Skip to main content
sharethis

ชาวบ้าน อ.กรงปินัง จ.ยะลา ค้านโครงการประตูน้ำกั้นแม้น้ำปัตตานี ชี้ทำลายระบบนิเวศน์ลำน้ำ วิถีธรรมชาติและการดำรงอยู่ของชุมชน - ส่วนที่ปัตตานีระบบส่งน้ำทรุดโทรมหนัก กรมชลฯ ทุ่มงบ 1.7 หมื่นล้านปรับปรุง

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2567 ชาวบ้านรือเป ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา และใกล้เคียง ร่วมกันยกมือแสดงการคัดค้านโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกรงปินังกั้นแม้น้ำปัตตานีในพื้นที่ ต.กรงปินัง ของกรมชลประทาน ในเวทีประชาคม ประชาชนกำหนดตนเองโครงการประตูกั้นน้ำด้วยคอนกรีตขนาดใหญ่กรงปินัง จัดโดยเครือข่ายพิทักษ์สายน้ำปัตตานีร่วมกับตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีเครือข่ายด้านสิ่งแวดแวดล้อมในพื้นที่เข้าร่วมหลายกลุ่ม แต่ไม่มีมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม แม้มีการเชิญไปแล้วก็ตาม

โครงการนี้กรมชลประทานมีแผนจะก่อสร้างในปี 2570 ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้วเมื่อปี 2566 โดยในเวทีเห็นว่า ที่ผ่านมากระบวนการจัดทำรายงาน EIA ไม่โปร่งใส่ ไม่ตรงไปตรงมา การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึงและไม่ครอบคลุม ทางตัวแทนเครือข่ายพิทักษ์สายน้ำปัตตานีจึงได้ยื่นหนังสื่อคัดค้านไปยังสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 16 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน

โดยในเวทีมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวบ้านในการพึ่งพาสายน้ำ รวมถึงข้องกังวลต่างๆ ต่อผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้นหากมีการดำเนินโครงการ นอกจากนี้มีตัวแทนของมูลนิธิภาคใต้สีเขียวได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทเรียนต่างๆ จากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของภาคใต้ที่เทียบจะไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่ใช้คอนกรีต

เครือข่ายสายน้ำปัตตานี ขอให้ยกเลิกโครงการ

จากนั้นทางชาวบ้านและเครือข่ายสายน้ำปัตตานีได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ โดยสรุประบุว่า โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสร้างเขื่อนบางลางและเขื่อนปัตตานี ที่ได้สร้างความเสียหายมากมายต่อระบบนิเวศน์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนแม่น้ำปัตตานีตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ความพยายามบริหารจัดการน้ำโดยรัฐ พิสูจน์แล้วว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำที่สร้างความเสียหายต่อสายน้ำธรรมชาติ และส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและวิถีวัฒนธรรม

การสร้างเขื่อนหรือประตูระบายน้ำเป็นการใช้โครงสร้างที่ไม่สอดคล้องต่อระบบนิเวศน์สายน้ำ เช่น การใช้คอนกรีตกั้นสายน้ำ ถือเป็นการพันธนาการสายน้ำ เป็นการทำลายนิเวศน์ลำน้ำ วิถีธรรมชาติของน้ำ และการดำรงอยู่ของชุมชนที่ยึดโยงกับสายน้ำ ดังนั้นทางเครือข่ายสายน้ำปัตตานีจำเป็นต้องปกป้องแม่น้ำปัตตานีและคัดค้านโครงการการจัดการน้ำโดยรัฐที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลความรู้ทางนิเวศน์ ความมั่นคงของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระบวนการขาดการมีส่วนร่วมในการออกแบบของประชาชน

ความพยายามดำเนินโครงการนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของชุมชนและวิถีธรรมชาติของสายน้ำ ทำให้ชุมชนกังวลถึงผลกระทบต่อสิทธิความเป็นเจ้าของในการเข้าถึงน้ำอย่างอิสระ ในฐานะเครือข่ายปกป้องแม่น้ำปัตตานี ขอเรียกร้องให้กรมชลประทานยกเลิกโครงการประตูกั้นน้ำด้วยคอนกรีตขนาดใหญ่ในพื้นที่กรงปีนังนี้เสีย

ลักษณะโครงการ

สำหรับเอกสารโครงการประตูระบายน้ำกรงปินัง ระบุลักษณะโครงการ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ ได้แก่ ทำนบหินปิดลำน้ำเติม กว้าง 8 8 เมตร สูง 8 เมตร ยาว 80 เมตร

ระบบส่งน้ำชลประทานฝั่งซ้าย ชนิดคลองส่งน้ำคอนกรีตรูปตัวยู ความยาวรวม 44.50 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำได้ 2.06 ลบ.ม./วินาที พื้นที่ชลประทาน 20,600 ไร่

ระบบส่งน้ำฝั่งขวา ประกอบด้วย 
(1) คลองส่งน้ำคอนกรีตรูปตัวยู ความยาว 19.35 กม. สามารถส่งน้ำได้ 1.91 ลบ.ม/วินาที พื้นที่ชลประพาน 7,270 ไร่ 
(2) ท่อส่งน้ำส่วนที่ 1 ความยาว 21.25 กม. สามารถส่งน้ำได้ 1.07 ลบ.ม./วินาที พร้อมสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง พื้นที่ชลประทาน 10,470 ไร่
(3) ท่อส่งน้ำส่วนที่ 2 ความยาว 27.60 กม. สามารถส่งน้ำได้ 1.18 ลบ.ม./วินาที พร้อมสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง คิดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง พื้นที่ชลประทาน 11,845 ไร่

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ชนิด Screw Turbine กำลังผลิต 1,000 kW จำนวน 1 แห่ง

ระบบส่งน้ำปัตตานีทรุดโทรมหนัก กรมชลฯ ทุ่มงบ 1.7 หมื่นปรับปรุง

ส่วนที่ จ.ปัตตานี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 กรมชลประทานได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจรเพื่อรับฟังสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ที่ห้องประชุมโครงการฯ ม.4 ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา โดยมี นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธาน

เนื่องจากกรมชลประทานมีแผนจะดำเนินงานปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานีทั้งระบบ ได้แก่ หัวงานเขื่อนปัตตานี อ่างเก็บน้ำ อาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน คลองระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่งน้ำชลประทาน ระบบกระจายน้ำ อาคารประกอบต่างๆ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในช่วงน้ำท่วม การขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่โครงการทั้งหมด 9 อำเภอ 89 ตำบลใน จ.ปัตตานีและยะลา 691,820 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน 385,622 ไร่

โดยมอบหมายให้ 4 บริษัทที่ปรึกษา พร้อมผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 คน ทำการศึกษาตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. - 29 ส.ค. 2567

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2511 เสร็จปี 2537 หลังจากใช้งานมานาน องค์ประกอบต่างๆ เสื่อมสภาพลง แม้ในปี 2544-2546 ได้ศึกษาและปรับปรุงโครงการมาต่อเนื่องแต่ก็ยังประสบปัญหาอยู่ ทั้งการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง การกระจายน้ำผ่านคลอง/คูส่งน้ำที่ชำรุดทรุดโทรม การระบายน้ำท่วมมีศักยภาพไม่เพียงพอ ระบบชลประทานและอาคารชำรุด มีการสูญเสียน้ำมาก ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่เกษตร และอัตรากำลังไม่เพียงพอจะดูแลให้มีประสิทธิภาพ

นายไพรัตน์ วีรุตมเสน ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ในเขตพื้นที่โครงการฯ มีแม่น้ำปัตตานีเป็นทางระบายน้ำหลักออกสู่ทะเล มีคลองตุยง คลองระบายน้ำ D8 และคลองระบายน้ำ D9 ที่ช่วยแบ่งน้ำระบายออกสู่ทะเล มีประตูระบายน้ำควบคุมปริมาณน้ำในคลองไม่ทำให้เกิดน้ำท่วม มีชุมชนสำคัญคือ เทศบาลเมืองปัตตานี เทศบาลตำบลหนองจิก และชุมชนขนาดเล็กริมแม่น้ำปัตตานีและคลองสาขา

โดยปกติประตูระบายน้ำของเขื่อนปัตตานีจะระบายน้ำหลากได้สูงสุดไม่เกิน 750 ลบ.ม./วินาที แต่ถ้ามีปริมาณน้ำหลากมากกว่านี้ น้ำส่วนเกินจะผ่านทางระบายน้ำล้นไปรวมกับปริมาณน้ำที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำ เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำปัตตานีตอนล่าง

นายไพโรจน์ แซ่ด่าน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี กล่าวว่า หลังจากมีการส่งมอบผลการศึกษาโครงการฯ กรมชลประทานพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และดำเนินการก่อสร้างภายในเวลา 5-10 ปี พร้อมทุ่มงบ 17,000 ล้านบาท ดำเนินการแก้ปัญหาทุกด้าน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net