Skip to main content
sharethis

'เรืองไกร' ส่ง EMS จี้ ป.ป.ช. ไม่ต้องไต่สวนหาข้อเท็จจริงใหม่ เร่งส่งศาลวินิจฉัยกรณี 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล ลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ผิดจริยธรรมหรือไม่ หลังเมื่อวานนี้ (7 ส.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิการเมือง กก.บห. 10 ปี 

 

8 ส.ค. 2567 เว็บไซต์เดอะ สแตนดาร์ด รายงานวันนี้ (8 ส.ค.) ระบุว่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดทางไปรษณีย์ ‘EMS’ เพื่อขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รีบดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ด้วยการขอคัดสำเนาคำวินิจฉัยและสรรพเอกสารในสำนวนคดีทั้ง 2 จากศาลรัฐธรรมนูญมาถือเป็นพยานหลักฐานในสำนวนไต่สวนของ ป.ป.ช. ตามนัยมาตรา 235 วรรคหนึ่ง ประกอบนัยมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) และรีบส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ต่อไปว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอดีตพรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ในหนังสือของเรืองไกร ได้หยิบยกกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล โดยใช้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มาเป็นสาระสำคัญด้วย ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ส่วนหนึ่งว่า “พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์…” ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 ในคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ดังกล่าวคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

แต่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20 คน ดังนั้นการร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำโดยลำพังเฉพาะตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนแต่อย่างใด การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 44 คน ที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว จึงควรต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรมในคราวเดียวกันไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้นการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์… ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันองค์กรอิสระด้วย ตามนัยมาตรา 211 วรรคสี่ กรณีการร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์… นั้น จึงเป็นพฤติการณ์ร้ายแรงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคสาม ยังระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง" และ ป.ป.ช. ต้องทราบดีว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวผูกพัน ป.ป.ช. และใช้ได้ในคดีทั้งปวงที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.

กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ด้วยการรีบส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ต่อไปว่า กรณีข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 วันที่ 31 ม.ค. 2567 และในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 จะเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่

เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 บัญญัติว่า การพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวน… และมาตรา 76 บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่าน ดังนั้นโดยผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 และตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 ซึ่งใช้ระบบไต่สวนและมีผลในวันอ่าน ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้ว ย่อมเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพัน ป.ป.ช. ทำให้ ป.ป.ช. หาจำต้องไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่แต่อย่างใด

ป.ป.ช.แจงอยู่ระหว่างการไต่สวน

ในวันเดียวกัน สื่อ The reporters รายงานว่า เอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาคดีสอบจริยธรรม 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกลลงชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

นิวัติไชย เปิดเผยว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีพยานหลักฐานเบื้องต้นตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการจึงมีมติสั่งไต่สวนแล้วทั้ง 44 คน ส่วนข้อเท็จจริงอยู่ระหว่างการไต่สวน แต่ยังไม่ได้ให้ผู้ต้องหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ส่วนกรอบเวลาคงไม่ยาว พอข้อเท็จจริงปรากฏน่าจะครบ อยู่ที่การวินิจฉัยเรื่องข้อกฎหมายถึงเจตนา

ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นเป็นหลักฐานแนบมาด้วย อาจจะเป็นข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรม แต่ต้องให้คณะกรรมการไต่สวนไปพิจารณา ตนเองขอไม่ก้าวล่วง ขณะที่เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไปยื่นหนังสือขอให้ ป.ป.ช.ไม่จำเป็นต้องไต่สวน เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วนั้น เรื่องการให้ความเป็นธรรมอยู่ที่ข้อกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ต้องจบที่ชั้นศาล ซึ่งศาลต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา ดังนั้น การให้ความเป็นธรรมขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หากใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็อาจไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา และขณะนี้พยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วนตามข้อกฎหมาย โดยคำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกองค์กรหรือไม่นั้นก็ต้องไปดูว่าผูกพันเรื่องอะไร

ด้าน เอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เนื่องจากมีผู้ถูกกล่าวหาหลายราย แต่ละรายมีข้อเท็จจริงต่างกัน การไต่สวนจึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องให้ข้อเท็จจริงทั้งที่มีคุณและโทษ เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงได้เต็มที่ กระบวนการยุติธรรมรวบรัดไม่ได้ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ซึ่งคณะกรรมการก็ดำเนินการอยู่ ไม่ได้ล่าช้า แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะแต่ละคนอาจเกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน ยืนยันว่าไม่ได้ละเลย ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นข้อที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา แต่ต้องพิจารณาทุกแง่มุม ทั้งข้อเท็จจริงและกฎหมาย ยืนยันว่าเราทำงานไม่มีอคติ อยู่บนข้อเท็จจริงและกฎหมาย ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จะให้รวดเร็วได้ดั่งใจไม่ได้ การล่าช้าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม แต่ถ้ารวบรัดเกินไป ความเป็นธรรมก็ไม่เกิด

โดยกรอบเวลาในการดำเนินการ ต้องดูหลักฐานของแต่ละราย ในการจะเชิญแต่ละคนมา บางคนก็ติดธุระ มาไม่ตรงตามเวลาที่เรานัด รวมถึงการขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ อาจจะยังไม่ได้รับ ตนเองยืนยันว่าดำเนินการไปตามทุกขั้นตอน ไม่มีใบสั่งจากไหน หรือเข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใด เราอยู่ในฝั่งที่เป็นกลาง และให้โอกาสทุกฝ่าย "ไม่มีใบสั่งทางการเมือง ไม่มีใครมาสั่งผมได้" 

ทั้งนี้ การเสนอแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ถือว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ นิวัติไชย กล่าวว่า หากเป็นความผิดทางอาญา ก็อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง ส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอาผิดทางการเมือง ตนคิดว่าอยู่ที่ข้อเท็จจริงและหลักฐานมากกว่า เชื่อว่าประชาชนและสื่อมวลชนตรวจสอบได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net