Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่องกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “กฎหมาย SEC” (Southern Economic Corridor) ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวผ่านสื่อออนไลน์อยู่บ้างในช่วงเวลาสั้นๆที่ผ่านมา เพื่อต้องการสื่อสารให้คนภาคใต้ หรือคนทั่วไปได้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับดังกล่าว ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้สังคมเข้าใจและสนใจในเรื่องนี้ ทั้งที่ความจริงแล้ว กฎหมายฉบับดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ นักการเมือง และกลุ่มทุนที่จะเข้ามาแย่งยึดฐานทรัพยากรของคนภาคใต้และประชาชนไทยโดยรวม ซึ่งอาจจะรวมถึงระบบการปกครองบ้านเมืองที่จะผิดเพี้ยนตามไปด้วย

ร่างกฎหมาย SEC ลอกมาจากพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือกฎหมาย EEC (Eastern Economic Corridor) แทบจะทุกตัวอักษร ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทยจำนวน 2 ฉบับ (ที่เสนอโดยนายสฤษดิ์พงษ์ เกี่ยวข้อง 1 ฉบับ และโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล 1 ฉบับ) ซึ่งทั้งสองฉบับได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (มาตรา 77) เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงิน จึงต้องผ่านความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังรอการลงนามเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภาต่อไป หากแต่คาดการว่ารัฐบาลจะเสนอกฎหมายประกบด้วยอีก 1 ฉบับ อันเป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่เคยแถลงไว้ว่าได้มอบหมายให้ สนข. หรือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไปด้วย หมายความว่ารัฐบาลคงไม่ปล่อยให้พรรคภูมิใจไทยนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพียงพรรคเดียว

ร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ฉบับพรรคภูมิใจไทยทั้ง 2 ฉบับ มีทั้งหมด 8 หมวด 67 มาตรา หากจะให้เข้าใจรายละเอียดต้องไปอ่านบทชำแหละของประสิทธิ์ชัย หนูนวล ที่ได้ถอดรหัสผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวไว้อย่างละเอียด แต่ถ้าจะอธิบายแบบรวบรัดก็พอจะกล่าวได้ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีสิ่งสำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ

1. มีการสถาปนาอำนาจพิเศษให้กลไกพิเศษที่เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีจำนวน 16 กระทรวงเป็นคณะกรรมการ มีภาคธุรกิจจาก 3 องค์กรใหญ่ (ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย) และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรอีก 5 คน เป็นคณะกรรมการบริหารเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (โดยมีการให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวางในมาตรา 10) โดยเจตนาของกฎหมายทำเป็นว่า กลไกนี้จะถูกควบคุมโดยรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วคืออำนาจเดียว แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ มีนักธุรกิจใหญ่ระดับชาติเข้ามาร่วมใช้อำนาจนี้อย่างมีนัยสำคัญ และเห็นได้ชัดว่าประชาชนและท้องถิ่นหายไปจากสมการดังกล่าว
2.    ให้อำนาจพิเศษแบบล้นฟ้ากับคณะกรรมการนโยบายฯ กระทำการได้ 2 เรื่องสำคัญคือ 1. อำนาจในการเสนอกฎหมายหรือระเบียบใหม่เพื่อประโยชน์ในการบริหารเขตพิเศษดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ และ 

2. อำนาจในการยกเว้นการใช้กฎหมายบางฉบับ (เบื้องต้นประมาณ 19 ฉบับ) เพื่อให้การบริหารและการดำเนินการของโครงการต่างๆในเขตเศรษฐกิจพิเศษดำเนินไปได้โดยเร็ว ซึ่งข้อยกเว้นในกฎหมายเหล่านั้นล้วนเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุน(ต่างชาติ) ในรูปแบบต่างๆในทุกมาตรา ผ่านการยกเว้นกฎหมายที่ดิน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายอุทยานฯ กฎหมาย สปก. กฎหมายผังเมือง กฎหมายแรงงาน กฎหมายการเงิน กฎหมายศุลกากร ฯลฯ

3. กำหนดและขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ตามอำเภอใจ โดยเบื้องต้นจะประกาศแค่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดระนอง ,ชุมพร ,สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช แต่ในร่างกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายฯสามารถประกาศพื้นที่เพิ่มเติมได้เมื่อเห็นสมควรหรือเมื่อมีการร้องขอจากผู้ประกอบการ นั่นหมายความว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ 4 จังหวัดเท่านั้น แต่เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคใต้

หลายคนสงสัยว่ากฎหมาย SEC เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ เพราะเป็นกฎหมายที่มีลักษณะของการสถาปนาอำนาจการบริหารประเทศซ้อนอำนาจของรัฐบาล หรือเข้าลักษณะ “รัฐซ้อนรัฐ” ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่เกิดขึ้นหลังจากได้อ่านเนื้อหาของร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้แล้ว บางคนถึงกับเสนอว่าต้องร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ในขณะที่อีกความเห็นอธิบายว่าจะผิดรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ในเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าว ลอกมาจากกฎหมาย EEC แทบจะทุกตัวอักษร และกฎหมาย EEC ก็คลอดออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 (สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เท่ากับว่าประเทศนี้มีกฎหมายเช่นเดียวกันนี้มาแล้วเกือบสิบปี

จึงต้องย้อนไปดูว่าในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กฎหมาย EEC รอดพ้นผ่านรัฐสภามาได้อย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าในยุคนั้น(พ.ศ. 2561) อำนาจของรัฐบาลชุดดังกล่าวล้นฟ้าขนาดไหน เพราะแม้จะมีการออกมาทักท้วงของประชาชน นักวิชาการ และพรรคการเมืองบางพรรคที่ไม่เห็นด้วยต่อกฎหมายดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก จึงไม่ต้องถามว่าหรือให้ใครตีความว่า “กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญหรือผิดประเพณีการปกครองในระบบประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร แต่สิ่งที่พวกเราถูกอธิบายคือการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เพื่อให้เขาได้นำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนให้มากที่สุด และกระแสทางการเมืองในช่วงนั้นทุกคนก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงด้านเศรษฐกิจด้วย

ปัจจุบัน ที่สภาพทางการเมืองเปลี่ยนไป เรามีรัฐบาลที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น มีรัฐบาลที่นำการจัดตั้งโดยพรรคเพื่อไทย อาจจะมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ไม่ตะขิดตะขวงใจบ้างหรือที่จะผลักดันกฎหมายลักษณะดังกล่าวที่เคยถูกผลักในรัฐบาลเผด็จการ อันนี้ต้องย้อนไปดูต้นคิดในการผลักดัน “กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ในอดีตก่อนที่จะมีการยึดอำนาจโดย คสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ซึ่งเราต่างรู้กันดีว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มีความพยายามอย่างมากที่จะให้มีกฎหมายนี้ขึ้น แต่ไม่สามารถทำได้แม้จะมีรัฐบาลอื่นๆตามมาภายใต้การกำกับของตระกูลชินวัตรก็ตาม

แต่น่าสังเกตว่า คนที่สานความคิดความฝันของอดีตนายกฯทักษิณ ก็คือรัฐบาลเผด็จการทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้ยึดอำนาจมากจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของท่านเอง และเมื่อมาถึงจุดนี้ก็ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรกันมาก หลายคนคงพอจะประติดประต่อภาพของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งนักการเมือง (อำนาจเก่า อำนาจใหม่) นายทุนขุนศึกทั้งหลายที่มีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทำการสานสร้างเครื่องมืออันทรงพลังด้วยการกำหนด“อำนาจพิเศษ” เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ “กลุ่มคนพิเศษ” แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน พร้อมกับอ้างความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนี้โดยเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันเหมือนที่ผ่านมา

มีนักวิชาการสายประชาชนกลุ่มหนึ่ง พยายามถอดรหัสความล้มเหลวของการใช้กฎหมาย EEC ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ยุครัฐบาลประยุทธ์) ซึ่งทำให้เห็นถึงหายนะด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในมิติต่างๆ ดังภาพสะท้อนให้เราได้เห็นกันอยู่อย่างชัดแจ้งในช่วงที่ผ่านมา และมีนักคิดบางท่านให้แง่มุมที่ชวนคิดแบบเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลประยุทธ์ กับรัฐบาลเศรษฐา ต่อศักยภาพที่ต่างกันในการใช้กฎหมายพิเศษไว้อย่างชวนคิดว่า “รัฐบาลโง่ (ในทางธุรกิจ) ไม่สามารถใช้ประสิทธิภาพของกฎหมายพิเศษได้อย่างเต็มที่ แต่รัฐบาลที่ฉลาด (ในทางธุรกิจ) จะสามารถใช้กฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าหลายเท่า” ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่เราจะต้องติดตามกันต่อไป

สิ่งที่มากไปกว่าการทบทวนกฎหมาย EEC ในช่วยหลายปีที่ผ่านมา ควรจะต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามด้วยว่า ประเทศเราสามารถมีกฎหมายพิเศษแบบนี้ได้หรือ และขัดกับหลักการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศหรือไม่ อย่างไร และเหตุผลที่อ้างว่าเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาตินั้น มันใช่หรือไม่ ด้วยความเป็นจริงแล้วมีมาตรการอื่นๆมากมายที่ช่วยสร้างสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับนักลงทุนอยู่แล้ว แต่การมีกฎหมายในลักษณะนี้กำลังสร้างมาตรฐานที่แตกต่างระหว่างนักลงทุน(ต่างชาติ) กับประชาชนไทยทั้งหมดยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายปกติ ไร้การยกเว้นและไม่มีสิทธิพิเศษอื่นใดเลย ในขณะที่อำนาจพิเศษภายในพื้นที่พิเศษเหล่านั้นกำลังลิดรอนสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนของพลเมืองอย่างถูกกฎหมายในมิติต่างๆ และภายใต้กลไกพิเศษที่ถูกสถาปนาขึ้นมานั้น ไม่ได้มีพื้นที่ของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นอยู่ในกระบวนการคิดและตัดสินใจใดเลย จึงไม่ต้องสงสัยว่ากฎหมายพิเศษเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น EEC , SEC หรือจะอะไรอื่นอีกหลังจากนี้ ล้วนเป็นกฎหมายพิเศษ จากคนพิเศษ เพื่อคนพิเศษเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

โปรดจับตารัฐบาลเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเช่น พรรคภูมิใจไทย ที่กำลังผลักดันกฎหมาย SEC ในขณะนี้ และเชื่อว่าจากนี้ไปจะมุ่งมั่นเดินหน้าผลักดัน “กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ในทุกภูมิภาคของประเทศ เพียงเพื่อสร้างอำนาจพิเศษในบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่พิเศษอย่างกว้างขวางขึ้น ไม่ใช่แค่ภาคตะวันออกและภาคใต้เท่านั้น แต่จะกระจายไปยังทุกภาคของประเทศอย่างถ้วนทั่วโดยไม่ต้องสงสัย และเมื่อถึงวันนั้นก็อดคิดไม่ได้ว่า “เราจะมีรัฐบาล(กลาง)ไว้ทำไม” ในเมื่อพื้นที่การปกครองถูกซอยย่อยเป็นส่วนแล้วทำการบริหารด้วยกลไกพิเศษที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา อันชวนให้ถามต่อไปอีกว่า “คนกลุ่มนี้กำลังออกแบบการปกครองประเทศไปสู่ระบอบอะไร”


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net