Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาการคำนวนอัตราค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรมในโลกการทำงานของฟรีแลนซ์ (gig economy) ที่ไทยนั้นเกิดขึ้นซ้ำซากมาหลายปีไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมการออกแบบ งานศิลป์ ถ่ายภาพ และล่าสุดที่เพิ่งจะเป็นประเด็นถกเถียงกันไปคือกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์/สื่อออนไลน์ ซึ่งเอื้อบุญ จงสมชัยได้เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่านักเขียน (และ Content creators สายเขียนบทความ) ควรรวมตัวช่วยกันดันเพดานค่าตอบแทนการเขียนงานรายชิ้นให้สูงขึ้นไปกว่า 3,000 บาทได้แล้ว เพื่อให้คุ้มค่าต่อต้นทุนทางกายและทักษะที่อุตส่าห์สั่งสมมาก่อนหน้านี้ โดยสาเหตุที่ต้องมีคนออกมาเรียกร้องแบบนี้ เพราะค่าตอบแทนการเขียนในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ถูกแช่แข็งไว้เฉลี่ยที่ไม่เกินชิ้นละ 2,000-3,000 บาทมานานร่วมทศวรรษ และหลายๆหัวก็ยังจ่ายไม่ถึง 2,000 บาทด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี สำหรับนักเขียนเชิงสารคดี หรือ Non-fiction ทั่วๆไปได้รับเสนอค่าตอบแทน 1,500-2,000 บาทนี้ถือว่ายังพอทำเนา 

หากลองได้ไปดูตามกลุ่มตลาดซื้อ-ขายแรงงานตาม Facebook จะได้เห็นความอดสูเสียยิ่งกว่าเดิม อนึ่ง วงการนักเขียนเองก็ไม่แตกต่างจากวงการออกแบบและงานศิลป์ทั้งหลายที่ประสบปัญหาคนยอมลดคุณค่าของทักษะและความคิดสร้างสรรค์ของตนเองไปรับงานที่ต่ำกว่าต้นทุนความสามารถเพื่อความอยู่รอด (ตัดราคา) การเห็นเพื่อนร่วมอาชีพโพสต์ข้อเสนอรับจ้างผลิตงานเขียนความยาว 600-1,000 คำ ทั้งประเภทสารคดี และบันเทิงคดี แลกค่าตอบแทนมูลค่าเรือน 5-10 บาทตามกลุ่ม Facebook และ Twitter นั้นกลายเป็นภาพที่เกิดขึ้นเป็นกิจวัตรในปี 2024 นี้ (ทั้งๆที่เมื่อก่อนการรับงานมูลค่า 100 บาทไปทำเพื่อตัดราคาคู่แข่งก็ถือว่าย่ำแย่น่ารังเกียจมากพอแล้ว) บางรายถึงขั้นยอมขูดรีดหยาดเหงื่อของตัวเองด้วยการเสนอค่าตอบแทนรูปแบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือนที่หารเป็นรายชิ้นงานแล้วมูลค่าเรี่ยไปกับดินกว่าเดิมแลกกับการจะได้รับเงินเป็นก้อนทุกๆเดือน

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พอทำความเข้าใจได้จากสภาพภูมิทัศน์ของสื่อออนไลน์ในปัจจุบันที่ผู้เล่นรายใหญ่ทุนหนานั้นมีจำนวนจำกัด แต่กลับห้อมล้อมไปด้วยผู้เล่นรายย่อยระดับ SME ที่แทบไม่มีทุนเพียงพอจะสนับสนุนค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลแก่นักเขียน แถมนักเขียนหน้าใหม่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวันในอัตราที่ผู้จ้างมีตัวเลือกล้นเหลือ เป็นธรรมดาที่อำนาจต่อรองของคนเป็นนักเขียนจะลดน้อยถอยลงไปด้วย เรียกได้ว่าถ้าคนๆหนึ่งเป็นแค่มือรองระดับแถว 2-3 ทั่วๆไป ไม่ใช่ผู้มากประสบการณ์ หรือมีลวดลายการเขียนที่ยากจะหาใครมาแทนที่ได้จนนายทุน/เจ้าของสื่อต้องรั้งไว้ก็เข้าขั้นยากพอสมควรที่จะไปสู้รบปรบมือเรื่อง ‘ค่าตัว’ หรือ ‘ค่าชิ้นงาน’ ให้เกิดความกระอักกระอ่วนระหว่างกันอย่างเสียไม่ได้ หลายๆคนจึงเลือกหนทางสิ้นคิดอดทนทำงานที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมาต่อไป เนื่องด้วยความกลัวจะไม่มีงานเข้ามานั้นมีมากกว่าความกลัวจะไม่ได้ปรับอัตราค่าตอบแทน

อ่านถึงจุดนี้แล้วคงพอจะเห็นช้างตัวใหญ่ในห้อง (an elephant in the room) ขึ้นมาบ้างแล้วว่าทำไมการผลักดันเพดานค่าตอบแทนให้สูงขึ้นมันจึงแสนเข็ญนัก อาชีพนักเขียนก็เหมือนอาชีพอื่นๆในจักรวาล gig economy หากคนหนึ่งเลือกจะปฏิเสธงานเพราะรู้สึกว่าค่าตอบแทนมันกระจอกไป ผู้ว่าจ้างก็พร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสนี้ไปควานหาคนที่เสนอค่าตัวต่ำกว่ามาแทนได้เสมอ คล้ายระบบการประมูลงาน (price bidding) ยิ่งเป็นงานเขียนในยุคที่ Generative AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ ผลลัพธ์ในการผลิตผลงานของนักเขียนแต่ละคน ที่ไม่ได้มีช่องว่างทางประสบการณ์ หรือมีสำบัดสำนวนที่ดีจนมีฐานแฟนคลับรอติดตาม ก็แทบจะไม่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขลักษณะนี้ ก็จะเห็นได้โดยไม่ต้องยืมกรอบคิดแบบ Marxism มาอธิบายประกอบเลยว่าการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองเงินในแวดวงนักเขียนบทความนั้นมีความเป็นไปได้ในการเกิดขึ้นจริงมากน้อยแค่ไหน ไม่ต่างอะไรจากหมาในนิทานอีสปที่พยายามจะแย่งกระดูก (ที่เหมือนจะชิ้นใหญ่กว่า) จากเงาของตนเองในน้ำ

จะว่ามันเป็นสถานการณ์คล้าย Prisoner’s Dilemma ก็คงจะไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงนัก เพราะต่างฝ่ายต่างลังเลที่จะหันไปร่วมมือกัน โดยกลุ่มนักเขียนที่ชอบตัดราคาหรือตั้งราคาให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนั้นแม้ในใจอาจจะมีความต้องการค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณาเอาจากเงื่อนไขแวดล้อมแล้วประเมินถึงความเป็นไปได้มีต่ำจึงไม่ต้องการจะตัดสินใจในเส้นทางที่เพิ่มความเสี่ยงในช่องทางทำมาหากินของตน ส่วนนักเขียนอีกกลุ่มที่ (มั่นใจว่า) มีความสามารถมากกว่ากลุ่มแรกส่วนมากเขาก็มักมีช่องทางและฐานลูกค้า (ประจำ) ของเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะกับผู้จ้างที่มีทุนหนาจากต่างประเทศ เช่น นิตยสาร/สำนักข่าว/องค์กรต่างประเทศ ซึ่งมีกำลังทรัพย์พอจะจ่ายค่าผลงานต่อชิ้นได้มากถึงครั้งละไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 บาท หรือบางรายก็สั่งสมประสบการณ์จนมี ‘ยี่ห้อ/ลายเซ็น’ เป็นของตัวเองจนผู้ใหญ่หลากหลายวงการต้องอาศัยไหว้วานด้วยราคาจ้างเหมารายโครงการที่สมน้ำสมเนื้อกันอยู่แล้ว จึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพาตัวเองไปช่วยเรียกร้องดันเพดานค่าตอบแทนอะไรให้ในภาพรวม 

ช่วงที่มีประเด็นวิวาทะกันนั้น ข้อเสนอหนึ่งที่น่าเก็บมาขบคิดมาจากณัฐนนท์ ดวงสูงเนินที่เชื่อเรื่องกลไกตลาดมากกว่าการต่อสู้เพื่อให้วงการนักเขียนมีค่าตอบแทนแบบราคากลาง เพราะทุกคนล้วนมีตัวเลขอัตราค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลของแต่ละห้วงเวลา/บริบทกันในใจอยู่แล้ว ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ว่านักเขียนแต่ละคนจะสามารถไปให้ถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ในจักรวาลของร้านซูชิเองก็ต้องมีทั้งร้านที่ผลิตคำละ 10-20 บาทออกมาขาย และในขณะเดียวกันก็มีร้านที่กล้าจะผลิตซูชิคำละ 2,000-3,000 บาทมาเสนอผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน ฟังดูอาจเป็นข้อคิดที่ขาดมิติมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะถกเถียงให้จบได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือ โลกของสื่อออนไลน์มันกำลังประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนทัศน์ในระยะใกล้ และกลางนี้ เนื้อหาประเภทงานเขียนมันถูกลดความสำคัญลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ Tiktok กลายเป็น social media ที่มีผู้ใช้งานเติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งผลที่ตามมาคือระบบอัลกอริทึม และความสนใจของคนถูกดึงไปที่เนื้อหาแบบวิดิโอสั้น ไม่เว้นแม้แต่ตัว Google เองที่พยายามเพิ่มการมองเห็นให้แก่เนื้อหาลักษณะดังกล่าว แล้วไปลดการมองเห็นของเนื้อหาประเภทข้อความ/บทความลง 

สิ่งที่คนเป็นนักเขียนต้องเผชิญทุกวันนี้ไม่ใช่แค่นายจ้าง/นายทุนอีกแล้ว แต่ยังมีเรื่องสภาพแวดล้อมการทำสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป คนที่อยู่ในธุรกิจสื่อต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า social media มันไม่ได้ส่งเสริมเนื้อหาประเภทงานเขียนเหมือนเมื่อครั้ง 5-10 ปีก่อนอีกต่อไป สุดท้ายปลายทางของอาชีพเขียนบทความมันก็มีอยู่ 2 ทางแยกหลักๆ ถ้าไม่เป็นพวกที่ฝีมือธรรมดาทั่วไปมากๆ ที่มักจะถูกบีบให้ออกจากตลาดไปเองตามความกลไก Demand-Supply หรือไม่ก็ต้องเป็นพวกที่สามารถพัฒนาฝีมือตัวเองให้เพียงพอจะสร้างข้อต่อรองกับตลาดได้ หรือกล่าวอย่างง่ายก็คือ “การหาเรทของตัวเองให้เจอ” ดังที่ณัฐนนท์เคยเสนอไว้ เพราะธุรกิจสื่อประเภทข้อเขียน/บทความ มันไม่ใช่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขนาดที่จะสามารถปรับฐานค่าตอบแทนขั้นต่ำให้สูงขึ้นตามความต้องการของกลุ่มคนที่รวมตัวกันเรียกร้องได้อีกแล้ว (แม้เป็นสิ่งที่ควรจะทำ หรือต้องการจะทำก็ตาม)
 


ที่มาภาพ: Facebook Ua-boon Chongsomchai

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net