Skip to main content
sharethis

หลังจากที่กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ยึดพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน โครงการ ‘เขื่อนหนองผา’ ทางตอนเหนือของพม่าที่ทำร่วมกับจีนมีโอกาสที่จะได้ดำเนินการต่อ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านเขื่อนกังวลเรื่องผลกระทบต่อชีวิตหลายล้านชีวิตที่ลุ่มน้ำสาละวิน ทั้งในทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อม

กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ซึ่งเป็นกองกำลังชาติพันธุ์ที่ทรงอำนาจมากที่สุดในพม่าได้เปิดทางให้จีนทำการสำรวจโครงการก่อสร้างเขื่อนหนองผาเหนือแม่น้ำสาละวินได้ ถึงแม้ว่าจะมีการต่อต้านอย่างหนักจากชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม

องค์กรสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน STFIM เปิดเผยในเรื่องนี้โดยระบุว่า เมื่อไม่นานนี้หลังเกิดปฏิบัติการ 1027 ที่มีการโค่นล้มกองกำลังกองหนุน Man Pang ของฝ่ายกองทัพพม่าได้สำเร็จในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน กองทัพสหรัฐว้ากลายเป็นผู้ปกครองเมืองต้างยานแทนที่กองทัพพม่าเมื่อราวต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเมืองต้างยานเป็นที่ตั้งของโครงการเขื่อนดังกล่าว

การที่กองทัพสหรัฐว้าครองอำนาจในต้างยานทำให้เกิดความกังวลว่า แผนการสร้างเขื่อนหนองผาเหนือแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแผนการที่จีนอยากจะทำนานแล้ว อาจจะทำสำเร็จได้ในที่สุด จากการที่กองทัพสหรัฐว้ามีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน

 

ภาพแผนที่แสดงที่ตั้งของเขื่อนหนองผา เวอร์ชันภาษาไทย

จากสำนักข่าวชายขอบ

กองทัพว้าเองได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะขยายการปกครองไปสู่ต้างยานเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังจากที่ส่งกองกำลังว้า 2,000 นายจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินข้ามมาทางฝั่งตะวันตก เพื่อมาวางกำลังตามฐานที่มั่นรอบๆ ต้างยาน และตามถนนทางหลวงต้างยาน-มองไย อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงกองทัพว้าได้ยึดครองทางตอนเหนือของต้างยานมาก่อนหน้านี้แล้วหลังกำจัดกองกำลังฝ่ายเผด็จการทหารออกไปได้

การสร้างเขื่อนหนองผานั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า BOT ที่บริษัทของรัฐบาลจีนไฮโดรไชนาคอร์ปอเรชั่น ทำร่วมกับบริษัท IGE ของกลุ่มคนวงในกองทัพเผด็จการพม่า ทั้งสองบริษัทนี้ทำสัญญาโครงการร่วมกันว่าจะสร้างเขื่อนหนองผาที่ทางน้ำสายหลักฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน กับอีกเขื่อนหนึ่งคือเขื่อน Mantong ทางฝั่งตะวันออก

โครงการ BOT ที่ว่านี้มาจากคำว่า "Build Operate Transfer" ที่แปลตรงตัวว่า "สร้าง ปฏิบัติการ ส่งให้" โดยที่สัญญาของโครงการนี้ระบุว่าเขื่อนในพม่าจะต้องส่งกำลังการผลิตไฟฟ้าให้กับจีนอย่างน้อยร้อยละ 50

ซึ่งในแผนภาพของอิระวดีแสดงให้เห็นว่าเขื่อน Mantong กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง ส่วนเขื่อนหนองผานั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน

เคยมีกระแสต่อต้านมาก่อน แต่กองทัพว้าแอบอนุญาตให้ก่อสร้างมานานแล้ว

เขื่อนทั้งสองแห่งนี้เคยมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) มาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2552 แล้วซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่ สีจิ้นผิง ยังคงอยู่ในตำแหน่งรองประธานาธิบดีจีนและได้เดินทางไปเยือนกรุงเนปิดอของพม่า ต่อมาในเดือน พ.ค. 2557 ภายใต้รัฐบาลเต่งเส่งของพม่าก็มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MoA) เกี่ยวกับโครงการเขื่อน

ถึงแม้ว่าประชาชนจะต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่น้ำสาละวินอย่างหนัก แต่กองทัพว้าแอบอนุญาตให้มีการก่อสร้างเขื่อน Mantong ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งมานานแล้ว โดยที่ในฝั่งดังกล่าวเป็นฝั่งที่พวกเขามีอำนาจปกครองอยู่ในช่วงก่อนหน้านี้ ก่อนที่พวกเขาจะเข้ามายึดพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่เป็นสถานที่ที่มีแผนจะสร้างเขื่อนหนองผา หลักฐานภาพถ่ายดาวเทียมก็แสดงให้เห็นว่า มีการก่อสร้างฐานรากเขื่อนจากทั้งสองฝั่งของแม่น้ำมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว

เคยมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมจากบริษัทที่มาจากออสเตรเลียเมื่อปี 2559 ชื่อ สโนววี เมาน์เทน เอนจิเนียริง คอร์ปอเรชัน (SMEC) ที่ต่อมาบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ซื้อกิจการไป แต่ในรายงานประเมินของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ก็ระบุว่า ไม่เคยมีการส่งผลการประเมินให้กับกระทรวงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพม่าแต่อย่างใด

การที่กองทัพว้าเอาใจจีนกรณีสร้างเขื่อน Mantong ทำให้เกิดความกังวลว่าเมื่อกองทัพว้าครอบครองสองฟากฝั่งของโครงการเขื่อนแม่น้ำสาละวินแล้วเขื่อนหนองผาก็จะได้รับไฟเขียวให้ดำเนินการได้ ข้อสงสัยนี้ยังมีหลักฐานรับรองจากการที่เมื่อสัปดาห์ที่สองของเดือน ส.ค. 2567 มีผู้พบว่า "นักธุรกิจ" ชาวจีน 12 รายได้เดินทางไปเยือนจุดสร้างเขื่อนหนองผา มีกองทัพว้าเป็นคนนำทางชาวจีนข้ามสะพาน Ta Kawng Ek ด้วยรถ SUV จากฝั่งตะวันออกของสาละวินไปยังที่หมาย

ความกังวลภัยพิบัติน้ำท่วม และเสียงต่อต้าน

มีเสียงต่อต้านโครงการเขื่อนนี้อย่างหนักมาเป็นเวลานานแล้ว โดยมาจากหลายภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง และกลุ่มกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำสาละวิน พวกเขามองว่าโครงการเขื่อนนี้จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตหลายล้านชีวิตที่ลุ่มน้ำสาละวิน ทั้งในทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อม

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่กังวลคือการที่เขื่อนหนองผาตั้งอยู่บนพื้นที่รอยเลื่อนของโลก ที่เสี่ยงต่อการทำให้เขื่อนแตกเวลาเกิดแผ่นดินไหว จนนำมาซึ่งอุทกภัยร้ายแรง ซึ่งพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉานเป็นพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวอยู่แล้ว และก่อนหน้านี้เรื่องความเสี่ยงแผ่นดินไหวก็เคยเป็นเหตุผลให้รัฐบาลจีนในปี 2547 ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนแม่น้ำสาละวิน/แม่น้ำนู 13 แห่งในพื้นที่ของจีนมาก่อน

แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดแผ่นดินไหว โครงการเขื่อนแม่น้ำสาละวินก็ทำให้เกิดความกังวลเรื่องน้ำท่วมหนักได้เช่นกัน คือในเวลาที่มีการปล่อยน้ำแบบฉับพลัน ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายจากอุทกภัยต่อผู้คนปลายน้ำ ยิ่งในปีนี้มีเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างหนักแบบไม่เคยเป็นมาก่อนในรัฐฉานยิ่งทำให้ผู้คนกังวลในเรื่องนี้

เรียบเรียงจาก

UWSA Facilitating China’s Damming of Salween River in Eastern Myanmar: Report, The Irrawaddy, 06-09-2024

https://www.irrawaddy.com/news/myanmar-china-watch/uwsa-facilitating-chinas-damming-of-salween-river-in-eastern-myanmar-report.html

UWSA takeover of northern Tangyan paves the way for China’s damming of the Salween, Shan State Frontline Investment Monitor, 05-09-2024

https://shanstatefrontline.com/uwsa-takeover-of-northern-tangyan-paves-the-way-for-chinas-damming-of-the-salween/

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net