต่เป็นความเห็นของฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าควรรวมมาตรา 112 หรือไม่ควรรวม และยังมีข้อสังเกตอีกหลายประการที่รัฐบาลสามารถทำได้เลย และการที่รายงานฉบับนี้ล่าช้าออกไปทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าตกลงรัฐบาลจะเอาอย่างไร และแน่นอนว่าการปิดประชุมเป็นอำนาจของประธานสภาฯ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้อำนาจนี้ก็ถูกมองได้ว่าเป็นจุดยืนของรัฐบาลหรือไม่ ที่ไม่ได้ต้องการให้เรื่องนี้มีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และอยากให้สังคมตั้งคำถามดังๆ ต่อรัฐบาลว่าตกลงแล้วจะเอาอย่างไร โดยรายงานฉบับนี้พยายามหาจุดที่จะประนีประนอมคุยกันได้ วันนี้สิ่งที่เราอยากจะได้ความชัดเจนที่สุดคือแนวทางของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่าการนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการถอนฟืนออกจากกองไฟ แต่ถ้าบรรยากาศของสภาฯ เป็นเช่นนี้ เราจะถอนฟืนออกจากกองไฟได้อย่างไร เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเพื่อทำให้สภาฯ เป็นที่แห่งความพูดคุยเพื่อคลายความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ และยิ่งยากมากขึ้น

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เผยว่า หากติดตามการประชุมสภาฯ สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประธานได้ปิดประชุมก่อนเวลาที่วิป 2 ฝ่ายได้ตกลงกันไว้ และไม่มีครั้งไหนที่เราสามารถดำเนินการประชุมตามที่วิป 2 ฝ่ายตกลงกันไว้ หากเราติดตามกันตั้งแต่สภาฯ ชุดที่แล้วจะเห็นว่ามีรองประธานสภาฯ ที่เป็นมือปิด มักจะเป็นตัวแทนมาจากพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือกลัวองค์ประชุมล่ม จะทำให้ประชาชนเห็นว่าฝั่งรัฐบาลอยู่ไม่ครบองค์ประชุม และไม่สามารถประชุมต่อได้

ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชน พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ ต่างแสดงอย่างชัดเจนว่าไม่ล่มและองค์ประชุมครบ และพร้อมที่จะโหวตรับร่างหรือไม่ ไม่ว่าจะเห็นอย่างไรกับรายงานฉบับดังกล่าวก็ถือเป็นวิถีประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็ส่งให้ ครม.พิจารณาต่อ แต่หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ตีตกไป สภาฯ ว่าอย่างไรก็ตามก็เป็นไปตามนั้น

แต่วันนี้พรรคประชาชนแสดงอย่างชัดเจนว่าเราไม่ล่มองค์ประชุมอย่างแน่นอน พร้อมที่จะโหวตไม่ว่าใครจะเห็นอย่างไรกับรายงานฉบับดังกล่าว เพราะถือเป็นวิถีทางประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ตีตกไป สภาฯว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น

ปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า อีกสัญญาณหนึ่งที่ส่งผ่านมาจากการปิดประชุมคือเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล โดยในวันนี้พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ประกาศชัดเจนว่าพร้อมจะลงมติ ตนมั่นใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็ทราบว่าวันนี้องค์ประชุมครบและไม่ล่มอย่างแน่นอน

"การปิดประชุมหนีแบบนี้ก็อาจจะเป็นการไม่อยากให้ทางสาธารณะได้เห็นภาพความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง ที่อาจจะส่อถึงเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาลที่เริ่มจะงัวเงียง่อนแง่น สถานการณ์แบบนี้ครั้งที่แล้วเกิดขึ้นช่วงปลายรัฐบาล (ที่แล้ว) ที่พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มคุยกันไม่รู้เรื่องและเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่องจนต้องปิดการประชุม เพราะองค์ประชุมล่มกันบ่อยครั้ง" ปกรณ์วุฒิ กล่าว

ปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า การปิดประชุมในวันนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะวันที่ 24 ต.ค. ก็ต้องกลับมาพูดคุยกันเรื่องนี้อีกครั้ง ส่วนการที่มีสมาชิกระบุว่าให้ปิดการอภิปรายเลยนั้น ต้องเข้าใจว่าสภาฯ แต่งตั้ง กมธ.ขึ้นมาเป็นตัวแทนไปพิจารณาเรื่องที่เราสนใจ และได้ผลการศึกษากลับมา การอภิปรายของ สส.ควรให้เกียรติ กมธ.ที่ไปศึกษารายงานฉบับดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และขจัดความเข้าใจผิด หากจะพูดกันแค่ใน สส. และไม่ให้กรรมาธิการอธิบาย ประชาชนอาจจะเข้าใจผิดในบางประเด็น

"เท่าที่ผมฟัง สส.หลายคนก็อภิปรายโดยที่ไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริง บางท่านอภิปรายเลยไปถึงเป็นการพิจารณาการแก้ไขมาตรา 112 หรือการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยตรง จะจบมีผลบังคับใช้วันนี้เลย ซึ่งที่จริงไม่ใช่แบบนั้น ทางกรรมาธิการก็มีหลายตัวเลือกเพื่อ ครม.นำความเห็นนี้ไปเป็นประโยชน์ในการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในอนาคตเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งที่รุนแรงที่ผ่านมา" ปกรณ์วุฒิ กล่าว 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net