Skip to main content
sharethis

กรีนพีซจัดงาน “ฮักภาคเหนือ บ่ เอาถ่านหิน” เรียกร้องให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) หยุดแผนรับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ.เชียงใหม่ และยุติโครงการเหมืองถ่านหินที่ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง รวมถึงเรียกร้องให้ธุรกิจเอกชนต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินในประเทศไทย

 

19 ก.ย. 2567 กรีนพีซ ประเทศไทยจัดงาน “ฮักภาคเหนือ บ่ เอาถ่านหิน” ที่บริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรณรงค์และสื่อสารเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการเหมืองถ่านหินที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรียกร้องให้บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG หยุดแผนการรับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และยุติโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง พร้อมต้องสื่อสารต่อสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

งานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการที่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชนต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินในประเทศไทย  ซึ่งถือเป็นพลังงานที่ล้าสมัยและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง หากภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเอกชนยังคงเดินหน้าไม่เริ่มปลดระวางถ่านหินและพยายามผลักดันโครงการเหมืองถ่านหินเพิ่มในพื้นที่ภาคเหนือ ความเสี่ยงและผลกระทบจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น งานวิจัยของกรีนพีซ สากล และเครือข่าย Endcoal ระบุว่าผู้คนจำนวนมากกว่า 350,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในแต่ละปีเนื่องจากมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งใช้พลังงานจากถ่านหินอันรวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเช่นกัน

ภายในงาน “ฮักภาคเหนือ บ่ เอาถ่านหิน”มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ  เช่น การแสดง Performance Arts และกิจกรรมฮ้องขวัญ (สู่ขวัญ) โดยมีมาสคอตช้าง “น้องฟาดฝุ่น” ที่เคยเป็นช้างเผือกมาก่อน แต่ปัจจุบันกำลังปนเปื้อนถูกทำลายจากโครงการการเหมืองถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีเสวนาในหัวข้อ “ถ้าฮักบ้านเฮา : ต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน” กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ต่อผลกระทบในวงกว้างของการใช้พลังงานถ่านหิน และการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ต่อทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อปกป้อง เคารพ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

พีรณัฐ วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ถ่านหินถือเป็นพลังงานที่ล้าสมัย และเรามีทางเลือกในการใช้พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ แทนได้  ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ยังคงเลือกใช้ถ่านหินอยู่เพราะมีราคาถูก แต่ความเป็นจริงแล้วหากเราคำนวนต้นทุนด้านการเยียวยาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน จะพบว่าการใช้ถ่านหินมีต้นทุนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานหมุนเวียน”

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในพื้นที่อมก๋อยกล่าวว่า“ แม้ว่าในปี 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับกรณีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะที่การยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของบริษัทเจ้าของโครงการก็ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีของการต่อสู้ตามสิทธิของตัวเองและเพื่อชุมชน ในการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ทำให้เราไม่สามารถวางใจได้เลยว่าจะมีหรือไม่มีบริษัทอื่นมาขอประทานบัตรสร้างเหมืองถ่านหินอีก  เพราะที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใส”

สนอง อุ่นเรือง นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนจากพื้นที่แม่ทะ กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ชุมชนบ้านกิ่วและบ้านบอม ในอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางได้รับงบประมาณเพื่อมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน หากอำเภอแม่ทะมีโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ ชุมชนมีความกังวลเป็นอย่างมากถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม”

“การที่ SCG ได้รับรางวัลบริษัทต้นแบบด้านความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกให้บริษัทฯต้องมีความรับผิดรับชอบต่อสังคม SCG ต้องประกาศแผนปลดระวางถ่านหินต่อสาธารณะชนโดยทันที และจะต้องไม่ดำเนินการโครงการเหมืองถ่านหินที่อาจจะละเมิดต่อสิทธิที่ดิน ชุมชน สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนอีก หาก SCG ยังคงเดินหน้าในโครงการเหมืองถ่านหิน รางวัลทั้งหมดที่ได้รับมาถือเป็นเพียงการฟอกเขียวเท่านั้น” พีรณัฐ กล่าวทิ้งท้าย

การปลดระวางถ่านหินถือเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประเทศไทยได้ลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนไม่เพียงแต่ช่วยหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จะเปลี่ยนผ่านจากระบบรวมศูนย์ (Centralisation) สู่ระบบกระจายศูนย์พลังงาน (Decentralisation) ที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมทางพลังงาน

ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ SCG ปลดระวางถ่านหินโดยต้องมีแผนงานที่ชัดเจนได้ที่ https://act.gp/coal-scg 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net