Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมเรียกร้องสื่อมวลชนหยุดแปะป้าย 'ไร่หมุนเวียน' เป็นต้นตอน้ำป่าไหลหลาก แต่เป็นเกษตรยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐ พร้อมเสนอสื่อยุติผลิตซ้ำอคติต่อชาวชาติพันธุ์ รายงานข่าวอย่างรอบด้าน กล้าหาญในการนำเสนอ ติดตาม ตรวจสอบปัญหาว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าหายไป

 

26 ก.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวานนี้ (25 ก.ย.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ร่วมด้วยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรื่อง "จงหยุดพฤติกรรมแปะป้าย 'ไร่หมุนเวียน' เป็นสาเหตุน้ำป่าไหลหลากอย่างไร้สามัญสำนึก" เพื่อตอบโต้กรณีหลังจากมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ปรากฏภาพน้ำท่วมชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ม.7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อ 23 ก.ย. 2567 และมีผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนบางราย กล่าวหาว่าโดยโยงว่า 'การทำไร่หมุนเวียน' ที่เป็นวิถีวัฒนธรรมและการเกษตรดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ มีการตัดไม้ทำลายป่า และเป็นสาเหตุของน้ำป่าไหลหลาก และเกิดผลกระทบต่อคนเมือง

แถลงการณ์ระบุว่า ยกตัวอย่าง เพจเฟซบุ๊กหนึ่งใช้ภาพมุมสูงชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ผูกกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนภูเขาหัวโล้น นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมบางคนเปิดตัวเลขการสูญเสียพื้นที่ป่า เหมารวมรูปแบบการเกษตรทุกประเภท และอ้างว่าประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในป่าเป็นต้นเหตุ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางรายนำภาพพิธีหยอดข้าวไร่มาวิจารณ์อย่างรุนแรง สื่อสาธารณะบางช่องให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง  

แถลงการณ์ระบุต่อว่า การกระทำลักษณะนี้ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ นำเสนอข้อมูลไม่อยู่บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักวิชาการ รวมถึงนำภาพของชุมชนไปใช้และสร้างความเสื่อมเสีย โดยไม่มีการขออนุญาตจากชุมชน

นอกจากนี้ การปฏิบัติงานและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และสื่ออื่นๆ กำลังสร้างอคติเหมารวมคนชาติพันธุ์โดยไม่แสวงหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจากในพื้นที่ สร้างผลกระทบต่อผู้ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง และขาดความกล้าหาญในการนำเสนอต้นตอสาเหตุของปัญหา นำเสนอข้อมูลลักษณะจับแพะชนแกะหาแพะรับบาปในปัญหาสิ่งแวดล้อม

'ไร่หมุนเวียน' เป็นเกษตรยั่งยืนที่รัฐยอมรับ

ข้อมูลจากแถลงการณ์ของ มพน. และ สกน. ระบุด้วยว่า ชุมชนห้วยหินลาดใน ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่แต่เดิมเคยถูกรัฐไทยใช้ทรัพยากรป่าจนเสื่อมโทรม และเป็นประชาชนชาวปกาเกอะญอในพื้นที่ฟื้นฟูป่าจนกลับมาอุดมสมบูรณ์ ร่วมคัดค้านการให้สัมปทานป่าไม้โดยรัฐ จนมีนโยบายป่าการสัมปทานในที่สุด ทั้งนี้ พื้นที่จัดการทรัพยากรของชุมชนทั้ง 10,279.7 ไร่ มีพื้นที่ป่าที่อุมดมสมบูรณ์มากถึง 8,635.37 ไร่ นอกนั้นคือพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่เป็นระบบการเกษตรเพื่อการสมดุลนิเวศ พื้นที่สวนวนเกษตร และพื้นที่อยู่อาศัย

การจัดการของชุมชนได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงชุมชนได้เป็นพื้นที่นำร่องประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รวมถึงยังมีหลายงานวิจัยที่ยืนยันว่า ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน ดูดซับฝุ่นและคาร์บอน และยังสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมจนได้เป็นหนึ่งในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนของชาติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยอมรับ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2556 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

แถลงการณ์ระบุต่อว่า การจัดการรูปธรรมที่ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในเกิดขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพชีวิต และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เข้าไม่ถึงสิทธิบรรพชน และเกิดขึ้นท่ามกลางแรงเสียดทานจากมายาคติทางสังคมที่อยากรักษาป่าแต่ต่อต้านคนดูแลป่าโดยชาวชาติพันธุ์

เสนอ 3 ข้อต่อการนำเสนอข่าวปัญหาน้ำท่วม

ดังนั้น ภาคประชาสังคมขอเรียกร้องความรับผิดชอบและสามัญสำนึกของกลุ่มคนดังกล่าว ดังนี้

1. จงรับผิดชอบการกระทำของตนเองโดยการหยุดพฤติกรรมการนำรูปของชุมชนไปใช้โดยไม่ขออนุญาต สื่อสารอย่างไม่ตรงกับความเป็นจริงในระดับพื้นที่ และวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ จนทำให้เกิดอคติเหมารวมระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนเป็น ‘พืชเชิงเดี่ยว’ ทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าคนดอยตัดไม้ทำลายป่า

2. สื่อมวลชนทั้งหลายจงตระหนักถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพของตนเองให้มั่น เสาะแสวงหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องก่อนการนำเสนอข่าวสารสู่สาธารณะโดยขาดความตระหนักรู้ถึงความละเอียดอ่อนของปัญหา เพราะการกระทำอันขาดความรอบคอบของท่านกำลังเป็นตัวช่วยผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

3. จงแสดงความกล้าหาญในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ เสาะแสวงหาข้อมูลการเอื้อกันของรัฐบาลและกลุ่มทุนว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงอย่างไร การหายไปของพื้นที่ป่าว่าเกิดจากอะไร การส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะข้าวโพดเกิดจากบริษัทใด และรัฐบาล หน่วยงานรัฐมีส่วนอุ้มชูกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่นี้อย่างไร แล้วตีแผ่ให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา

"เรายืนยันว่า การขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถเดินหน้าควบคู่กับการร่วมกันทลายมายาคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่ทุกภาคส่วนกำลังร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สู่วาระ 2-3 สภาผู้แทนราษฎร" แถลงการณ์ทิ้งท้าย

ปัจจุบัน การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) ลงมติด้วยคะแนน 255 ต่อ 137 เสียง ให้ถอนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธ์ุ พ.ศ. … กลับไปให้คณะกรรมาธิการทบทวนใหม่ โดยก่อนหน้านี้ 2 ร่างที่ถอนออกไปให้ กมธ.ทบทวน คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) หรือกฎหมายห้ามตีเด็ก และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net