Skip to main content
sharethis

'วาโย' เรียกร้อง 'พ.ร.ฎ.จริยธรรมการวิจัย' หยุดตั้งกองเซนเซอร์งานวิจัย งานวิชาการเป็นเรื่องของเสรีภาพทางความคิด กฎหมายฉบับนี้ยิ่งทำให้งานวิชาการไทยถูกกำกับควบคุมและทำงานยากยิ่งขึ้น วาโยในฐานะรอง กมธ.อุดมศึกษาฯ เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหาทางออกวันที่ 12 ก.ย. นี้

 

2 ก.ย. 2567 วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีรักษาการเมื่อวันอังคารที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ “ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. ....” ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกานี้คือการจัดตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาการวิจัยฯ” ซึ่งมี “ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงด้านจริยธรรมการวิจัย” เป็นประธาน โดยกำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือนักวิจัยต้องส่งโครงร่างงานวิจัยมาให้คณะกรรมการฯ พิจารณาวินิจฉัยก่อนเริ่มทำ และหากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่างานวิจัยชิ้นใดอาจมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คณะกรรมการฯ ก็มีอำนาจสั่งให้ผู้วิจัยยุติการวิจัยเรื่องนั้นทันที และหน่วยงานที่ให้ทุนก็ต้องยุติการสนับสนุนด้วย

หลังจากพระราชกฤษฎีกานี้ออกมา ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมว่าเป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพทางวิชาการ วาโยกล่าวว่า การออกกฎหมายเช่นนี้เป็นเรื่องน่ากังวล โดยเฉพาะการใช้คำว่า “ข้อกำหนดจริยธรรม” ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมและแต่ละคนมีมุมมองแตกต่างกัน

รวมถึงการระบุว่า ประธานคณะกรรมการฯ ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงด้านจริยธรรมการวิจัย วาโยระบุ ไม่ทราบว่าวัดหรือคัดเลือกกันอย่างไร ในขณะที่งานวิชาการเป็นเรื่องของเสรีภาพทางความคิด กฎหมายนี้จึงไม่ต่างจากการมี “กองเซนเซอร์” และจะยิ่งทำให้งานทางวิชาการของไทย ซึ่งเดิมทีถูกกำกับควบคุมอยู่แล้ว ยิ่งทำงานยากลำบากขึ้นอีก

จากข้อกังวลและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ วาโยในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเรื่องนี้บรรจุเข้าวาระการประชุม กมธ.ในวันที่ 12 ก.ย. นี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา ถกข้อกังวล และหาทางออก เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ และจะทำสรุปข้อเสนอส่งไปยังรัฐบาลต่อไป 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net