Skip to main content
sharethis

'อธิบดีประมง' ระบุปี 2560 พบ 'ปลาหมอคางดำ' บ่อบริษัทดัง - ‘ธรรมนัส‘ ถกสมาคมประมง 16 จังหวัดแก้ปลาหมอคางดำ กังวลคนหัวใสเพาะขาย


แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

22 ก.ค. 2567 ไทยรัฐออนไลน์  รายงานว่าจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน พร้อมหาต้นตอของการระบาด โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงกรณีการขออนุญาตนำเข้า เพื่อนำมาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ ปลาหมอคางดำของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ตั้งแต่ปี 2549 ว่ากระทั่ง เดือน ธ.ค. 2553 จึงสามารถนำปลาหมอคางดำ เข้ามาได้ผ่านด่านตรวจประมงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นแจ้งว่างานวิจัยไม่ประสบความสำเร็จจึงกำจัด ทำลายซากปลาทั้งหมดในเดือนมกราคม 2554 ต่อมา เริ่มพบการระบาดของปลาหมอคางดำในปี 2555 แล้วขยายวงกว้างขึ้นจนรุนแรงอย่างยิ่งในขณะนี้

อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า แม้ส่วนตัวจะเป็นอธิบดี มาได้แค่ 4 เดือน แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่าในปี 2560 เจ้าหน้าที่กรมประมงขอเข้าตรวจสอบที่บ่อเพาะเลี้ยงของซีพีเอฟที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อตรวจหาสาเหตุเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีการทอดแห ในบ่อเพาะเลี้ยง พบว่า มีปลาหมอคางดำในบ่อ จึงได้ เก็บตัวอย่างจากครีบและชิ้นเนื้อ มารักษาไว้ที่ห้อง เก็บตัวอย่างของกรมประมง ทั้งนี้ กรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ รุกรานระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทย และสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง ตามคำสั่งของที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการ แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ให้ทราบข้อเท็จจริง ภายใน 7 วันทำการ แล้วรายงานต่อร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ลงนามในประกาศกรมประมง เรื่องประชาสัมพันธ์ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ที่ระบุว่า ด้วยปัจจุบันประเทศไทยประสบ ปัญหาการรุกรานของปลาหมอคางดำ ชื่อสามัญ Blackchintilapia ชื่อวิทยาศาสตร์ Sorotherodon melonotheron ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทำให้เจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง ซึ่งกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยง ในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอ คางดำ หากผู้ใดฝ่าฝืนทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประกอบกับขณะนี้กรมประมงอยู่ระหว่างดำเนินการควบคุมกำจัดไม่ให้ปลาชนิดนี้ แพร่ขยายพันธุ์และเป็นการลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และลดการสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง จึงขอประชาสัมพันธ์ห้ามมิให้เพาะเลี้ยงและนำปลาหมอคางดำไปปล่อยในแหล่งน้ำอย่างเด็ดขาด หากพบเหตุดังกล่าวให้แจ้ง สำนักงานประมงจังหวัด หรือสำนักงานประมงอำเภอในเขตท้องที่ทุกแห่ง และหากพบเห็นปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ขอความร่วมมือให้กำจัดออกจากแหล่งน้ำนั้นด้วย จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

ต่อมานายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมถึงกระแสสังคมจากที่เป็นประเด็นในสื่อ ต่างๆว่า กรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ใช้ในการวิจัยจากบริษัทดังกล่าวที่ฟาร์ม 50 ตัวอย่าง และต้องการให้กรมประมงนำตัวอย่างดังกล่าวมาตรวจสอบว่ามี DNA ตรงกับปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ กรมฯขอย้ำประโยคเดิม จากการดำเนินการตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการรับมอบตัวอย่างในสมุดลงทะเบียนรับตัวอย่าง และฐานข้อมูลในระบบ ตั้งแต่ที่มีการนำเข้าจนถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่าง และขวดตัวอย่างดังกล่าวแต่อย่างใด

อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า กรมฯ ได้เร่งทำ ตามนโยบายของ รมว.เกษตรฯ ทั้ง 5 มาตรการรับมือ โดยเฉพาะการตั้งโต๊ะรับซื้อ คาดว่าจะทำได้ในสัปดาห์นี้ ตามแพปลาของกรมประมง และจะเร่งดำเนินการ ตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาต้นตอ และหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ส่วนความรับผิดชอบของบริษัทผู้นำเข้านั้น อยากให้สังคมพิจารณา เพราะทางกฎหมายคงไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ โดยซากปลาที่บริษัทอ้างว่าได้ฝังกลบไปแล้วนั้น ปัจจุบันยังได้สร้างตึกทับไปแล้ว คงไม่สามารถตรวจสอบ ซากได้ และแม้จะขุดขึ้นมาก็คงไม่พบเพราะอาจย่อยสลายไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำความผิดให้มากกว่ากฎหมายฉบับปัจจุบัน

ส่วนที่ จ.จันทบุรี วันเดียวกัน น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี นายมานะ ชนะสิทธิ์ นายกสมาคมพัฒนาการเมืองไทย และนายนิวัติ ธัญชาติ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอ คางดำระดับชาติ ตัวแทนจังหวัดจันทบุรี ติดตามการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่บ้านหมูดุด หมู่ที่ 4 ตำบลคลองขุด อ.ท่าใหม่ โดยมีนายกิมเหล็ง คุมคณะ และนายจตุพร คุมคณะ สองพ่อลูกเจ้าของ บ่อเลี้ยงกุ้งและปลากะพง ในเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ครึ่ง จำนวน 2 บ่อ ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาด ของปลาหมอคางดำ กินลูกกุ้งขนาดเล็กที่ปล่อยลงไป จนหมด จนต้องเลิกเลี้ยงกุ้ง เปลี่ยนมาเลี้ยงปลากะพง แต่ยังพบปัญหาเดียวกันคือ เมื่อปล่อยลูกพันธุ์ปลา ขนาดเล็กลงไป จะเจอปลาหมอคางดำกินไปจนหมด

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงแหจับปลาหมอคางดำ 6 รอบ ได้ปลาหมอคางดำมา 10 กว่ากิโลกรัม และพบว่าการลงแหจับแต่ละครั้ง 99 เปอร์เซ็นต์ของปลาที่ติดแหมา พบแต่ปลาหมอคางดำ น้ำหนักปลาจะอยู่ที่ 1 ขีดต่อ 1 ตัว หรือ 10-12 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ติดปลาชนิดอื่นเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น โดยปลาหมอคางดำที่พบส่วนใหญ่เป็นวัยเจริญพันธุ์ทั้งสิ้น โดยปลาหมอคางดำกว่า 10 กิโลกรัม มีคนมารับซื้อทั้งหมดในราคา กก.ละ 20 บาท ขณะที่ นายนิวัติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้ จ.จันทบุรี มีการระบาดของปลาหมอคางดำ ในพื้นที่ ต.ช้างข้าม ต.กระแจะ ต.สนามไชย อ.นายายอาม และในอ่าว คุ้งกระเบน ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง อ.ท่าใหม่ กับ อ.นายายอาม ไปถึงปากน้ำวังโตนด ปากน้ำแขมหนู ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 4 ตำบล

‘ธรรมนัส‘ ถกสมาคมประมง 16 จังหวัดแก้ปลาหมอคางดำ

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าวันนี้ (22 ก.ค.) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรสหกรณ์ และนายอรรถกร ศิริลัทยากร รัฐมนตรีช่วยการเกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมการประมง 16 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ณ สมาคมการประมงสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นวาระแห่งชาติที่ปล่อยให้มีสิ่งทำลายสัตว์น้ำ ทำให้เกิดปัญหากับพี่น้องชาวประมง รัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงเกษตรฯ โดยเรื่องของการปราบและการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำไม่ใช่เพิ่งเริ่มทำ แต่เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีใหม่ ๆ แต่มาตรการอาจจะไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ด้วยหลายปัจจัย จึงต้องทำให้ความสำคัญ เพราะปลาหมอคางดำแพร่ระบาดไว เป็นปลาที่มีความอดทนสูง อยู่ได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำ กร่อย น้ำจืด และโคลน ซึ่งถือเป็นเรื่องวิกฤต

ขอขอบคุณภาคการเมืองที่ได้หารือในสภาผู้แทนราษฎร โดยได้จึงได้มอบหมายให้นายอรรถกร เป็นประธานในการแก้ไขปัญหา เพราะถึงเวลาที่ต้องจับมือกันในการแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง พร้อมกับขอบคุณการยางแห่งประเทศไทย ที่จะรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท โดยให้กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดินร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เมื่อถามว่าจะซื้อไปถึงไหนถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ขณะนี้เราประกาศจับตายปลาหมอคางดำ ซึ่งบุคคลหัวใส ซื้อปลาหมอในราคาที่ถูกเพื่อนำมาขายต่อ ขออย่าทำแบบนั้นเด็ดขาด โดยเบื้องต้นมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประชุมกับผู้บริหารภายในกรมประมง ห้ามให้พี่น้องประชาชนเพาะเพื่อขายแล้ว อย่างไรก็ตามในช่วงเย็นวันนี้ จะจัดประชุมหารือร่วมกับเชฟชุมพล แจ้งไพร ทำปลาหมอคางดำเป็นเมนูอาหารแปรรูปเป็นปลาร้า เป็นซอฟพาวเวอร์ของคนอีสาน เพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 15 บาทเป็นเงินหมื่นล้าน

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึง 5 มาตรการในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ จะได้ผลหรือไม่นั้น ทุกอย่างต้องหาทางออกร่วมกัน พร้อมกับระมัดระวังถึงผลกระทบ เช่น การเกิดสายพันธุ์เอเลี่ยนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ได้ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางที่มาที่ไปของการแพร่ระบาด โดยเมื่อได้ข้อสรุปจะมีการนำเสนอต่อไป เพราะเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ที่จะถูกฟ้องร้องได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net