Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจาก UN เรียกร้องถึงทางการไทย ทบทวนการส่งตัว 'เบดั๊บ' ผู้ลี้ภัยและนักปกป้องสิทธิชนพื้นเมือง ชาวมองตานญาด กลับประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีความเสี่ยงถูกทรมานหรือเผชิญการกระทำอันโหดร้ายอื่นๆ และถือเป็นการละเมิดหลัก 'Non-refoulement'

 

17 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวานนี้ (16 ต.ค.) ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติ เผยว่า เขารู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งหลังศาลอาญาไทยมีคำสั่งควบคุมตัวอี ควิน เบดั๊บ ผู้ลี้ภัย และนักปกป้องสิทธิชาวมองตานญาด เพื่อรอผลักดันกลับประเทศในข้อหาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตามคำร้องขอของรัฐบาลเวียดนาม และขอให้ทางการไทยทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง

“ถ้ามีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน, เบดั๊บ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะถูกบังคับสูญหาย ทรมาน และเผชิญการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ตลอดจนการถูกลงโทษและการกักขังอย่างพลการอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วย 'หลักการไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง' (Non-refoulement)” ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ กล่าว

ทั้งนี้ เบดั๊บ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม 'มองตานญาดยืนหยัดเพื่อความยุติธรรม' (MSFJ) ซึ่งรณรงค์เพื่อเสรีภาพทางการเมือง การนับถือศาสนา และสิทธิของชนพื้นเมืองในเวียดนาม เขาลี้ภัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตั้งแต่ปี 2563

ผู้เชี่ยวชาญจาก UN เผยว่า หากไทยและเวียดนามไม่มีการทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ทางการไทยสามารถปฏิเสธคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับประเทศต้นทาง เมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาได้ และขอเรียกร้องให้คดีนี้ต้องถูกทบทวน

เมื่อ ม.ค. 2567 เบดั๊บ ถูกศาลเวียดนามตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อการร้าย ในคดีที่มีกลุ่มคนเข้าไปทำลายสถานีตำรวจ และสถานที่ราชการในจังหวัดดั๊กลัก เมื่อ มิ.ย. 2566 แม้ว่าในช่วงเวลานั้น เบดั๊บจะไม่ได้อยู่ในประเทศเวียดนามก็ตาม

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ประณามคำตัดสินคดีและการลงโทษเบดั๊บ และผู้ต้องหาในคดีเดียวกันอีก 99 คนว่า เป็นการพิจารณาโดยศาลเฉพาะกิจ ซึ่งการสืบพยานและตัดสินคดีมีความรวดเร็วมาก และเป็นการตัดสินคดีแบบลับหลังที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้ชี้แจงเหตุการณ์ ซึ่งขัดกับหลักสากล

"ศาลเฉพาะกิจ (Mobile Court) ขาดความชัดเจนด้านกฎหมายพื้นฐาน และไม่มีความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมือง

"ขณะที่ข้อหาการก่อการร้ายมีความคลุมเครือ และมีคำนิยามที่กว้างขวางอย่างมาก การพิจารณาก็ไม่ยุติธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ" ผู้เชี่ยวชาญจาก UN ระบุ

ผู้เชี่ยวชาญจาก UN กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของกลุ่ม MSFJ ของเบดั๊บ ซึ่งถูกแปะป้ายว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย ในเวียดนาม เมื่อ 6 มี.ค. 2567 “เป็นรูปแบบการเลือกปฏิบัติและการกดปราบชาวมองตานญาดในเวียดนามที่ขยายใหญ่ และเข้มข้นขึ้น”

ทั้งนี้ ศาลอาญา ยอมรับว่า มาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามส่งบุคคลใดก็ตามกลับประเทศต้นทาง หากมีข้อพิสูจน์ว่า บุคคลที่ถูกส่งตัวกลับมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทรมานหรือการปฏิบัติอย่างโหดร้าย อย่างไรก็ตาม ศาลอาญา ตัดสินว่าไม่มีอำนาจในการประเมินกระบวนการยุติธรรมของเวียดนามว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลในการดำเนินคดีและลงโทษเบดั๊บหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญจาก UN ก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องทางการและศาลไทยเคารพหลักการไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทางมาแล้ว 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ ชาวมองตานญาดเป็นชนพื้นเมืองและนับถือศาสนาส่วนน้อยในประเทศเวียดนาม พวกเขาตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติเชิงโครงสร้าง และอย่างเป็นระบบ ไปจนถึงการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และหลายคนพยายามหาการปกป้องในประเทศไทย

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติขอเรียกร้องให้ประเทศไทย ยอมรับสถานะผู้ลี้ภัยในกฎหมายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกลไกการคัดกรองแห่งชาติ (NSM) ให้พวกเขามีสถานะพำนักอาศัยในประเทศอย่างถูกกฎหมาย และปกป้องพวกเขาจากการกดปราบข้ามชาติจากต่างแดน

ชาวมองตานญาดหลายคนกำลังรอการระหว่างพิจารณาคำร้องเพื่อขอไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 และผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ ขอเรียกร้องให้ประเทศที่ 3 เหล่านี้เร่งพิจารณาคำร้องขอเหล่านี้โดยเร็ว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net