Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเด็น Content creator ตัวท็อป วิทย์ สิทธิเวคิน ถูกเพื่อนร่วมอาชีพบางท่านในแวดวงสื่อ ออกมากล่าวพาดพิงว่าเป็นนักเล่านิทาน (ประวัติศาสตร์) ที่สามารถคว้าโอกาสสร้างรายได้เรือน 10 ล้านบาทต่อปีจากการนำเนื้อหาทางประวัติศาสตร์มาย่อยเป็นคำบอกเล่าให้ผู้ฟังเข้าถึงได้ง่ายตามสไตล์ Podcaster จนเข้าขั้นลดลัดตัดทอนความซับซ้อนของวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ออกไปเสียหมด (oversimplifying) เมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าการที่มันสะท้อนถึงความสำคัญของทักษะการเล่าเรื่อง (storytelling skills) ในโลกการสื่อสารสมัยใหม่อีกแล้ว 

ยิ่งโดยเฉพาะกับการที่คลิปวิดิโอความยาวไม่เกิน 15-30 วินาที (short-form video contents) ของแพลตฟอร์ม Tiktok ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก และในไทยอีกกว่า 40 ล้านคน แต่ละคนเฉลี่ยใช้เวลาไถแอปกันวันละเป็นชั่วโมงตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ สมาธิของผู้บริโภคสื่อจะสั้นลงอย่างมีนัยสำคัญก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยาก 

จริงๆ  แล้วจะบอกว่าสมาธิของคนจำนวนมากสั้นลงจากการใช้ Tiktok แอปเดียวก็คงจะเป็นการชี้นิ้วหาแพะไปทาง ByteDance มากเกินไป เพราะ Facebook เองก็มีบทบาทไม่น้อย หลังๆ   Mark Zuckerburg เองก็ได้ให้ทีมงานปรับอัลกอริทึมผลักดันเนื้อหาประเภทคลิปสั้น (Reels) แข่งกับ Tiktok คู่ขนานไปกับการดันโพสต์ประเภท Clickbaits ล่อให้คนเข้าไปอ่านข้อความต่อในคอมเมนต์ดังที่เพจทางการของสำนักข่าวหลายๆ  เพจมักสรรหาจะทำกันเพื่อเอาตัวรอด (แน่นอน Youtube เองก็ออก Shorts มาสู้เช่นเดียวกัน) ข้างต้นนี้แปลงเป็นข้อสังเกตหนึ่งได้ว่าสภาพภูมิทัศน์ของตลาดการบริโภคสื่อปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างหน้ามือเป็นหลังมือมาอย่างช้าๆ  ได้สัก 4-5 ปีแล้ว 

คนที่เห็นโอกาสก่อนก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและโดดเข้าไปหาลูกค้าได้ก่อนก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว คนที่ผันตัวไปเป็น “นักเล่านิทาน” แทนที่จะดันทุรังใช้วิธีการรูปแบบเดิมๆ   ไม่ได้ผิดอะไรเลย 
โดยเฉพาะกับตลาดของสินค้าประเภทความรู้ สารคดี Non-fiction ทั้งหลาย ผู้ผลิตที่มีประสบการณ์มองดูความเปลี่ยนแปลงตลาดมาหลายยุคหลายสมัยอย่างสำนักข่าว สำนักพิมพ์ หนังสือพิมพ์ หรือไปจนถึงสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ เช่น มหาวิทยาลัย น่าจะรู้ตัวก่อนเพื่อนได้สักพักแล้ว เนื่องจากหลายแห่งกำลังประสบปัญหายอด Admission ของนักศึกษา Gen Z ลดลง และในอนาคตอันใกล้กำลังจะเจอกับ Gen Alpha เกิดน้อยกว่าเดิมมากเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมายอดผู้สมัครสอบ GAT-PAT เฉลี่ยเหลือไม่ถึงปีละ 2.5 แสนคนผิดกับสมัย 10 ปีก่อนยอดผู้สมัครสอบเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน กลายเป็นว่าที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีมากเกินจำนวนคนเรียน

ค่านิยมยุคใหม่ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง เรียนปริญญาตรี 4 ปี จบออกมาความรู้เก่าเกินไปกว่าจะหางานทำในตลาดได้แล้ว เด็ก Gen Z ถูกทิ้งให้จมอยู่กับความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยาอาจไม่ใช่คำตอบ โดยเฉพาะในสายศิลป์บางหลักสูตรที่สามารถศึกษาด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์มจำพวก Coursera, Udemy, MOOC ทั้งหลาย นักวิชาการเสี่ยงตกงานไม่ใช่แค่ในไทย แต่หลายๆ  แห่งในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เองก็ประสบปัญหานี้ไม่ต่างกัน สังคมสูงวัยทำอัตราการเกิดน้อยลงเป็นประวัติการณ์ เกือบทุกมหาวิทยาลัยต่างถามหานักศึกษาต่างชาติ โดยภายในปี 2040 จำนวนนักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยจะลดลงเหลือไม่ถึง 3 แสนคน คนทำอาชีพนักวิชาการที่อยู่ใน Track สอนจะต้องทำอย่างไร หน่วยงาน/คณะเจ้าของคอร์สเรียนจะปรับตัวอย่างไรให้สามารถดึงคนเรียนได้ ทักษะหนึ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ อาจจะไม่ใช่การทำวิจัยอย่างเดียว (เพราะอย่างที่บอก บางคนก็ไม่ได้อยู่ใน Track วิจัยล้วนเสียทีเดียว) แต่เป็นการมี storytelling skills

ตัวอย่างมีให้เห็นเยอะแยะ 2-3 ปีก่อน ชุมชนโลกออนไลน์เคยตะลึงกับศาสตราจารย์เชื้อสายรัสเซียมาดคุณป้าใจดีท่านหนึ่ง ชื่อ Tatiana Erukhimova จาก Texas A&M University ที่สามารถสอนฟิสิกส์ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ง่ายจนกลายเป็น Viral ทั้งใน Facebook, Tiktok, และ Youtube คลิปสั้นการสอนของ Erukhimova นั้นหลายคลิปมียอดเข้าชม 20-30 ล้านครั้ง บางคลิปก็เกิน 200 ล้านครั้งด้วยซ้ำ ส่งผลให้ Erukhimova กลายเป็นไอคอนด้านวิชาการที่นักศึกษาและผู้สนใจจากทั่วโลกนึกถึงเป็นรายแรกๆ  เวลาต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับฟิสิกส์    

แต่ Erukhimova ก็ยังไม่สู้ชาวอินเดียหัวกะทิทั้งหลายที่พากันทำคลิปสอนและให้ความรู้ สารพัดวิธีแก้ปัญหาตั้งแต่การซ่อมคอมพิวเตอร์ อธิบายการบ้านแคลคูลัส สอนเขียนโปรแกรมระดับพื้นฐานยันการแฮคข้อมูล จนยุคสมัยหนึ่งถึงขั้นมีมุขตลกบนโลกออนไลน์ (internet meme) ว่าทุกปัญหามีทางออกเพราะ “คนอินเดียในยูทิวบ์ช่วยคุณได้” (That Indian guys on Youtube) ในทำนองเดียวกับที่คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องหันไปหา Youtuber นามว่า “9arm” เกือบทุกครั้งที่มีปัญหาหรือประเด็นซับซ้อนทางเทคโนโลยี เพราะ 9arm มีทั้งปริญญาเอกและ storytelling skills ที่สามารถเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ไง จึงเป็นที่นิยมของคนไม่น้อยหน้าไปกว่า 2 กลุ่มที่กล่าวถึงข้างต้น

สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนถึง storytelling skills ทั้งนั้น ไม่ว่าอาชีพไหนๆ  ก็ต้องปรับตัวบ่มเพาะทักษะดังกล่าวนี้เหมือนๆ  กันหมด นักธุรกิจ พนักงานออฟฟิศ ข้าราชการ เซลส์ คนทำร้านอาหารสมัยนี้ยังต้องหาเรื่องเล่ามาเป็นจุดขายคู่กับอาหารกันเลย ดังนั้นไม่ใช่แค่ Youtubers หรือ Podcasters กลุ่มเดียวแน่ๆ  ที่ต้องมีทักษะดังว่านี้ติดตัว นักวิชาการ/อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นตัวละครหลักในโลกของวงการขายความรู้ยิ่งแล้วใหญ่ คนบางกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอาจจะยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องนำความรู้ที่ตนเองอุตส่าห์ค้นคว้ามาหลายปีไป Oversimplify ย่อแล้วย่ออีก ลดลัดตัดทอนจนเหลือใจความสำคัญท่อนเดียวเพื่อให้มันถูกขยายต่อไปถึงผู้บริโภคได้นั้นเป็นประโยชน์ขนาดไหนทั้งต่อผู้บริโภคและต่อผู้ผลิตองค์ความรู้เองด้วย (ดีกว่าขึ้นหิ้ง) 

ครั้งที่ผู้เขียนไปบรรยายในมหาวิทยาลัยก็มีนักศึกษาเปิด ChatGPT หาคำตอบสั้นๆ   Oversimplify มาพยายามโต้เถียงขณะสอนอยู่เช่นกัน ซึ่งข้อมูลที่รับมาจาก AI นั้นถือว่ามีเนื้อหาที่แม่นยำ กระชับ สมเหตุสมผลพอสมควร (เห็นไหม ขนาด ChatGPT ยังถูกแทรก storytelling skills เข้ามาเลย) เป็นเหตุผลสำคัญที่คนในแวดวงธุรกิจการศึกษา การผลิตองค์ความรู้ยิ่งต้องปรับตัว พัฒนาตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะถูก AI แซง แย่งงานเอาไปเสียหมดไม่เว้นแม้แต่ในมิติที่คนควรจะทำได้ดีกว่า AI 

แวดวงคนทำสารคดีก็เช่นกัน สามารถแทรก storytelling skills ไปกระตุ้นต่อมความอยากรู้ของคนดู/ผู้บริโภคในตลาดได้ ถ้าเป็นในรูปของงานสารคดีประเภทบทความข่าวสืบสวน (investigative journalism) ที่ดูแล้วไม่น่าจะดึงความสนใจให้คนเปิดเข้าไปอ่านได้นั้น อุตสาหกรรมข่าวในต่างประเทศแก้ปัญหานี้ด้วยการทำ Infographic ประกอบ หลายๆ  ชิ้น ซึ่งก็ได้กระแสตอบรับที่ดีอยู่หลายหัว ทั้ง The New York Times, Financial Times และ South China Morning Post ยิ่งยุคสมัยนี้มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกมากมาย ทั้ง ChatGPT, Canva หรือแม้แต่ Adobe บางตัวก็มีระบบ AI ที่สามารถเป็นผู้ช่วยในการออกแบบ Infographic ได้ 

ส่วนถ้าเป็นสารคดีประเภทคลิปวิดิโอ มีคนเสนอแบบขำๆ  ไว้บน Forum ของต่างประเทศว่าให้ลองตัดเนื้อหาบางส่วนที่เป็นไคลแม็กซ์ของคลิปเต็มมาสัก 1 ใน 5 แปลงเป็นคลิปสั้นคล้ายตัวอย่างโปรโมทภาพยนตร์ แต่ให้ใส่เสียงพากษ์ AI text-to-speech แทรกลงไปด้วย (เพราะกำลังเป็นที่นิยมมากใน social media) ใดๆ   ซึ่งจะได้ผลจริงหรือไม่ อาจจะต้องรอมีคนฝั่งไทยนำไปทำตามจริงๆ   

เหนือสิ่งอื่นใด คือ ประเด็นดังกล่าวนี้ออกจะคล้ายๆ  ปัญหาโลกแตกของคนแวดวงการทำข่าวมาช้านาน สมัยก่อนมักมีข้อวิวาทะที่ว่านักข่าวภาคสนามลงพื้นที่ ลำบากรวบรวมข่าวสารเลือดตาแทบกระเด็น แต่ก็ได้รับความสำคัญไม่สู้ผู้ประกาศข่าวที่นั่งอ่านข่าวอยู่ในห้องแอร์ที่ทั้งมีโอกาสความก้าวหน้ามากกว่า และเป็นที่จดจำของสาธารณะมากกว่า เหล่านี้ล้วนเป็นช่องว่าง (gap) ระหว่างคนที่ได้แสดง storytelling skills กับคนที่ไม่มีโอกาสได้แสดงทั้งสิ้น ซึ่งมันก็จะยังมีอยู่ต่อไป ตราบที่มันยังมีช่องว่างให้คนใช้ Gap เหล่านี้หาเงินอยู่ 

การที่คนคนหนึ่งสามารถทำเงินได้หลักล้านจากการนำเนื้อหาในหน้าประวัติศาสตร์มาเล่าเป็นฉากๆ  ให้คนฟังสนุกสนานไปกับมันได้ มันสะท้อนถึงความกว้างขวาง ผู้เล่นน้อยรายขนาดไหนที่ตลาดและผู้บริโภคถึงพร้อมจะควักเงินจ่ายให้กับสินค้าประเภทนี้ขนาดนั้น แค่มันถูกแปลงให้อยู่ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนในห้องเรียน หรือตำราเท่านั้นเอง และในอีกมุมหนึ่งมันก็ดูเป็นตลาดที่ถูกทิ้ง ถูกมองเป็น “ปริมณฑลของความน่าเบื่อ” มาช้านานแบบไม่มีคนคิดจะเข้ามาหาทางแย่งส่วนแบ่งทางตลาดกับมันผ่านการสอดแทรกความบันเทิงสักที อย่าลืมว่า Tiktok Brain มันแพร่หลายในวงกว้างกับทุกสังคม ภาวะสมาธิสั้นจาก Tiktok นั้นจะส่งผลให้เทรนด์และความสำคัญของ storytelling skills มันทวีความสำคัญไปอีกนาน
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net