Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเสนอความคิดที่ว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล” เพราะมี “แก่นคำสอน” ที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเราตั้งแต่ยุค ร.4 เรื่อยมาจนปัจจุบันเท่านั้น ที่จริงแล้วเริ่มจากนักวิชาการชาวตะวันตกที่สนใจศึกษาพุทธศาสนาแบบอินเดียและศรีลังกาในยุคอาณานิคมตีความว่า “หลักการของกาลามสูตรสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์” เพราะกาลามสูตรเสนอให้เรา “ยอมรับความจริงจากการรู้ความจริงนั้นแล้ว” ไม่ใช่เพียง “แค่เชื่อ” ว่าจริงตามที่พูดต่อๆ กันมา หรือการอ้างคัมภีร์, ทฤษฎีต่างๆ, การอ้างคำสอนครูอาจารย์หรือศาสดาต่างๆ เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม การยืนยันว่าหลักการบางอย่างของศาสนา “สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์” ไม่ใช่การยืนยันว่า “ศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์” เพราะศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นคนละอย่างกันอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าการเป็นคนละอย่างกันจำเป็นต้องขัดแย้งกันเสมอไป วิทยาศาสตร์สมัยโบราณทำงานร่วมกับโหราศาสตร์และศาสนา เช่น การบันทึกเกี่ยวกับการโคจรของดวงดาวถูกนำมาใช้ทั้งในทางโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ หรือการสร้างปิรามิด มัมมี่เป็นต้น ก็สะท้อนความร่วมมือระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ แต่ในยุคกลางศาสนากับการเกิดขึ้นของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เริ่มจะขัดแย้งกัน เช่น การเสนอความจริงทางวิทยาศาสตร์แบบกาลิเลโอถูกลงโทษโดยศาลศาสนา แต่นั่นก็ไม่ใช่ความขัดแย้งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะเราสามารถตีความได้ว่าการเสนอความจริงทางวิทยาศาสตร์สอดคล้องหรือ “ไปกันได้” กับความเชื่อในพระเจ้า เช่น นิวตันเสนอว่าการค้นพบความจริงทางวิทยาศาสตร์ คือการค้นพบอัจฉริยภาพของพระเจ้าในการออกแบบจักรวาล เป็นต้น ดังนั้น ตามทัศนะแบบนิวตัน กาลิเลโอไม่ใช่ “พวกนอกรีต” แต่พวกนอกรีตตัวจริงคือพวกนักบวชและกษัตริย์ที่ใช้อำนาจกดปราบคนคิดต่าง

การยืนยันว่า “การค้นพบความจริงทางวิทยาศาสตร์คือการค้นพบอัจฉริยภาพของพระเจ้า” ย่อมมีนัยสำคัญเป็นการยืนยัน “เสรีภาพ” ในการแสวงหาความจริงและการเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใน “บริบท” ยุคกลาง ที่ชาวยุโรปอยู่ภายใต้อำนาจผูกขาดความเชื่อและความจริงของศาสนจักรโรมันคาทอลิก

แต่ในยุคแสงสว่าง (the Enlightenment) มีการแยก “เหตุผล” กับ “ศรัทธา” ออกจากกันค่อนข้างชัดเจน และการยืนยันเหตุผลก็ควบคู่กับการยืนยัน “เสรีภาพ” ด้วยเสมอ เช่น การยืนยันเสรีภาพในการนำเสนอความจริงที่เป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ หรือการยืนยันอิสรภาพทางศีลธรรม (moral autonomy) ก็คือการยืนยันว่าศีลธรรมไม่จำเป็นต้องมาจากเทวบัญชาหรือคำสั่งของพระเจ้า กฎศาสนา หรือกฎของศาสนจักรที่กำหนดให้เราต้องเชื่อฟังและทำตาม

ขณะเดียวกันการยืนยันอิสรภาพทางศีลธรรม ก็คือการยืนยันด้วยว่าศีลธรรมไม่ได้มาจาก “ลัทธิคุณพ่อรู้ดี” (paternalism) ที่ชนชั้นปกครองใช้คำสอนศาสนาปลูกฝังให้ประชาชนเป็น “คนดี” ที่เชื่องเชื่อฟังและจงรักภักดี ภายใต้ความเชื่อแบบโรแมนติกว่าชนชั้นปกครองคือผู้ทรงคุณธรรมที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นศูนย์รวมจิตใจและแบบอย่างทางศีลธรรมแก่ประชาชน รักประชาชนทุกคนเหมือนรักลูกของตนเอง และทุ่มเททำงานหนักเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทุกคนเหมือนทำเพื่อลูกของตนเอง ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่โต้งๆ ว่า “พ่อของแผ่นดิน” หรือ “แม่ของแผ่นดิน” และบรรดาลูกๆ ของพวกเขาจริงๆ นั้น คือชนชั้นสูงที่มีชีวิตสุขสบายจากภาษีประชาชน และมีเกียรติมีศักดิ์ศรีสูงส่งกว่าประชาชนทั่วไปอย่างไม่อาจเทียบกันได้เลย

พูดให้ชัดขึ้นอีก การยืนยัน “เหตุผล” แบบยุคสว่างส่งผลให้เกิดการยืนยัน moral autonomy ที่ถือว่าศีลธรรมต้องอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนในฐานะ “คนเท่ากัน” จึงตามมาด้วยการยืนยันเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก หรือการยืนยันเสรีภาพทางการเมืองที่เป็นพลังผลักดันในการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และเปลี่ยนจากการเป็นรัฐที่ปกครองด้วยอุดมกาณ์หรืออำนาจทางการเมืองตามความเชื่อทางศาสนาเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) หรือรัฐที่ใช้อุดมการณ์ทางการเมือง อำนาจ และกฎกติกาแบบทางโลกเป็นหลักการปกครองและการวางระเบียบวิถีชีวิตสาธารณะทางสังคมและการเมืองสมัยใหม่

ผมเข้าใจว่าที่นักวิชาการตะวันตกมองว่าหลักกาลามสูตรสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ อาจเป็นเพราะเขาตีความว่าสาระสำคัญของกาลามสูตรคือ “หลักอิสรภาพทางปัญญา” ที่ชี้แนะให้เราเข้าใจตามเป็นจริงว่าเราต่างมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความคิด ความเชื่อ และโลกทัศน์ที่หลากหลาย มีทั้งที่แตกต่างกัน สอดคล้อง และขัดแย้งกัน เราจึงต้องมีอิสระในการใช้ปัญญาหรือเหตุผลของตนเองวินิจฉัยตัดสินเรื่องต่างๆ ว่าอะไรคือความจริงที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่สักแต่เชื่อเพราะถูกครอบงำหรือถูกบังคับยัดเยียดให้เชื่อ ซึ่งสปิริตในการแสวงหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องการอิสรภาพเช่นเดียวกันนี้

บางคนอาจแย้งว่า แม้ตามหลักกาลามสูตรพุทธะจะเสนอว่าแต่ละคนต้องรู้ความจริงด้วยปัญญาของตนเอง แต่ก็เสนอด้วยว่าความจริงที่ทำให้พ้นทุกข์ได้คืออริยสัจสี่และอื่นๆ ที่เป็น “ความจริงแบบพุทธศาสนา” จึงไม่ได้แปลว่าหลักกาลามสูตรให้ “อิสรภาพทางปัญญา” ที่ใครจะมีเสรีภาพใช้ปัญญาแสวงหาความจริงแบบใดๆ ก็ได้ ผมคิดว่าข้อโต้แย้งเช่นนี้ไม่สมเหตุสมผล เพราะไม่ปรากฏว่าพุทธะได้บัญญัติข้อห้ามใดๆ ในการที่ปัจเจกบุคคลจะใช้ปัญญาแสวงหาความจริงใดๆ นอกเหนือจากความจริงแบบพุทธศาสนา แม้แต่พุทธะเองก็นำความเชื่อหรือแนวปฏิบัติอื่นๆ ในบริบทสังคมอินเดียโบราณมาปรับใช้ในการบัญญัติหลักธรรมและวินัยสงฆ์หรือการวางระบบปกครองสงฆ์ด้วยเช่นกัน

อีกอย่าง ผมไม่เห็นด้วยนักกับการอ้างข้อความว่า “ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทาง ส่วนการเดินทางเป็นเรื่องของแต่ละคนเอง” แม้ข้อความนี้จะมุ่งเตือนให้เราลงมือทำ แต่เมื่ออ้างบ่อยๆ และอ้างอย่างไม่เชื่อมโยงกับบริบทโดยรวมของบทบาทพุทธะอาจทำให้เข้าใจผิดๆ ได้ว่าพุทธะแค่สอนอย่างเดียว และลอยตัวอยู่เหนือปัญหาต่างๆ ของสังคม

ยิ่งเมื่อเรามองภาพวาดหรือรูปปั้นของพุทธะ ที่สร้างขึ้นให้มีรูปลักษณ์ราวกับเป็นมนุษย์ที่มาจากดาวดวงอื่น หรือเป็นมนุษย์คนละสายพันธุ์ที่แตกต่างจากคนทั่วไป ยิ่งเหมือนกับการสร้างภาพให้พุทธะลอยนวลอยู่เหนือปัญหาสังคมหรืออยู่เหนือโลก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะการเสนอหลักกาลามสูตร ก็คือตัวอย่างหนึ่งที่พุทธะร่วมสนทนากับปัญหาขัดแย้งทางความคิดความเชื่อและเสนอทางออกในบริบทสังคมอินเดียโบราณ

พูดให้ชัดขึ้นอีก หลักอิสรภาพทางปัญญาในกาลามสูตรก็ไม่ใช่เพียงแค่ “การบอกทาง” ของตถาคตเท่านั้น แต่เป็น “เส้นทางชีวิต” ของตถาคตต่างหาก เพราะถ้าสิทธัตถะไม่เลือกเดินบน “เส้นทางอิสรภาพทางปัญญา” เขาก็คงไม่สามารถเป็นอิสระจากการครอบงำของความเชื่อต่างๆ  ได้ และไม่สามารถใช้ปัญญาของตนเองรู้ความจริงที่ทำให้เป็นพุทธะได้ ดังนั้น การยืนยันให้ใช้ “ปัญญา” หรือเหตุผลของตนเองแบบที่พุทธะยืนยันผ่านการใช้ชีวิตและการสอนหลักกาลามสูตรเป็นต้น  จึงควบคู่กับการยืนยัน “เสรีภาพ” จากอำนาจครอบงำต่างๆ ด้วยเสมอ  

คำถามคือ เมื่อพุทธะยืนยันการใช้ปัญญาและเสรีภาพในการรู้ความจริงและความถูกต้องทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล แล้วพุทธะยืนยันเสรีภาพทางสังคมและการเมืองด้วยหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าหมายถึงเสรีภาพทางสังคมและการเมือง “แบบสมัยใหม่” พุทธะย่อมไม่ได้ยืนยัน แต่ตามข้อมูลในไตรปิฎกและอรรถกถาเราพบได้ว่าพุทธะยืนยันเสรีภาพใน “บริบท” ของสังคมและการเมืองแบบอินเดียโบราณ ที่เห็นได้ชัดคือยืนยันว่าคนทุกวรรณะมีเสรีภาพในการใช้ปัญญาของตนเองเรียนรู้และบรรลุธรรมได้เท่าเทียมกัน การยืนยันเช่นนี้ย่อมมีความหมายสำคัญต่อคนยุคนั้นที่เชื่อกันว่า “ธรรม” เป็นทั้งสิ่งกำหนดชนชั้นวรรณะ หน้าที่ของคนในแต่ละชนชั้น ระเบียบการปกครอง ความสัมพันธ์ทางสังคม ครอบครัว ศิษย์อาจารย์ เส้นทางชีวิต กระทั่งความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ  

ขณะที่ศาสนาพราหมณ์ยุคนั้นห้ามพวกจัณณฑาลและพวกศูทรศึกษาพระเวทย์ แต่พุทธะสร้างชุมชนสังฆะรับคนทุกวรรณะและคนนอกวรรณะมาศึกษาธรรมได้เท่าเทียมกัน ในทางการเมืองพุทธะเสนอว่าผู้ปกครองที่ดีต้องไม่ใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจ แต่ต้องใช้ธรรมะปกครองให้ยุติธรรม ซึ่งเป็นการเสนอความคิดที่ต้องการให้การปกครองแบบโบราณลดการใช้อำนาจกดขี่ตามอำเภอใจของผู้ปกครอง แต่ข้อเสนอ “ในทางทฤษฎี” เช่นนี้จะใช้ได้ผลจริง “ในทางปฏิบัติ” หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทว่าข้อเสนอเช่นนี้ก็สะท้อนเจตนารมณ์ของพุทธะที่อยากเห็นสังคมและการเมืองในยุคนั้นดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองว่าพุทธะคือผู้นำทางความคิดคนหนึ่งในบริบทสังคมอินเดียโบราณ ความคิดหรือคำสอนของพุทธะก็คือความคิดหรือคำสอนที่ก่อเกิดขึ้นภายใต้บริบททางความคิด ความเชื่อ หรือภูมิปัญญาในยุคนั้น และเป็นความคิดหรือคำสอนที่มุ่งตอบปัญหาชีวิตและสังคมการเมืองในยุคนั้นด้วย ยุคหลังพุทกาลในอินเดีย จนกระทั่งพุทธศาสนามาศรีลังกา พม่าไทยและที่อื่นๆ ความคิดหรือคำสอนพุทธะก็ถูกตีความเข้ากับบริบทสังคมนั้นๆ ผ่านวันเวลายาวนาน แม้เราจะพบว่ามีคัมภีร์บันทึกคำสอนของพุทธะที่ตกทอดต่อๆ มา แต่การตีความและปรับใช้คำสอนในบริบทสังคมหนึ่งๆ ในแต่ละช่วงเวลา ก็อาจจะไม่ตรงตามเนื้อหาคำสอนที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ นานา

เช่น คำสอนคุณธรรมผู้ปกครองในคัมภีร์ เมื่อว่าโดย “เนื้อหา” หรือสาระสำคัญก็ชัดเจนว่าเป็นคุณธรรมที่มุ่งขัดเกลาหรือควบคุมการใช้อำนาจของผู้ปกครองไม่ให้ใช้อำนาจบาตรใหญ่ตามอำเภอใจ หรือไม่ให้ใช้อำนาจอย่างอยุติธรรม กดขี่ เบียดเบียน และใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน แต่เมื่อนำมาใช้จริงในระบอบราชาธิปไตย คุณธรรมผู้ปกครองอย่างทศพิธราชธรรมและอื่นๆ กลับกลายเป็นเพียง “คุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ” ที่ใช้สรรเสริญสดุดีและให้ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจเด็ดขาดและตรวจสอบไม่ได้ของชนชั้นปกครองเท่านั้น ทั้งนี้เพราะอำนาจในการตีความและปรับใช้คุณธรรมจากคำสอนพุทธะอยู่ในมือชนชั้นปกครองและ “พระราชาคณะ” รวมทั้งนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่มีหน้าที่รับใช้ชนชั้นปกครองเป็นด้านหลัก

กรณีชนชั้นนำยุค ร.4 เสนอว่า “พุทธศาสนาคือศาสนาแห่งเหตุผล” ที่มีแก่นคำสอนสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ใช่เสนอบนจุดยืน “อิสรภาพทางปัญญา” หรือเพื่อยืนยันเสรีภาพในการใช้ปัญญาแสวงหาความจริงตามหลักกาลามสูตร แต่เป็นการเสนอบนจุดยืนที่มุ่งโต้แย้งคำวิจารณ์ของบาทหลวงและมิชชันนารีที่วิจารณ์ความเชื่อแบบไตรภูมิพระร่วงว่างมงาย จึงต้องโชว์ความเหนือกว่าของ “แก่นคำสอน” ในไตรปิฎกว่ามีเหตุผลสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์มากกว่าความเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกของศาสนาคริสต์ แต่ขณะเดียวกันก็โชว์ความเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ด้วยข้อโต้แย้งที่ว่าวิทยาศาสตร์ให้ได้แค่ “ความจริงทางโลก” ที่ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริง ส่วนพุทธศาสนาให้ “ความจริงเหนือโลก” หรือ “โลกุตตรธรรม” ที่เป็นทางพ้นทุกข์ได้จริง นี่คือความคิดที่เป็นรากฐานของ “ศาสนาเปรียบเทียบ” ที่มุ่งแสดง “ความเหนือกว่า” ของพุทธศาสนา ที่ทั้งเหนือกว่าศาสนาอื่นๆ และเหนือกว่าวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันการอ้างว่า “พุทธศาสนาคือศาสนาแห่งเหตุผล” ส่วนหนึ่งก็ยังคงสืบทอดประเพณีโชว์ความเหนือกว่าของพุทธศาสนาจากยุค ร.4 แต่เตลิดไปไกลกว่า เพราะอย่างน้อยยุค ร.4 ยังไม่นิยมอ้างศาสนาแห่งเหตุผลดูถูกโหราศาสตร์ เพราะ ร.4 เองก็สนใจศึกษาโหราศาสตร์ขณะที่บวชพระ และเริ่มสนใจความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งเข้ามาในยุคอาณานิยม แต่ยุคปัจจุบันไม่ได้อ้างกันแค่ว่าแก่นคำสอนพุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์เท่านั้น ยังมีการอ้างด้วยว่า “พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์” หรือ “การปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพานเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต” หรือเสนอว่า “พุทธศาสนาคือรากฐานของวิทยาศาสตร์” เป็นต้น ขณะเดียวกันก็นิยมอ้างศาสนาแห่งเหตุผลดูถูกโหราศาสตร์ และความเชื่อผี พราหมณ์แบบบ้านๆ ทั่วไปมากขึ้น ส่วนความคิดพื้นฐานศาสนาเปรียบเทียบ ก็ยังมุ่งโชว์ความเหนือกว่าของพุทธศาสนาแบบยุค ร.4 แม้กระทั่งในกาเรียนการสอน “พุทธปรัชญา” ก็ไม่วายที่จะอ้างว่าพุทธปรัชญาเหนือกว่าปรัชญาตะวันตก เพราะเป็นปรัชญาที่เสนอทางปฏิบัติให้พ้นทุกข์ได้จริง

ที่น่าประหลาดใจคือ การเน้นศาสนาแห่งเหตุผลในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ยืนยันเสรีภาพในการใช้เหตุผลหรือปัญญาแสวงหาความจริง สังคมสงฆ์และชาวพุทธในบ้านเราจึงขาดวัฒนธรรมเคารพและปกป้องเสรีภาพ ไม่มีกลุ่มพระสงฆ์และชาวพุทธเคลื่อนไหวเรียกร้องให้คณะสงฆ์มีอิสรภาพปกครองตนเองจาก “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” ไม่มีการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของพระเณร และสิทธิของพระเณรในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยร่วมกับประชาชนก็ถูกปิดกั้นโดยอำนาจมหาเถรสมาคม ตรงกันข้าม กลับมีกลุ่มพระสงฆ์และชาวพุทธเรียกร้องให้มีกระทรวงพุทธศาสนา ให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่งสวนทางกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาของรัฐประชาธิปไตยโลกวิสัย

เมื่อยืนยัน “ศาสนาแห่งเหตุผล” แต่ไม่ยืนยันเสรีภาพในการใช้เหตุผลหรือปัญญาแสวงหาความจริง พุทธศาสนาไทยจึงรับใช้อำนาจชนชั้นปกครองที่ขัดหลักเสรีภาพอย่างเอาการเอางาน นิยมอ้างคำสอนพุทธะอวยอำนาจชนชั้นปกครองที่ตรวจสอบไม่ได้ ขณะเดียวกันก็อ้างคำสอนพุทธะวิจารณ์ตรวจสอบความเชื่อแบบบ้านๆ ไปทั่วอย่างขาดความเคารพและอดกลั้นต่อความคิดความเชื่อที่แตกต่าง

พูดอีกอย่างคือ ขณะที่พุทธะเดินบนเส้นทางอิสรภาพทางปัญญา และต่อสู้เพื่อปลดปล่อยให้ปัจเจกบุคคลและสังคมมีเสรีภาพภายในบริบทสังคมอินเดียโบราณ แต่พุทธศาสนาไทยที่อยู่ในบริบทสังคมสมัยใหม่ที่ประชาชนเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย กลับเป็นพุทธศาสนาที่สนับสนุนอำนาจที่ขัดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย หรือเป็นพุทธศาสนาของผู้หลับใหลไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่ามีเพื่อนร่วมสังคมกลายเป็น “นักโทษทางความคิด” คนแล้วคนเล่าภายใต้อำนาจชนชั้นปกครองที่พุทธศาสนาไทยสนับสนุนตลอดมา

ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีพระบางรูปบางกลุ่มออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแก่นักโทษทางความคิดเหล่านั้น พวกเขากลับถูกมองว่าไม่ใช่พระแท้ กระทั่งมีการใช้ “กฎหมายห้ามแต่งกายเลียนแบบสงฆ์” กดปราบ ดังที่กระทำต่อสมณะดาวดินที่อดอาหารประท้วงให้ปล่อยนักโทษ 112 เป็นต้น


พระเล็กพระน้อยที่ออกมายืนยัน “เส้นทางอิสรภาพทางปัญญาแบบพุทธะ” เพื่อเรียกร้องเสรีภาพแก่นักโทษทางความคิดกลับไม่ได้รับความสนใจจากชาวพุทธส่วนใหญ่
ที่มาภาพ https://www.ilaw.or.th/articles/21907


สุดท้ายแล้วการอ้างศาสนาแห่งเหตุผลในปัจจุบัน ก็แค่อ้างเพื่อทะเลาะหรือสร้างดราม่า “ฟาด” กันเองในบรรดา “กูรูพุทธ” ว่าใครสอนถูกสอนผิดตามคำสอนที่มีเหตุมีผลในไตรปิฎกมากกว่า แต่ไม่เคยถกเถียงประเด็นที่ก้าวหน้ากว่าว่าชาวพุทธไทยจะนำคำสอนที่มีเหตุผลของพุทธะมาสนับสนุนให้สังคมมีอิสรภาพทางปัญญาจากอำนาจที่ขัดหลักเสรีภาพได้อย่างไร หรือจะนำคำสอนที่มีเหตุผลนั้นมาช่วยให้ระบบการปกครองสงฆ์และสังคมไทยปรับตัวอย่างสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร เป็นต้น

ผมคิดว่าการยกระดับการถกเถียงเช่นนี้ น่าจะสอดคล้องกับเส้นทางอิสรภาพทางปัญญาแบบพุทธะมากกว่า เพราะในเมื่อพุทธะใช้เส้นทางอิสรภาพทางปัญญาเสนอเป็นทางหลุดพ้นจากปัญหาชนชั้นวรรณะในบริบทสังคมอินเดียโบราณ ชาวพุทธไทยก็ควรประยุกต์ใช้เส้นทางอิสรภาพแบบพุทธะสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมในบริบทสังคมสมัยใหม่ มากกว่าที่จะอ้างศาสนาแห่งเหตุผลมาฟาดกันเองจนกลายเป็นดราม่าเป็นพักๆ อย่างที่เป็นมายาวนาน

 

ที่มาภาพ: https://www.barnebys.co.uk/blog/how-greek-art-influenced-buddhist-representations

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net