Skip to main content
sharethis

“ลูกหว้า” Freedom Bridge เล่าถึงโครงการช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมือง เริ่มจากลงมือช่วยซื้ออาหารน้ำของใช้จนถึงดูแลครอบครัวของผู้ต้องขังที่รออยู่ข้างนอก แต่แนวโน้มผู้ต้องขังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจแตะถึงหลักร้อย จนต้องหาทางทำอะไรสักอย่างระหว่างรอกฎหมายนิรโทษกรรมที่ยังไม่รู้จะมีเมื่อไหร่ เพื่อให้ชีวิตพวกเขาไม่ต้องลำบากจนเกินไป

26 ก.ย.2567 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย FCCT มีงานเปิดตัวโครงการฟรีดอมบริดจ์(Freedom Bridge) จุดประสงค์โครงการเพื่อช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังทางการเมืองระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ โดยโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่พฤษภาคม 2567 แล้ว และมีจเป้าหมายเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด

ปฐมพร แก้วหนู หรือ ลูกหว้า เจ้าหน้าที่ของโครงการ กล่าวถึงประสบการณ์เข้าไปช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองที่ต้องเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างญาติกับผู้ต้องขัง ทำให้เธอได้เจอกับปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังและครอบครัวของพวกเขาก็ต้องเจอกับความยากลำบากในชีวิตทั้งกฎเกณฑ์การเยี่ยมของเรือนจำไปจนถึงปัญหาทางการเงินเพราะเสียเสาหลักของครอบครัวไป

เจ้าหน้าที่โครงการฯ เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำโครงการนี้ขึ้นมาเพราะแนวโน้มที่สถานการณ์คดีการเมืองหลังจากนี้จะมีผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้นอาจไปหลักร้อยคนได้ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา เพราะยังมีคดีที่อยู่ในกระบวนการของอัยการรอฟ้องต่อศาลและคดีที่ศาลกำลังจะมีคำพิพากษาในเร็วๆ นี้ตามมาอีก และการเข้าไปช่วยเหลือแบบที่ผ่านมาจะไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขังที่มากขึ้น

แม้ว่าข้อมูลจำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองในตอนนี้ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะระบุว่าอยู่ 42 คน นับตั้งแต่เกิดกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนเมื่อปี 2563 ทางฟรีด้อมบริดจ์นับย้อนไปถึงผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังมานับตั้งแต่ยุครัฐบาลรัฐประหาร 2557 ด้วยที่ขณะนี้ยังมีอยู่อีกอย่างน้อย 10 คนทำให้รวมแล้วมีทั้งหมด 52 คน

เมื่อสอบถามเรื่องนี้จากศูนย์ทนายความฯ  พบว่า ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างรอคำสั่งจากอัยการว่าฟ้องหรือไม่อยู่ 57 คดี และมีคดีที่ยังอยู่ระหว่างศาลกำลังพิจารณาคดีและรอศาลพิพากษาอีก 98 คดี

ปฐมพร ระบุว่าเนื่องจากแนวโน้มคดีในช่วงนี้เมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลแล้วมีแนวโน้มที่ศาลจะไม่ให้ประกันระหว่างพิจารณาคดีเพิ่มขึ้นรวมถึงมีคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษเพิ่มขึ้นด้วยถ้าสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลงคนที่ถูกขังอยู่ก็จะยังอยู่ต่อแล้วคนข้างนอกก็จะเข้าไปเพิ่ม

เธอเล่าถึงตอนที่เริ่มทำกันตอนแรกก็มีอาสามาช่วยกันทำช่วยจัดซื้อสิ่งของไม่กี่คนตามกำลังที่ทำไหว ไม่รู้ว่าใครถูกขังที่ไหนบ้างเข้าถึงไม่ได้หมด แล้วก็ต้องเจอกับกฎเกณฑ์ในเรือนจำที่ไม่เหมือนกันบางเรือนจำใครซื้อฝากให้ก็ได้ บางเรือนจำก็กำหนดว่าต้องเป็นสิบรายชื่อที่เข้าเยี่ยมได้แต่พอไปขอเพิ่มชื่อทางเรือนจำก็ไม่เพิ่มให้เพราะจะถูกตั้งคำถามว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้ต้องขัง

เจ้าหน้าที่โครงการบอกว่า ผู้ต้องขังบางคนก็ไม่ได้เตรียมใจมาก่อนว่าจะต้องถูกขังเพราะไม่คิดว่าศาลจะไม่ให้ประกันทำให้ต้องเข้าไปในเรือนจำแบบกะทันหัน บางคนก็อยู่กับแม่ที่แก่ชรากันแค่ 2 คน หรือต้องมาติดคุกในกรุงเทพฯ ทั้งที่ครอบครัวอยู่ต่างจังหวัด บางคนก็เป็นผู้หญิงอยู่กับลูกกันแค่สองคนในห้องเช่า ทำให้การช่วยเหลือครอบครัวก็สำคัญไม่แพ้การช่วยเหลือผู้ต้องขังเลย

ปฐมพร บอกว่าความช่วยเหลือพื้นฐานก็คือเรื่องอาหาร น้ำดื่มสะอาดและของใช้จำเป็นต่างๆ รวมถึงฝากเงินให้กับผู้ต้องขังเพราะปัญหาคุณภาพอาหารในเรือนจำ แต่ของที่อาหารที่ซื้อเข้าคุณภาพและปริมาณก็ไม่ได้เหมาะสมกับเงินที่จ่ายไป ทางผู้ต้องขังก็จะมีความต้องการต่างกันไปอย่างไม่กินหมู ไม่กินผัก แพ้กุ้ง หรือถ้าหน้าร้อนซื้ออาหารที่มีส่วนผสมของกะทิเข้าไปก็อาจจะเน่าเสียได้อีก ถ้าพลาดก็อาจทำให้ท้องเสียมีปัญหาแล้วห้องน้ำในเรือนจำก็ไม่ได้มีอย่างเหมาะสม

เจ้าหน้าที่โครงการบอกว่างานช่วยเหลือนี้ถือเป็นงานที่หนักนอกจากจะต้องจัดการกับคาดหวังจากคนข้างในแล้ว ด้วยกฎเกณฑ์ของเรือนจำอย่างเช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพที่มีผู้ต้องคดีการเมืองเยอะก็จำกัดเวลาซื้ออาหาร ทำให้บางครั้งที่เธอเหนื่อยจากการทำงานและเลี้ยงดูลูกสองคนก็ทำให้สั่งซื้อไม่ทันหรือบางทีก็ลืม พอทนายไปเยี่ยมผู้ต้องขังก็จะมีเสียงสะท้อนออกมา

“พอเราเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาแล้วไม่ได้ส่งอาหารให้เขาก็จะรู้สึกว่าเขาถูกปล่อยทิ้งแล้ว ทุกคนลืมเราแล้ว นั่นเป็นความรู้สึกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเลือกส่งอาหารเข้าไปเพราะว่ามันสำคัญกับคนข้างในมากที่ได้รับรู้ว่ายังมีคนห่วงใยเขา”  ปฐมพรกล่าว

ปัญหาที่เธอสะท้อนให้เห็นภาพปัญหามากขึ้นก็คือ ของบางอย่างเช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟันเป็นสิ่งที่ต้องซื้อฝากเข้าไปบ่อยเพราะถ้าไม่หมดก็หายบ้างหรือโดนขโมยบ้าง หรือของที่ขายในเรือนจำก็ปริมาณน้อยทำให้ไม่เพียงพอ เสื้อผ้าที่ซื้อฝากกันเข้าไปก็มีปัญหาว่าหายบ้างอะไรบ้างจนต้องจ้างนักโทษด้วยกันเพื่อเฝ้าเสื้อผ้ากันด้วย และเครื่องดื่มอย่างกาแฟซองก็เป็นสิ่งที่ผู้ต้องขังต้องการบ่อยเพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าการได้ดื่มกาแฟพอจะทำให้พวกเขารู้สึกว่ายังได้ใช้ชีวิตเหมือนปกติข้างนอกบ้าง

แต่นอกจากตัวผู้ต้องขังแล้ว ปฐมพรบอกว่าครอบครัวของผู้ต้องขังเองก็ต้องการความช่วยเหลือต่างๆ ไปพร้อมกันด้วยเช่น ค่าเลี้ยงดูบุตรของผู้ต้องขัง การช่วยซื้อของใช้สำหรับเด็กทารก ต้องเข้าโรงพยาบาล มอเตอร์ไซค์เสีย หรือเขาขอให้ช่วยซื้อของให้ผู้ต้องขังแทนเพราะป่วยบ่อยจนต้องช่วยซื้อเครื่องพ่นยาให้เขาใช้เลย เป็นต้น เพราะเมื่อรับเป็นตัวกลางประสานให้แล้วก็ได้ไปรับรู้ปัญหาของครอบครัวของผู้ต้องขังด้วย แต่จะช่วยได้หรือไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่พวกเขาก็รู้สึกสบายใจที่จะปรับทุกข์ให้ฟัง

เธอบอกว่าในช่วงนี้มีกลุ่มที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือทั้งสองฝั่งคือทั้งผู้ต้องขังและครอบครัวยังไม่ได้เยอะมากมีประมาณ 5-6 ครอบครัว ครอบครัวผู้ต้องขังส่วนใหญ่ยังพอดูแลตัวเองกันได้อยู่

สำหรับเงินสำหรับความช่วยเหลือต่างๆ เหล่านี้ ปฐมพรบอกว่าที่ผ่านมาจากเงินบริจาคก็ต้องช่วยสนับสนุนเงิน 3,000 บาทต่อเดือน บางครอบครัวมีลูกเล็กต้องส่งแพมเพิร์สและนมกล่องให้ทุกเดือนแทนความช่วยเหลือเป็นเงินก็มี ยอดเงินช่วยเหลือต่อเดือนประมาณ 300,000-360,000 บาท ที่เธอมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าประทับใจเพราะความช่วยเหลือที่ดำเนินมาได้ประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมาสามารถอยู่ด้วยเงินของประชาชนจริงๆ พอระดมก็ได้รับการตอบรับการสนับสนุน

เจ้าหน้าที่โครงการฯ กล่าวถึงส่วนการระดมทุนช่วยเหลือจะทำผ่านบัญชีในนาม “มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม” ซึ่งเดิมทีเคยทำผ่านบัญชีชั่วคราวของอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้แก่ผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆ แต่การทำในรูปแบบโครงการแทนใช้บัญชีส่วนตัวก็เพราะต้องการให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โปร่งใสมากขึ้นกว่าการทำผ่านบัญชีส่วนตัวที่อาจทำให้คนกังวลกัน

“อยากให้มีคนมาร่วมแบบสบายใจมากขึ้น เลยนำไปสู่การขยับขยายการทำงานให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น อยากได้ความร่วมมือเพิ่ม อยากได้คนมาช่วยกันเพิ่ม ทั้งด้านการเงินด้วย ” ปฐมพรกล่าว

ปฏิมา

ปฏิมา อดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง เล่าถึงประสบการณ์ว่าตอนแรกที่ต้องเข้าเรือนจำก็อยากพบทนายความมากเพราะเธอเองเป็นแค่เด็กไม่มีความรู้ทางกฎหมายเลย ไม่รู้ว่าทำอะไรได้ไม่ได้ และต้องอยู่ด้วยความไม่รู้แบบนั้นสิบกว่าวันถึงได้เจอทนายความ แล้วไหนจะอยากรู้ความเป็นอยู่ของแฟนที่ก็โดนคดีด้วยกันจนเครียดร้องไห้ทุกวัน อยากประกันตัวแต่ก็ไม่ได้ประกันเพราะศาลค้านประกันตลอด แล้วเธอเองก็ยังมีภาระข้างนอกที่ต้องดูแลคนอื่นๆ อีก 

ปฏิมาบอกว่า ปัญหาที่เธอต้องเจอระหว่างถูกขังมีก็ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน อย่างในโรงอาหารเรือนจำก็มีการเช็คบัตรประจำตัวผู้ต้องขังถ้าไม่มีบัตรติดตัวก็ไม่ได้กินข้าว ทำให้เธอไม่เข้าใจว่าในเมื่อตัวก็ถูกขังอยู่ในเรือนจำแล้วทำไมยังต้องตรวจบัตรซ้ำด้วย ส่วนน้ำดื่มก็เป็นน้ำประปาจากก๊อกเดียวกับที่ใช้ล้างมือล้างของอาบน้ำมีกลิ่นคลอรีนเลือกไม่ได้ก็ต้องดื่ม ทำให้ต้องรอครอบครัวซื้อฝากเข้ามาแค่น้ำดื่มสะอาดก็ไม่มี แล้วถ้าใครไม่มีญาติก็ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องกินเพื่อความอยู่รอด

ส่วนเสื้อผ้าชุดชั้นในก็เป็นของเก่าที่ส่งทอดต่อกันมาใส่กันจนเปื่อยบางหมด ชุดชั้นในไม่ตรงไซส์ใส่ไม่พอดีก็ทำให้เกิดบาดแผลอีก ผ้าอนามัยก็ไม่เพียงพอเพราะเวลาเมนส์มาก็มาที 3-4 วัน ใช้วันละสองรอบบางคนก็มามากน้อยไม่เท่ากันทำให้ต้องไปยืมนักโทษด้วยกันถ้าใครไม่มีญาติซื้อให้ก็ต้องใช้ของเรือนจำถ้าใครเมนส์มาเยอะก็ซึมซับได้ไม่พอเหมือนกับที่เลือกซื้อได้เวลาอยู่ข้างนอก นอกจากยาแก้ปวดประจำเดือนก็แรงกว่าข้างนอกจนกินแล้วก็ทำให้ไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่นได้แต่เวลาแจกก็แจกให้ไม่พอคน เช่น ถ้ามีคนเมนส์มาพร้อมกันสิบคนก็อาจจะได้แค่สามคนต้องมาหักยาแบ่งกันแทน

แพรวพรรณ พิลาทอง

แพรวพรรณ พิลาทอง ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าในฐานะที่เป็น “ทนายสายเยี่ยม” ที่หมายถึงทนายความที่คอยทำหน้าที่เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังในคดีการเมืองเพื่อคอยรับความต้องการของผู้ต้องขังออกมาสื่อสารและให้คำปรึกษาทางคดี

ทนายความบอกว่า พอพวกเขาเข้าไปในเรือนจำแล้วก็จะกังวลกันมากทั้งเรื่องการประกันตัว อยากรู้ว่าข้างนอกยังต่อสู้กันอยู่หรือไม่ หลายครั้งทนายสายเยี่ยมก็เป็นสื่อกลางในการนำข้อมูลมาบอกคนข้างนอก เช่น พวกเขากำลังจะทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิประกัน เพราะคนข้างในก็อยากสู้ไปพร้อมกับคนข้างนอกด้วย

แพรวพรรณบอกว่าเรื่องสิทธิประกันตัวมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขแบบไหนจะประกันตัวได้แต่คดีการเมืองไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้ผู้ต้องขังไม่ได้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสิทธิประกันตัวทั้งที่พวกเขาก็อยากได้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

ทนายความอธิบายว่า ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำไม่สามารถออกมาพบทนายความได้อย่างสะดวกเพราะอาจติดกับจังหวะเวลาที่ทางเรือนจำกำหนดไว้ เช่น ถ้าได้รอบเยี่ยมช่วงที่ผู้ต้องขังจะต้องไปอาบน้ำ ถ้าพวกเขาออกมาพบทนายความเขาก็จะไม่ได้อาบน้ำแทน ทำให้พวกต้องเลือกเพราะถ้ามาพบทนายความก็อาจไม่ได้อาบไปเลยในวันนั้น

นอกจากนั้นแพรวพรรณยังกล่าวถึงอีกปัญหาก็คือ การเข้าไปเยี่ยมคนในเรือนจำเพราะอาจจะมีทนายความที่มารอพบลูกความเยอะก็ต้องรอหรือได้พบแล้วก็ต้องเร่งคุยให้เสร็จเพื่อให้ทนายความคนอื่นได้พบลูกความตัวเองด้วย ทำให้จำกัดทั้งเวลาและโอกาส ไปจนถึงมีข้อกังวลเรื่องความไม่เป็นส่วนตัวด้วยเพราะพวกเขาก็เกรงว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำจะคอยแอบฟังหรือเปล่าจนไม่สะดวกใจที่จะคุย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net