Skip to main content
sharethis

ฮิวแมนไรท์วอทช์เปิดเผยเรื่องที่กองทัพเผด็จการพม่าก่อเหตุอุ้มหายประชาชนหลายร้อยคนหลังจากที่มีการรัฐประหาร โดยมีการจับกุมคนโดยไม่เปิดเผยว่าคุมขังไว้ที่ใดและปฏิเสธการเข้าถึงทนาย ซึ่งนับว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้สหประชาชาติยังแถลงการณ์ประณามการสังหารประชาชนที่เกิดขึ้นจากน้ำมือเผด็จการ แต่จีนกลับเสนอให้ใช้คำที่เบาลงและตัดเรื่อง "การดำเนินการในขั้นถัดไป" ออก

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์เปิดเผยว่าทางการพม่าทำการอุ้มหายหรือบังคับให้สูญหายต่อประชาชนหลายร้อยคนนับตั้งแต่ที่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งการจับกุมคุ้มขังนักการเมือง, นักข่าว, นักกิจกรรม และผู้ประท้วง โดยไม่ยอมบอกที่อยู่ของพวกเขาหรือให้พวกเขาเข้าถึงทนายความหรือพูดคุยกับสมาชิกครอบครัวได้เช่นนี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติ

ฮิงแมนไรท์วอทช์ระบุว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงพม่าจับกุมประชาชนจำนวนมากที่ต้องสงสัยว่าจะเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในช่วงบุกรุกจับกุมคนตามบ้านต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในตอนนี้กลุ่มเอ็นจีโอและสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเปิดเผยว่ามีผู้ถูกจับกุมอยู่มากกว่า 2,500 ราย ที่สามารถระบุตัวได้

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าการที่เผด็จการทหารพม่าทำการกวาดต้อนจับกุมประชาชนโดยพลการไปทั่วเช่นนี้มีเป้าหมายต้องการสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร อดัมส์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกทำให้หายสาบสูญเหล่านี้ทันที รวมถึงให้มีการคว่ำบาตรต่อกลุ่มผู้นำเผด็จการทหารไปจนถึงทำให้กองทัพที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุถึงกรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันรัฐประหาร เมื่อมีทหารและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรวม 5 นาย เข้าไปจับ Mya Aye นักกิจกรรมของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยไม่มีหมายจับ ภาพวิดีโอของกล้องวงจรปิดเพื่อนบ้านจับภาพเจ้าหน้าที่เหล่านี้เอาไว้ได้และในเวลาต่อมามีการโพสต์ลงทวิตเตอร์ ในเวลาต่อมามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเอายาของ Mya Aye ที่บ้านของเขาแต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดใดๆ ทำให้ไม่มีใครทราบว่าเขาถูกควบคุมตัวเอาไว้ที่ไหนและถูกปิดกั้นให้ไม่สามารถติดต่อกับทนายความได้

นอกจากนี้ยังมีกรณีการจับกุมประชาชนผู้ต่อต้านรัฐประหารรายอื่นๆ โดยที่ไม่เปิดเผยตัวสถานที่ควบคุมตัวให้ครอบครัวได้ทราบ โดยมีทั้งการบุกจับกุมผู้คนที่งานศพของบุคคลที่ถูกทหารยิงเสียชีวิต ทั้งกรณีที่มีรถบรรทุกทหารบุกเข้าไปจอดใกล้กับสื่อ Karmayut แล้วจับตัวผู้ร่วมก่อตั้งสื่อไป นั่นทำให้ผู้คนใกล้ชิดเป็นห่วงและอยากจะเห็นญาติมิตรของพวกเขากับตาเพื่อยินยันว่ายังปลอดภัยอยู่จริง มีอีกหลายกรณีที่ประชาชนผู้ประท้วงต้านรัฐประหารบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่าไม่ทราบว่าคนรู้จักของพวกเขาถูกจับตัวไปไว้ที่ไหน ทำให้น่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยและสภาพความเป็นอยู่ของบุคคลเหล่านั้น

คำแถลงของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การบังคับให้สูญหายถือเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติขั้นร้ายแรง แลถถ้าหากมีการกระทำเช่นนี้ในวงกว้างและปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อกลุ่มพลเรือนจะนับเป็น "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้"

ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติแล้วนิยามเรื่องการบังคับให้สูญหายว่า หมายถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลของรัฐจับกุมหรือคุมขังบุคคลใดก็ตามโดยปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้ลิดรอนเสรีภาพของพวกเขาหรือโดยการปกปิดชาตะกรรมหรือสถานที่ที่กักตัวบุคคลเหล่านั้น ทำให้บุคคลเหล่านั้นอยู่นอกเหนือการคุ้มครองทางกฎหมาย นอกจากนี้บุคคลที่ถูกอุ้มหายมักจะต้องเผชิญกับการทารุณกรรมกับการวิสามัญฆาตกรรม ทำให้ครอบครัวของพวกเขาต้องอยู่กับความไม่แน่นอนว่าบุคคลที่พวกเขารักจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร และเป็นห่วงเรื่องการถูกปฏิบัติในที่คุมขัง

นอกจากรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์แล้ว ในวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังได้ออกแถลงการณ์ประณามอย่างหนักต่อความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมโดยสันติในพม่า และการเสียชีวิตของพลเรือนหลายร้อยคน แต่กลับไม่ได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะมีปฏิบัติการใดๆ ในอนาคตต่อกองทัพพม่าหลังการรัฐประหาร 1 ก.พ.

ในร่างแถลงการณ์ที่อังกฤษเป็นผู้ร่างและได้รับการรับรองจากสมาชิกคณะมนตรี 15 ประเทศหลังจากการหารือกันในวันที่ 31 มี.ค. ระบุว่าทางยูเอ็น "มีความเป็นห่วงอย่างมากต่อเรื่องที่สถานการณ์แย่ลงอย่างรวดเร็ว" ในพม่า และเรียกร้องกองทัพพม่าควรปฏิบัติการโดยอาศัย "การอดกลั้นอย่างยิ่งยวด"

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าร่างแรกของแถลงการณ์นี้ใช้คำที่หนักแน่นกว่ามาก โดยมีการพูดถึงการที่คณะมนตรีความมั่นคงจะ "เตรียมพร้อมต่อการดำเนินการขั้นถัดไป" ระบุถึงการ "ตำหนิติเตียน" การใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมอย่างสันติ รวมถึง "ประณามอย่างหนักแน่นอย่างถึงที่สุดในเรื่องการสังหารประชาชนหลายร้อยคนโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง"

แต่ร่างนี้ก็ถูกแก้ไขจากการที่จีนยืนกรานว่าควรจะตัดส่วนที่ดูเป็นการใช้คำแรงๆ เหล่านี้ออก ไม่ว่าจะเป็นการตัดส่วนที่ระบุถึง "การดำเนินการขั้นถัดไป" ตัดคำว่า "สังหาร" และ "ตำหนิติเตียน" ออก ทำให้แถลงการณ์ร่างสุดท้ายดูนุ่มนวลลง ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจาก "เตรียมพร้อมต่อการดำเนินการขั้นถัดไป" ให้กลายเป็น "เน้นย้ำว่าพวกเขาจะยังคงคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะคอยพิจารณาในเรื่องนี้อย่างแข็งขันต่อไป"

เรียบเรียงจาก
Myanmar: Hundreds Forcibly Disappeared, Human Rights Watch, 02-04-2021
UN condemns violence against Myanmar protesters and deaths, Channel News Asia, 02-04-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net