Skip to main content
sharethis
  • ฝ่ายชนชั้นนำใช้กองทัพทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2549 ในขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายขัดแย้งกัน ทำให้เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง “2 ไม่เอา” มาเป็นทางเลือกที่สามและพัฒนาเรื่อยมาตลอด 20 ปี จนนำมาสู่พรรคการเมืองทางเลือกอย่าง “พรรคอนาคตใหม่”
  • แต่ทางเลือกที่สามก็กลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ของชนชั้นนำ ส่วนกลุ่ม “ทักษิณ” ที่ไม่สามารถชนะชนชั้นนำที่มีทั้งอำนาจและกองทัพต้องไปรวมกับกลุ่มชนชั้นนำกลายเป็น “อนุรักษ์นิยมใหม่” แต่ชนชั้นนำก็ไม่ไว้ใจ 100%
  • แม้ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจะต้องเผชิญหน้ากับเครื่องมือของชนชั้นนำเดิมอย่างศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะแก้ไขปมนี้ได้แค่ไหนในเมื่อพรรคเพื่อไทยยังต้องพยายามทำให้ชนชั้นนำและกองทัพวางใจเพื่อความอยู่รอดและอาจไม่รอดถ้าพลาดถูกเอาไปรวมกับพรรคประชาชน
  • “กองทัพ” เครื่องมือสำคัญในการรัฐประหารยังคงอยู่รอดไม่ถูกปรับเปลี่ยนอะไรมากว่า 20 ปี ภายใต้พรรคการเมืองพลเรือนที่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งจัดการไปได้แค่ไหนและอนาคตจะได้ “ปฏิรูป” หรือไม่เพราะอาจไม่ใช่แค่เรื่องประสิทธิภาพแต่จะไม่ให้รัฐประหารยังไง?

วาระครบรอบ 18 ปีรัฐประหาร 2549 ประชาไทชวนอดีตบรรณาธิการข่าวอาวุโส ‘สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี’ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพ และยังมีอีกหมวกเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร (สัดส่วนพรรคก้าวไกล) มาพูดคุยถึงการเมืองไทยปี 2567 ว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการรัฐประหาร เปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากปี 2549 หรือไม่ 

สุภลักษณ์เริ่มต้นแสดงความเห็นว่าสถานการณ์ปี 2549 กับ 2567 ต่างกันเยอะ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน เพราะสามารถพูดได้ว่าการรัฐประหาร 2549 ยังไม่จบ แต่รูปแบบของการห้ำหั่นกันนั้นเปลี่ยนไปบ้างและมีองค์ประกอบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา

ในปี 2549 ถือว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มของทักษิณที่ถือว่าเป็นฝ่ายที่ค่อนข้างเป็นเสรีนิยมและพยายามเสนอตัวมาเป็นชนชั้นนำใหม่โดยมีกลุ่มชนชั้นกลางระดับกลางถึงล่างรวมอยู่ด้วย แต่พรรคการเมืองกลุ่มทักษิณก็กลับมาชนะการเลือกตั้งภายหลังการรัฐประหารได้ แต่ก็ถูกยึดอำนาจอีก

ความพยายามสืบทอดอำนาจของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเดิมนำมาสู่การรัฐประหาร 2557 และยังเป็นการต่อสู้กันระหว่างสองกลุ่มใหญ่นี้ กลับก่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นระหว่างการต่อสู้ของ 2 กลุ่มนี้ก็คือความเคลื่อนไหวของพลังทางสังคมอันใหม่

สุภลักษณ์ เห็นว่า พลังใหม่ที่ว่านี้เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ปี 2548-2549 ที่เรียกว่า ‘2 ไม่เอา’ คือไม่เอาทั้งทักษิณและกลุ่มชนชั้นนำเก่า และอยากหาทางเลือกใหม่แต่ในเวลานั้นข้อเสนอยังไม่ชัดเจนนัก จนกระทั่งมีทางเลือกที่สามขึ้นมาและในที่สุดก็พัฒนามาเป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาชน

“มันเป็นความเคลื่อนไหวในทางเลือกใหม่ ผมถือว่ามันเป็นคุณภาพใหม่ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญในการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 49 มาจนปัจจุบันปี 67 เกือบ 20 ปีแล้ว”

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

จำแนก 3 กลุ่มหลักในการเมืองไทย

เมื่อเกิดทางเลือกที่สามขึ้นมากลับทำให้กลุ่มของทักษิณไม่รู้ว่าจะเดินต่อไปข้างหน้าหรือถอยหลังกลับไปหรือประนีประนอมกับชนชั้นนำเดิมอย่างไร จึงทำให้เห็นถึงความพยายามของพรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคก้าวไกลในการพาการเมืองไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แกนนำหลายคนขอกลุ่มทักษิณยังมีปัญหาส่วนตัวอยู่ เช่น อยากจะกลับบ้าน หรืออยากให้มีนิรโทษกรรมไปจนถึงอยากให้กลุ่มของตัวเองได้รับการยอมรับจากชนชั้นนำ จนในที่สุดตัดสินใจพาตัวเองเข้าไปประนีประนอมกับกลุ่มชนชั้นนำเดิม

อย่างไรก็ตามความพยายามกำจัดขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าการยุบพรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่หรือก้าวไกล เพราะเมื่อถูกกำจัดก็จะเกิดการสะสมตัวกันขึ้นมาใหม่ แล้วก็สร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ

สุภลักษณ์มองว่า สถานการณ์ในปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2549-2567 กลุ่มก้อนทางการเมือง 3 กลุ่มใหญ่กำลังจะเหลือแค่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทางเลือกที่สามที่เกิดขึ้นมาและกำลังจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มชนชั้นนำเดิมและกลุ่มทักษิณที่กำลังจะไปรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกลาย จนกลายเป็น ‘กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่’

“กลุ่มนี้ไม่ได้เป็นอนุรักษ์นิยมแบบ 100 เปอร์เซนต์ เพราะยังมีส่วนที่เป็นเสรีนิยม มีความก้าวหน้าอยู่บ้าง เช่นอยากเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจหรืออยากเห็นโอกาสที่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ อยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี หรือการขยายฐานภาษี ซึ่งเป็นแนวคิดของกลุ่มนี้ เพราะเขาก็ไม่ได้อยากรักษาสถานะเดิม (status quo) เดิมเอาไว้ทั้งหมด” อดีต บก.ข่าวอาวุโสกล่าว

เขากล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ คือมีฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่ที่พยายามเคลื่อนตัวเข้าไปหากลุ่มชนชั้นนำเดิมจะยังพยายามรักษาตัวตนเอาไว้ในระดับหนึ่ง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มทักษิณหรือนักการเมืองจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเดิมได้อย่างไม่มีรอยต่อเลย ขณะเดียวกันก็เห็นทิศทางของกลุ่มที่สามชัดเจนแล้วว่าในทางการเมืองได้พยายามมีข้อเสนอใหม่ๆ รวมถึงเรื่องทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศขึ้นมาพร้อมกัน

อย่ามอง ‘อำนาจตรวจสอบ’ passive

เมื่อถามถึงเครื่องมือของชนชั้นนำเดิมอย่างศาลรัฐธรรมนูญที่มักใช้ได้ผลในทางการเมืองไม่ว่ากรณี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่หลุดตำแหน่งนายกฯ หรือการยุบพรรคต่างๆ 

สุภลักษณ์ชี้ว่า เราไม่สามารถมองกลุ่มก้อนทางการเมืองหรือแม้แต่สถาบันทางการเมืองว่ามีลักษณะที่ขึ้นตรงต่อกันและคอยรับคำสั่งอย่างมีเอกภาพได้ พวกเขาเหล่านี้มีความเป็นอิสระหรือมีอำนาจในตัวเองในระดับหนึ่งที่จะสามารถใช้หรือเข้าไปเป็นพันธมิตรร่วมกับกลุ่มอื่นได้และยังมีความคิดของตัวเองอยู่

ในกรณีของเศรษฐา แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำอย่างชัดเจน แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีทั้งความเห็นและวาระของตัวเองอยู่ด้วย 

สุภลักษณ์ขยายความว่า กรณี ‘พิชิต ชื่นบาน’ ที่เศรษฐาตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถูกมองว่าเคยฉีกหน้าศาลกรณีสินบนถุงขนม 2 ล้านบาทในคดีของทักษิณและพจมาน แม้ว่าสุดท้ายจะติดสินบนไม่สำเร็จ แต่ศาลก็มองว่าเป็นการดูหมิ่นหลู่เกียรติผู้พิพากษาอย่างรุนแรง เห็นได้จากจำนวนเสียงโหวตของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของเศรษฐาค่อนข้างปริ่มๆ คือ 5:4 แปลว่าคงไม่ได้มีใครสั่ง และเมื่อไปดูประวัติของตุลาการที่โหวตให้ถอดถอนก็จะเห็นว่าเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมมาก่อน ส่วนคนที่ไม่ได้มีประวัติเคยเป็นศาลมาก่อนก็อาจจะอะลุ่มอะล่วยให้ เพราะไม่ได้มีประสบการณ์แบบนั้น

เขาสรุปว่า เรื่องของพิชิตจึงเป็นเรื่องที่คนในองค์กรศาลยอมไม่ได้ที่จะให้คนแบบนั้นมีอำนาจมากขึ้น การทำแบบนี้ของศาลรัฐธรรมนูญจึงเหมือนเป็นการสั่งสอนด้วยว่า กลุ่มใหม่ที่กำลังจะเข้ามาสวามิภักดิ์กับกลุ่มอำนาจเดิมนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเขา แค่ร่วมมือกันบางกรณีเท่านั้น และคดีต่างๆ ก็มีไว้เป็นชนักติดหลัง

“กลุ่มของทักษิณได้ประสานเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับกลุ่มอำนาจเดิมมั้ย ผมว่าไม่เลย เราจึงสามารถแยกแยะได้ว่ามีกลุ่มการเมืองอย่างน้อย 3 กลุ่มแต่ถ้ามองลึกเข้าไปในนั้นอาจจะมากกว่านี้อีก ภายในอนุรักษ์นิยมเดิมก็มีเฉดไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่ม”

กลุ่มอนุรักษ์นิยมรอจุดประเด็น

เขายกตัวอย่างว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เป็นกษัตริย์นิยมด้วยก็เป็นกลุ่มหนึ่ง กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่อาจจะมีความก้าวหน้าหน่อยก็เป็นอีกกลุ่ม ทำให้เห็นว่าบางโอกาสกลุ่มเหล่านี้ก็ร่วมมือกันได้ ในบางโอกาสก็ไม่ร่วมมือกัน ไปจนถึงยังมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมบางกลุ่มที่ชื่นชอบนโยบายของพรรคประชาชนก็ยังมี เพราะทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับวาระทางการเมืองส่วนตัวของของพวกเขาในแต่ละช่วงจังหวะ

นอกจากองค์กรตุลาการที่เป็นเครื่องมือชนชั้นนำเดิมแล้ว พลังของกลุ่มมวลชนอนุรักษ์นิยมในเวลานี้มีพลังมากน้อยแค่ไหนและจะขยายตัวหรือไม่อย่างไร

อดีต บก.ข่าวอาวุโสมองว่ากลุ่มมวลชนอนุรักษ์นิยมไม่เคยหายไปไหน และเคลื่อนไหวอยู่ตลอด บางกลุ่มเมื่อเห็นจังหวะก็จะเข้ามาร่วมกันแล้วขยายผลของข้อเสนอต่างๆ เช่น กลุ่มแช่แข็งประเทศไทยของบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย ที่เกิดขึ้นก่อนเกิด กปปส. กลุ่มแบบนี้จะก่อหวอดก่อตัวเป็นมูลเชื้อให้ตลอดเวลา

ถ้าสังเกตตั้งแต่ปี 2548 ก่อนเกิดรัฐประหารก็มีการก่อหวอด หาประเด็นต่างๆ มาเล่นงานทักษิณ สร้างความไม่พอใจ หลายประเด็นคนก็ไม่ได้สนใจไปจนถึงมองว่าเป็นเรื่องตลกด้วยซ้ำ แต่นานวันเข้าคนก็เริ่มเชื่อแล้วก็เห็นว่าจำเป็นจะต้องเข้าร่วมทำให้จำนวนมวลชนมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่าทักษิณมีความผิดพลาดในบางเรื่อง ฝ่ายต่อต้านทักษิณก็จะก่อตัวขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้เหตุการณ์เหมือนก่อนปี 2549 หรือเป็นเหมือนก่อนปี 2557 ที่แต่ละฝ่ายจะสร้างสถานการณ์ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม สุภลักษณ์เห็นว่าระยะหลังมานี้มีกลุ่มก้อนทางการเมืองมากกว่านั้นแล้ว และมีความเห็นแตกต่างออกไปจากสองทางเลือกคือ ถ้าไม่เอาฝ่ายทักษิณก็คือเป็นฝ่ายอำมาตย์ แต่ตอนนี้มีมากกว่านั้นคือฝ่ายพรรคประชาชน ส่วนพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มอำนาจนิยมและกองทัพก็ไม่ได้เข้ากันได้อย่างสนิทใจ ทุกคนอยู่บนวาระทางการเมืองของตนเองอย่างค่อนข้างชัดเจน

สุภลักษณ์กล่าวถึงสถานการณ์ที่คนก็กำลังพูดถึงการนิรโทษกรรมว่าใครจะได้บ้างและมีความพยายามล้างไพ่ ทำให้เกิดการถกเถียงกันมากในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม วันใดฝ่ายที่คุมอำนาจอยู่จริงๆ มองเห็นว่าใครคือศัตรูทางการเมืองที่แท้จริงของเขาก็จะเริ่มขับเคลื่อนกำลังทั้งหมดเพื่อต่อต้านสิ่งนั้น แล้วมวลชนก็จะเคลื่อนตามออกมา ส่วนกลุ่มทางการเมืองที่กำลังถูกจับตาคือกลุ่มที่มีความก้าวหน้าอย่างกลุ่มเยาวชนที่ไปร่วมมือกับพรรคประชาชน

ชนชั้นนำมองเห็นว่าศัตรูร่วมของพวกเขาตอนนี้ก็คือพลังทางการเมืองใหม่ แต่ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่สามารถประสานเข้ากันได้อย่างสนิท จึงมีความพยายามทำให้ใครก็ตามที่อยากจะเปลี่ยนอภิสิทธิ์ของกองทัพหรือปฏิรูปกฎหมายใดๆ ให้คนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นหรือมีโอกาสทำมาหากินมากขึ้นทลายระบอบการผูกขาดของอำนาจเดิมเป็นภัยคุกคามของระบอบ

ชนชั้นนำเดิมไม่ไว้ใจ ‘เพื่อไทย’ 100%

เมื่อถามว่าเมื่อมีบางประเด็นที่ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนเองก็มีความเห็นพ้องต้องกัน เช่นเรื่องการแก้ไขเรื่องจริยธรรมในรัฐธรรมนูญจะทำให้ฝ่ายชนชั้นนำเดิมไม่ไว้ใจเพื่อไทยไปด้วยหรือไม่

สุภลักษณ์มองว่าเดิมทีฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่ไว้ใจทักษิณ 100% อยู่แล้ว และสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องทำก็คือจะพิสูจน์ตัวเองให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมและกองทัพเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นนำและกองทัพ มิหนำซ้ำยังจะช่วยนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ให้กองทัพและชนชั้นนำเลือกใช้ได้

“ถ้าเราดูก็จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยก็อิหลักอิเหลื่อและกังวลใจมากที่จะแก้ไขเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมเพราะว่าทั้งฝ่ายชนชั้นนำและฝ่ายตุลาการก็จะไม่ยอม แล้ววุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยแต่เป็นคนของภูมิใจไทย กลไกในการรักษาอำนาจเดิมเขายังมีพลังอำนาจมากกว่าพรรคเพื่อไทยอยู่มากทีเดียว”

อดีต บก.อาวุโสเห็นว่าความเข้มแข็งของพรรคเพื่อไทยวันนี้เมื่อเทียบกับพรรคเพื่อไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ปัจจุบันไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิม พรรคเพื่อไทยสมัยยิ่งลักษณ์ยังเข้มแข็งกว่า

เขามองว่า ตอนนี้พรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือกมากนักและเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่ต้องให้ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ คนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมตามโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติประกบกับภูมิธรรม เวชยชัย อดีตคอมมิวนิสต์ที่คนบางกลุ่มก็ไม่ยอมรับการเป็นรัฐมนตรีกลาโหม

“เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องประนีประนอมกับทุกๆ วาระ เขาจะไม่ทำอะไรให้กระทบกระเทือน เพราะการกระทบกระเทือนก็จะทำให้พรรคเพื่อไทยเองประสบปัญหาแล้วอยู่ไม่รอด จำเป็นต้องรักษารัฐบาลนี้เพื่อให้นายกฯ แพทองธารสามารถไปได้”

นอกจากนั้น สุภลักษณ์ยังชี้ให้เห็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถนำเสนออะไรที่จะไปขัดแย้งกับผลประโยชน์หรืออภิสิทธิ์ใดๆ ของชนชั้นสูงและกองทัพก็คือ การที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้กลับบ้าน ทำให้วาระของครอบครัวชินวัตรยังไม่บรรลุ เช่นประเด็นการเกณฑ์ทหารที่เคยหาเสียงไว้พอเป็นรัฐบาลแล้วก็ไม่มีทางที่จะเสนอเรื่องนี้อีก

“เมื่อต้องเลือกประนีประนอมเขาก็ต้องเลือกฝ่ายที่จะทำให้อยู่รอด แต่ถ้าเลือกพรรคประชาชนเขาจะอยู่ไม่รอด”

ดังนั้นเรื่องที่เป็นอาวุธคอยทิ่มแทงรัฐบาลอย่างเรื่องมาตรฐานจริยธรรมพรรคเพื่อไทยเองก็จะไม่ทำอะไร เพราะถ้าทำเมื่อไหร่อีกฝ่ายก็จะไม่ไว้ใจทันทีเพราะคิดว่าพรรคเพื่อไทยแก้ก็เพื่อทำให้ตัวเองอยู่ต่อไปได้

“ผมบอกให้คุณมาอยู่กับผมเพื่อที่ผมจะได้ควบคุมคุณ ซึ่งพรรคเพื่อไทยยอมรับเงื่อนไขนั้นตั้งแต่ต้นแล้วข้ามขั้วไป ทำไมอยู่กันข้ามขั้วก็เพราะเขามีวาระที่เราก็รู้แต่เขาไม่แถลง นั่นคือวาระที่ทำให้ครอบครัวชินวัตรอยู่รอดปลอดภัยในทางการเมือง แต่จะใหญ่โตไปกว่านี้มั้ย ผมคิดว่าพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกองทัพมีบทเรียนแล้วที่เขาจะไม่ยอมให้พรรคเพื่อไทยทำอะไรสำเร็จสักอย่างเดียวเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้พรรคเพื่อไทยเติบโตไปมากกว่านี้”

ภูมิใจไทย vs เพื่อไทย

สุภลักษณ์ยังเห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีหวังที่จะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เพราะไม่ใช่ทางเลือกสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จะใช้เป็นหัวหอก และยังมีพรรคภูมิใจไทยที่นับวันจะเติบโตขึ้นไปพร้อมกับคนในพรรคภูมิใจไทยเองก็อยากจะเติบโตในทางการเมืองด้วย

“เรื่องอะไรที่คุณอนุทินจะต้องสนับสนุนคุณทักษิณตลอดไป ทำไมคุณทักษิณไม่สนับสนุนคุณอนุทินให้เป็นนายกฯ บ้าง คุณอนุทินจะเกิดมาเพื่อเป็นรองนายกฯ ชั่วฟ้าดินสลายหรือ ผมก็คิดว่าเขาก็น่าจะต้องคิดอะไรไปมากกว่านั้น”

เขาชี้ให้เห็นตัวอย่างของปรากฏการณ์นี้ก็คือ การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยมีขีดความสามารถไม่แพ้พรรคเพื่อไทยในการที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในรัฐบาลได้ด้วยเช่นกัน จึงเหลือแค่ว่าสองพรรคนี้ใครจะมีชั้นเชิงเหนือกว่ากันในการเลือกตั้ง

กองทัพก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ (ขนาดนั้น)

อดีต บก.ข่าวอาวุโสบอกว่าเขากำลังเห็นพัฒนาการใหม่ๆ มากขึ้น กลุ่มที่เชื่อมโยงกับกองทัพตรงไปตรงมาอย่างพรรคพลังประชารัฐก็ถูกย่อยสลายไปและจะจบชีวิตทางการเมืองในไม่ช้านี้

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติก็เห็นว่า ยังเกาะติดอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากปริมาณ สส.ที่แม้ว่าจะมีพอๆ กับพลังประชารัฐ แต่เขาก็เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์อาจภาษีดีกว่าพล.อ.ประวิตร แต่ยังมีข้อจำกัดในการร่วมมือกับ พล.อ.ประยุทธ์อย่างตรงไปตรงมา

“ที่ผ่านมาก็ถือว่าพลาดที่ประยุทธ์แสดงตัวว่ามีความใกล้ชิดกับรวมไทยสร้างชาติ เพราะว่ากฎหมายห้าม ถ้ามีคนไปร้องว่าองคมนตรีขาดคุณสมบัติเพราะฝักฝ่ายพรรคการเมืองก็อาจจะมีปัญหาได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องรักษาระยะให้เหมาะให้ควร”

เมื่อถามว่าสามารถถือได้ว่า ‘3 ป.’ ที่เรืองอำนาจมาตั้งแต่หลังปี 2549 ทุกวันนี้หมดอำนาจแล้วหรือไม่ หรือมีอะไรที่ขึ้นมาแทนที่

สุภลักษณ์เห็นว่ามองทหารด้วยสายตาแบบเดิมว่าเป็นกลุ่มก้อนที่เหนียวแน่นไม่ได้เลยเพราะ ฝักฝ่ายต่างๆ ในกองทัพเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่มีอะไรมั่นคงถาวร ถ้าไล่ประวัติศาสตร์ดูจะเห็นทั้งการร่วมกลุ่มโดยอาศัยรุ่นโรงเรียนนายร้อย จปร. ต่อมาก็ใช้รุ่นโรงเรียนเตรียมทหารแล้วต่อมาก็อาศัยว่ามาจากเหล่าทัพไหน

อย่างไรก็ตามในแต่ละฝ่ายเองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ ผูกขาดความจงรักภักดีที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มของตัวเองอย่างชัดเจน ทหารไทยต่างมีผลประโยชน์ส่วนตัวมาก ความเป็นพวกพ้องจะมีอยู่ก็ต่อเมื่อกลุ่มนั้นอำนวยให้กับผลประโยชน์ส่วนตัวลงตัวได้มากกว่า

เรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าทั้ง 3 ป.ไม่ได้เป็นเอกภาพจริงก็คือ การที่พล.อ.ประวิตรไม่ได้เป็นนายกฯ แล้วพล.อ.ประยุทธ์แยกตัวเองออกมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติและสนับสนุนตัวเองให้เป็นนายกฯ ต่อ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ให้พี่ใหญ่อย่างประวิตรได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ

สุภลักษณ์ให้ภาพว่าใน 3 ป. คนที่ฉลาดที่สุดในกลุ่มคือ ‘ป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ไม่ทำตัวเด่นแต่สามารถแสวงประโยชน์ได้มากเท่าที่จำเป็น ไม่เคยแสดงตัวว่าอยากเป็นนายกฯ แม้เมื่อถึงเวลาจะขึ้นมาเป็นก็ทำได้แต่ไม่มาเป็น แต่พล.อ.ประวิตรที่ถือตัวเองว่าเป็นพี่ใหญ่แสดงตัวตลอดเวลา ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ถือว่าตัวเองมีสายสัมพันธ์กับวังใกล้ชิด

อดีต บก.ข่าวอาวุโสอธิบายว่า เราได้ความแตกแยกในกองทัพมาจนกระทั่งเคยชินแล้ว ดังนั้นการจัดกลุ่มก็เพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์เท่านั้น แต่ไม่ได้ผูกผันกันเป็นกลุ่มที่เหนียวแน่นได้ ในเมื่อ 3 ป.ยังแตกคอกันได้กลุ่มอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าพวกเขาจะไม่แตกกัน

สุภลักษณ์กล่าวถึงสถานการณ์ที่ตอนนี้มีทหาร ‘คอเขียว’ กับ ‘คอแดง’ แต่ในกลุ่มคอแดงก็ยังมีทั้งนายทหารจากกลุ่มบูรพาพยัคฆ์และกลุ่มวงศ์เทวัญ การหลอมหลวมสองกลุ่มนี้เข้ามาภายใต้การเป็นทหารคอแดงก็ไม่ได้ขจัดกลุ่มย่อยเหล่านี้ได้ทั้งหมด

เขาอธิบายต่อไปว่า เมื่อไปย้อนไปดูประวัติ รุ่น หรือเหล่าของนายทหารแต่ละคนนักข่าวก็จะสะดวกในการจัดกลุ่มว่าใครควรจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เช่นตอนนี้ถ้าแบ่งแบบง่ายๆ จะเห็นว่านายทหารที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นทหารคอแดงสายวงศ์เทวัญ ส่วนทหารคอแดงสายบูรพาพยัคฆ์โดยเฉพาะที่เคยใกล้ชิดกัพล.อ.ประวิตรก็อาจจะไม่ได้เลื่อนขั้น แต่ถ้าเป็นสายที่ใกล้ชิดกับพล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะพอมีโอกาสอยู่บ้าง

“เรื่องนี้ทำให้เห็นว่ามีการแข่งขันกันในแต่ละฝักฝ่ายย่อยๆ เหล่านี้ค่อนข้างมาก แล้วฝั่งคอเขียวก็จะเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีแต่คอแดงที่ได้เป็นใหญ่ในกองทัพ”

อ่านว่าทหารคอเขียวคอแดงคือกลุ่มไหนได้ที่

เขากล่าวว่าเรื่องการแบ่งฝักฝ่ายในกองทัพสะท้อนให้เห็นว่ากองทัพไทยมีกระบวนการคัดเลือกผู้นำโดยเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ใช่เรื่องความสามารถ ถ้าดูจากข่าวเรื่องโผทหารก็จะระบุแค่ว่านายทหารคนไหนใกล้ชิดกับใคร เรียนรุ่นไหน เป็นน้องรักใคร สวามิภักดิ์กับกลุ่มใดมาก่อนเท่านั้น แต่ไม่ได้ลงว่าใครผ่านหลักสูตรอะไรหรือเคยไปรบที่ไหนมา

“ไม่เห็นเคยมีบอกเลยว่าคนนี้ผ่านสมรภูมิการรบอะไรมาในแง่ป้องกันประเทศ ไม่มีซักคำเดียวในรายงานข่าวและบทวิเคราะห์การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ทุกปีเป็นแบบนี้มานมนานแล้ว”

สุภลักษณ์เห็นว่าเรื่องนี้ทำให้กองทัพไทยตกต่ำโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

1 ปี รัฐบาลพลเรือนยังจัดการกองทัพไม่ได้

เมื่อถามว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้จัดระเบียบกองทัพมาได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งเรื่องประสิทธิภาพของกองทัพและการป้องกันการเกิดรัฐประหารซ้ำ

อดีต บก.ข่าวอาวุโสบอกว่า เขาไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ใน 4 เรื่องคือ การเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนหลักสูตร รด. ปรับลดนายพล และการจัดซื้ออาวุธ

เรื่องแรก การเกณฑ์ทหาร แม้รัฐบาลเศรษฐาจะแถลงไว้ทั้งเรื่องเปลี่ยนวิธีการเกณฑ์ทหารให้เป็นแบบสมัครใจมากขึ้นก็ยังไม่ได้ทำอะไรนัก โดยให้เหตุผลว่ากองทัพก็มีแผนจะทำแบบนี้อยู่แล้ว แต่กฎหมายระดับ พ.ร.บ.รับราชการทหารฉบับเก่ายังไม่ถูกแก้ไข ยังมีทหารส่วนใหญ่ที่มาจากการเกณฑ์เข้าประจำการทุกปีเป็นจำนวนมากถึง 4 ใน 5 เช่นปีนี้มีตัวเลขการเกณฑ์ทหาร 85,000 นาย ก็มี 70,000 มาจากการจับใบดำใบแดง

เรื่องที่สอง รัฐบาลบอกว่าจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรวิชาทหารก็ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร นอกจากเห็นแค่ว่าให้ รด.ทำความดีแข่งกันใครคะแนนไม่ถึงก็ไม่ผ่าน รด. เรื่องนี้ก็ไม่เข้าวัตถุประสงค์เท่าไหร่เพราะความดีเป็นเรื่องวัดไม่ได้

เรื่องที่สาม ลดจำนวนนายพลและปรับการโอนอัตรากำลังไป กอ.รมน.เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำอะไรเลยเช่นกัน ที่กองทัพบอกจะลดจำนวนนายพลจาก 700 กว่าเหลือ 300 กว่านายภายใน 20 ปี ก็เริ่มนับย้อนไปตั้งแต่ปี 2551 จนปี 2571 ดังนั้นการลดจำนวนนี้เป็นการลดนายพลที่เกษียณ แต่ตำแหน่งก็ไม่ได้ถูกปิดลงไป

สุภลักษณ์บอกว่าเท่าที่เขาสามารถรวบรวมจำนวนของนายพลในไทยได้จากข่าวหรือที่กองทัพมาชี้แจงในกรรมาธิการ ทำให้รู้คร่าวๆ ว่ามีนายพลส่วนที่ไม่ได้มีหน้าที่ชัดเจน เช่น อยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิประมาณ 433 นาย แต่ยังมีนายพลระดับคุมกำลังและไม่ได้อยู่ในส่วนที่จะถูกปรับลดจำนวนลงมาอยู่อีก 900 กว่านาย ทำให้รวมๆ กันแล้ว 1,400-1,500 นาย อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ทางกองทัพไม่เคยเปิดเผยออกมาชัดๆ ว่ามีจำนวนอยู่เท่าไหร่กันแน่

เรื่องที่สี่ วิธีจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ รัฐบาลบอกว่าจะปรับปรุงก็ยังไม่เห็นว่าได้ทำอะไร เช่น เรื่องเรือดำน้ำก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนกองทัพอากาศตัดสินใจซื้อเครื่องบินรบแบบกริพเพนก็ยังเห็นใช้วิธีการซื้อเหมือนเดิม แค่ว่าสินค้าที่กองทัพอากาศจัดซื้อมาจากประเทศตะวันตกก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องทุจริตเพราะเป็นการจัดซื้อในระบบของตะวันตกที่มีระบบตรวจสอบ

เรื่องจัดซื้อจัดจ้างนี้เขาเห็นว่า กองทัพบกกับกองทัพเรือไม่มีทางที่จะพ้นข้อครหาว่าซื้ออาวุธไม่เหมาะกับสงครามในรูปแบบหรือสถานการณ์ใหม่ แม้ว่าในตอนนี้หลายประเทศจะมีหลักนิยมแบบใหม่เรื่องการใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนกันมานานเป็นสิบปีแล้วแต่ไทยก็ยังไม่มีหลักนิยมนี้และยังไม่ชัดเจนว่าจะให้หน่วยไหนเป็นคนคุมปฏิบัติการด้วยโดรน แล้วก็ยังจัดซื้อแต่อาวุธยุทโธปกรณ์แบบเดิมๆ อยู่ และใช้แต่พลทหารไปเสี่ยงภัยเดินลาดตระเวณแนวชายแดน

“ที่บอกว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกองทัพก็ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พูดได้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่กล้าทำอะไรหรอกในกองทัพ แม้ว่ารัฐมนตรีจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีพลเรือน เพราะรัฐมนตรีพลเรือนก็ไม่ได้มีอำนาจอะไร”

“การเปลี่ยนแปลงภายในกองทัพจะไม่เกิดเพราะว่ากองทัพมีอภิสิทธิหลายอย่างที่จะไม่ให้ความร่วมมือได้ ถ้าเขาบอกว่าจะเก็บกิจการบางอย่างไว้ก็ไม่มีใครไปบังคับกองทัพให้ปล่อยมือได้ แม้ว่ากิจการบางอย่างจะขาดทุนมาตลอด แต่ก็ยังมีนายทหารบางคนที่ได้ผลประโยชน์ส่วนตนมากมาย”

ออกกฎหมาย 100 ฉบับไม่อาจหยุด รปห.

แล้วในมุมการหาแนวทางป้องกันการรัฐประหารทำไปแค่ไหน ?

สุภลักษณ์มองว่าผู้ริเริ่มข้อเสนอคือ กรมพระธรรมนูญเสนอผ่านสภากลาโหมมา ให้มีการปรับในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในสภากลาโหมและอำนาจหน้าที่ของทหาร คือการลดจำนวนทหารที่อยู่ในสภากลาโหม แต่ไม่ได้เพิ่มสัดส่วนพลเรือนเข้ามา จากเดิมที่มีอยู่ 28 ตำแหน่งให้เหลือ 16 ตำแหน่ง แต่สมาชิกสภาที่มาจากรัฐบาลก็ยังมีอยู่แค่ 2 ตำแหน่งคือรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีช่วยเหมือนเดิม

ถ้ามองจากบริบทปัจจุบันที่มี ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ เป็นรัฐมนตรีพลเรือนมาจากพรรคเพื่อไทย แต่พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยฯ ก็ยังเป็นตัวแทนของอำนาจเก่า ถ้าต้องออกเสียงโหวตในสภากลาโหมรัฐมนตรีก็ยังโหวตแพ้อยู่ดีเพราะมีเสียงเดียว เป็นไปไม่ได้ที่พลเอกณัฐพลจะโหวตตามรัฐมนตรี เพราะเข้ามาตามโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ยอมตัดตำแหน่งพลเรือนของตัวเองออกเพื่อส่งตัวแทนของพล.อ.ประยุทธ์เข้ามาคุมกองทัพ

นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องเล็กอีกเรื่อง คือการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมในส่วนคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นนายพล ที่จะให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจาก ครม.ในการสั่งพักงานทหารที่มีแนวโน้มว่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร

สุภลักษณ์เห็นว่า การกล่าวหาว่าใครจะทำรัฐประหารจะไปกล่าวหาใครไม่ได้ง่ายๆ เพราะเท่ากับกบฏในราชอาณาจักร คนที่ถูกกล่าวหาก็จะไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมแน่ๆ ว่าถูกกระทำแบบนี้โดยไม่มีหลักฐาน หรือถ้ามีหลักฐานพอก็จับกุมดำเนินคดีฐานกบฏเลยก็ได้

“เวลารัฐประหารผมก็ไม่เห็นว่ามีใครบอกสักคนเลย คุณประยุทธ์เอากำลังจากบูรพาพยัคฆ์เยอะแยะมาไว้ที่ราบ 11 แล้วไม่ได้บอกว่าจะเอามายึดอำนาจคุณยิ่งลักษณ์นะ แล้วรายงานให้คุณยิ่งลักษณ์ทราบด้วยว่าจะเอากำลังมาสวนสนาม แต่ถึงเวลาจริงก็คือยึดอำนาจ ถามว่าการมีกฎหมายแบบนี้ป้องกันการรัฐประหารได้หรือ ไม่ได้แน่นอน”

สุภลักษณ์มองว่าตอนนี้ยังคงไม่มีสูตรสำเร็จในการป้องกันการรัฐประหาร ยังคงต้องหาวิธีอื่นๆ มาพูดคุยกันเพราะถ้าไม่สามารถปฏิรูปกองทัพและสร้างมาตรฐานความคิดอุดมการณ์ของกองทัพขึ้นมาใหม่ให้กองทัพรู้สึกว่าการยึดอำนาจเป็นสิ่งไม่ถูกต้องและทำไม่ได้ก็จะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลากันอีกหลายชั่วอายุคน

สุภลักษณ์เสนอว่าจะต้องเปลี่ยนอุดมการณ์สูงสุดของกองทัพให้ได้ก่อน จากที่มีอยู่ตอนนี้คือการปกป้องราชบัลลังก์จากภัยคุกคามต่างๆ ที่เป็นเรื่องเอามาใช้ป้ายสีใครก็ได้แม้กระทั่งเด็กๆ ที่ออกมาชุมนุมก็กลายเป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงได้ กองทัพก็ใช้เรื่องนี้รักษาสถานะทางการเมืองของตัวเองแบบนี้อยู่เรื่อยไป

จึงต้องเปลี่ยนให้กองทัพมีหน้าที่อย่างเดียวในการป้องกันประเทศจากการคุกคามภายนอกแล้วให้ปัญหาความมั่นคงภายในเป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน เพราะทั้งการฝึกและยุทโธปกรณ์ของกองทัพรุนแรงเกินไปกับการจัดการปัญหาความมั่นคงภายใน อย่างการเอารถถังมาปราบปรามผู้ประท้วงก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประเทศไหนพึงกระทำ

นอกจากนี้ต้องเขียนโครงสร้างอำนาจของกองทัพในรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้ไทยมีเพียง 3 อำนาจอยู่ในระนาบเดียวกันคือ บริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติเท่านั้น เพราะในเวลานี้ไทยยังมีอำนาจอื่นๆ ที่อยู่ระดับเดียวกันกับ 3 อำนาจดังกล่าวก็คือกองทัพ ดูได้จากเรื่องการเลื่อนยศ ปลด ย้าย นายทหารที่ควรจะจบอยู่ที่รัฐมนตรีที่จะตัดสินใจได้ว่าใครที่สนองนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐมนตรีกลับทำได้แค่รอลงนามเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจแม้แต่น้อยทั้งในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติที่จะระบุว่าใครเป็นผู้บัญชาการ ต้องขึ้นอยู่กับสภากลาโหม

“ในทางกฎหมายต้องแก้ให้การให้คุณให้โทษจะต้องมาจากคนที่ถือ mandate จากประชาชน”

สุภลักษณ์เสนอให้ทั้ง สส.และสว.ควรมีอำนาจในการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐรวมถึงกองทัพ เช่น รัฐสภาควรมีอำนาจมากกว่านี้ในการตัดงบประมาณที่ถูกเสนอเข้ามาจากหน่วยงานราชการ หรือในบางประเทศจะให้ผู้ที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อรัฐสภาที่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้แทนของประชาชนสามารถรู้ได้ว่านายทหารเหล่านี้มีประวัติและทัศนคติอย่างไรต่อปัญหาความมั่นคงต่างๆ และให้ประชาชนได้รับรู้ เหมือนกับที่รัฐบาลต้องมาแสดงวิสัยทัศน์เพื่อให้ผู้แทนประชาชนซักถามได้

เขาสะท้อนปัญหาว่าตอนนี้คณะกรรมาธิการเชิญนายทหารเหล่านี้มาชี้แจงก็ยังไม่ได้ ทั้งที่เมื่อก่อนเคยมีกฎหมายว่าการมาชี้แจงตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการหรือต่อรัฐสภาเป็นหน้าที่ แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้แล้ว ดังนั้นสภาควรจะได้รับอำนาจในการตรวจสอบในฐานะผู้แทนประชาชนทำให้กองทัพโปร่งใสมากขึ้น

สุภลักษณ์กล่าวว่า แม้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็อาจจะไม่ได้ป้องกันการรัฐประหารได้ 100% ก็ตามแต่ก็ทำให้กองทัพได้ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้นและยอมรับอำนาจที่มาจากประชาชนมากกว่ายอมรับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน

“ในประเทศอื่นที่กองทัพเข้มแข็งมากกว่านี้ อย่างในสหรัฐอเมริกาเขาก็ไม่ยึดอำนาจ แม้ว่าจะมีอำนาจเยอะ เพราะ norm ของเขา วิถีทางการปฏิบัติแบบแผนของทหารในประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่ยึดอำนาจ แต่ของประเทศไทยวันใดที่ตัวเองรู้สึกไม่มั่นคงก็ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนได้ง่ายๆ ออกกฎหมายมา 100 ฉบับก็แก้อะไรไม่ได้”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net