Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สาระสำคัญของบทความมี 2 ประการ ประการแรก ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่าระบอบทักษิณในทางการเมืองมีลักษณะคล้ายคลึงกับทฤษฎีระบอบความร่วมมือการบริหารเมืองของสโตน (Stone) และประการที่สอง การปกครองประเทศไทยในปัจจุบัน แม้แต่พรรคการเมืองที่ก้าวหน้า ก็เป็นเพียงระบอบหนึ่งในทฤษฎีของสโตน 

ทฤษฎีของสโตน มีชื่อเต็มๆ ว่า “ทฤษฎีระบอบความร่วมมือการบริหารเมือง” (Urban Regime Theory) มีที่มาจากการที่สโตนศึกษาการบริหารเมืองของเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1989 ที่อธิบายระบอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการบริหารเมือง โดยเฉพาะบทบาทของชนชั้นกลางผิวดำในทางการเมืองและการกำหนดนโยบายของเมือง ระบอบความร่วมมือการบริหารเมืองขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเศรษฐกิจการเมือง การเมืองพหุนิยม และสถาบันนิยม 

สาระสำคัญของทฤษฎี คือ อำนาจการบริหารเมืองแอตแลนตากระจายออกเป็นส่วนๆ ไม่ได้เป็นเอกภาพ การบริหารเมืองจึงต้องมีระบอบความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับภาคเอกชน โดยฝ่ายองค์กรปกครองท้องถิ่นมีอำนาจตามกฎหมาย ส่วนภาคเอกชนมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนการบริหารเมือง ระบอบความร่วมมือการบริหารเมืองจะมั่นคงก็ต่อเมื่อมีการจัดโครงสร้างทรัพยากรและแบบแผนการปฏิสัมพันธ์กันให้ชัดเจน 

แต่อย่างไรก็ตาม ระบอบความร่วมมือการบริหารเมืองนี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดตามเวลาและสถานที่ ซึ่งอาจจำแนกได้หลายระบอบ ได้แก่ (1) ระบอบการบำรุงรักษาหรือดูแลผลประโยชน์ธุรกิจ ซึ่งเน้นที่การบริการที่เป็นงานประจำและเก็บภาษีต่ำ (2) ระบอบการพัฒนา ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ที่ดินในการพัฒนาเศรษฐกิจ (3) ระบอบชนชั้นกลางหัวก้าวหน้า ซึ่งมีเป้าหมายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ จัดหาบ้านที่อยู่อาศัยและจัดหาเงินทุน และ (4) ระบอบการขยายโอกาสของชนชั้นล่าง ซึ่งเน้นนโยบายการลงทุนมนุษย์และขยายการจ้างงานและการเป็นเจ้าของกิจการ 

สิ่งที่สโตนค้นพบจากการศึกษามีหลายอย่าง เช่น ระบอบความร่วมมือการบริหารเมืองเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ แต่ค่อนข้างมั่นคง สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ทำให้กลุ่มมีบทบาทกำหนดนโยบาย และระบอบความร่วมมือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการควบคุมประชาชนขององค์กรปกครองท้องถิ่นกับภาคเอกชนที่ควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองท้องถิ่นกับภาคธุรกิจไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด แต่ต้องมีการปฏิบัติให้บรรลุผลด้วย ระบอบความร่วมมือไม่ได้เกิดขึ้นทุกเมือง ระบอบความร่วมมือสามารถขยายออกไปได้ ระเบียบวาระนโยบายที่สำคัญของเมืองได้รับอิทธิพลจาก   ผู้มีส่วนร่วมในระบอบความร่วมมือ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนร่วมและทรัพยากรที่นำมาสู่กลุ่ม สำหรับฉันทามติของกลุ่มเกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กันและการจัดโครงสร้างทรัพยากร ระบอบความร่วมมืออาจไม่ได้เห็นตรงกันในเรื่องความเชื่อและคุณค่าทั้งหมด แต่มักเห็นตรงกันในเรื่องนโยบายสาธารณะ 

ทฤษฎีของสโตนมีพื้นฐานมาจากการวิพากษ์ทฤษฎีโครงสร้างนิยม (structuralism) ซึ่งเห็นว่าการวิเคราะห์โครงสร้างไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางเมืองและการกำหนดนโยบายได้จริง เช่น คนที่มีอำนาจตามกฎหมายไม่สามารถใช้อำนาจสั่งการได้เสมอไป จำเป็นต้องมีพันธมิตรที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจหนุนหลัง นอกจากนี้ยังมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีพหุนิยมแนวใหม่ (Neo-pluralist proposition) ของลินด์บลอม (Lindblom) ที่เห็นว่าการจัดการปกครองรัฐโดยระบบตลาดต้องอาศัยแรงจูงใจจากการประกอบการของนักธุรกิจ การจัดการปกครองที่ประสบความสำเร็จจะเกิดขึ้นต่อเมื่อตัวแสดงสำคัญ   ภาคธุรกิจเข้ามาเป็นพันธมิตรกับรัฐและมีอำนาจคาดการณ์นโยบายรัฐ 

ทว่าทฤษฎีของลินด์บลอมก็มีความเสี่ยงตรงที่นักธุรกิจมีโอกาสเข้ามาครอบครองรัฐและสร้างความเหลื่อมล้ำ สโตนจึงต้องการชี้ให้เห็นจากกรณีเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ว่ารัฐท้องถิ่นและผู้นำธุรกิจทำการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองโดยดึงเอาชนชั้นกลางผิวดำที่เป็นชนชั้นกลางเกิดใหม่มาเป็นพวก ขณะเดียวกันกลับไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำและกลุ่มอื่นเป็นเวลากว่าสี่สิบปี มีลักษณะคล้ายกับมโนทัศน์เรื่องชนชั้นของมาร์กซ แต่สโตนเห็นว่าไม่ถึงกับเป็นชนชั้นทีเดียว เพราะการจัดระเบียบการปกครองไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับตัวแสดงที่ร่ำรวยจะดึงใครมาเป็นพวก 

สโตนเห็นว่าพื้นที่ของเมือง ระบบตลาดและประชาสังคมจับคู่กันแบบหลวมๆ และเกาะเกี่ยวกันเป็นโครงสร้างที่ไม่ค่อยมั่นคงและมีความไม่แน่นอนตามเวลาและสถานที่ จึงต้องศึกษาจากระบอบการบริหารเมืองซึ่งแต่ละระบอบมีผลกระทบต่อนโยบายของเมืองแตกต่างกันกัน งานของสโตนต่างจากทฤษฎีอื่นตรงที่เขาปฏิเสธการเปลี่ยนจากการปกครองไปเป็นการจัดการปกครอง หมายถึงการปกครองที่ใช้อำนาจน้อยลง แต่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมจากความร่วมมือกันระหว่าง   ตัวแสดงที่มีอำนาจตามกฎหมายในองค์กรปกครองท้องถิ่นกับตัวแสดงภายนอก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในทางการเมือง 

เมื่อเทียบกับระบอบทักษิณมีลักษณะคล้ายกับทฤษฎีของสโตนหลายประการ ได้แก่ ประการแรก อำนาจทางการเมืองของประเทศไทยไม่ได้กระจายออกไปสู่ภาคประชาชน ปัจจุบันภาคประชาชนมีอำนาจต้านทานหรือต่อรองกับรัฐบาลและภาคธุรกิจน้อยมาก ประการที่สอง ขณะเดียวกันอำนาจก็ไม่ได้กระจุกตัวทีเดียว แต่กระจายออกเป็นส่วนๆ  ประการที่สาม อำนาจทางการเมืองต้องอาศัยอำนาจของนักธุรกิจหนุนหลัง ประการที่สี่ ระบอบทักษิณจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการจัดวางความสัมพันธ์ให้ชัดเจนระหว่างอำนาจการเมืองกับอำนาจธุรกิจ ประการที่ห้า ดังนั้นอำนาจธุรกิจจึงมีอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะของรัฐบาลเป็นอย่างมาก 

ดังที่เห็นได้จากนโยบายการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มจีดีพี เนื้อหาจริงๆ ก็คือการสร้างความเติบโตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตร หลังจากที่ภาคธุรกิจประสบปัญหาวิกฤติความร่ำรวยจากโควิด 19!!! 

หรือนโยบายขุดน้ำมันจากพื้นที่ทับซ้อน ที่จริงเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้นำรัฐบาลไทยกับผู้นำกัมพูชาและบรรษัทข้ามชาติ โดยที่นาย ก. นาย ข. หรือใครอื่นไม่มีทางทำได้ นอกจากคนที่สามารถตกลงกันได้กับกัมพูชา ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยทุนมหาศาลจากนักธุรกิจ 

หรือนโยบายกาสิโน เห็นได้ชัดว่าต้องการเม็ดเงินใหม่จากนายทุนกาสิโนต่างประเทศ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายจากนายทุนกาสิโนรายรอบประเทศ ทั้งทางด้านกัมพูชาและโดยเฉพาะพม่า ซึ่งกำลังประสบปัญหาจากการสู้รบภายในประเทศและต้องการเคลื่อนย้ายทุนไปสู่การลงทุนในกาสิโนที่ปลอดภัยและมั่นคงกว่า และแน่นอนว่าเงินจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามานั้น ไม่ใช่เงินขาวบริสุทธิ์!!

สรุปได้ว่าแท้จริงแล้วระบอบทักษิณทางการเมือง ก็คือ ระบอบการบำรุงรักษาหรือดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจตามทฤษฎีสโตนนั่นเอง หมายความว่าฝ่ายการเมืองจะบริหารประเทศไม่ได้หากนักธุรกิจไม่สนับสนุน ขณะเดียวกันกับที่นักธุรกิจก็ต้องการผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน โดยมีนักวิชาการที่ทำงานรับใช้ธุรกิจคอยให้ความรู้และแก้ต่าง เช่น จริงๆ แล้วนโยบายแจกเงินดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล เพราะที่จริงเป็นนโยบายหาเสียง (a political party platform) ในเวลาที่หาเสียงก็คิดถึงเฉพาะเรื่องคะแนนเสียง ต่อมาเมื่อเป็นรัฐบาลและมีนโยบาย (government’s policy) นักวิชาการจึงค่อยมาช่วยคิดว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยเท่าใด มีลักษณะคล้ายกับที่รูสเวลท์ (Roosvelt) จัดรัฐสวัสดิการและเริ่มทำการพัฒนาภายในประเทศตามโครงการ TVA รูสเวลท์คิดถึงเหตุผลอื่นโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ภายหลังนักวิเคราะห์นโยบายของรูสเวลท์จึงเอาทฤษฎีของเคนส์ (Keynes) มาเป็นอธิบายว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สิ่งที่ตามมาของระบอบการบำรุงรักษาหรือดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจสำหรับประเทศไทย จึงได้แก่ สังคมมีความเสี่ยงอย่างมากจากการครอบงำของทุนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและมาตรฐานทางศีลธรรม ขณะที่ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมซ้ำเติมและขยายใหญ่

การแจกเงินหมื่นบาทเพื่อสร้างความนิยมที่จริงนั้นเป็นเพียงการกรุยทางเพื่อสถาปนาระบอบทักษิณหรืออีกนัยหนึ่ง คือ การบำรุงรักษาหรือดูแลผลประโยชน์ธุรกิจให้ established คือ มีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากการแจกเงินหมื่นบาท ไม่ได้มาจากการเก็บภาษีนักธุรกิจเพิ่ม แต่เมื่อแจกไปแล้ว เงินจะไหลกลับเข้าสู่มือนักธุรกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นเหตุผลหลักนั้น แท้จริงคือการกระตุ้นกิจการของนักธุรกิจให้เติบโตและมีความสามารถในการแข่งขัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือความสามารถในการเอาเปรียบคนจนและคนในชนบทมากขึ้นๆๆๆๆๆ!!

ส่วนกรณีการเมืองใหม่ของพรรคใหม่ๆ ก็แทบไม่ได้แตกต่างกัน ความใหม่มีเพียงความก้าวหน้าทางความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่พื้นฐานดั้งเดิมที่เป็นรากลึก คือ การลงทุนของนักธุรกิจที่มีความคิดก้าวหน้า ท่ามกลางการถูกแรงบีบจากยุวสมาชิกหัวก้าวหน้าที่ไม่ต้องการให้พรรคเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อหวังผลเลิศในการครองอำนาจเสียงข้างมากในอนาคตนั้น ลึกๆ แล้วกลุ่มชนชั้นนำในพรรคต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างการเมืองและอำนาจ โดยการร่วมมือกับพรรครัฐบาลและกลุ่มธุรกิจและชนชั้นกลางใหม่ 

การเมืองใหม่ของพรรคใหม่โดยนัยนี้เมื่อเทียบกับทฤษฎีของสโตนจึงเป็นระบอบการเมืองที่ผู้นำธุรกิจหัวก้าวหน้าดึงเอาชนชั้นกลางในเมืองมาเป็นพวก โดยมีหัวหอกที่ขับเคลื่อนเป็นนักเรียนนอกเป็นไข่แดงตรงกลาง ขณะเดียวกันไม่ได้สร้างเป็นธรรมต่อกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำและกลุ่มอื่น เช่น ภาคเกษตร อยู่เหมือนเดิม สังเกตเห็นได้ว่าการเมืองใหม่พูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาของชนชั้นล่างและปัญหาความเหลื่อมล้ำน้อยมาก เช่น ปัญหายางพารา ข้าว ข้าวโพด หรือแม้แต่ปัญหาชั้นสิบสี่ ทั้งที่เป็นปัญหาที่กระทบต่อความยุติธรรมทางสังคม (social justice) อย่างรุนแรงของสังคมไทย เพราะเป็นทั้งปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำและการเอารัดเอาเปรียบสังคม อีกทั้งองค์กรอิสระที่เป็นทางการได้ชี้มูลและรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ระบอบทักษิณทางการเมืองและระบอบชนชั้นกลางก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องชนชั้นตามมโนทัศน์ของมาร์กซโดยตรง แต่แสดงให้เห็นว่าระบอบการปกครองของประเทศไทยไม่ได้มีความแน่นอนและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับตัวแสดงที่ร่ำรวยว่าจะดึงใครมาเป็นพวกตามทฤษฎีสโตนเป๊ะเว่อร์!!

ปัญหาของระบอบการบำรุงรักษาหรือดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจสำหรับประเทศไทย คือ ความเหลื่อมล้ำและการครอบงำของนักธุรกิจ การเรียกร้องให้ก้าวข้ามระบอบนี้ คือ การเรียกร้องให้คนลืมปัญหา แทนที่จะเป็นการรื้อถอดการครอบงำ—ไม่ว่าการครอบงำนั้นจะกระทำโดยตัวแทน (agent)     คนใด!!
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net