Skip to main content
sharethis

เผยอธิบดีกรมประมงทำหนังสือไปยังกานา ขอตัวอย่าง DNA ปลาหมอคางดำ เพื่อนำมาเทียบเคียงกับพันธุกรรมที่ระบาดใน 17 จังหวัด - กมธ.อว. เตรียมเชิญอธิบดีกรมประมง และ 11 บริษัท แจงที่มาปลาหมอคางดำนำไปส่งออก


แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

3 ส.ค. 2567 Thai PBS รายงานว่านายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือไปยังประเทศกานา เพื่อขอชิ้นเนื้อหรือตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) ของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นต้นทางที่ภาคเอกชนขออนุญาตนำเข้ามาวิจัยในประเทศไทยในปี 2553

ทั้งนี้ จะนำตัวอย่างมาให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสายพันธุกรรม เทียบเคียงกับปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายใน 17 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด ชลบุรี และนนทบุรี

นายบัญชา ยืนยันว่า กรมประมงไม่หยุดดำเนินการในอำนาจหน้าที่ที่จะตรวจสอบหาสาเหตุของการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่รุกรานระบบนิเวศและสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรไทย

ส่วนผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ดำเนินการภายใน 7 วัน ล่าสุดได้ส่งถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่เช้าวานนี้ (2 ส.ค.) เพื่อรายงานต่อ ร.อ.ธรรมนัส และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์

นายบัญชา กล่าวว่า การที่สภาทนายความเตรียมฟ้องกรมประมง และบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคำ ยืนยันว่าจะทำทุกอย่างตามอำนาจหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา กอบกู้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับมาจากปลาหมอคางดำให้ได้

ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องนี้กับนายอรรถกร ซึ่งแจ้งว่าขอไม่ให้สัมภาษณ์ แต่วันนี้นายอรรถกรจะลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำจากเกษตรกรและชาวประมง ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนเชิงสังคม วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รายได้ของประมง ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ตั้งแต่ปี 2551-2561 มีมูลค่าสูงถึงปีละ 131 ล้านบาท หากภาครัฐปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต่อไป เกษตรกรและชาวประมงท้องถิ่นจะสูญเสียรายได้ ยังไม่ครอบคลุมความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม

กมธ.อว. เตรียมเชิญอธิบดีกรมประมง และ 11 บริษัท แจงที่มาปลาหมอคางดำนำไปส่งออก

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 ว่านายฐากร ตัณฑสิทธิ์  ประธานกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.อว.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ พิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ว่า ได้เชิญ กรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือปัญหาข้อกฎหมาย ในเรื่องที่กรมประมงได้ทำหนังสือหารือไป ซึ่งแจ้งว่าได้ตอบหนังสือลงวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ว่า ตามแนวทางปฏิบัติสามารถใช้เงินเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้ โดยจะตอบเป็นหนังสือถึงกรมประมงอย่างเป็นทางการ ว่าสามารถใช้หลักเกณฑ์การใช้จ่สยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ 2563 ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เชิญ ตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เข้าชี้แจง โดยนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ และคณะ ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการทดลองนำเข้าปลาหมอคางดำ เป็นลูกปลาขนาดเล็กจำนวน 2,000 ตัว เข้ามา ในไทย จากประเทศกานา และเมื่อมาถึงสนามบินพบว่าตายไป 1,400 ตัว เหลือ 600 ตัว นำไปอยู่ในบ่อพักเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นบ่อปูนที่ก่อสร้างไว้ และลูกปลาทยอยตายไปเรื่อย ๆ จนเหลือ 50 ตัว และได้นำส่งกรมประมงทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว โดยที่ทำเป็นหนังสือยืนยันกระบวนการทั้งหมด

นายฐากร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ มีมติที่จะหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าส่วนของข่าวที่ออกไปว่ามี 11 บริษัท ที่ได้ส่งออกปลาหมอคางดำไปยัง 17 ประเทศ เมื่อปี 2556-2559 อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นั้น 11 บริษัทดังกล่าวนำปลามาจากไหน ซึ่งสัปดาห์หน้าคณะกรรมาธิการฯ จะเชิญอธิบดีกรมประมง มาชี้แจงอีกครั้ง รวมถึงตัวแทน 11 บริษัทมาชี้แจงว่า ปลาที่ส่งออกนั้นนำเข้ามาอย่างไร โดยเบื้องต้นกรมประมงชี้แจงว่ามีการลงชื่อกรอกในเอกสารผิด ว่าเป็นชื่อของปลาหมอคางดำ ดังนั้น สิ่งไหนที่เป็นข้อเท็จจริงและเอกสารจะพิจารณาตามนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีอคติกับใครในการพิจารณาเรื่องนี้ เป็นข้อเท็จจริงทางเอกสารที่หากได้ข้อสรุปก็จะส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ที่กำลังดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ นายฐากร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังไม่ตัด ซีพีเอฟออกจากข้อสงสัยเรื่องต้นตอของการระบาด แต่ต้องการหาคำตอบว่า 11 บริษัท ได้ปลาหมอคางดำมาจากบริษัทใด เพราะทั้ง 11 บริษัทไม่ได้นำปลาหมอคางดำเข้ามา แต่กลับนำส่งออกได้ ดังนั้น จึงต้องหาต้นตอตรงนี้ ซึ่งเอกสารต้นทางเมื่อปี 2553 ที่ซีพีเอฟบอกว่านำเข้ามาและทำลายทั้งหมดแล้วหรือไม่ โดยซีพีเอฟได้บอก 4 ขั้นตอน ว่า กรมประมง ได้ตัดครีบปลา เพื่อนำส่ง ส่วนซากของปลา เป็นเรื่องที่กรมประมงต้องไปตรวจสอบ ขณะที่บ่อเลี้ยงที่บอกว่าเป็นบ่อปูน คณะกรรมาธิการฯ จึงขอหลักฐานการก่อสร้างที่ต้องได้รับอนุญาตจาก อบต.ยี่สาร และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 11 บริษัทนำส่งออกไปนั้น มาจากที่ใด ส่งออกไปเป็นการลงชื่อผิดหรือไม่ เพราะกรมประมงยืนยันแจ้งว่ามีการกรอกชื่อผิด ซึ่งปลายทางประเทศต่าง ๆที่รับปลาแบบนี้ไปได้อย่างไร เพราะจะต้องมี TOR ทั้งหมดในการรับ คณะกรรมาธิการฯ จึงจะสอบถามข้อเท็จจริง

ส่วนมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ นายฐากร กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีแถลงมาตรการไปแล้ว 7 ข้อ ซึ่งทางซีพีเอฟ ยืนยันว่าจะช่วยเหลือรัฐบาลเพิ่มเติม จะใช้กรอบวงเงินประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งทางซีพีเอฟจะรับไปพิจารณาเพิ่มเติม ในการจะช่วยเหลือรัฐบาล นอกจาก 5 โครงการที่เคยเสนอมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่กรมประมงจะใช้เงินทดรองราชการเยียวยาในส่วนนี้ ซึ่งหนังสือทางกรมบัญชีกลางบอกว่า เป็นไปตามระเบียบใช้เงินทดลองราชการ จึงเป็นจุดมุ่งหมายที่ดีของประชาชน แต่จะต้องสืบหาไปถึงต้นตอกระบวนการต่าง ๆ ว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยในที่ประชุมวันนี้ได้มีการซักถามกันครบทุกประเด็นและได้ขอเอกสารเพิ่มเติมจากซีพีเอฟ เช่น ใบอนุญาตการทำวิจัยในปี 2553 เป็นต้น และหลังได้ข้อสรุปทั้งหมดคณะกรรมาธิการฯ ก็จะนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

CPF แจง กมธ.ยืนยันไม่ใช่สาเหตุระบาดปลาหมอคางดำ

สำนักข่าวไทย รายงานว่าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นการดำเนินการของบริษัท โดยยืนยันว่าเป็นผู้นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียว แต่ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยบริษัทมีการดำเนินการกักกัน (Quarantine) ลูกปลาอย่างถูกต้อง ตลอด 16 วัน และย้ำว่าหลังการทำลายลูกปลาที่เหลือทั้งหมด บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2554 รวมถึงไม่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มเมื่อปี 2560 เป็นการสุ่มตรวจในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟาร์มไม่มีการเลี้ยงปลาใดๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างปิดปรับปรุงฟาร์ม ซึ่งการที่ไม่อนุญาตบันทึกภาพและเสียง เนื่องจากมีรายละเอียดที่มีผลทางกฎหมาย

รายงานข่าวระบุว่า CPF มีความตั้งใจและยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำตามมาตรการ 7 ข้อของรัฐบาล เช่น การจับปลาเพื่อลดปริมาณจากแหล่งแพร่ระบาด, การปล่อยปลาผู้ล่า, การใช้ประโยชน์จากปลาไม่ให้สูญเปล่า ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำข้างเคียง ให้ความรู้ประชาชนและรู้จักวิธีป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่างถิ่น เป็นต้น

ปัจจุบัน CPF ดำเนินโครงการที่สอดคล้องตามแนวทางของภาครัฐ 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.) โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ซึ่งรับมาแล้ว 600,000 กิโลกรัม 2.) โครงการสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว ตามแนวทางของกรมประมง และมีการปล่อยปลากะพงขาวไปแล้ว 49,000 ตัว โดยร่วมมือกับชุมชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่พบการระบาด 3.) โครงการสนับสนุนการจับปลา ตลอดจนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในพื้นที่ 4.) โครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ และ 5.) โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net