Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การมีลูกเป็นเรื่องน่ากลัว โดยเฉพาะกับในคนยุคนี้ที่มีทั้งปัจจัยทางด้านการเงินและสภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรค แต่ในทางประวัติศาสตร์แล้ว การมีลูกเป็นเรื่องจำเป็น อาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าที่ของคู่บ่าวสาวหลังจากแต่งงานเลยด้วยซ้ำ ในหนังสือเรื่อง Law and Society in Social China บอกไว้ว่า ถ้าคุณไม่มีลูกเพื่อบูชาบรรพบุรุษ คุณถือว่าเป็นคนอกตัญญู[1]

นอกจากนี้ การไม่มีลูกถือเป็นเรื่องที่ขัดกับสามัญสำนึกของใครหลายคน มนุษย์เกิดมาสักวันก็ต้องแต่งงาน และมีลูกเพื่อสืบเชื้อสายหรือดูแลเราตอนแก่ การมีลูกเปรียบเหมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งการบรรลุนิติภาวะ เนื่องจากการสลัดคราบของผู้ถูกดูแลไปสู่สถานะของผู้ดูแลแทน จากลูกไปสู่พ่อหรือแม่เป็นต้น นอกจากนี้ แรงกระตุ้นที่เกิดขึ้นจากนาฬิกาชีวภาพที่กระตุ้นให้เพศหญิงเริ่มพยายามมีลูกก่อนอายุ 30 ผสมกับปัจจัยผลักดันให้เกิดเพศสัมพันธ์ขึ้น ไม่ว่าจากประจำเดือนหรือฮอร์โมนที่นำไปสู่การปฏิสนธิยิ่งมีส่วนช่วยในการเพิ่มอัตราการกำเนิดให้มากยิ่งขึ้นเพื่อความสำเร็จตามกลไกการคัดเลือกตามธรรมชาติ กล่าวคืออารมณ์ทางเพศและนาฬิกาชีวภาพวิวัฒนาการขึ้นเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ [2]

อาจพูดได้ว่าการแต่งงานเพื่อให้กำเนิดบุตรแทบจะถูกลงรหัสเอาไว้ทั้งในระดับชีวภาพและระดับวัฒนธรรม ทว่าเมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไป คนธรรมดาเริ่มหันมาใส่ใจเกี่ยวกับสภาพชีวิตการเป็นอยู่ของตนเองมากกว่าสายตาคนอื่น วิธีการคิดแบบปัจเจกนิยมเริ่มกลายมาเป็นสามัญสำนึกปกติของคนทั่วไปมากกว่าการคิดแบบรวมหมู่ เราอาจจะสังเกตได้จากความสามารถที่จะอยู่ตัวคนเดียวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นมากเท่าแต่ก่อน ผนวกกับการกระจายตัวของการศึกษาทำให้มนุษย์เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น และมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคต

ทว่าการเลือกวิถีชีวิตแบบมีลูกหรือไม่มีลูกก็ยังเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัว เนื้อหาภายในปริมณฑลนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้งจากภายในและภายนอก แรงกดดันทางชีวภาพ – ความรู้สึกอยากที่จะมีคนสืบทอดสายเลือดของเราและสังคม – ถ้าไม่มีลูกจะถูกมองเป็นคนไม่เอาถ่าน ดูแลตัวเองไม่ได้ เดวิด เบอร์นาต้า นักวิชาการและนักเขียนชาวแอฟริกัน จึงเสนอว่า หากเรามองผ่านมุมมองของ ‘ชีวิต’ ที่กำลังจะเกิดมาแทน เราจะไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า การให้กำเนิดใครสักคนมาเป็นเรื่องที่ผิด ในบทความนี้จึงมีความตั้งใจจะสรุป และนำข้อโต้แย้งจากในหนังสือเรื่อง ‘Better Never to Have Been’ จากบทที่ 1 – 3 ซึ่งเป็นข้อเสนอสำคัญของ เบอร์นาต้า มาให้ทุกคนได้อ่านกัน

การหักดิบของ เดวิด เบอร์นาต้าไม่ใช่เรื่องใหม่ เราสามารถย้อนรอยวิธีการคิดแบบนี้ไปได้ไกลถึงนักปรัชญาจากศตวรรษที่ 19 อย่าง อาร์เธอร์ โชแพนฮาวเวอร์ (Arthur Schopenhauer) แนวคิดแบบต่อต้านการเกิด (Anti-Natalism) จนกระทั่งการวิวัฒนาการทางความคิดเช่นนี้เริ่มก่อร่างสร้างตัว และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 ทั้งจากหนังสือเรื่อง Neo-Nihilist สู่ความตื่นตระหนกเรื่องประชากรล้นโลกและปัญหาสิ่งแวดล้อมตามลำดับต่อมา[3] แนวคิดเรื่องการปฏิเสธโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การถูกทำให้กลายเป็นปัญหาทางจริยศาสตร์อย่างเป็นระบบและตอบโต้ข้อโต้แย้งของฝ่ายนิยมการกำเนิด (Natalism) ของเบอร์นาต้าถูกเรียบเรียงไว้อย่างน่าสนใจ ควรค่าแก่การนำเอามาพิจารณาอย่างเหมาะสม

เบอร์นาต้าเปิดบทที่หนึ่งด้วยการยืนยันอย่างตรงไปตรงมาว่า การให้กำเนิด ‘ชีวิต’ เกิดขึ้นจากการจำยอมต่อความต้องการทางเพศมากกว่าการคิดไตร่ตรอง หรือหากมีการไตร่ตรองดีแล้ว การตัดสินใจดังกล่าวก็อยู่บนฐานที่ผิด หมายความว่า หากการสร้างชีวิตใหม่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของ ‘ชีวิต’ ที่จะเกิดขึ้น นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะชีวิตที่เกิดมานั้นนอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังจะต้องเผชิญกับความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[4] เบอร์นาต้าสัญญาในบทแรกว่าเขาจะมอบเหตุผลที่ดีในการอ้างเช่นนี้ ในบทที่ 2 เขาจะพยายามเสนอว่าทำไม่การเกิดมาถึงเลวร้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยใช้หลักความอสมมาตร และบทที่ 3 ทำไมการเกิดมาถึงเป็นเรื่องเลวร้าย โดยใช้หลักทางจิตวิทยาเข้ามาช่วยตอบคำถาม

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเน้นย้ำก่อนจะอธิบายต่อว่า ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนให้เกิดการฆ่าตัวตายแต่อย่างใด การแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาและเหตุผลของความเลวร้ายในชีวิตของผู้เขียนนั้นต้องการแสดงให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของการให้กำเนิดชีวิตเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากเน้นย้ำว่า การมีอยู่ของเราไม่ได้เป็นของเราแค่คนเดียว แต่ยังมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในทุก ๆ ระนาบ การมีชีวิตอยู่ของทุกคนในปัจจุบันมีคุณค่า การตายของเราไม่ทางใดทางหนึ่งย่อมสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้อื่นอย่างแน่นอน ดังนั้น ได้โปรดอ่านข้อเสนออย่างมีวิจารณญาณ หากผู้อ่านมีอาการซึมเศร้ารุนแรง ได้โปรดปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนอ่านเนื้อหาของบทความต่อไป

ขอเปิดด้วยคำพูดที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า “ชีวิตนั้นมีทั้งเรื่องที่สุขและทุกข์ ที่ได้เกิดมามีทุกวันนี้ได้ก็นับว่าบุญแค่ไหนแล้ว” เมื่ออ่านแล้วจะพบว่า การเกิดมาเป็นเรื่องที่ดี (เป็นบุญ) เพราะเกิดมาถึงได้ลิ้มรสความสุขแบบนี้ได้ (ความตายเป็นเรื่องที่ไม่ดีก็ต่อเมื่อเกิดมามีชีวิตแล้วเท่านั้น) และชีวิตมีทั้งสุขและทุกข์เป็นปกติ (แต่ต้องเกิดมาเท่านั้นถึงจะมีความปกติแบบนี้ได้) ฉะนั้นการไม่เกิดมาจะดีกว่าการที่ได้เกิดมาบนโลกได้อย่างไร? เพราะชีวิต ต่อให้มีความทุกข์ ก็ยังมีเรื่องที่สุขไหลเวียนเปลี่ยนผ่านอยู่ตลอดเวลา การมีชีวิตคือการได้มีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านี้

จุดนี้เองที่เบอร์นาต้าชี้ให้เห็นถึงความอสมมาตรของความสุขและความทุกข์[5] ของการมีชีวิตและไม่มีชีวิต อธิบายคือ ถ้าเรามีความสุข เท่ากับว่านั่นเป็นเรื่องที่ดี เช่นเดียวกัน การมีความทุกข์ถือเป็นเรื่องที่ไม่ดี ทว่าในระนาบเดียวกันนั้น ผู้ที่ไม่มีชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องเผชิญกับความทุกข์เหล่านั้น ซึ่งนั่นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต่อให้เขาไม่มีกับความสุข ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเขาไม่ได้ถูกริบเอาความสุขออกไป กล่าวคือ พอไม่ต้องเกิดมา ก็ได้อยู่ภายในสภาวะเป็นกลางโดยสมบูรณ์[6] โดยเขาแจกแจงข้อความดังกล่าวออกมาได้:

  1. ความรู้สึกเจ็บปวดเป็นเรื่องเลวร้าย
     
  2. ความรู้สึกปีติ (ความสุข) เป็นเรื่องดี
     
  3. การไร้ความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่ดี แม้จะไม่มีใครมีประสบการณ์กับความดีดังกล่าว
     
  4. การไร้ความสุขไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่ ยกเว้นจะมีคนที่ถูกริบเอาความสุขไป[7]

เมื่อตั้งใจอ่านข้อคิดเห็นนี้ดูให้ดีจะพบปัญหาว่า เราจะยืนยันว่า การไม่มีชีวิตดีกว่าการมีชีวิตได้อย่างไร ในเมื่อผู้ที่ไม่มีชีวิตยังไม่ได้เกิดมาตั้งแต่แรก เบอร์นาต้าอธิบายว่า การเปรียบเทียบเช่นนี้เป็นไปได้จากสมมติฐาน[8]ว่าชีวิตเต็มไปด้วยความเลวร้าย เช่น แค่เริ่มต้นกระบวนการการเกิดก็เป็นภาระของเพศหญิงที่จะต้องแบกครรภ์และคลอดแล้ว กระนั้นต่อให้เราพูดว่าการคลอดเกิดขึ้นจากความเต็มใจ ก็เป็นความเต็มใจที่มาจากผู้ให้กำเนิดฝ่ายเดียว หาใช่ผู้ที่ถูกให้กำเนิดไม่ ดังนั้นความทุกข์ของการมี ‘ชีวิต’ จึงเลวร้ายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างที่เบอร์นาต้าอธิบายว่า ความหิวนั้นมาหาเราโดยธรรมชาติ ในขณะที่การกินนั้นเป็นไปเพื่อบรรเทาความทุกข์จากความหิว

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เบอร์นาต้ายกตัวอย่างอีกว่า มันเป็นปกติมากแค่ไหนที่เรามักจะหลีกเลี่ยงการให้กำเนิดลูกที่มีโอกาสจะพิการ โดยกลัวว่าเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องทนทุกขพลภาพ มากกว่ากลัวว่าถ้าเกิดไม่ให้กำเนิดเด็กคนนี้ เขาจะเสียโอกาสที่จะได้มีความสุขบนโลกมากแค่ไหน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเป็นทุกข์เช่นนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลแต่ประการใด

แน่นอน เบอร์นาต้า ไม่ได้ปฏิเสธความคิดที่ว่าเกิดมานั้นมีทั้งความสุขและความทุกข์ ทว่าในขณะเดียวกัน การที่ไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวดกลับเป็นเรื่องที่ดี (3) และการที่ไม่ได้ต้องรู้สึกปีติก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย (4) ดังนั้น การที่เราไม่พาเขามาเผชิญความเลวร้ายบนโลก ในทางจริยศาสตร์จึงดูมีน้ำหนักมากกว่า เพราะ ‘คนที่จะเกิดมา’ ไม่ได้เสียผลประโยชน์อะไร

กระนั้น ดูเหมือนการอธิบายว่าชีวิตที่มีแต่ความทุกข์อาจไม่สามารถคลายความแคลงใจของมนุษย์ลงได้ เพราะชีวิตที่เกิดมาก็ไม่ได้ทุกข์ขนาดนั้น หรือถ้าทุกข์มาก อย่างน้อยก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีเกียรติ ศักดิ์ศรี และอิ่มท้อง เป็นชีวิตที่คุ้มค่าที่ได้เกิดมา ดังนั้นการมันคงเป็นการดีที่จะให้กำเนิดอีกชีวิตเพื่อมีประสบการณ์เช่นเดียวกันนี้ ปัญหาคือ การอธิบายเช่นนี้ยังมีความคลุมเครือระหว่าง ชีวิตนี้คุ้มค่าแก่การได้เกิดมาแล้ว กับชีวิตที่จะได้เกิดมาเพื่อมีประสบการณ์เดียวกับเรา เบอร์นาต้าจำแนกไว้เป็น ชีวิตปัจจุบัน (present-life sense) และชีวิตอนาคต (future-life sense) ซึ่งเรามักจะนำประสบการณ์ที่เรามีตัดสินชีวิตอนาคตที่ยังไม่เกิดมา[9] และต่อให้ชีวิตที่มีโอกาสเกิดมานั้นจะมีโอกาสสุขสบายเพียงไหน (ไม่ว่าจะจากการคำนวณหรือศรัทธา) หากเรามองตามหลักอสมมาตรแล้ว ไม่มีทางเลยที่ชีวิตที่เกิดมาจะได้เปรียบการไม่เกิด[10]

จากภาพอสมมาตร สถานการณ์ที่ A คงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า การมีความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่แย่ แต่การมีความสุขนั้นเป็นเรื่องที่ดี ส่วนสถานการณ์ B เบอร์นาต้าอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า (3) การไร้ความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่ดี แม้จะไม่มีใครมีประสบการณ์กับความดีดังกล่าว (การไร้ความเจ็บปวด) (4) การไร้ความสุขไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่ ยกเว้นจะมีคนที่ถูกริบเอาความสุขไป ปัญหาคือ สำหรับข้อ 3 ถ้าไม่มีคนมีประสบการณ์ดีอย่าง การไร้ความเจ็บปวด ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการไม่มีชีวิตเป็นเรื่องที่ดีสิ แต่ในกรณีนี้เราสามารถเปรียบเทียบได้ว่า หากเขามีชีวิตอยู่ มันคงจะเป็นการดีกว่าถ้าเกิดเขาไม่จำเป็นต้องมาเผชิญกับความเจ็บปวดเช่นนั้น ดังนั้นต่อให้เขาไม่ได้มีอยู่จริง ๆ เราก็สามารถพูดได้ว่า การที่เขาไม่ได้เกิดมาเจอกับความเจ็บปวดย่อมเป็นเรื่องที่ดี (ตามแผนภาพ)[11]

ในขณะเดียวกัน บางฝ่ายก็คิดว่า การไร้ความสุขเป็นเรื่องที่แย่ ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ที่ต้องมีลูกเพื่อให้พวกเขามีความสุข (โดยไม่ได้คำนึงถึงความทุกข์ที่ตามมา) เบอร์นาต้ายกตัวอย่างว่า หากเรารู้ว่าเด็กที่จะเกิดมานั้นมีความเป็นไปได้ที่จะพิการ โดยปกติแล้วเมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว มันคงเป็นการดีกว่าถ้าจะเลือนหรือหาทางเลือกใหม่มากกว่าที่จะมีลูกที่มีโอกาสเกิดมาพิการ จากกรณีนี้ เรายอมรับได้ทั่วกันว่าการหลีกเลี่ยงความทุกข์จากความพิการนั้นเป็นเรื่องที่ดี ในขณะที่ถ้าเด็กคนนั้นเกิดมา ต่อให้พิการเขาก็อาจจะมีความสุขจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่นั้นไม่ใช่เรื่องที่แย่เพราะความสุขดังกล่าวยังไม่ได้ถูกลิดรอนออกไป

ยังมีข้อเสนอและข้อโต้แย้งอีกมากมายในหนังสือของเบอร์นาต้า แต่โดยสรุปแล้ว จากแผนภาพเราจะพบว่าไม่มีทางเลยที่การเกิดมาจากได้เปรียบการไม่เกิดมา หรืออย่างน้อยที่สุด การหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดของคนที่มีโอกาสเกิดมามีชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่สมควรทำที่สุดแล้ว ต่อให้เรารู้ว่า คนที่อาจจะเกิดมาจะพบความสุขที่สุด แต่เราก็ต้องอย่าลืมน้ำหนักความทุกข์ที่เขาจะต้องแบกรับ ซึ่งในขณะเดียวกัน เรามีโอกาสที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ยากแบบนั้น ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสถานการณ์ A และ B เราจะพบว่าไม่มีข้อได้เปรียบใดในสถานการณ์ A เลยที่จะทำให้เราพึงพอใจได้มากไปกว่าสถานการณ์ B

เบอร์นาต้ายกตัวอย่างการเปรียบเทียบไว้น่าสนใจ คือ ให้สถานการณ์ A มี 1. มีอาการเจ็บปวดเป็นปกติ 2. มีความสามารถที่จะหายจากอาการป่วยได้เร็ว และให้สถานการณ์ B มี 3. เขาไม่มีวันป่วยเป็นโรคเลย 4. เขาไม่มีความสามารถที่จะหายจากอาการป่วยได้เร็ว จากสถานการณ์ตัวอย่างนี้จะพบว่า สถานการณ์ A นั้น ต่อให้เขาป่วย เขาก็จะหายเร็วได้ก็จริง แต่ B ที่ไม่มีวันป่วยเลยจาก 3. ต่อให้เขาไม่มีความสามารถที่จะรักษาอาการป่วยได้เร็วเหมือน A ก็ไม่ได้เลวร้ายแต่อย่างใด ทำให้ต่อให้สถานการณ์ A จะมีข้อได้เปรียบสถานการณ์ B เพราะสามารถหายจากอาการป่วยได้เร็ว แต่สถานการณ์ B ก็ไม่ได้เสียเปรียบสถานการณ์ A เพราะเขาไม่มีวันป่วย กลับกันสถานการณ์ B ยังจะดีกว่าเสียด้วยซ้ำเพราะไม่จำเป็นต้องมาเผชิญกับอาการป่วยแบบสถานการณ์ A[12]

กลับไปพิจารณาสถานการณ์เดิมที่เราเริ่มต้น “ชีวิตนั้นมีทั้งเรื่องที่สุขและทุกข์ ที่ได้เกิดมามีทุกวันนี้ได้ก็นับว่าบุญแค่ไหนแล้ว” คิดว่าเมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจโดยสังเขปแล้วว่า การเกิดมานอกจากจะไม่ได้เป็นบุญแล้ว ยังฟังดูเป็นบาปมากกว่า ไม่พอ นอกจากข้อพิสูจน์ที่ว่าการเกิดมานั้นไม่มีข้อได้เปรียบเลยต่อการไม่ได้เกิดมา ต่อให้เราบอกว่าชีวิตนั้นอย่างน้อยก็ยังมีความสุขไหลผ่านมาบ้างก็ไม่อาจชดเชยความเลวร้ายของการเกิดมาได้

ไม่ว่าใครก็อยากให้คนที่เกิดมามีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้พวกเขาไปถึงความสำเร็จนั้นก็สูง ข้อเท็จจริงนี้ยากที่จะปฏิเสธ หลายครั้งเรามองโลกในแง่ดีว่า เด็กที่เกิดมานั้นจะได้รับความรักและความสุขมากพอที่จะทำให้ความเจ็บปวดทั้งหลายเบาบางลงไป (แม้จะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ทำไมเป้าหมายของเราถึงได้กลายเป็นเป้าหมายของคนที่ยังไม่ทันจะได้มีตัวตนบนโลกไปได้) ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถัดไปนี้ ทำให้เรามักจะละเลยความเจ็บปวดแสนสาหัสของการมีชีวิตไป และทำให้ขั้นตอนของการตัดสินใจให้กำเนิดดำเนินได้ง่ายขึ้น ปรากฏการณ์เช่นนี้มีชื่อว่า Pollyanna Principle[13] ซึ่งเกิดขึ้นในระดับของจิตวิทยาเพื่อให้มนุษย์สามารถรองรับความเจ็บปวดได้โดยไม่คิดการุณยฆาตตนเองและสามารถสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป[14] เรามักจินตนาการชีวิตไว้ดีกว่าความเป็นจริง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเชื่อว่าอนาคตจะต้องดีกว่าปัจจุบันเสมอ แม้จะไม่มีเหตุผลอันดีมากพอจะรองรับชุดความเชื่อนั้นก็ตาม

เพราะปรากฏการณ์ Pollyanna Principle นี้เองทำให้เรามักประเมินชีวิตดีกว่าความเป็นจริงด้วยการดึงเอาชุดประสบการณ์ดี ๆ กลับมามากกว่าชุดประสบการณ์แย่ ๆ การปรับตัวหลังจากเผชิญเรื่องเลวร้ายทำให้ต่อมาเราไม่ได้รู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เจอมาเลวร้ายขนาดนั้น และการเปรียบเทียบกับคนอื่น ชีวิตเรามักจะได้รับการบรรเทาหลังจากที่ได้เห็นคนอื่นเผชิญชะตากรรมเดียวกัน การคำนึงถึงชีวิตตามมาตรฐานของแต่ละคนเองก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เรามักมองข้ามความจริงที่ว่า ชีวิตไม่ได้ดีขนาดนั้น โดยเราสามารถจำแนกผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ออกมาได้สามข้อ:

 1. แนวโน้มที่จะมองโลกในแง่ดีกว่าที่เป็นโดยการทบทวนผ่านชุดประสบการณ์ดี ๆ ในชีวิต ซึ่งนำไปสู่การประเมินอดีต ปัจจุบัน และอนาคตดีเกินกว่าความเป็นจริง

 2. การปรับตัวที่ทำให้เราเคยชินกับความเลวร้ายที่เกิดขึ้นโดยการลดความคาดหวังลงให้เท่ากับสภาพของชีวิต ณ เวลานั้น

 3. เปรียบเทียบกับคนอื่น โดยเฉพาะกับคนที่มีชีวิตเลวร้ายกว่าเรา

 จากนี้ เราจะใช้ปรากฏการณ์นี้เข้ามาตอบคำถามว่า ทำไมเราถึงประเมินชีวิตของตนเองดีกว่าความเป็นจริงเสมอโดยไม่ว่าเราจะมองว่าชีวิตที่ดีคืออะไรก็ตาม[15]

 จากสารานุกรมแสตนฟอร์ด มาตรฐานของชีวิตที่ดีนั้นถูกใช้เป็นเครื่องประเมินระดับคุณภาพชีวิตของปัจเจกบุคคล อะไรทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งเรียกได้ว่าดี ซึ่งก็มีการแบ่งออกได้เป็น 3 ทฤษฎีใหญ่ ๆ คือ 1. ทฤษฎีสุขนิยม (Hedonism Theory) 2. ทฤษฎีความปรารถนา (Desire Theory) 3. ทฤษฎีภาวะวิสัย (Objective List Theory)[16]

 กล่าวโดยคร่าวคือ เหล่าผู้นิยมทฤษฎีสุขนิยมวางมาตรฐานชีวิตที่ดีไว้ที่สมดุลของความสุขและความทุกข์ ยิ่งมีความสุขมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีกว่าการมีความทุกข์มากเท่านั้น แต่นอกจากซ้ายสุดกับขวาสุดของปรอทวัดความสุขและทุกข์แล้ว ก็ยังมีตรงกลางอีกคือ สภาวะเป็นกลาง ไม่ได้รู้สึกยินดียินร้ายอะไร รูปแบบของทฤษฎีสุขนิยมที่ง่ายที่สุด (simplest form) ที่พอจะช่วยให้เราพอจินตนาการภาพตามได้ง่ายมากขึ้นคือ ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์ โดยวัดจากความเข้มข้นและระยะเวลาของความสุขและทุกข์

 ฝ่ายผู้นิยมทฤษฎีความปรารถนา คือ ผู้ที่ฝักใฝ่ในความสำเร็จ ความสุขสูงสุดไม่ได้อยู่ที่สภาพจิตใจ แต่เป็นความหอมหวานหลังจากที่ได้รับสิ่งที่ตนปรารถนาแล้วต่างหาก ซึ่งสายนี้จะแตกต่างจากสายสุขนิยมตรงที่พวกเขาไม่ได้สนใจว่าสภาวะความสุขจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าความปรารถนาของพวกเขาได้รับการเติมเต็มหรือยัง 

 สุดท้าย ทฤษฎีภาวะวิสัย คือทฤษฎีที่ระบุสิ่งที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นเอาไว้ ซึ่งสามารถมีได้ทั้งทฤษฎีสุขนิยมและทฤษฎีความปรารถนา ผู้ที่ถือทฤษฎีนี้เชื่อว่า มันมีรายการชุดความสุขและความทุกข์ไว้โดยไม่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล โดยถ้าสิ่งที่ทำนั้นดี และทำให้มีชีวิตมีคุณค่า สิ่งนั้นย่อมสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้กับทุกคน เช่น มิตรภาพเป็นสิ่งที่ดี เป็นต้น หมายความว่าการสร้างรายการชีวิตที่ดีขึ้นมาย่อมมาจากการเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (คงไม่มีรายการความดีไหนบอกว่ามนุษย์ที่มีปีกถือเป็นชีวิตที่ดี เพราะนั่นอยู่เกินกว่ามาตรฐานของมนุษย์ ทำให้ไม่สามารถวัดระดับได้จริงว่า มันเป็นชีวิตที่ดีจริงหรือเปล่า)

 ภายในหนังสือ เบอร์นาต้าจะมอบคำอธิบายไว้สำหรับแต่ละทฤษฎี ไม่ว่าคุณจะเลือกปรับทฤษฎีไหนมาเพื่อใช้ชี้นำชีวิตของคุณก็ตาม ความเลวร้ายของการเกิดมานั้นก็ยังคงเท่าเดิม ผู้เขียนจะพยายามสรุปวิธีการปฏิเสธเอาไว้เป็นส่วน ๆ

จากปรากฏการณ์ Pollyanna Principle ที่ได้อธิบายไปก่อนหน้า ทำให้เรามีแนวโน้มจะมองโลกในแง่ดีเกินไป และเมินเฉยต่อความทุกข์เล็กน้อยในแต่ละวัน อย่างไรก็ดี ความหอมหวานของความสุขที่ได้จากการทำบางสิ่งบางอย่างนั้นมีสารตั้งต้นมาจากความทุกข์ที่มีมาแต่แรก ทว่าถ้าจะให้จำแนกความสุข (ความปีติ) ก็สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท 1. ความสุขที่ได้จากการบรรเทาลงของความทุกข์ 2. ความสุขตามธรรมชาติ (intrinsically state) อย่างรสชาติอาหาร ศิลปะ เป็นต้น

ทว่าเมื่อเรามองไปที่สายธารของความสุขแล้วสืบย้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ จนพบกับต้นน้ำ เราจะพบว่า ความสุขแท้จริงแล้วนั้นมาจากความทุกข์ทั้งสิ้น แต่เพราะปรากฏการณ์ Pollyanna Principle ทำให้ความทุกข์เหล่านั้นเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กน้อย อาทิ ความหิว ความเมื่อยล้า เป็นต้น ซึ่งการบรรเทาจากอาการเหล่านี้ก็ทำให้วันของเราดีขึ้น อาหารอร่อยทำให้เรามีพลังในการทำงาน ทว่าสมมติเราสามารถอิ่มตลอดเวลา ความจำเป็นสำหรับการกระตุ้นรสสัมผัสก็อาจไม่จำเป็น ตัวอย่างจากการ์ตูนเรื่อง สูตรลับตํารับดันเจี้ยน มีตอนหนึ่งที่พระเอกถูกพาไปยังเมืองที่ผู้คนไม่มีวันหิวและใช้ชีวิตก็ที่ไม่ต้องขวนขวาย แม้จะแลดูมีความสุขในสายตาพระเอกและพวกเรา แต่ความเบื่อหน่ายนั้นก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความทุกข์เช่นกัน เบอร์นาต้าจึงถามว่า เมื่อไหร่กันในชีวิตที่เราจะรู้สึก ‘พอดี’  

 เช่นกันสำหรับฝ่ายที่นิยมทฤษฎีความปรารถนา แม้พวกเขาจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสุขมากเท่าฝ่ายสุขนิยม แต่การเกิดมาเพื่อได้ทำตามเป้าหมายบางอย่างนั้นก็เหมือนกับการเล่นพนัน เมื่อเราทำตามเป้าหมายหนึ่งได้เสร็จอีกเป้าหมายก็จะผุดขึ้นมาให้เราวิ่งไล่ต่ออย่างไม่มีวันจบ (Treadmill of desires) โดยไม่รู้เลยว่าเราจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ แต่ความทุกข์ที่ได้จากการวิ่งไล่ตามเป้าหมายนั้นแน่นอนและหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เป็นความจริงที่มีคนบางพวกชื่นชอบช่วงเวลาที่ได้วิ่งไล่ตามเป้าหมาย ทว่าพวกเขามีเป้าหมายไว้เพื่อให้แค่วิ่งไล่อย่างเดียว หรือมีเป้าหมายเพื่อให้ได้คว้ามันมาด้วย? ลองจินตนาการถึงแมวที่วิ่งไล่จับแสงเลเซอร์ พวกมันคงมีความสุขแน่นอนที่ได้วิ่งไล่จับเจ้าแสงจิ๋วแสนโฉบเฉี่ยว แต่ไม่ว่าวิ่งไล่ตามเท่าไหร่ก็จับไม่ได้เสียที ถ้ามันมีความสุขที่ได้แค่วิ่งไล่ก็คงจะดี แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้ามันได้แสงนั้นมาเคี้ยวเล่นในปากไปด้วย การวิ่งไล่ด้วยความเหน็ดเหนื่อยที่ผ่านมาคงจะหอมหวานกว่าความล้มเหลวไม่ใช่น้อย แต่ความล้มเหลวนั้นมาเป็นปกติ ไม่มีใครบนโลกที่ประสบความสำเร็จตลอดในชีวิต และทุกคนก็มีชีวิตนานพอที่จะมีความปรารถนาที่สอง สาม สี่ ตามมาเรื่อยไปไม่หยุด สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความแปลกในชีวิตประจำวัน ซ้ำร้ายปรากฏการณ์ Pollyanna Principle กลับช่วยทำให้เรามองเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ ถ้าเราล้มเหลว เราก็จะปรับตัว ถ้าเราประสบความสำเร็จ เราก็จะยึดชุดประสบการณ์นั้น และมุ่งเดินต่อไปต่อให้มันเหนื่อยและหนักหนามากก็ตาม เบอร์นาต้าฉุดเราให้ตระหนักว่า การขวนขวายในชีวิตนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับคนที่ยังไม่เกิดมา เขาไม่มีความปรารถนาเหล่านี้ เราควรจะพาพวกเขามาบนโลกเพื่อวิ่งไล่ตามความปรารถนาอันไร้จุดสิ้นสุดนี้เหมือนแมววิ่งไล่จับเลเซอร์หรือไม่?

สุดท้าย ฝ่ายที่เชื่อในทฤษฎีภาวะวิสัย สิ่งที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคล เราจึงต้องเปรียบเทียบว่าชีวิตที่ดีคืออะไรจากมนุษย์ด้วยกันมากกว่าสิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิ ปัญหาคือ จากปรากฏการณ์ Pollyanna Principle เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่ามาตรฐานของเรานั้นไม่คงเส้นคงวา แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลิมิตจริง ๆ อยู่ตรงไหน? ตัวอย่างของเบอร์นาต้าคือ อะไรทำให้เราคิดว่าการมีอายุยืนถึงอายุ 80 ปี เป็นเรื่องที่ดี ถ้าในความเป็นจริงแล้วการมีอายุยืนถึง 240 ปี น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้วการคำนึงในเรื่องที่ดีนั้นก็มีบรรทัดฐานอยู่บนสิ่งที่มนุษย์สามารถไขว่คว้าเอาไว้ได้ การคิดไปเกินกว่านั้นย่อมเป็นเรื่องไร้สาระ แต่อะไรทำให้เราคิดว่าชีวิตที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่สามารถไขว่คว้าได้แต่แรก? สมมติในทฤษฎีภาวะวิสัย การมีชีวิตที่ดีคือการไม่มีเลยซึ่งความทุกข์ทรมานในชาตินี้ เช่นนั้นแล้วอะไรคือเหตุผลให้เกิดมาเพื่อที่จะไม่มีวันมีชีวิตที่ดีเลย?

หรือ ความรู้คือสิ่งที่ดี การใฝ่หาความรู้เป็นเรื่องที่ดี ทว่านั่นเองก็เป็นปัญหาทางปรัชญาเหมือนกันว่า ความรู้นั้นมีจริงหรือไม่? แต่สิ่งที่เรารู้ได้อย่างแน่นอนคือ กระบวนการระหว่างนั้นจะต้องเต็มไปด้วยความยากเข็ญ ต่อให้เราบอกว่ามันเป็นกิจกรรมแห่งมนุษยชาติ แต่ทว่าในมุมมองของจักรวาล การดิ้นรนเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่เบอร์นาต้าเสนอว่า ชีวิตนั้นเลวร้ายกว่าที่เราคิดสามารถมองได้ผ่านมุมมองทางจิตวิทยากับทฤษฎีที่พวกเขาใช้กำหนดคุณค่าของตนเอง ถ้าเรามองถึงความโชคร้ายที่เกิดขึ้นในโลกแห่งนี้อย่างปราศจากอคติ คำถามที่ตามมาอย่างมีนัยสำคัญคือ หากเราใส่ใจชีวิตของคนที่จะเกิดมาเพื่อเผชิญชะตากรรมเหล่านี้จริง ๆ เราควรจะให้พวกเขาเกิดมาจริง ๆ หรือไม่? ไม่มีใครที่มีอภิสิทธิ์มากพอจะรอดพ้นจากความจริงนี้ได้ หรืออย่างน้อย พวกเขาก็กำลังปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า เราต่างสามารถใช้พลังแห่งจิตวิทยาเพื่อมองข้ามความโหดร้ายของการมีชีวิตไป การเกิดมานั้นก็เหมือนการเล่นรัสเซียนรูเล็ตที่มีกระสุนบรรจุอยู่เต็มรังเพลิง แต่หัวที่ปากกระบอกปืนจ่ออยู่นั้นไม่ใช่หัวของพวกเรา แต่เป็นหัวของคนที่กำลังจะเกิดมาในโลกแห่งนี้ต่างหาก[17]

สุดท้ายนี้ นี่เป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่จะเขียน โดยเฉพาะในตอนนี้ที่ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยอยู่ที่ 6.7 คน ต่อประชากร 1000 คน และอัตราการตายอยู่ที่ 9.1 ต่อประชากร 1000 คน[18] ซึ่งนับเป็นจำนวนที่น้อยมากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิต นี่เป็นปัญหาระดับโลก และผู้คนดูเหมือนจะตื่นตัวเรื่องนี้กับพอสมควร ไม่ว่าจะเนื่องด้วยจากปัญหาทางเศรษฐกิจหรือสังคม ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเท็จจริงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถที่จะมองสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นของมนุษย์ ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าเสียอีกที่เราสามารถยับยั้งชั่งใจโดยเห็นแก่ประโยชน์ของคนที่จะเกิดมามากกว่า แต่ถ้าหากสนใจ เบอร์นาต้าได้เขียนถึงเรื่องการสูญพันธุ์เอาไว้ในบทที่ 6 ซึ่งเนื้อหาจะเกี่ยวกับระดับของประชากรในโลก 

แต่ถ้าเราเกิดขึ้นมาบนโลกแล้วละ? สมมติชีวิตมันโหดร้ายจนเกินเยียวยา? เบอร์นาต้าเสนอให้เราจบชีวิตตนเองเลยหรือเปล่า? คำตอบคือ ไม่ แม้เขาจะโอนอ่อน เพราะบางครั้งการจบชีวิตลงก็อาจจะสบายกว่าการมีชีวิตอยู่จริงในบางกรณี แต่มันมีเหตุผลของมันอยู่ว่าทำไมมาตรวัดระดับความอยากจบชีวิตของตนเองลงนั้นถึงได้สูงกว่ามาตรวัดการเลือกที่จะมีลูกทั้ง ๆ ที่ความเลวร้ายของการมีชีวิตนั้นพอ ๆ กัน เพราะชีวิตของมนุษย์นะมีความลึกซึ้ง การมีอยู่ของเรานั้นพิเศษไม่เหมือนใคร และมีความผูกพันกับสิ่งรอบตัว ทำให้การจากไปของเราอาจสร้างความทุกข์ที่ไม่อาจรักษาให้ใครหลายคน จริงอยู่ว่าการมีชีวิตนั้นเลวร้าย ทว่าการจบชีวิตลงอาจยิ่งทวีความเลวร้ายนั้นขึ้นไปมากกว่าเดิมอีก[19] โดยสรุปคือ ต่อให้เราเห็นด้วยการแนวคิดต่อต้านการเกิดและมองโลกในแง่ร้าย (Pessimistic) แต่ก็ไม่หมายความว่าเราจำเป็นต้องขจัดสิ่งที่ดีในชีวิตที่เรามีอยู่ออกไปจนหมด ไม่ว่าเราจะยึดถือหลัก Well-being อันไหนที่ได้อธิบายไป เราทุกคนเกิดมาอยู่ในกับดักที่เรียกว่าชีวิต เราสามารถเรียนรู้ข้อเท็จจริงนี้ไปพร้อมกับตามหาความสุขที่ตนเลือกได้

ข้อมูลทั้งหมดเป็นเพียงเนื้อหาเล็กน้อยจากบทที่ 1-3 ของหนังสือเรื่อง ‘Better Never to Have Been’ ยังมีเนื้อหาและข้อโต้แย้งอีกมากมายในหนังสือที่ผู้เขียนไม่อาจนำเสนอได้หมด และบางครั้งก็ต้องมีการข้ามไปเพื่อความกระชับในการเขียน

 

บรรณานุกรม

T’UNG-TSU CH’Ü, LAW AND SOCIETY IN TRADITIONAL CHINA, The Commercial Press, 2011

Mark Elgar, Maternal instinct and biology: evolution ensures we want sex, not babies, เข้าถึงที่: https://findanexpert.unimelb.edu.au/news/4356-maternal-instinct-and-biology--evolution-ensures-we-want-sex--not-babies, เข้าถึงวันที่ 30/06/2567

David Benatar, Better Never to Have Been, 2006, Oxford University Press

Masahiro Morioka, What is Antinatalism?: Definition, History, and Categories, The Review of Life Student Vol.12 May 2021

Stanford Encyclopedia of Philosophy, Well-Being, เข้าถึงที่: Well-Being (Stanford Encyclopedia of Philosophy), เข้าถึงวันที่ 25/05/2024

สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล, ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2567, ปี 2567

              

 อ้างอิง

[1] T’UNG-TSU CH’Ü, P. 116

[2] Mark Elgar, Maternal instinct and biology: evolution ensures we want sex, not babies, เข้าถึงที่: https://findanexpert.unimelb.edu.au/news/4356-maternal-instinct-and-biology--evolution-ensures-we-want-sex--not-babies, เข้าถึงวันที่ 30/06/2567

[3] Masahiro Morioka, What is Antinatalism?: Definition, History, and Categories, May 2021

[4] David Benatar, P. 1-3

[5]ความสุขและความทุกข์ในนิยามนี้ถูกแยกออกเพื่อให้เห็นถึงคุณลักษณ์สองอย่างที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนเท่านั้น ความสุขไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงคุณภาพชีวิต ความสำเร็จ ฯลฯ เช่นเดียวกับความทุกข์ที่ครอบคลุมไว้อย่างกว้างขวางกว่าแค่เรื่องที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีเพียงอย่างเดียว อาทิ ความหิว ความหงุดหงิดงุ่นง่าน ความไม่ประสบความสำเร็จ ทุพพลภาพ ฯลฯ

[6] Ibid, 14

[7] 1.The presence of pain is bad. 2.The presence of pleasure is good. 3.The absence of pain is good, even if that good is not enjoyed by anyone. 4. The absence of pleasure is not bad unless there is somebody for whom this absence is a deprivation

[8]สมมติฐาน – กล่าวเช่นนี้อาจเป็นการลดความน่าเชื่อถือของข้อโต้แย้งลง แต่เบอร์นาต้าได้อธิบายเพื่อป้องกันการอ้างเช่นนี้ไว้แล้วในหน้าที่ 19 – 20 เรื่องปัญหาเรื่องการไร้ตัวตน (Non-identity problem) ที่ผู้เขียนไม่ได้เอามาชี้แจ้งไว้ในบทความนี้

[9] Ibid, 23

[10]เรารับรู้ได้โดยสัญชาตญาณว่า มีลูกเท่าไหร่ควรพอที่จะไม่ทำให้เกิดความทุกข์จากการขาดปัจจัยสำคัญสำหรับดำรงชีวิต ซึ่งเป็นหลักฐานอันดีว่าต่อให้เรามีเหตุผลทางศีลธรรมมากมายแค่ไหน ราคาของการที่เกิดมานั้นมากเสมอ (ไม่ว่าจะอะไรก็ตามแต่) P.34

[11] Ibid, 30-31

[12] Ibid, 40

[13] Ibid, 64

[14] Ibid, 69

[15] Ibid, 70

[16] Stanford Encyclopedia of Philosophy, Well-Being, เข้าถึงที่: Well-Being (Stanford Encyclopedia of Philosophy), เข้าถึงวันที่ 25/05/2024

[17] David, Op. cit. P. 87-92

[18]สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2567

[19] Ibid, 212-220

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net