Skip to main content
sharethis

การสู้รบในพม่าและความขัดแย้งระหว่างทหารกะเหรี่ยงกับทหารพม่าส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากกลายเป็นผู้อพยพและผู้ลี้ภัยอยู่ในป่าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ขาดแคลนสำหรับพวกเขา เด็กๆ ที่ลี้ภัยอยู่ในป่ายังคงต้องการเรียนหนังสือ เสียงสะท้อนจากคนไทยฝั่งสาละวิน ระบุว่า พอเกิดขึ้นทหารก็จะเข้ามาบล็อกพื้นที่ทันที กันคนนอกไม่ให้หนีตายเข้ามาฝั่งไทย ทหารบางนายอาจไม่รู้เรื่องการปฏิบัติการต่อผู้ลี้ภัย การกันพื้นที่เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ลี้ภัยที่ต้องการของความช่วยเหลือเร่งด่วน

 

19 ก.ย. 2567 จากท่าเรือแม่สามแลบ เรานั่งอยู่บนเรือกลางแม่น้ำสาละวิน มุ่งหน้าไปทางทิศใต้ คนขับเรือเชื้อสายมุสลิมนุ่งโสร่งหันหัวเรือออกไปตามร่องน้ำลึก ลัดเลาะเกาะแก่งอย่างชำนาญเส้นทางเดินเรือ ฝั่งซ้ายคือบ้านแม่สามแลบ ทางฝั่งขวาเรามองเห็นป้อมค่ายของทหารกะเหรี่ยงตั้งอยู่ ธงชาติกะเหรี่ยงกำลังพัดปลิวไสว ต่ำลงมา เรามองเห็นป้ายสีขาวแผ่นใหญ่ มีตัวหนังสือภาษาอังกฤษติดอยู่ดูโดดเด่น Welcome To Kawthoolei

แผ่นดินกอทูเลเป็นของชาวกะเหรี่ยงมายาวนาน ก่อนจะถูกทหารพม่ายึดเอาไป แล้วมาตั้งค่ายป้อมเอาไว้นานหลายปี  การสู้รบครั้งล่าสุดกองกำลังชาติพันธุ์ทหารกะเหรี่ยงได้สู้รบจนทหารพม่าแพ้พ่ายล่าถอยออกไป ทำให้ทหารกะเหรี่ยงสามารถยึดแผ่นดินกอทูเลคืนกลับมาอีกครั้ง การปักธงชาติกะเหรี่ยงปลิวไสวบนยอดเสา ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินนั้น จึงเหมือนการประกาศทวงคืนแผ่นดินกอทูเล กลับมาด้วยความภาคภูมิใจ

ผู้ลี้ภัย

 

ผู้ลี้ภัย

ที่มาภาพ: องอาจ เดชา

“กอทูเล” มีความหมายว่า ดินแดนแห่งดอกไม้ หรือดินแดนสีเขียว เป็นดินแดนที่สุขสบาย อุดมสมบูรณ์ และมีสันติภาพ เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ หรือพื้นที่ที่ปลอดจากความชั่วร้าย กล่าวได้รวมๆ ว่า “กอทูเล” คือรัฐในจินตนาการและความฝันของผู้นำกะเหรี่ยง ที่ต้องการสร้างรัฐแยกตัวออกจากสหภาพพม่า นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948

จุดกำเนิดของกอทูเล ในฐานะ “รัฐ” สมมุติของกะเหรี่ยง มีที่มาจากขบวนการชาตินิยมกะเหรี่ยง ต่อมาจะกลายเป็นขบวนการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) ภายใต้การนำของ ซอ บา อู จี (Saw Ba U Gyi) วีรบุรุษชาตินิยมคนสำคัญของกะเหรี่ยง เมื่อครั้งที่เขาประกาศให้รัฐกะเหรี่ยงเป็นเอกราชจากการปกครองของสหภาพพม่าในปี 1949 แน่นอนว่าคำประกาศของ ซอ บา อู จี ในครั้งนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลพม่าของอู นุ และนับตั้งแต่นั้น KNU ก็เข้มแข็งขึ้นตามละดับ และสู้รบกับกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน

ผู้ลี้ภัย

 แม่น้ำสาละวิน (ที่มาภาพ: องอาจ เดชา)

 

ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างทหารกะเหรี่ยงกับทหารพม่าทำให้พื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนไทย ยังคงเป็นพื้นที่การสู้รบ ประชาชนจำนวนมากหนีภัยสงครามเข้ามายังฝั่งไทยกันเป็นจำนวนมาก

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน และนายก อบต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บอกเล่าว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา เหตุการณ์ความขัดแย้งการสู้รบระหว่างกองกำลังของชาติพันธุ์กับกองกำลังทหารพม่า มีการสู้รบกันแบบรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้จะเหมือนกับเหตุการณ์เมื่อประมาณ 30 ปีนั้นเลย คือเกิดการสู้รบกันรุนแรงและขยายเป็นวงกว้าง จนทำให้ชาวกะเหรี่ยงหนีตายข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทยทางด้านแม่ฮ่องสอน และหนีข้ามแม่น้ำเมย เข้ามายังฝั่งไทยบริเวณ อ.แม่สอด จ.ตากกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางการไทย ต้องให้ที่พักพิงชั่วคราว โดยทางยูเอ็นได้ช่วยเหลือในเรื่องของอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เรื่องของสุขภาพ เรื่องการศึกษา รวมไปถึงองค์กรนานาชาติเข้ามาดูแล โดยผ่านระบบกฎหมายของไทย

“แต่ที่น่าเป็นห่วง ก็คือมีพี่น้องกะเหรี่ยงอีกส่วนหนึ่งอยู่ในฝั่งของรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นศูนย์อพยพเหมือนกัน ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนกลางป่า อยู่ในถ้ำบ้าง โดยผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้มีจำนวนมากเหมือนกัน และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติเลย เนื่องจากไม่สามารถจะเข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะว่าถ้าจะข้ามไป มันต้องผ่านกลไกทางกฎหมายของไทย ซึ่งมันยากมาก ในเมื่อทางการไทยไม่อนุญาต เขาก็จะช่วยเหลือกันเองไปตามยถากรรม คือมันเกิดขึ้นหลังจากทหารพม่าปฏิวัติยึดอำนาจรอบใหม่ ก็เลยเคยเกิดสถานการณ์การสู้รบรุนแรงมากขึ้น แต่ดูเหมือนเป็นความตั้งใจของทหารพม่าที่ต้องการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า โดยใช้วิธีการเอากองกําลังทหารเข้าไปประจำตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่แนวชายแดน มันก็เลยทำให้ครั้งนี้ เกิดสถานการณ์การสู้รบใกล้ชายแดนมากขึ้น มีการปะทะกันบ่อยขึ้น จนทำให้ชุมชนที่อยู่ใกล้ชายแดนจะได้รับผลกระทบ ทำให้มีผู้อพยพหนีตายข้ามมาฝั่งไทยกันมากขึ้น” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

พงษ์พิพัฒน์ บอกว่า สงครามครั้งนี้ มันไม่ใช่ทหารพม่าสู้รบกับกองกําลังชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างเดียว แต่มันคือการทําลายวิถีชีวิต การสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านด้วย เนื่องจากครั้งนี้ทหารพม่าได้ใช้เครื่องบินรบ ทิ้งระเบิดลงมา ทำลายบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน จนเสียหายหนัก

“เหมือนทหารพม่าต้องการจะตั้งใจทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะอยู่ในชุมชนของตัวเอง สุดท้ายก็ต้องหนีตายออกมานับหมื่นคนเลย ถือว่าเป็นการอพยพรอบใหญ่ ชาวบ้านก็พยายามหนีกระจายอยู่ประชิดชายแดนไทยให้มากที่สุด คือส่งผลกระทบต่อการอพยพในวงกว้าง ตลอดแนวชายแดน ตั้งแต่แถบแม่น้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงไปถึงอำเภอพบพระ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ยาวไปจนถึงกาญจนบุรีราชบุรีโน่นเลย  เป็นการอพยพรอบใหม่ คือจากการสู้รบที่มันหนักหน่วงขึ้น หลังจากทหารพม่าได้ใช้ยุทธวิธีนำอาวุธเทคโนโลยีเข้ามาใหม่ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาวุธสงครามหรือการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด ซึ่งไม่เคยใช้มาก่อน จนส่งผลทำให้ชุมชนพังเสียหาย จนชาวบ้านไม่สามารถจะอยู่ในในพื้นที่ชุมชนของตนเองได้ เพราะกลัวว่าเขาจะมาทิ้งระเบิด ก็ต้องหนีไปอยู่ในป่า อยู่ตามร่องน้ำ ตามลำห้วย ตามถ้ำ และการหลบหนี หลบภัย ก็ไม่สามารถที่จะอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ได้ เพราะถ้าอยู่กันกลุ่มใหญ่ ก็กลัวทหารพม่าขับเครื่องบินมามองเห็นอีก  ก็เลยต้องใช้วิธีซุกซ่อนตัวกันกลุ่มละ 4-5 คนบ้าง” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน และนายก อบต.แม่สามแลบ

ในขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่มพากันอพยพข้ามมาอยู่ในฝั่งไทยเพื่อความปลอดภัย ในศูนย์พักพิงชั่วคราว แต่พอหลังจากสถานการณ์ค่อนข้างสงบ ดีขึ้น ทางการไทยก็พยายามผลักดันให้กลับ โดยอ้างว่า ฝั่งโน้นสงครามสงบแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่แบบนี้อีก แต่ชาวบ้านก็บอกว่า ยังไม่อยากกลับไป เพราะบ้านถูกทำลายไปแล้ว และยังกลัวทหารพม่าจะมาทิ้งระเบิดอีก

“อีกทั้งส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก คนแก่ คนพิการ คนป่วยติดเตียง คนท้องใกล้คลอด บางรายต้องหามเปล นั่งเรือข้ามฟากเข้ามา แล้วถูกกดดันให้กลับไปอีก ทำให้หลายรายอาการหนัก ไม่ได้รับการรักษา ก็ทรุดลงจนเสียชีวิตกันหลายราย  ทำให้ชาวบ้านที่เสียชีวิตโดยไม่ใช่สาเหตุจากการสู้รบ แต่เสียชีวิตจากการที่อพยพข้ามฟากไปมา แบบนี้ทําให้ผู้บริสุทธิ์หมายถึงชาวบ้านทั่วไป เสียชีวิตไปเยอะเหมือนกัน รวมไปถึงเด็กที่คลอดก่อนกำหนดกลางป่า แต่ตรงนั้นไม่มีหมอ ไม่มีอุปกรณ์อะไรช่วยเหลือเลย ความช่วยเหลือต่างๆ ก็เข้าไม่ถึง จึงเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

ผู้ลี้ภัย

 

ผู้ลี้ภัย

ที่มาภาพ สุนทร วงศ์จอมพร

 

ในนามมนุษยชน ผู้ลี้ภัยก็คือพี่น้องร่วมโลก คนชาติพันธุ์ในไทยระดมช่วยผู้ลี้ภัย

เป็นที่รับรู้กันว่า กลุ่มผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่หนีข้ามมายังฝั่งไทย ส่วนใหญ่ก็เข้าอยู่ในศูนย์อพยพ หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ,ตาก ,กาญจนบุรี และราชบุรี โดยมีผู้อพยพลี้ภัยรวมกันเกือบ 1 แสนคน แต่ปัญหาผู้อพยพที่ยังคงลี้ภัยในป่าฝั่งตะวันตกในรัฐกะเหรี่ยง ริมตะเข็บชายแดนนั้นมีความทุกข์ยากลำบากมากมายหลายเท่านัก

ทวีวิทย์ เดะบือแฮ กรรมการ Karen Thai Association (KTA) และกรรมการหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องกะเหรี่ยงที่ลี้ภัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนฝั่งตรงข้ามกับแนวชายแดนไทย เขาบอกว่า เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองกำลังทหารพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์รอบนี้ถือว่ามีความรุนแรง กระทบต่อชาวบ้านหลายชุมชน ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ จนกระทั่งต้องหนีเข้ามาในประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งหนีมาอาศัยในเขตป่าตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก

“ครั้งล่าสุดนี้มีพี่น้องหนีเข้ามาแล้วเกือบเป็นหมื่นคนเลย เราจำเป็นต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งจะเห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไทยหรือชายแดนฝั่งโน้น ก็เป็นพื้นที่อยู่ชั่วคราว มันมีความลำบาก และมีความต้องการขอรับการช่วยเหลืออยู่มาก บางครั้งพี่น้องที่หลบอยู่ในฝั่งโน้น เจ็บป่วย ไม่สบาย บางคนโดนยิง ผมก็จะเป็นคนคอยประสานให้ พาข้ามเรือ ประสานกับทางโรงพยาบาล เอารถฉุกเฉินเข้าไปรับที่แนวชายแดน เพราะบางเคส ถือว่าเป็นผู้ป่วยหนัก เราก็จะช่วยเหลือเรื่องนี้ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็จะเป็นคนประสานงาน ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้” ทวีวิทย์ กล่าว

ทวีวิทย์ บอกอีกว่า มีหลายเคส ที่เขาประสานงาน พาผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลแม่สะเรียง บางรายที่อาการหนักสาหัส จนต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลที่เชียงใหม่ก็มีหลายราย ที่น่าสนใจก็คือ ได้มีส่วนหนุนเสริมให้เกิดคลินิกชายแดน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยด้วย

“นอกจากนั้น เรายังทําเรื่องของคลินิกชายแดนขึ้นด้วย เพื่อที่จะมาสแกนผู้ป่วยกันที่ชายแดน หรือถ้าเป็นเคสใหญ่ เราก็พยายามประสานกับทางเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เขามีความเชี่ยวชาญให้ไปประจำอยู่ตรงโน้นเลย เพื่อที่จะช่วยลดภาระคนไข้ที่ไม่จําเป็นต้องเข้ามารักษาในโรงพยาบาลประจำอำเภอ แต่สามารถที่จะดูแลรักษาตรงนั้นเลย ก็จะเป็นคลินิก ที่มีพยาบาลคอยดูแลกันตรงนั้น และเป็นการคัดกรองว่า คนไข้แต่ละรายมีอาการหนักแค่ไหน รักษาได้ก็รักษาตรงนั้นเลย คือเราจะคอยประสานกับทางหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ รวมไปถึงฝ่ายความมั่นคงด้วย” ทวีวิทย์ กล่าว

 

ผู้ลี้ภัย

ทวีวิทย์ เดะบือแฮ กรรมการ Karen Thai Association (KTA) และกรรมการหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทวีวิทย์ บอกว่า การช่วยเหลือรูปแบบนี้ ได้ทำมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดมาแล้ว จนกระทั่งมาถึงช่วงการรัฐประหารในพม่า จนเกิดการสู้รบครั้งใหญ่นี้อีกครั้ง ทำให้มีคนอพยพหนีข้ามมาฝั่งไทยเยอะมาก

เมื่อถามความรู้สึกว่าทำไมถึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแบบนี้

“คือที่ผ่านมา เราอยู่ตรงกลางมาโดยตลอด คือทำงานเรื่องการค้าชายแดน และเราเป็นจิตอาสาอยู่แล้ว จึงชอบช่วยเหลือผู้คน แล้วก็ทํางานไปด้วย บางครั้งคนอื่นอาจมองว่าไปยุ่งเรื่องการเมืองพม่ามากเกินไปมั้ย บางทีเขาก็ไม่อนุญาต แต่อย่างไรก็ตาม มันเหมือนเรามีภาระใจตรงนี้ ทำให้เราอยากช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เรามีความสุขด้วย” ทวีวิทย์ บอกย้ำ

ในขณะที่ทางสังฆมณฑลเชียงใหม่ มิสซังเชียงใหม่ ก็ได้ระดมกำลังทรัพย์ ระดมข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้กันอย่างต่อเนื่อง

สุนทร วงศ์จอมพร ศูนย์มิสซังเชียงใหม่ ได้บอกเล่าให้ฟังถึงการมีส่วนร่วมในงานของพระศาสนจักรต่อผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ของสังฆมณฑลเชียงใหม่ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงของการปฏิวัติยึดอํานาจของทหารเมียนมา ตอนนั้นเราก็ติดตามข่าวอยู่ตลอด แต่พอถึงเดือนมีนาคม ก็รู้ข่าวว่าทหารเมียนมาได้ใช้เครื่องบินไปทิ้งระเบิดทางตอนเหนือ  พอเครื่องบินทิ้งระเบิดปุ๊บ ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงก็เริ่มอพยพหนีเข้ามาฝั่งไทย ตอนนั้นเราตัดสินใจที่จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้อพยพผู้ลี้ภัย ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ก็จะหนีข้ามมาอาศัยอยู่ในฝั่งไทย ในเขตพื้นที่แม่สะเรียง ของแม่ฮ่องสอน โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 ถือว่ามีการอพยพเข้ามาอีกจำนวนมาก มาอาศัยอยู่แถวบ้านเสาหิน ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนทางการไทย จึงให้ชาวกะเหรี่ยงภายในศูนย์อพยพบ้านเสาหิน เร่งทำเพิงพักอาศัยชั่วคราวด้วยไม้ไผ่ และมีผ้าเต็นท์คลุม เนื่องจากในพื้นที่มีฝนตกลงมาต่อเนื่อง โดยเพิงพักแต่ละแห่งอาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ มีสมาชิก 5-10 คน ก็จะหุงข้าว และทำอาหารกินกันเอง ส่วนน้ำดื่มและน้ำใช้ ต้องรองน้ำประปาภูเขา หรือตักน้ำจากลำธาร

“พอเป็นเช่นนั้น เรารู้ว่าผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ยังขาดแคลนเรื่องอาหารการกินอะไรอยู่มาก ทางสังฆมณฑลเชียงใหม่ ก็เลยประกาศขอรับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้งจากส่วนกลาง รวมถึงพี่น้องทางเชียงใหม่ โดยเราเป็นสะพานเชื่อมในช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มนี้” สุนทร กล่าว

ต่อมา เกิดเหตุการณ์สู้รบในประเทศเมียนมา ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2565 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีพี่น้องกะเหรี่ยงหนีภัยจากการสู้รบมาอาศัยอยู่ในป่าตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมาจนถึงราชบุรี โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีผู้หนีภัยเป็นจำนวนมากที่ยังไม่กล้าเดินทางกลับภูมิลำเนา อีกทั้งสถานการณ์การสู้รบก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเร็ววัน ทางคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอภิบาลสังคม แผนกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (มูลนิธิโคเออร์) ร่วมกับคาริตัสหรือฝ่ายสังคมของสังฆมณฑลเชียงใหม่ สังฆมณฑลนครสวรรค์ และสังฆมณฑลราชบุรี พร้อมกับหน่วยงานคาทอลิก หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนองค์กรการกุศลต่างๆ จึงได้ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น

“ที่ผ่านมา แต่ละสังฆมณฑล ในแต่ละมิสซัง จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยในแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น แถวแม่สอด ก็จะมีมิสซังนครสวรรค์ แถวราชบุรีก็จะมีมิสซังราชบุรี และแม่ฮ่องสอน ก็จะมีมิสซังเชียงใหม่ เข้าไปให้ความช่วยเหลือ เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ทางการไทยก็ได้ให้ผู้อพยพกลุ่มนี้ ทยอยกลับออกไป แต่พวกเขาไม่สามารถกลับไปยังบ้านเกิดของตนเองได้ เพราะยังหวาดกลัวทหารพม่าจะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดในหมู่บ้านอีก จึงตัดสินใจหลบซ่อนอยู่ใกล้ชายแดนไทย โดยได้ทำการสร้างเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวกระจายอยู่ใกล้แม่น้ำสาละวิน” สุนทร กล่าว

 

ผู้ลี้ภัย

สุนทร วงศ์จอมพร ศูนย์มิสซังเชียงใหม่

 

สุนทร บอกว่า สังฆมณฑลเชียงใหม่ ตระหนักดีถึงความเป็นพี่น้องและศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก จึงไม่อาจนิ่งดูดายได้ การช่วยเหลือเราจะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวบ้านนอกศูนย์อพยพ เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุที่เคลื่อนย้ายหลบหนีอยู่ตามชายแดนและผู้ที่เจ็บป่วยมาโรงพยาบาล การดำเนินงานช่วยเหลือนั้นมีหน่วยงานและแผนกต่างๆภายใต้มิสซังเชียงใหม่ได้ช่วยกันนำสิ่งของบรรเทาทุกข์นำส่งให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา การช่วยเหลือประกอบด้วย  ข้าวสารอาหารแห้ง  เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรคอุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์การสร้างที่อยู่อาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวและส่งเสริมด้านการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองและเกิดความยั่งยืนในอนาคต

“ผมได้ข้ามไปที่ฝั่งโน้น ตรงนั้นเขาเรียกกันว่าศูนย์อพยพเก่า ที่มีเด็กนักเรียน มีหอพักอยู่ พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงโรงเรียนเปิดแล้ว แต่ทุกคนไม่สามารถที่จะกลับไปเรียนในหมู่บ้านนั้นได้  เราก็เลยเอาเด็กๆ เข้ามาเรียนในศูนย์อพยพเก่าตรงนี้ เพราะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุด อยู่ติดกับแม่น้ำสาละวิน ติดกับชายแดนไทย ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ ทหารพม่าเข้าจะไม่กล้าที่จะมาทิ้งระเบิด เพราะว่ามันมีโอกาสจะกระทบต่อชาวบ้านในฝั่งไทยได้ เราก็ไปช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มนี้ ให้มีที่เรียน มีอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมไปถึงการถ่ายทอดวิชาเกษตร ให้เด็กๆ ได้ช่วยเหลือตัวเองพึ่งพาตนเองได้” สุนทร กล่าว

ผู้ลี้ภัย

 

ผู้ลี้ภัย

ที่มาภาพ สุนทร วงศ์จอมพร

ทั้งนี้ งานส่งเสริมด้านการเกษตรจึงมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยลดภาระและพึ่งพาตนเองได้ มีการอบรมเกษตร เพื่อให้มีทักษะ ความรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ โดยการนำเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น ใบไม้แห้ง มาทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เพื่อลดการเผา ลดหมอกควัน อีกทั้งเป้าหมายในระยะยาวคือ การสร้างความมั่นคงทางอาหารตามพื้นที่ชายแดน โดยมีความคิดพื้นฐานที่ว่า เมื่อเขามีอาหาร มีงาน มีรายได้มาบ้าง คงไม่มีใครที่อยากเข้ามาประเทศไทย ที่ผ่านมา ในส่วนของผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในพื้นที่ของแม่ฮ่องสอนและฝั่งตรงข้ามใกล้แนวเขตชายแดน ก็มีหลายหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือกันโดยเฉพาะทางสังฆมณฑลเชียงใหม่ ก็ได้เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือกันในพื้นที่เพื่อระดมความช่วยเหลือกันอย่างเต็มกำลัง

 

ผู้ลี้ภัย

ที่มาภาพ สุนทร วงศ์จอมพร

ผู้ลี้ภัย

ที่มาภาพ มนตรี จะนี

เช่นเดียวกับ มนตรี จะนี ศิษยาภิบาล คริสตจักรพันธกิจเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็ได้รวบรวมเสื้อผ้า ข้าวสาร อาหารแห้ง สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ และเดินทางโดยเรือข้ามแม่น้ำสาละวิน ไปเยี่ยมเยือนศูนย์ลี้ภัยชั่วคราวซึ่งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ใกล้แม่น้ำสาละวิน ก็ได้บอกว่า มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในป่ากันเยอะมาก พวกเขายังขาดแคลนข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้อยู่เป็นจำนวนมาก มีเด็กอยู่ที่นั่นเยอะมาก ทุกคนไม่กล้ากลับบ้านของตนเอง เพราะยังกลัวทหารพม่ากันอยู่

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ในฐานะเป็นนายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งทำงานขับเคลื่อนร่วมกับชาวบ้านทั้งฝั่งไทยและพี่น้องชาวกะเหรี่ยงฝั่งเมียนมา ในเรื่องการปกป้องดูแลรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำสาละวินมานานหลายสิบปี ก็พยายามประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการขอการสนับสนุนช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่อยู่กระจัดกระจายทั้งสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน

“ตอนนี้ พวกเขาลำบากกันมาก ยังต้องการความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ลี้ภัยอยู่ในป่า ซึ่งพวกเขาได้สร้างเป็นเพิงไม้ไผ่ง่ายๆ เอาไว้สอนหนังสือให้กับเด็กๆ ตอนนี้เราช่วยได้ก็คือ ขอรับบริจาคสิ่งของ ข้าวสารอาหารแห้ง รวมไปถึงสมุด ปากกา ดินสอ ผ่านผู้ใจบุญ บุคคลทั่วไปที่อยากจะช่วยเหลือบริจาค โดยเราจะเป็นตัวเชื่อมเพื่อส่งมอบไปให้พี่น้องฝั่งโน้นกัน ซึ่งถามว่าพอมั้ย ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะว่าการช่วยเหลือมันเป็นแค่ส่วนบุคคล และบางครั้งก็มีบางองค์กรเข้ามาช่วยบ้าง แต่ก็แค่องค์กรหนึ่ง ซึ่งเขาก็ไม่ใช่มีปัจจัยที่จะช่วยดูแลได้ตลอด ก็ช่วยได้แค่พอบรรเทาเท่านั้น บางครั้งการช่วยเหลือก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากถูกปิดกั้นจากฝ่ายความมั่นคง หรือขัดกับระเบียบกฎหมาย หรือเงื่อนไขต่างๆ ไม่ให้เราเข้าไปช่วยเหลือโดยตรง มันจะต้องผ่านกระทรวง ผ่านกาชาดซึ่งทำให้การช่วยเหลือไปไม่ถึงพี่น้องฝั่งโน้น” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

พงษ์พิพัฒน์ บอกว่า จริงๆ แล้ว ถ้าเรามองถึงหลักมนุษยธรรม คือถ้าทางการไทยไม่มีงบให้ความช่วยเหลือ หรือติดขัดข้อระเบียบ  ไม่สามารถใช้งบของประเทศตัวเอง แต่ถ้ามีผู้บริจาคทั้งหลายที่เขามีภาระใจอยากช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่ถ้าเราจะอํานวยความสะดวกให้เขาสามารถบริจาคได้ โดยทางการไทยช่วยเอื้ออํานวยความสะดวกความปลอดภัย มันก็จะได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้งหรือว่าคือสิ่งของปัจจัยพื้นฐาน หรือจะตั้งเป็นองค์กรกลางก็ได้

“ยกตัวอย่าง ถ้านานาชาติช่วยกันระดมบริจาคเข้ามา ซึ่งก็จะเป็นบทบาทร่วมกัน โดยไม่ต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบ และไม่กระทบกับข้อระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลไทย เพียงแต่เราเป็นช่องทางผ่านในการอํานวยความสะดวกในเรื่องของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม  ถ้าประเทศอื่นๆ ที่เขามีความพร้อม มีปัจจัยอาจจะช่วยเหลือเรื่องเสบียงอาหาร ประเทศนี้เข้ามาช่วยเหลือในด้านสาธารณสุข เรื่องเวชภัณฑ์ยา อีกประเทศเข้ามาช่วยเหลือเรื่องของการศึกษา  คือถ้าเราร่วมมือกันอย่างนี้ อาจจะตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการนานาชาติทำงานร่วมกัน หรือถ้าเกิดสถานการณ์การสู้รบ จนเกิดปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ปุ๊บ ศูนย์ปฏิบัติการฯนี้ ก็เข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

แต่ที่ผ่านมา พอเกิดปัญหานี้ขึ้นมาปุ๊บ ทหารก็เข้าไปบล็อกพื้นที่ทันที กันคนนอกไม่ให้เข้าไปข้างใน ไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่หนีตาย ซึ่งทหารบางนายก็ไม่ได้รู้เรื่องการปฏิบัติการต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งการไปกันพื้นที่แบบนั้น มันส่งผลกระทบต่อผู้ลี้ภัยที่ต้องการของความช่วยเหลือเร่งด่วน

“อย่างเช่น บางคนเป็นผู้ป่วยต้องกินยา บางคนเป็นผู้ป่วยเฉพาะทาง แล้วก็บางคนเป็นผู้พิการ คนท้องแก่ใกล้คลอด เขาก็ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หมอก็เข้าไปรักษาไม่ได้ คนนอกก็เข้าไปไม่ได้ มันก็เลยเกิดปัญหาใหญ่ คือที่ผ่านมา เราจึงรู้ข่าวผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยหลายคนเสียชีวิตในระหว่างการอพยพ เพราะถูกควบคุม ถูกบล็อกไว้ไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือพวกเขา อันนี้ผมว่ามันแย่มาก ในหลักมนุษยธรรม ของความเป็นมนุษย์และเพื่อนร่วมโลกที่ต้องมาเจอชะตากรรมแบบนี้ ทั้งที่พวกเขาก็เป็นชาวบ้านเหมือนเรา ไม่ได้จับอาวุธ ไม่ใช่เป็นทหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนป่วย คนท้อง คนพิการ คือถ้าเราไม่ปรับแก้ข้อระเบียบ กฎหมาย หรือทบทวนนโยบายรัฐกันเสียใหม่ ปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย มันก็จะเป็นปัญหาคาราคาซังอย่างนี้ต่อไป” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

 

สงครามการสู้รบ กระทบการค้าแนวชายแดน

แน่นอนว่า การสู้รบกันมันย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าตามแนวชายแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านฝั่งเมียนมา เขาต้องพึ่งพาสินค้าอาหารจากทางฝั่งชายแดนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่แม่สามแลบนี้ มีการค้าขายแลกเปลี่ยนกันไปมา เป็นเหมือนเพื่อนบ้าน ฝั่งไทยก็คนกะเหรี่ยง ฝั่งตรงข้ามก็เป็นพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ก็มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ที่อยู่ชายแดนกันมาตลอด

“ตรงท่าเรือแม่สามแลบ ริมแม่น้ำสาละวิน เป็นหนึ่งจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน ตรงนี้จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า มีรายได้จากการเก็บภาษี แต่พอเกิดสถานการณ์การสู้รบ สถานการณ์ข้างในไม่สงบ จึงส่งผลทำให้การค้าขายต่างๆ ลดลง รวมไปถึง ผู้คนที่คิดจะข้ามไปข้ามมาเพื่อซื้อขายสินค้า ก็เป็นไปลําบาก เพราะว่ามันไม่สามารถที่จะมาซื้อขายกันได้เหมือนเมื่อก่อน  หรือว่าจะมาเยี่ยมญาติ ก็ค่อนข้างจะมีความจํากัด และที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัยในการสัญจรไปมา” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

ก่อนหน้านั้น ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำสาละวิน จะมีกองกำลังทหารของพม่ามาตั้งฐานกันอยู่ แต่หลังเกิดการสู้รบกันระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จนทำให้ทหารพม่าแตกพ่าย ถอยร่นออกไป  หลังจากนั้น กองกําลังทหารกะเหรี่ยงสามารถยึดพื้นที่คืน พร้อมมีการชักธงชาติกะเหรี่ยงขึ้นสู่ยอดเสา พร้อมป้ายประกาศแผ่นใหญ่ เพื่อประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่านี่คือแผ่นดินกอทูเล แผ่นดินดั้งเดิมของตนเอง

“ทุกวันนี้ จะเห็นว่า ตลอดแนวชายแดนไทยในขณะนี้ จะไม่มีกองกําลังทหารพม่าเหลืออยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทหารของกองกำลังชาติพันธ์ เข้ามาประจำฐานที่มั่นในรัฐของตนเอง ฝั่งตรงข้ามแม่สามแลบ จะเป็นของทหารกะเหรี่ยง ถัดไปข้างบน ก็จะเป็นทหารของกองกำลังกะเรนนี หรือคะยาห์ และขึ้นไปทางตอนเหนือแถบรัฐฉานก็จะเป็นกองกำลังไทใหญ่ คือถ้ามองในแง่ดี หลังการสู้รบกับทหารพม่าในครั้งนี้ ทำให้ตลอดแนวชายแดนไม่มีกองกําลังของทหารพม่าประชิดชายแดนอยู่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว  มันจึงส่งผลดีคือ ทําให้การสัญจรไปมาเพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของคนสองฟากฝั่ง รวมไปถึงเรื่องการท่องเที่ยวอะไรต่างๆ เริ่มกลับเข้ามา เพราะว่ามีความปลอดภัยมากขึ้น  ถึงแม้ว่าในช่วงเวลานี้ การค้าขายอาจยังไม่ได้เต็มรูปแบบก็ตาม แต่คิดว่ากำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

สงครามเป็นปัญหาใหญ่ระดับนานาชาติ ทุกฝ่ายจะต้องเร่งแก้ปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย

สถานการณ์การสู้รบครั้งนี้ ส่งผลกระทบทำให้มีผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับนานาชาติ ทำให้มีผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ทั้งที่หนีข้ามมาอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในฝั่งไทย และอยู่ในศูนย์พักพิงในป่าริมตะเข็บชายแดนฝั่งตะวันตกเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญ สงครามการสู้รบครั้งนี้มันส่งผลทำให้ชีวิตพี่น้องชาวบ้านได้รับผลกระทบโดยตรง

นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน บอกว่า ปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งมีแนวทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ คือนานาชาติต้องเข้ามาช่วยเหลือกัน เพราะว่าถ้าเราจะปล่อยให้เกิดการสู้รบจนส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ต้องหนีตายมาแบบนี้ แล้วเราจะบอกว่าเราไม่ไปแทรกแซง หรือมันเป็นปัญหาภายในของเขาเอง อย่างนั้นก็คงไม่ได้ เพราะว่าปัญหานี้ มันก็กระทบกับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน กระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงด้วย ดังนั้น ตนคิดว่า เราต้องช่วยกันกดดันรัฐบาลทหารพม่า หรือเสนอให้นานาชาติ เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้านที่อพยพหนีมาอยู่ตามแนวชายแดน หรือเสนอให้นานาชาติหรือประชาคมโลก ที่จะเข้าไปไกล่เกลี่ยในการช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ก็ควรเข้ามาช่วยเหลือกัน

“เพราะถ้าเราปล่อยให้มันเป็นปัญหาอย่างนี้ มันก็จะคาราคาซังต่อไป ซึ่งปัญหาการสู้รบ ปัญหาความขัดแย้งนี้มีมายาวนานกว่า 70 ปี ซึ่งผมเห็นว่า กรณีนี้เราจําเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ เพราะเรามองว่านี่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของมนุษยธรรม เรื่องของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถึงเราอยู่คนละประเทศ แต่ก็เป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน และปัญหานี้ มันไม่ใช่กระทบแค่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการการค้าอย่างเดียว แต่มันส่งผลต่อเรื่องของแรงงาน เรื่องวิถีชีวิต เรื่องความมั่นคงชายแดน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เราจะต้องดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดน ถ้าชาวบ้านทั้งสองฝั่งมีความมั่นคง เรื่องการกิน ที่อยู่อาศัย มันก็จะส่งผลต่อในเรื่องความมั่นคงของของชาติโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว  แต่ถ้าเราปล่อยให้ ผู้คนต้องหนี ต้องหลบ ต้องซ่อน อยู่ตามป่า ตามแนวชายแดนอย่างนี้ สุดท้ายวันหนึ่ง เราอาจจะไม่สามารถที่จะดูแลเรื่องของความมั่นคงนี้ไว้ได้  คิดว่ามันจะส่งผลกระทบในอีกหลายๆ ด้านอย่างแน่นอน” นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน กล่าว

 

ที่มาภาพ www.ricemedia.co

ที่ผ่านมา หลายคนทราบดีว่า รัฐไทยยังคงยึดเน้นเรื่องกฎหมายความมั่นคงของ สมช. เป็นหลัก คือมักจะมองว่า ผู้อพยพที่หนีภัยสงครามเข้ามาเป็นคนผิดกฎหมาย โดยอ้างว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง  แต่ไม่ได้เอาความจริงมาดูว่า ที่พวกเขาอพยพหลบหนีเข้ามาฝั่งไทย เขาไม่ได้มีเจตนาหนีเข้าเมือง แต่พวกเขาหนีตายเข้ามาเพื่อความจําเป็น เข้ามาเพื่อหาพื้นที่ปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบตอนนั้น

“ฉะนั้น เราควรจะต้องแยกแยะ ไม่ใช่ว่าพอชาวบ้านข้ามฝั่งมานี้ก็ถือว่าผิดกฎหมายแล้ว ซึ่งการมองแบบนั้น มันแก้ไขปัญหาไม่ได้ แต่มันจะยิ่งสร้างความขัดแย้งลึกๆ ลงไปเรื่อยๆ ถ้าทางการไทยยังมองกันแบบนี้อยู่  ผมมองว่านี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้เกิดความมั่นคง แต่กลับไปส่งเสริมให้มีการทําลายเรื่องของมนุษยธรรมมากกว่า” นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน กล่าว

 

เสนอเขตห้ามมีการสู้รบ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย

พงษ์พิพัฒน์ยังได้พยายามเสนอทางออก ในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า นานาชาติและประชาคมโลก ต้องร่วมกันกดดันรัฐบาลทหารพม่ากันด้วย 

“ผมเคยเสนอว่า ตลอดแนวชายแดนระยะ 10 กิโล ควรให้เป็นพื้นที่ยกเว้นการบิน หรือเป็นเขตห้ามมีการสู้รบ คือถ้าทำได้ ก็จะทำให้ประชาชนมีพื้นที่สำหรับหลบภัย มีพื้นที่ปลอดภัย  ซึ่งจริงๆ แล้ว มันเป็นกติกาทั่วโลกด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าเขาไม่ได้ฟัง  ในขณะที่นานาชาติเองก็ไม่เห็นกดดันอะไร ดังนั้น ผมคิดว่านี่มันคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้น อันดับแรก เราต้องปรับแก้ไขนโยบายในเรื่องของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้ที่ลี้ภัย  จากนั้น ทั้งสองประเทศรวมถึงกองกำลังต่างๆ จะต้องมีนโยบายร่วมกันในเรื่องการกําหนดขอบเขตในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ว่าตลอดแนวฝั่งชายแดนระยะ 10 กิโลเมตร  รวมไปถึงภาคพื้นอากาศ ให้พื้นที่ชายแดนนี้เป็นเขตพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ ห้ามเครื่องบินโจมตีด้วยอาวุธหนัก หรือเป็นเขตห้ามบินไปเลย คือมาถึงตอนนี้ ถ้ามองด้วยใจเป็นธรรม เราต้องช่วยกันหาทางออกให้กับพม่าและกองกำลังชาติพันธุ์กันด้วย ว่าจะทํายังไงที่จะทําให้เกิดความสงบสุข และกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว

 

 

ข้อมูลประกอบ

1.ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ในนามของความเห็นอกเห็นใจ และความดีงามของชีวิตผู้คน เราล้วนคือพี่น้องร่วมโลก,ภู เชียงดาววารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 125 เดือนพ.ค.-ส.ค.2567

2.ความฝันและความหวังสู่กอทูเลของชาวกะเหรี่ยง,คอลัมน์ : ไทยพบพม่า,ลลิตา หาญวงษ์,มติชนออนไลน์,8 กันยายน 2566

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net