Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเทียบกับผีเรื่องอื่นๆ ของมุสลิม เช่น ของเเขก (2023) ของไทย Munafik (2016) ของมาเลเซีย หรือ Grave Torture (2024) ของอินโดนีเซียเอง Qorin มีความซับซ้อนและน่าสนใจกว่ามาก ในขณะที่เรื่องอื่นๆ นำเสนอแบบตรงไปตรงมาว่าหากเชื่อฟังอัลเลาะห์และเป็นมุสลิมที่ดีก็จะปลอดภัย แต่ Qorin นำเสนอว่า เเม้เป็นคนดีที่ศรัทธาพระเจ้าก็ยังต้องถูกทำร้าย ถึงที่สุดเเล้วมนุษย์ต้องพึ่งตัวเอง

หนังอินโดนีเซียเรื่องนี้ถูกฉายในโรงเมื่อปลายปี 2022 ปัจจุบันดูได้ใน Netflix เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของเด็กผู้หญิงในโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งกรณีเด็กถูกข่มขืนในโรงเรียนศาสนาของอินโดนีเซียก็ยังเป็นข่าวที่พบได้ทั่วไป แต่สิ่งที่หนังทำให้เราได้เห็นคือ มีปัจจัยหรือเครื่องมือต่างๆ เช่น กฎระเบียบและวัฒนธรรมความเชื่อมาเป็นตัวช่วยให้ความเลวร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ง่าย

ชีวิตเด็กผู้หญิงในโรงเรียนสอนศาสนา

หนังเริ่มจากโควทหนึ่งในกุรอาน "ผู้ใดที่หลงลืมพระผู้ทรงเมตตาที่สุด (อัลเลาะห์) เราก็จะแต่งตั้งปีศาจหนึ่งตัวให้แก่เขา และมันจะเป็นเพื่อนของเขา" (Az-Zukhruf 46:36) ข้อความนี้สื่ออย่างตรงไปตรงมาว่า หากลืมอัลเลาะห์ ปีศาจหรือญินก็จะมาอยู่กับเรา ซึ่งสร้างความกลัวเพื่อให้คนมายึดมั่นกับอิสลาม เเต่หนังก็สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเชื่อหรือฟังคำสอนของครูอย่างไม่ตั้งคำถาม เช่นกรณีของ Yolanda นักเรียนที่เพิ่งย้ายมาใหม่

ทั้งเรื่องดำเนินไปในปอเนาะ หรือ Persantren บ้างเรียกว่า Asrama ที่เป็นภาษาสันสกฤต เขียนเป็นไทยว่า "อาศรม" เป็นวัฒนธรรมการสร้างสำนักขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดความรู้ และการส่งเด็กยากจนหรือที่บ้านมีปัญหาครอบครัวให้มาอยู่ในโรงเรียนประจำแบบนี้ก็มีเยอะมาก ในอินโดนีเซียน่าจะมีโรงเรียนแบบนี้ในทุกตำบล และบ้างก็แยกหญิง/ชายเลย ปัจจุบันมักเปิดเรียนสายสามัญควบคู่ไปด้วย ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเธอคือ ตื่นเเต่เช้าเพื่อละหมาดและสอบท่องจำกุรอาน

ไม่ให้ใช้โทรศัพท์คือเครื่องมือเเรกในการละเมิดสิทธิ

โรงเรียนแห่งนี้ไม่อนุญาตให้เด็กใช้โทรศัทพ์ หากจับได้ว่าใครมีก็จะยึดไปทันที อาจเพื่อให้เด็กตั้งใจเรียนและไม่คบหากับผู้ชายซึ่งขัดหลักการศาสนา เเต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีเด็กบางคนแอบไปยืนคุยกับผู้ชายผ่านกำเเพง จุดเด่นของหนังเรื่องนี้คือ พยายามสื่อให้เห็นว่าในชีวิตจริงของเด็กในปอเนาะเป็นอย่างไร เเละที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เเม้เธอจะถูกผู้ชายทำร้ายร่างกายก็ยังจะรัก ด้วยเหตุผลว่า "อย่างน้อยก็มีคนหนึ่งที่รักเรา เพราะในชีวิตนี้ไม่มีใครอีกแล้ว" (เธออาจถูกเอามาฝากให้เรียนที่นี่เพราะกำพร้าหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี)

เรื่องน่าตื่นเต้นมากขึ้นเมื่อ Yolanda ได้ย้ายเข้ามากลางเทอม เธอย้อมผมสีเเดง และมักไม่ใส่ผ้าคลุมหากไม่ใช่คาบเรียน และยังใส่กางเกงขายาวจนเป็นปกติ ซึ่งในโรงเรียนที่เคร่งมาก ผู้หญิงมุสลิมจะไม่ใส่กางเกง เเต่จะใส่กระโปรงยาวเท่านั้น ช่วงปี 2019 ที่ผมเรียนที่ Universitas Muhammadiyah Makassar สุลาเวสี ก็เห็นปรากฏการณ์เดียวกัน เขาจะสอนให้เเยกความเป็นหญิงและชายอย่างชัดเจน การใส่กางเกงเเม้จะขายาวก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชาย ซึ่งผู้หญิงไม่ควรทำ

Yolanda กล้าหาญกว่าทุกคนที่เติบโตมาในนั้น เธอแอบใช้โทรศัพท์บันทึกเรื่องราวต่างๆ เเต่เมื่อตั้งใจจะเอาคลิปไปให้ครูผู้หญิงดู เพื่อให้เห็นว่าครูผู้ชายทำสิ่งเลวร้าย ครูก็ยึดโทรศัทพ์ไปโดยไม่รับฟังปัญหาของเด็ก เมื่อไม่มีโทรศัพท์ก็ขอความช่วยเหลือจากข้างนอกได้ยาก ในชีวิตจริงหลายที่เป็นแบบนี้ และมักไม่ให้ดูทีวี เพื่อนผมเคยเรียนที่ Pesantren เมืองบันดุงช่วงปี 1998 ซึ่งเป็นปีเเห่งการโค่นประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ และมีการก่อจลาจลเผาร้านค้ากันในหลายที่ เธอจบ ม.6 แล้วออกมาในปี 1999 เธอบอกว่า "ไม่เคยรับรู้เรื่องราวของปีที่เเล้วเลย"

พระเจ้าสูงส่งก็จริง เเต่มนุษย์ต้องพึ่งตัวเอง

มองในมุมสอนศาสนา ชีวิตของ Yolanda ก็เปลี่ยนจากคนไม่สนใจศาสนามาเคารพพระเจ้าได้ เเต่ก็มองได้ว่าเธอไม่ได้ศรัทธาจริงๆ อาจเเค่ใช้กุรอานเป็นเครื่องมือ/บทสวดเพื่อไล่ผีป้องกันตัวเองเท่านั้น หากเทียบกับเรื่อง "ของเเขก" ถือว่า Qorin ทำได้ดีกว่าในเเง่ที่สะท้อนให้เห็นชีวิตคนที่หลากหลายจริงๆ ในขณะที่ผีในหนังเรื่องของเเขกจะหมดฤทธิ์ไปเมื่อมีเสียงอาซานละหมาด แต่ผีใน Qorin ไม่กลัวเสียงนี้ และยังจะเข้าสิงคนเเม้กำลังละหมาดในมัสยิด

ที่สำคัญคือ ผีฝ่ายดีก็ออกมาช่วยคนได้ ในเรื่องมี Kiai Mustofa อดีตเจ้าของโรงเรียนมาปรากฎร่างช่วยให้นักเรียนและครูสวดบทกุรอานสู้กับผี แม้จะไม่สำเร็จแต่ก็ช่วยถ่วงเวลา ซึ่งการปล่อยให้ผีดีออกมาช่วยคนก็ไม่เป็นที่นิยมในหนังอิสลาม เพราะเชื่อว่าคนเมื่อตายไปวิญญาณจะถูกเก็บไว้ ที่เราเห็นว่าเป็นผีจึงเป็นซาตานฝ่ายชั่วร้าย มีเขายาวหน้าตาเหมือนสัตว์ปะหลาด การนำเสนอผีดีที่มาในร่างของเขาก่อนตายไปอาจทำให้คนหันไปเชื่อเรื่องวิญญาณยังอยู่กับลูกหลานหรือเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ (reincarnation) ซึ่งอิสลามสมัยใหม่มักไม่ยอม

แต่หนังเรื่องนี้ก็ไม่กลัวที่จะทำออกมา ส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นความเชื่อของคนชวาจริงๆ พวกเขายังเชื่อเรื่อง "โมกษะ" หรือการปฏิบัติสมาธิจนหลุดพ้น ดังนั้นการไปเยี่ยมหรือนั่งสมาธิตามหลุมฝังศพของคนมีชื่อเสียงก็จะได้บุญมาก ทำให้ชีวิตดีขึ้น หายป่วย ได้งาน ฯลฯ สุสานของคนสำคัญจึงกลายเป็นที่จาริกแสวงบุญของมุสลิมในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชวา

ครูผู้ชายในโรงเรียนบังคับให้เด็กทำพิธีบูชาผี (Qorin) เพื่อที่เขาจะได้ครอบงำทุกคนได้และใช้มนต์นั้นในการสะกดจิตนักเรียนเพื่อข่มขืนพวกเธอ เขายังใช้ความเชื่อเรื่องผู้หญิงต้องรักษาพรหมจรรย์ หากใครเสียตัวเเล้วก็จะไม่มีค่าหรือสังคมรังเกียจเป็นตัวบีบให้เด็กปกปิดความลับ สุดท้ายวิธีที่จะเอาตัวรอดและจัดการกับครูคนนั้นได้คือ การใช้มีดฆ่าครูและผลักลงน้ำ ซึ่งกระทำโดย Zahra หัวหน้าห้องผู้เป็นนักเรียนดีเด่นและจงรักภักดีต่อครู

การต่อสู้ดำเนินไปอย่างยาวนาน แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่ตั้งใจเรียนท่องจำกุรอานไม่สามารถใช้บทเหล่านั้นเอาชนะความชั่วร้ายได้ เเต่การต้องเข้มเเข็งแบบ Yolanda ซึ่งมีมีดและเชือกติดกระเป๋าไว้ รู้จักสังเกตทางหนีทีไล่ต่างหากที่จะทำให้รอด Zahra กลายเป็นคนเข้มเเข็งเพราะ Yolanda และในฉากสุดท้ายที่เธอฆ่าครูผู้ชาย Yolanda ได้พูดกับเธอว่า "เธอเป็นอิสระเเล้ว เธอชนะเเล้ว" ซึ่งไม่ได้สื่อเเค่ว่า เธอรอดพ้นจากการทำร้ายของครู เเต่ความกล้าหาญ กล้าเผชิญกับความจริง การช่วยเหลือตัวเองได้จะทำให้เธอมีอิสรภาพ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร (ไม่เเน่ใจว่านับรวมศาสนาด้วยไหม)


 

หมายเหตุ: ภาพจาก netflix.com

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net