Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การสร้างระบบหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์คนกลุ่มเฉพาะเจาะจงประเภทที่นิยามว่า "ยากไร้" นับเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการพูดคุยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอทางวิชาการมากมาย  บนความสมเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ว่าประเทศไทยควรจะทำอะไรและอย่างไร เพื่อคุ้มครองความยากจนสำหรับผู้สูงวัย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 48 วรรคสอง กำหนดให้ “บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งนอกจากเราจะมีปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ในเรื่อง “ที่มา” โดยคณะรัฐประหาร แล้วยังมีปัญหาในเชิง “เนื้อหา” ก็คือ การวัด "ยากไร้" มีความเสี่ยงเป็นพลวัตที่ไม่แน่นอน อีกทั้งจะมีคนจนตกหล่นอย่างแน่นอน 

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่มีการปรับยาวนานมากกว่า 10 ปี แต่เส้นความยากจนเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ในขณะที่แรงงานส่วนมากไม่มีระบบการออมเพียงพอ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน มักจะแทบไม่เหลือสะสมไว้ยามชรา ทำงานทั้งชีวิตก็ถูกจำกัดควบคุมทางเลือกและคุณภาพของสินค้าและบริการอยู่แค่ไม่กี่ตระกูลในแทบทุกมิติของชีวิต ตั้งแต่ค้าปลีก ค้าส่ง พลังงาน สื่อสารโทรคมนาคม การเงินการธนาคาร สนามบินและเชื้อเพลิงในสนามบิน โรงพยาบาลเอกชน สื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น อีกทั้ง เราไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรมผ่านนโยบายภาษีแบบก้าวหน้า และ ยกเลิกการงดเว้นลดหย่อนภาษีให้คนส่วนน้อยบนยอดปีรามิด เพื่อเป็นแหล่งรายได้สำหรับการพัฒนาระบบสวัสดิการของคนทั้งสังคม 

โดยเฉพาะแค่การยกเว้นภาษีโดย BOI เพียงอย่างเดียว ก็เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนไทยได้รับมูลค่าลดหย่อนยกเว้นภาษีปีละเป็นแสนล้านบาท เช่น ปีล่าสุดมียื่นขอยกเว้นให้เฉพาะส่วนของกลุ่มทุนไทยรวม 1.4 แสนล้านบาทเป็นมูลค่าที่ไม่ต้องเสียภาษี แล้วสามารถขอยกเว้นครั้งละ 8-10 ปี และสามารถขอต่ออายุหรือขยายโครงการไปได้อีก แบบที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่างๆ (SMEs) ไม่มีสิทธิ์ แต่ในทางกลับกันก็มีการให้ข้อมูลเท็จบิดเบือนว่า มีคนเสียภาษีแค่ 4 ล้านคน จะให้เอามาแบกสวัสดิการของคนทั้งประเทศได้อย่างไร 

ความไม่เป็นธรรมของพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทย ก็คือ ประเทศไทยไม่ได้จน เพียงแต่เรามีปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่เอารัดเอาเปรียบ จากข้อมูล 3 ทศวรรษ แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนระดับล่าง ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของ GDP ในสัดส่วนที่น้อยกว่า และ ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ในขณะที่แรงงานไทยได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม เพราะค่าจ้างไม่สามารถเติบโตได้ทัน GDP ทั้งที่ผลิตภาพแรงงานเติบโตเร็วกว่า GDP แต่ในทางตรงกันข้าม 50 ตระกูลรวยที่สุด มีทรัพย์สินเพิ่มเฉลี่ยปีละ 20-30% หรือรวยขึ้นเฉลี่ย 6-8 เท่า ภายในทศวรรษเดียว พุ่งจาก 1/10 ของ GDP เป็น 1/3 ของ GDP 

ความจริงแล้วเรามีข้อเสนอมากมายสำหรับแนวทางการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูประบบบำนาญและสวัสดิการสังคม, แหล่งรายได้จากปฏิรูประบบภาษี ปฏิรูประบบงบประมาณ และ พัฒนาระบบการออม, การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการทำงานของผู้สูงอายุ, การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว, สร้างระบบฐานข้อมูล โดยทุกคนอยู่ในระบบตั้งแต่เริ่มทำงาน, สร้างแรงจูงใจให้ทำงานนานขึ้น ขอรับบำนาญช้าลง และส่งเสริมการออม เป็นต้น

ในทางการคลัง ก็มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า หาก “ปฏิรูปภาษีและปฏิรูปงบประมาณ” จะสามารถลดการขาดดุลงบประมาณได้มากกว่า “การไม่ทำอะไร” และ การปฏิรูปภาษี เช่น เพิ่ม VAT และ ขยายฐานภาษี สามารถสร้างรายได้รัฐ คิดเป็น 3.5% ของ GDP (Thailand Public Spending and Revenue Assessment, World Bank, 2023) 
แต่ในความเป็นจริงก็น่าจะกล่าวได้ว่า ไม่มีการพัฒนาอะไรเป็นรูปธรรมอย่างสัมฤทธิ์ผล หากวัดโดยคุณภาพชีวิตมนุษย์ มีแต่จัดประชุมสัมมนาศึกษาถอดบทเรียนวนเวียนหัวข้อเดิม บางหน่วยงานนิยมโรงแรมหรูกลางกรุงใช้เงินภาษีจากประชาชนครั้งละครึ่งล้านบาท หรือ บ้างจัดประชุมใหญ่โตมโหฬารระดับชาติซึ่งไม่ทราบใช้งบแต่ละครั้งเท่าใด แล้วในที่สุดมีประโยชน์เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างไรหรือมีแค่ผลงานเป็นเอกสารและข่าวประชาสัมพันธ์ ผู้เขียนเคยเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับสวัสดิการนั่งอยู่ฝั่งภาคประชาชน หน่วยงานด้านเศรษฐกิจแห่งหนึ่งชี้แจงปกป้องงบประมาณซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหม และ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจอีกแห่งอ่านกฎหมายให้ฟังแทนคำตอบเมื่อสอบถามข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปลูกกล้วยปลูกมะนาวเพื่อเลี่ยงภาษีที่ดินรกร้างมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท จึงหมดหวังที่จะแบ่งมาเป็นแหล่งรายได้มาลงทุนให้กับคุณภาพชีวิตคนไทย ในขณะที่มีการช่วยกันปัดตกหรือนั่งทับ ร่าง พ.ร.บ. บำนาญผู้สูงอายุ อย่างน้อย 5 ฉบับ และ รายงานของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎรอีก 2 ฉบับ 

รายงานของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมได้ศึกษาโดยละเอียดว่า จะหาเงินมาจากไหน และ สามารถเพิ่มระดับการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุเป็นระดับขั้นอย่างไร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของระบบบำนาญคนไทย ในขณะที่ทุกคนควรทราบข้อน่ากังวลว่า บำเหน็จบำนาญข้าราชการและเงินสำรองสมทบชดเชย อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 2 แสนล้านบาทเมื่อทศวรรษก่อน จนเกือบ 5 แสนล้านบาทในปัจจุบัน 

แต่มีหน่วยงานทางเศรษฐกิจให้ข้อมูลกับสังคมว่า งบสวัสดิการข้าราชการไม่น่ากังวลเพราะคิดเป็นสัดส่วนคงที่ต่อ GDP ในขณะที่หน่วยงานเดียวกันให้ความเห็นต่อรัฐบาลว่า งบบำนาญประชาชนเป็นภาระงบประมาณในระยะยาว จนเป็นที่น่ากังขาในการใส่ใจดูแลคุณภาพชีวิตอย่างแตกต่างกันระหว่างข้าราชการผู้กำหนดนโยบายและประชาชนทั่วไปผู้เสียภาษีส่วนใหญ่

นอกจากจะหมกมุ่นอยู่กับโครงการประเภทที่เรียกว่า ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ประชาสัมพันธ์มานานเป็นปี จนป่านนี้ยังไม่สามารถสรุปทราบจะลงเอยอย่างไร ก็ยังมีทิศทางเห็นชัดเจนกันทั้งโซเชียลมีเดียสื่อยุคดิจิทัลว่า เข้ามาช่วยกันเพื่อกอบโกยให้กลุ่มเครือข่ายทุนและอำนาจ  หลายตระกูลได้เปรียบจากการประกอบธุรกิจสัมปทาน หรือ ธุรกิจกึ่งผูกขาด กลไกภาครัฐเอื้อให้สามารถมีอำนาจเหนือตลาดและได้รับการยกเว้นภาษีแบบที่รายเล็กไม่มีโอกาส เชื่อมโยงกันชัดเจนผ่านระบอบเครือข่ายทั้งบอร์ดระดับชาติและบริษัทมหาชน แถมยังครอบครองสื่อรายใหญ่ของประเทศ ดังนั้น การลงทุนพัฒนาและดูแลคุณภาพชีวิตมนุษย์ในระยะยาวสำหรับสังคมสูงวัยขั้นสุดยอด น่าจะไม่ใช่เป้าหมายหลัก

เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยพอ จึงอาจจะกล่าวได้ว่า การสร้างระบบหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ เป็นเรื่องเวรกรรมของคนไทยและผู้สูงอายุไทย ทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นอนาคต ก็เอวังด้วยประการฉะนี้

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net