Skip to main content
sharethis

ข่าวการเมืองที่ร้อนแรงระหว่างความไม่ลงรอยกันของพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสัปดาห์นี้จุดแตกหักระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐก็มาถึง แต่ก็ได้ประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาลจนทั้ง 2 พรรคถูกวิจารณ์จากกองเชียร์ตัวเอง อย่างไรก็ตาม “เรืองไกร” นักร้องชื่อดังก็เริ่มไปร้องเรียนบรรดาองค์กรอิสระให้มาตรวจสอบ “อุ๊งอิ๊ง” พร้อมบอกว่าหลังจากนี้จะไล่ตรวจสอบ รมต.ทุกคน ไปจนถึงมีคนที่ถูกระบุว่าเป็น “มือมืด” ไปร้องยุบพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

เพื่อไทยตัด พปชร.จากพรรคร่วม แต่ พปชร.ยังไม่ตัด “ธรรมนัส”

หลังจากประเด็นความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐเมื่อสัปดาห์ก่อนระหว่างธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคหลังจากพล.อ.ประวิตรให้ข่าวเรื่องเสนอชื่อรัฐมนตรีตามโควตาของพรรคไปให้พรรคเพื่อไทยพิจารณาโดยไม่มีชื่อของธรรมนัส จนธรรมนัสประกาศแยกตัวพร้อมกับปรากฏชื่อ สส.พลังประชารัฐในกลุ่มมากถึง 26 คนบวกจากพรรคเล็กอีก 5คน จนเกิดประเด็นในสื่อต่างๆ ว่าว่าพรรคเพื่อไทยจะเอาฝ่ายไหนมาร่วมรัฐบาลไปจนถึงว่าทำได้หรือไม่

ผ่านไป 1 สัปดาห์กลายเป็นว่าเรื่องจะเอาฝ่ายไหนมาร่วมรัฐบาลก็ดูจะไม่ต้องถามแล้วเพราะทั้ง สส.ในพรรคเพื่อไทยไปจนถึงกรรมการบริหารพรรคก็มีมติไม่เอาพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมเป็นรัฐบาลด้วย โดยเหตุผลตามข่าวก็คือเรื่องที่ไม่พอใจพฤติกรรมของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไม่ยอมมาร่วมโหวตแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยถึง 2 ครั้ง(แม้ว่า สส.ในพรรคจะมาโหวตให้) ไปจนถึงเรื่องที่เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ถูกร้องเรียนผิดจริยธรรมร้ายแรงจนหลุดตำแหน่ง

หลังพรรคพลังประชารัฐหลุดจากรัฐบาล  พล.อ.ประวิตรก็เรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคเมื่อ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา และหลังการประชุม ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พร้อมกรรมการบริหารพรรคก็แถลงข่าวว่าพรรคได้มีสัญญาประชาคมร่วมกับแพทองธารว่าจะร่วมโหวตนายกฯ และให้พรรคพลังประชารัฐมีเก้าอี้ รมต.ตามสัดส่วนเดิม เมื่อ สส.ทั้ 39 คนโหวตให้ตามสัญญาเว้นแต่พล.อ.ประวิตรที่ติดภารกิจ นายกฯก็ต้องดำเนินการตามคำมั่นนั้น

ในการแถลงข่าวของไพบูลย์ได้ยกถึงข้อกฎหมายเรื่องบุคคลที่ให้คำมั่นว่าจะให้ร่างแก่ผู้กระทำตามคำมั่นนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 362 ด้วย และบอกว่าถ้าสื่อจะห่วงควรห่วงนายกฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา อาจถูกวิจารณ์ว่าขาดความซื่อสัตย์สุจริต เพราะเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ตนพูดเรื่องกฎหมายไม่ได้จะส่งสัญญาณอะไรอ้างอิงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 14 ส.ค.2567 แต่พรรคพลังประชารัฐไม่ได้จะไปฟ้องอะไรเพียงแต่ศาลได้วางบรรทัดฐานไว้แล้วเมื่อมีคำมั่นแต่ไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกสังคมครหา

ส่วนเรื่องสถานะของธรรมนัสในพรรค ไพบูลย์ได้ตอบเรื่องนี้ด้วยว่าในการประชุมใหญ่สามัญของพรรคครั้งหน้ายังไม่มีวาระขับกลุ่มของธรรมนัสออกจากพรรค ส่วนนายกฯ จะตั้งธรรมนัสเป็น รมต.หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องในพรรคคนอื่นไม่ต้องการให้เกี่ยว ยังเป็นครอบครัวเดียวคุยกันได้อย่างมีความสุข

เพื่อไทยดึง ปชป.เข้าร่วมรัฐบาล จนโดนวิจารณ์ว่าจับมือพรรคมือเปื้อนเลือด

นอกจากพรรคเพื่อไทยจะมีมติไม่ให้พรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล ยังบอกว่าจะส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลแทน ทำให้ทางประชาธิปัตย์เริ่มเกิดความเห็นต่างกันภายในพรรคทั้งจากแกนนำพรรครุ่นเก่าอย่างชวน หลีกภัยที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย กับทางฝ่ายบริหารพรรครุ่นใหม่กว่าที่แบ่งรับแบ่งสู้ว่าถ้ามีเทียบเชิญมาต้องเป็นมติที่ประชุม

ในที่สุดคืนวานนี้ ในการประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์และที่ประชุมร่วมของ สส.ประชาธิปัตย์ก็มีมติ 43-4 เสียง ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล พร้อมกับให้เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากได้โควตารัฐมนตรีมา 2 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่พรรคเพื่อไทยยอมให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลก็กลายเป็นประเด็นที่ทำให้พรรคเพื่อไทยถูกวิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นการไปจับมือกับพรรคการเมืองที่เคยเกี่ยวข้องกับการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช.เมื่อปี 2553 ซึ่งมวลชนในเวลานั้นก็คือเป็นทั้งฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ไปจนถึงคนที่ชื่นชอบการบริหารประเทศของทักษิณ

แม้ว่าปฏิบัติการสลายชุมนุมโดยทหารครั้งนั้นจะทำในนามของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่มีทั้งสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในเวลานั้น และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่นั่งกันอยู่ในกรรมการ แต่ ศอฉ. ก็ถูกตั้งขึ้นมาภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีฉายาว่ารัฐบาลจากค่ายทหารและการเป็นรัฐบาลจากค่ายทหารนี้ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้ นปช.มาเรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ด้วย

แต่นอกจากเสียงวิจารณ์ที่เกิดกับทั้งสองพรรค คนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้ทุกคน ที่นอกจากจะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการไปร่วมรัฐบาลของพรรคอย่างเช่น ชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคที่ออกมาพูดเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มมีข่าวเรื่องนี้ ไปจนถึงทำให้มีสมาชิกพรรคประกาศลาออกไปแล้ว 2 คน ทั้งสมาชิกเก่าแก่ที่อยู่มา 30 ปีอย่างศิริโชค โสภาไปจนถึงพงศกร ขวัญเมือง

เสรีรวมไทยลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานอกจากเรื่องของ ปชป.และ พปชร. แล้วยังมีข่าวลือว่าพรรคเสรีรวมไทยก็จะลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เนื่องจากพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรครู้สึกน้อยใจที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยไม่ให้ความสำคัญแม้ว่าจะยกมือโหวตนายกฯ ให้มาตลอดแม้ว่าจะมีเพียง 1 เสียงในสภา และเมื่อวานนี้เสรีพิสุทธิ์ก็ออกมาแถลงข่าวยืนยันถึงเรื่องนี้

แต่ไม่ใช่แค่เรื่องพรรคจะออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล อีกประเด็นที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ออกมาเปิดเผยและสำคัญไม่แพ้กันคือการเปิดภาพแค๊ปจอหน้าแชทไลน์ที่คุยกับบุคคลหนึ่งถึงการนัดแนะเข้าเยี่ยมทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 ขณะที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเรือนจำพิเศษกรุงเทพในระหว่างการรับโทษคดี 3 คดีและในเดือนมกราคม 2567 มีข้อความที่พูดถึงเรื่องการส่งหนังสือขอถอนการร้องเรียนเรื่องที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เคยไปร้องเรียน ป.ป.ช.กรณี เศรษฐา ทวีสินตั้ง ผบ.ตร.ด้วย

“อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯ 2 สัปดาห์แต่โดนร้องสารพัดเรื่อง

ในขณะที่แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาแค่ 2 สัปดาห์และยังต้องไปลงพื้นที่น้ำท่วม พร้อมไปกับความวุ่นวายในการจัดการกับพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย อย่างการมีมติไม่ให้พรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล

หลังพรรคเพื่อไทยมีมติไม่ทันไร เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก็ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ตรวจสอบว่าแพทองธารได้ลาออกจากกรรมการบริษัทในเครือชินวัตรทั้ง 20 บริษัทก่อนรับตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ แม้ว่าเรื่องนี้ทางแพทองธารจะออกให้ข่าวแล้วว่าได้ลาออกมาแล้ว แต่เรืองไกรก็ยังคงมีการทำหนังสือถึงแพทองธารให้ชี้แจงพร้อมหลักฐานเรื่องนี้อีก

แต่ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก่อนหน้านี้เรืองไกรยังได้ร้องไว้อีกเรื่องคือ ร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบแพทองธารในฐานะเป็นประธานโครงการ Soft Power ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐได้ใช้เงิน 5 พันล้านไปโดยไม่ชอบหรือไม่ และยังมีอีก 2 เรื่องที่เขาให้ข่าวไว้ว่าจะเตรียมตรวจสอบจริยธรรมอีกคือ กรณีเป็นผู้ถือหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ที่อยู่บนที่ดินบริจาคของวัดและกรณีข้อสอบเอนทรานซ์รั่วเมื่อปี 2547 ไม่เพียงเท่านี้ เรืองไกรยังกล่าวด้วยความมั่นใจว่าหลังจากนี้จะไล่ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีทุกคนและเชื่อว่าตัวเองทำได้ดีกว่าฝ่ายตรวจสอบคุณสมบัติในตอนนี้

แต่นอกจากคดีที่อาจจะเกิดกับแพทองธารแล้ว ก็มีข่าวว่ามีคนที่ในหน้าสื่อเรียกว่าเป็น “มือมืด” ไปยื่นร้องยุบพรรคเพื่อไทยกับ กกต.เพื่อให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคด้วยข้อกล่าวหาว่าทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรคโดยในคำร้องยกมาทั้งเรื่องที่เศรษฐาตั้งพิชิต ชื่นบานเป็นรัฐมนตรีจนเป็นเหตุให้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนจากการเป็นนายกฯ หรือการที่แพทองธารมีพ่อเป็นทักษิณทำให้ชี้นำได้อย่างไม่ติดขัด เป็นต้น

ด้วยสถานการณ์ความวุ่นวายในการหาแนวร่วมรัฐบาลใหม่ของแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย และยังต้องเผชิญกับนักร้องเรียนในหลายเรื่องที่มีอยู่แล้วตอนนี้และอาจจะกำลังตามมาจนถูกนำมาใช้เล่นงานได้ในอนาคต จึงอาจเป็นเรื่องน่ากังวลถึงเสถียรภาพทางการเมืองไทยหลังจากนี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net