Skip to main content
sharethis

สภาทนายความเผยเตรียมฟ้องคดีปกครองและคดีแพ่งกับหน่วยงานของรัฐ และบริษัทเอกชนที่นำเข้าปลาหมอคางดำ 16 ส.ค. นี้ ระบุเก็บเอกสารหลักฐานรอบ 2 ขณะนี้เกษตรกรเดือดร้อน 271 ราย มั่นใจหลักฐานแน่น

11 ส.ค. 2567 มติชนออนไลน์ รายงานว่าสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม รอบ 2 ครั้งนี้ไปที่ ต.ยี่สาร รวบรวมเอกสารความเสียหายจากชาวบ้านกว่า 200 ราย กรณีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดกว่า 10 ปี ระบุถ้าผู้เดือดร้อนหลักฐานแน่น ยื่นฟ้องให้แน่ในวันที่ 16 ส.ค. 2567 นี้

โดยนายนิทรารัตน์ แพทย์วงศ์ ประธานสภาทนายความ จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า จากกรณีสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เตรียมฟ้องคดีปกครองและคดีแพ่งกับหน่วยงานของรัฐ และบริษัทเอกชน ที่นำเข้าปลาหมอคางดำ และเกิดการแพร่ระบาด รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ตามหลัก “ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย” ตามที่ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านใน ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา และจังหวัดอื่นที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติและในพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้มีการตรวจสอบ พบว่ามีผู้ประกอบการแห่งหนึ่งใน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นผู้ขออนุญาตนำเข้ามาศึกษาทดลองเลี้ยงในปี พ.ศ.2553 ที่ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของผู้ประกอบการดังกล่าว จากนั้นพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในปี 2560 เป็นต้นมา เริ่มที่ ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง และจากการศึกษาพบว่าสายพันธุ์การระบาดของปลาหมอคางดำมาจากจุดร่วมสายพันธุ์เดียวกัน

ต่อมาสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงแต่งตั้งประธานสภาทนายความจังหวัด รวม 16 จังหวัด เป็นผู้แทนของสภาทนายความฯ และให้คณะทำงานปลาหมอคางดำลงพื้นที่ตั้งโต๊ะรวบรวมเอกสารจากชาวบ้าน เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เริ่มที่ จ.สมุทรสงคราม โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 67 ตั้งโต๊ะรับเรื่องที่ ต.แพรกหนามแดง มีผู้ได้รับผลกระทบทยอยเดินทางมายื่นเรื่องลงทะเบียนข้อเท็จจริงแล้ว 57 ราย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (วันที่ 10 ส.ค. 2567) ที่ศาลาเอนกประสงค์วัดเขายี่สาร ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นายจรุงศักดิ์ ชะโกฏิ ประธานคณะทำงานคดีขอความช่วยเหลือกรณีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปลาหมอคางดำ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมตนในฐานะประธานสภาทนายความจ.สมุทรสงคราม และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตั้งโต๊ะรวบรวมเอกสารจากชาวบ้าน เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอคางดำอีกครั้ง มีผู้ที่ได้รับผลกระทบทยอยเดินทางมายื่นเรื่องลงทะเบียนข้อเท็จจริงทั้งในพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวน 214 ราย รวมกับครั้งแรกที่ ต.แพรกหนามแดง 57 ราย รวมทั้งหมดเป็น 271 ราย

นายนิทรารัตน์ กล่าวต่อว่า สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการสำนักงานคดีปกครอง ได้กำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายใน 2 แนวทาง คือ ดำเนินคดีแพ่งกับผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ โดยชาวบ้านผู้เสียหายจะต้องมอบอำนาจให้ทางสภาทนายความเป็นโจทก์ผู้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป ตามพระราชบัญญัติคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะยื่นฟ้องได้ภายในวันที่ 16 ส.ค. 2567 นี้ หากได้รับพยานหลักฐานครบสมบูรณ์จากชาวบ้านผู้เสียหายทั้งหมดแล้ว

สำหรับความเป็นไปได้ในการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น นายนิทรารัตน์ กล่าวว่า สภาทนายความยินดีจัดหาแต่งตั้งทนายความเรียกร้องให้ ถ้าชาวบ้านมีหลักฐานก็ฟ้องได้ แต่จะได้ค่าชดเชยเต็มจำนวนตามที่เรียกร้องหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลตามกฎหมาย แต่เมื่อเรื่องไปสู่ศาล คู่กรณีก็คงต้องแต่งตั้งทนายความเข้ามาโต้แย้งต่อสู้คดีกัน และศาลจะพิจารณาจากข้อมูลหลักฐาน ขณะนี้จึงมีการรวบรวมเอกสารจากผู้เสียหายว่ามีกี่ราย แต่ละรายมีค่าเสียหายเท่าไหร่ และจะมีการตรวจสอบข้อมูลรายบุคคลต่อไปเพื่อส่งให้สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการตามขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจริง จะสามารถเรียกค่าเสียหายได้ แต่ต้องเป็นค่าเสียหายที่มาจากผลกระทบจากปลาหมอคางดำแพร่ระบาด และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเสียหายอย่างไร เป็นจำนวนเท่าไหร่ และเสียหายจากปลาหมอคางดำจริงอย่างไร เช่น ผู้ร้องมีหลักฐานการเสียภาษีที่สามารถอ้างอิงถึงรายได้แต่ละปีหรือไม่ การให้ข้อมูลต้องเป็นความจริงและชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อตัวผู้ร้องเอง หากข้อเท็จจริงไม่สามารถพิสูจน์ได้โดยหลักฐานอ้างอิง ดังนั้นชาวบ้านเกษตรกรจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าค่าเสียหายที่เรียกร้องเป็นข้อมูลจริง เช่น พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีกี่ไร่ เลี้ยงอะไรบ้าง แต่ละรอบฤดูกาลผลิตปล่อยสัตว์น้ำไปกี่ตัว เหมาะสมกับเนื้อที่หรือไม่ ใช้เวลาเลี้ยงกี่เดือน ราคาผลผลิตขณะนั้นเท่าไหร่ ราคาต้นทุน ค่าอาหารเท่าไหร่ และหลังจากปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ผลผลิตลดไปเท่าไหร่ รายได้ลดลงเท่าไหร่ ซึ่งเกษตรกรได้เก็บใบเสร็จการซื้อขายวัตถุดิบต้นทุนเหล่านี้ไว้ยิ่งดี หรือถ้าไม่มีก็ให้เขียนรายการและจำนวนเงินแล้วลงชื่อรับรองด้วยตนเอง แต่น้ำหนักก็จะเบากว่าที่มีเอกสาร

สำหรับกระบวนการรับเรื่องไปจนถึงศาลพิพากษานั้น นายนิทรารัตน์ กล่าวว่า ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือ 1 ปีจะทราบผล ส่วนการที่สภาทนายความจะส่งเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อฟ้องหน่วยงานของรัฐที่อนุญาตให้นำปลาหมอคางดำเข้ามา กรณีละเลย ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นการละเมิดทางปกครอง ส่วนการปฏิบัติหน้าที่จะเข้าข่ายทุจริตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าการออกใบอนุญาตนำเข้ามีเจตนาอย่างไร เพราะการทุจริตหรือประพฤติมิชอบความหมายต่างกัน ทุจริตคือแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น ส่วนประพฤติมิชอบคือการไม่ปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับตามหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะเป็นการพิจารณาโดยศาล ซึ่งหากมีช่องกฎหมายอย่างไรแล้ว ทางสภาทนายความก็เตรียมที่จะฟ้องทางอาญา ส่วนบริษัทที่นำเข้าก็แน่นอนว่าจะดำเนินการฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย หรืออาจจะฟ้องร่วมกันทั้งรัฐและเอกชนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการรวบรวมหลักฐานของผู้เดือดร้อนว่ามีน้ำหนักมากพอหรือไม่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net