Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในวันที่ 27 กันยายน 2567 ผู้เขียนได้รับเกียรติจากอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ให้เป็นหนึ่งในวิทยากรออกความเห็นเกี่ยวกับหนังสือ ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย ที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่และสร้างกระแสตอบโต้และสนับสนุนในวงกว้าง ในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงรวบรวมเนื้อหาที่ได้เตรียมไปพูดในงานเปิดตัวหนังสือดังกล่าว เนื่องจากเวลาที่จำกัดทำให้ไม่สามารถแบ่งปันเนื้อหาที่เตรียมมาได้ทั้งหมด ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อสรุปความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ โดยแบ่งสาระสำคัญออกเป็นสามประเด็น (ต่อจากนี้จะเรียกอาจารย์พวงทองว่า “ผู้เขียน”)

1. การนำเสนอทหารในฐานะกลไกของรัฐในการแทรกซึมสังคม

ในแวดวงรัฐศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ มีงานจำนวนมากที่มุ่งศึกษารัฐ อำนาจของรัฐ กลไกของรัฐ หากเป็นงานเชิงวิพากษ์ กรอบวิเคราะห์ที่มองอำนาจทางการเมือง อำนาจของรัฐที่มักจะถูกหยิบฉวยไปใช้ก็คือ ด้านหนึ่ง การเน้นไปที่อำนาจด้านการกดปราบ ความรุนแรง และการใช้กฎหมายของรัฐ อีกด้านหนึ่ง จะเน้นไปที่อำนาจเชิงอุดมการณ์ บทบาททางสังคม วัฒนธรรม สื่อบันเทิง สำหรับแวดวงไทยศึกษาและผู้ที่ศึกษารัฐไทยเชิงวิพากษ์ งานที่ชื่อว่า In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand (2018) โดย Tyrell Harberkorn ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างงานทางวิชาการที่ขับเน้นประเด็นแรกได้เป็นอย่างดี นั่นคือ หนังสือได้ทำการศึกษาความรุนแรงของรัฐไทยและการลอยนวลพ้นผิด อีกด้านหนึ่ง งานอย่าง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2007) โดย ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ ก็เป็นตัวอย่างสะท้อนการโฟกัสไปที่มิติแบบหลัง หนังสือ ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย น่าจะถูกจัดวางว่ามีแนวทางการศึกษารัฐอย่างหลังนี้ กล่าวคือ หนังสือเล่มนี้มุ่งสำรวจหน่วยงานรัฐ ซึ่งในที่นี้คือ กองทัพไทยในมิติของการสถาปนาอำนาจนำในสังคม บทบาทเชิงอุดมการณ์ และสร้างฉันทานุมัติ หากเทียบกับงานวิชาการต่างประเทศ ก็มองได้ว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ในหมวดหมู่หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์ “ลัทธิทหารนิยม” หรือ militarism ซึ่ง Rachael Woodward ได้นิยามเอาไว้ว่าคือ “การขยายอิทธิพลของทหารเข้าสู่ปริมณฑลทางสังคม อันรวมถึงชีวิตทางเศรษฐกิจ และสังคมการเมือง” (2004, 3)

ตัวหนังสือสำรวจประวัติ พัฒนาการของกองทัพโดยเฉพาะพันธกิจและบทบาทที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มมวลชนต่างๆในสังคมไทย โดยเจาะลึกไปที่หน่วยงานที่ชื่อว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หนังสือตีแผ่ให้เห็นถึง “การแทรกซึมทางสังคม” ของหน่วยงานนี้และกองทัพโดยรวม โดยการแทรกซึมในที่นี้ หมายถึงบทบาท ปฏิบัติการต่างๆที่ครอบคลุมกิจกรรมในวงกว้างนอกเหนือ จากประเด็นเรื่องความมั่นคงแบบดั้งเดิมที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคือพันธกิจหลักของทหาร นั่นคือ  การป้องกันอริราชศัตรูจากภายนอก

ในบทนำผู้เขียนชี้ให้เราเห็นว่า (2024, 13) โครงการที่ดูไม่เหมือนจะเกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น สาธารณสุข การพัฒนา ยาเสพติด การช่วยเหลือมนุษยธรรม ถูกนับรวมเข้าเป็นกิจการความมั่นคงภายใน และเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกองทัพและของรัฐไทยโดยรวม ยิ่งช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โครงการทางสังคมเหล่านี้มีความเข้มข้น หลากหลาย และรุกคืบมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ โครงการอบรมตามโรงเรียน โครงการด้านการท่องเที่ยวและสันทนาการ พันธกิจทวงคืนผืนป่า การสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์การกลุ่มต่างๆทางสังคมมีการพบปะอบรมหลักสูตรร่วมกัน ตั้งแต่ กลุ่มนักธุรกิจ จนถึง คนขับบิ้กไบก์ ด้วยเหตุนี้ หนังสือจึงต้องการตอบคำถามว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความเป็นมาอย่างไร และมีนัยยะสำคัญทางการเมืองอย่างไร

หนังสือเริ่มจากการพาไปดูจุดเริ่มต้นซึ่งอยู่ภายใต้บริบทของสงครามเย็นในห้วงที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านเติบโตเข้มแข็ง ปี 2500 ได้มีการประกาศจัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมาในปี2518 ก็เป็นที่มาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หน่วยงานดังกล่าวมีเป้าหมาย คือการมุ่งสกัดการขยายตัวของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์โดยเฉพาะในชนบท โดยเน้นปฏิบัติการนอกเหนือไปจากการปะทะกันด้านอาวุธ กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐไทยมองว่าการสกัดกั้นภัยคอมมิวนิสต์สามารถทำผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านการพัฒนา โครงการพระราชดำริ หรือโครงการมวลชนจัดตั้ง

งานยังสำรวจมิติทางกฏหมายที่สะท้อนบทบาททางสังคมที่น่าสนใจของของกองทัพไทยโดยรวม นั่นคือ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี2517 ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ในพันธกิจหลักของทหารไทยที่มีห้าข้อมีเพียงหนึ่งข้อเท่านั้นที่เป็นความรับผิดชอบปกติของทหารทั่วทุกประเทศส่วนข้ออื่นเป็นเรื่องภายในประเทศ อนึ่ง ผู้เขียนระบุว่าพันธกิจของทหารในรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลายมาเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญไทยในฉบับต่อๆมา (59)

จากยุคสงครามเย็นสู่ยุคหลังรัฐประหารปี 2549 ผู้เขียนมองว่าบทบาทการแทรกซึมของกองทัพถูกรื้อฟื้นและรับเอาเทคโนโลยีไซเบอร์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมอีกด้วย นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือเล่มนี้ได้ใช้เอกสารของรัฐ กองทัพและกอ.รมน. เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงจำนวนมาก และในหน้า 159 ในขณะที่ผู้เขียนได้ยกเอาความเห็นในรายงานของกอ.รมน.ที่ประเมินภัยคุกคากฝ่ายคอมมิวนิสต์ในชนบทไทย ในข้อความดังกล่าว กอ.รมน.ได้ใช้คำว่า “การแทรกซึม” โดยมองว่าเป็นปฏิบัติการของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาชักจูงมวลชนให้หลงผิดและเข้าร่วมขบวนการ ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถตีความได้ว่า คำว่า “แทรกซึม” ในโลกแห่งความหมายของรัฐ ในพจนานุกรมฉบับหน่วยงานรัฐ เป็นคำที่สงวนไว้ใช้นิยามและ “ตีตรา” ฝ่ายตรงข้ามของรัฐหรือฝ่ายที่รัฐมองว่าเป็นภัยคุกคาม ดังนั้นหน้าที่ของกองทัพคือการเข้าไปป้องปรามการแทรกซึมดังกล่าว กองทัพจึงไม่ได้มองว่าปฏิบัติการต่างๆของตนคือการแทรกซึมและเป็นไปได้ว่าคำๆนี้สร้างความ “ตะขิดตะขวง” ใจให้แก่กองทัพ ทั้งนี้ก็เพราะหนังสือเล่มนี้กลับหัวกลับหางโลกแห่งความหมายของรัฐ หยิบฉวยนำเอาคำที่ก่อนหน้านี้รัฐใช้เป็นคำที่โจมตีฝ่ายตรงข้ามมาโจมตีการกระทำของรัฐเสียเอง

ในโลกแห่งความหมายของรัฐ หรือหาก “มองอย่างรัฐ” ปฏิบัติการทางสังคมต่างๆของกองทัพหาใช่ “การแทรกซึมทางสังคม” หากแต่มันถูกแทนที่ด้วยคำพูดสวยหรู ซ้อฟๆ เชิงบวก (euphemize) ด้วยคำว่า กิจการพลเรือนของทหารหรือสงครามจิตวิทยา นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาในสายตารัฐ 

2. การตีความการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับความเข้าใจสากลและบริบทการเมืองโลกร่วมสมัย

หนังสือยังมีการวิเคราะห์แนวคิดหรืออุดมการณ์ที่ให้ความชอบธรรมเพื่อสนับสนุนการแทรกซึมที่ได้กล่าวไปข้างต้น อาทิ แนวทางการเมืองนำทหาร การพัฒนาเพื่อความมั่นคง อุดมการณ์ราชาชาตินิยม และความมั่นคงมนุษย์ ในที่นี้จะขอหยิบยกมาสองแนวคิดมาอภิปรายต่อยอด 

แนวคิดการพัฒนาเพื่อความมั่นคง หนังสือระบุว่า แนวคิดนี้ถูกผลักดันมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ปี2518 และจากนั้นแนวคิดนี้ก็อยู่ในแผนพัฒนาฉบับต่อๆมา ผู้เขียนมองว่าพัฒนาการดังกล่าวสะท้อนการค้ำประกันและให้ความชอบธรรมกับกองทัพในการผนวกเอาประเด็นเรื่องความมั่นคงเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับประเด็นเชิงเศรษฐกิจและสังคม เป็นที่น่าสนใจว่า ตามสโลแกน “พัฒนาเพื่อความมั่นคง” นี้ เป้าหมายของการพัฒนาไม่ได้เป็นไปเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเป็นธรรมการจัดสรรกระจายความมั่งคั่ง แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อให้รัฐมั่นคง เพื่อรักษาlaw and order เพื่อคงไว้ซึ่งจารีตวัฒนธรรมความเป็นไทย ซึ่งเป็นมโนทัศน์ที่ไม่เพียงเอารัฐเป็นศูนย์กลางและตั้งอยู่บนอุดมการณ์ชาตินิยม อนุรักษ์นิยม แต่ยังสวนทางกับแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาโดยทั่วไป อนึ่ง ทฤษฎี modernization หรือการทำให้เป็นสมัยใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับการวิจารณ์จากพวกนักคิดหลังการพัฒนา (post development) แต่ด้วยตัวแนวคิดของมัน เป้าหมายของการพัฒนาคือการเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีความเป็นจารีต ระบบอุปถัมภ์ ไม่มีความโปร่งใส ไม่เป็นมืออาชีพ (professional)  ให้สมัยใหม่ มีการแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน (divisionof labour) นักพัฒนาตามแนวคิดทำให้สมัยใหม่นี้มองว่าภารกิจแรกๆของนักพัฒนาคือการเข้าไปต่อสู้กับความเป็นจารีตอันล้าหลัง อุดมการณ์โบราณที่เป็นโซ่ตรวนกักขังปัจเจกชนไม่ให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Valenzuela and Valenzuela 1978, 537-8) อย่างไรก็ตาม พอเรามาดูแนวทางการพัฒนาเพื่อมั่นคงของรัฐไทยก็จะเห็นได้ว่ามีการผสมผสานการพัฒนาเข้ากับแนวคิดอุดมการณ์จารีต คุณค่าอันดีงาม ความเป็นชาตินิยมแบบไทยๆที่มีมาอย่างยาวนาน ถึงนับว่าเป็นการตีความแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

เช่นเดียวกันกับกรณีของแนวคิดความมั่นคงมนุษย์ ที่กองทัพหยิบยกมาเพื่อเป็นข้ออ้างในการขยายภารกิจบทบาทในการแก้ปัญหานานาชนิด แต่หนังสือมองว่าการฉวยโอกาสเอาแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ของกองทัพซึ่งแม้จะดูร่วมสมัย แต่ลงเอยเป็นการ  militarization ขยายอำนาจขอบเขตบทบาทของทหาร ในการแทรกซึมทางสังคม 

ในเชิงแนวคิดรัฐศาสตร์ ความมั่นคงของมนุษย์คือความมั่นคงรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องของบูรณภาพทางดินแดนหรือการสะสมอาวุธเพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับศัตรูภัยคุกคามภายนอก ในยุคหลังสงครามเย็น มีความพยายามผลักดันจากองค์กรระหว่างประเทศ ประชาคมระหว่างประเทศ ให้สังคมโลกเคลื่อนตัวจากความมั่นคงของรัฐสู่ความมั่นคงของมนุษย์ หันมาให้ความสำคัญกับความยากจน ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ศาสนา ความเท่าเทียมทางเพศ สวัสดิการทางสังคม และความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม (ดู Ogata and Cel, 2003) นี่คือข้อท้าทายใหม่ๆที่สังคมโลกกำลังเผชิญ ผลที่ตามมาก็คือ กระบวนทัศน์แบบใหม่จะทำให้เรามีมุมมองต่อปัญหาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาใหม่ อาทิ ปัญหาผู้ลี้ภัยหรือการค้ามนุษย์ ถ้ามองผ่านกรอบความมั่นคงแบบเดิม มักจะมีแนวโน้มมองเหยื่อเป็นอาชญากรหรือผู้กระทำผิดทางกฎหมายแทนที่จะมองว่าเขาเป็นผู้ที่กำลังโดนคุกคาม กรอบดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจสภาวะเปราะบางร่วมสมัยว่าไม่ได้จำกัดเฉพาะความเปราะบางของรัฐ อีกทั้งยังให้เสียง ให้ใบหน้า ให้พื้นที่คนเปราะบาง คนที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมือง 

แนวทางการแก้ไขปัญหาตามกระบวนทัศน์ความมั่นคงมนุษย์ควรมีลักษณะจากล่างสู่บน กระจายอำนาจ เน้นบทบาทของภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ แทนที่จะเป็นการแทรกซึมขยายอำนาจของหน่วยงานรัฐ แน่นอนว่า ด้านหนึ่งมุมมองความมั่นคงมนุษย์ แม้จะดูเป็นอุดมคติ ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ บ้างก็บอกว่า มองโลกสวยเกินไป หรือเป็นเครื่องมือของฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกเสรีนิยม หรือไม่ก็โดยฝ่ายซ้ายมองว่าละเลยประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เห็นร่วมกันก็คือรัฐ ในยุคโลกาภิวัตน์ในยุคที่เราถูกรุมเร้าด้วยปัญหาข้ามชาติ ไม่ใช่ตัวแสดงหลักเพียงอย่างเดียวและต้องปรับมุมมองในการเข้าใจปัญหาและการแก้ปัญหา บ่อยครั้ง รัฐต้องเล็กลง ต้องเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะชุมชน ท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทนำมีส่วนร่วมเสียด้วยซ้ำ

กระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่หนังสือนำเสนอก็คือ กองทัพและกอ.รมน. รับเอามโนทัศน์เรื่องความมั่นคงของมนุษย์แบบผิดฝาผิดตัว มีลักษณะที่ยังมีมโนทัศน์ความมั่นคงของรัฐแบบดั้งเดิมครอบงำอยู่ ด้วยเหตุนี้ แทนจะที่จะเป็นการลดบทบาทอำนาจรัฐ ปล่อยให้กิจการพลเรือน การแก้ปัญหาสังคมเป็นเรื่องของภาคประชาสังคมและหน่วยงานพลเรือนอื่นๆ กลับกลายเป็นว่ากองทัพและกอ.รมน.ขึ้นมาเป็นฝ่ายนำพลเรือนเสียเอง (พวงทอง 2024, 21) อาจกล่าวได้ว่า เมื่อแนวคิดความมั่นคงมนุษย์เข้ามาในไทยมันถูกทำให้กลายพันธุ์ เพราะถูกตีความว่า การใช้วิธีคิดและวิธีการแบบทหาร รวมถึงการเพิ่มบทบาททหารในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ๆที่สังคมโลกกำลังเผชิญ (75)

เหนือสิ่งอื่นใด ในหมู่นักวิชาการและผู้สนับสนุนแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ จะมีสโลแกนคำขวัญที่ เอ่ยถึงกันอย่างคุ้นหูนั่นคือ Freedom from want and freedom from fear หมายถึง ความมั่นคงของมนุษย์นั่นครอบคลุมอิสรภาพที่ปลอดความต้องการและความหวาดกลัว หวาดกลัวในอะไร หวาดกลัวที่จะต้องเป็นเหยื่อของความรุนแรงของรัฐ หวาดกลัวว่าเสรีภาพในการแสดงออกของตัวเองจะถูกสอดส่องตรวจตรา จะถูกฟ้องด้วยกฎหมายว่าด้วยความมั่นคง หรือเขียนงานทางวิชาการออกมา แล้วถูกห้ามเผยแพร่เซ็นเซอร์ หากเรายังอยู่ในสังคมที่พลเมืองยังไม่มีอิสรภาพ ทั้งจากเรื่องปากท้องความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และความหวาดกลัวที่จะโดนคุกคาม ปิดปาก ก็ถือได้ว่า เรายังอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำด้วยมโนทัศน์ความมั่นคงแบบเดิม และเป็นความล้มเหลวในการบูรณาการ มโนทัศน์แบบใหม่ว่าด้วยความมั่นคงของมนุษย์นั่นเอง

3. การนำเสนอพลวัตทางอำนาจและการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามบริบทความขัดแย้งการเมืองไทยของกองทัพ

อีกข้อโต้แย้งหนึ่งที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ผู้เขียนต้องการจะโต้เถียงกับ narrative หรือเรื่องเล่า/โครงเรื่องหลังการเมืองไทยยุคหลังป่าแตก โดยมองว่าเป็นชัยชนะของรัฐไทยในการใช้แนวทาง “การเมืองนำทหาร” เหนือขบวนการคอมมิวนิสต์ ดังที่สะท้อนออกมาจากนโยบาย 66/2523 65/2525 ผู้เขียนกลับมองว่า สาเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยพ่ายแพ้กลับเป็นผลมาจากปัจจัยภายในองค์กรเอง และบริบทการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าจะเป็นเรื่องของนโยบาย อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวถือเป็นการกรุยทางให้ทหารมีความชอบธรรมในการเข้ามาสร้างเครือข่ายในพื้นที่ทางสังคมหรือจัดโครงการต่างๆ และการแทรกซึมนี้ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นรากที่ฝังลึก จนแม้กระทั่ง หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 กองทัพสูญเสียความชอบธรรม เกิดกระแสเรียกร้องจากภาคประชาชนให้ทหารยุติการแทรกแซงการเมือง กลับกรมกอง กระนั้นก็ตามเครือข่ายอำนาจที่แทรกซึมในสังคมกลับไม่ได้รับการแก้ไขปฏิรูปอย่างจริงจัง ซ้ำร้ายภายใต้รัฐบาลพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นสมัยชวนหรือทักษิณ ก็สนับสนุนให้กองทัพเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการพลเรือนด้านอื่นๆ อาทิ ปัญหายาเสพติด และความไม่สงบในภาคใต้ เป็นต้น 

จวบจนมาถึงความขัดแย้งระลอกล่าสุด หลังรัฐประหารปี 2549 เครือข่ายเหล่านี้กลับมา “มีชีวิตชีวา”อีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการออกกฏหมายรองรับ เพิ่มสถานะพิเศษของกองทัพไทยโดยรวมอีกด้วย  เช่น พรบ.ความมั่นคงปี 2551 ซึ่งนำไปสู่การยกสถานะกอ.รมน.ให้มีสถานะสูงกว่าคำสั่งนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยัง

ได้รับงบประมาณโดยตรงจากสำนักงบประมาณ (ดูตารางหน้า 87) นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าด้วยการนิยามอันคลุมเครือของ “เหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในและยังไม่จำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” ซึ่งเปิดโอกาสให้ กอ.รมน.มีอำนาจในการตีความและลงมือปฏิบัติการ

กล่าวโดยสรุป หลังความขัดแย้งทางการเมืองในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา การแทรกซึมของกองทัพทะลุทลวงครอบคลุมกิจกรรมมากมาย ตั้งแต่ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านเสื้อแดง รถตู้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานศึกษา ไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยวสันทนาการอาร์มี่แลนด์ เป็นต้น

บทสรุป

ผู้เขียนสรุปเอาว่าในตอนท้ายของหนังสือว่า กระแสเรียกร้องภาคประชาชนที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันเช่น การต่อต้านรัฐประหาร การกดดันให้ทหารเลิกยุ่งกับการเมือง โดยเฉพาะการเมืองแบบรัฐสภา ให้เป็นทหารอาชีพ ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผลตามหลักการประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปกองทัพที่แท้จริงให้สอดคล้องกับการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมจะทำสำเร็จได้ต้องยุติบทบาทของการรุกล้ำหรือกิจกรรมครอบจักรวาลของหน่วยงานรัฐหน่วยงานนี้ด้วย

หนังสือ ในนามความมั่นคงภายใน เล่มนี้ถือว่าเป็นงานวิชาการทางรัฐศาสตร์ที่สำรวจวิเคราะห์และวิพากษ์กองทัพไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างละเอียด จุดเด่นคือการโฟกัสไปที่ปริมณฑลทางสังคม ปัญหา กิจกรรมในพื้นที่สังคมที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่เอกเทศไปจากอำนาจรัฐ ในแวดวงไทยศึกษา น้อยคนนักที่จะศึกษากองทัพไทยในมิตินี้ ทั้งๆที่เป็นตัวแสดงที่สำคัญในการเมืองไทยร่วมสมัย ผู้อ่านสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ร่วมกับงานของ Paul Chambers นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องทหารไทยอีกคน ไม่ว่าจะเป็น  บทความ Understanding the Evolution of “Khaki Capital” in Thailand (2021) หรือหนังสือ Praetorian Kingdom: A History of Ascendency in Thailand (2024) น่าสังเกตว่า ในขณะที่งานของChambers โฟกัสไปที่การเมืองเรื่องชนชั้นนำ กองทัพแบ่งเป็นกลุ่มใดบ้าง งบประมาณกลาโหม การครองที่ดิน ไปจนถึงตำแหน่งนั่งบอร์ดบริษัทเอกชนของทหารไทยเป็นอย่างไร หนังสือในนามความมั่นคงภายในจะเติมเต็มงานของ Chambers ด้วยการนำเสนอมุมมองที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมมากขึ้น เมื่อผู้อ่านอ่านงานวิชาการของนักรัฐศาสตร์ทั้งสองท่านแล้วก็จะสามารถเข้าใจการเมืองของกองทัพทั้งในระดับบนและระดันล่าง ข้างบนการเมืองของทหารเป็นอย่างไร มีงบหมุนเวียน ปะทะกันยังไง ข้างล่างการเมืองของทหารก็มีการสร้างเครือข่าย โครงการ มวลชนจัดตั้ง ซึ่งมีนัยยะเชิงอำนาจ งบประมาณ แนวคิดอุดมการณ์ ในแง่นี้จะหนังสือสองเล่มนี้เติมเต็มทำให้เห็นภาพรวมบทบาททหารภาพกว้างมากขึ้น  

 

รายการอ้างอิง

ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. (2007). โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

พวงทอง ภวัครพันธุ์. (2024). ในนามของความมั่นคงภายใน : การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

Chambers, P. (2024). Praetorian Kingdom: A History of Ascendency in Thailand. Singapore: ISEAS – Yusof Ishak Institute.

Chambers, P. (2021). Understanding the Evolution of ‘Khaki Capital’ in Thailand: A Historical Institutionalist Perspective. Contemporary Southeast Asia, 43 (3), 496–530. https://www.jstor.org/stable/27096071.

Haberkorn, T. (2018). In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand. Madison and London: University of Wisconsin Press.

Ogata, S., & Cels, J. (2003). Human Security—Protecting and Empowering the People. Global Governance, 9(3), 273–282. http://www.jstor.org/stable/27800482

Valenzuela, J. S., & Valenzuela, A. (1978). Modernization and Dependency: Alternative Perspectives in the Study of Latin American Underdevelopment. Comparative Politics, 10(4), 535–557. https://doi.org/10.2307/421571

Woodward, R. (2004). Military Geographies. MA: Blackwell.

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net