Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาสั่งควบคุมตัวอี ควิน เบดั๊บ นักปกป้องสิทธิชาวมองตานญาด และผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UN เพื่อรอการส่งกลับเวียดนามในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เผยไม่มีหน้าที่พิจารณาหลักการไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย และ มาตรา 13 พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ ให้รัฐบาลตัดสินใจ

 

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาด อี ควิน เบดั๊บ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เผยว่า เมื่อ 30 ก.ย. 2567 ว่า ณ ห้องพิจารณาคดี 807 ศาลอาญา เวลาประมาณ 13.10 น. ผู้พิพากษาอ่านคำสั่งกรณีสำนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ยื่นคำร้องขอให้ส่ง อี ควิน เบดั๊บ (Y Quynh Bdap) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้กลับไปรับโทษในเวียดนาม โดยศาลสั่งควบคุมตัวเบดั๊บ เพื่อรอผลักดันกลับประเทศเวียดนามในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และไม่รับพิจารณามาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย

อี ควิน เบดั๊บ (ที่มา: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย)

รู้จักอี ควิน เบดั๊บ

อี ควิน เบดั๊บ เป็นชาวเอดี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวมองตานญาด (Montagnard) คำว่า "มองตานญาด" ประเทศเวียดนามใช้เรียกรวมๆ กลุ่มชนพื้นเมืองหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแถบภูเขา หรือที่ราบสูง ตอนกลางค่อนไปทางใต้ของประเทศ 

เบดั๊บ เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม "มองตานญาดสู้เพื่อความยุติธรรม" (Montagnards Stand for Justice) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ด้านกฎหมายและปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวมองตานญาดและทำกิจกรรมตามแนวทางสันติวิธี อีกทั้ง เขายังเป็นกระบอกเสียงต่อต้านการประหัตประหารด้านศาสนาที่เกิดขึ้นกับชุมชนของเขาที่นับถือศาสนาคริสต์ 

อี ควิน เบดั๊บ ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เมื่อปี 2563 แต่ก่อนหน้านี้ อี ควิน เบดั๊บ เคยให้สัมภาษณ์แอมเนสตี้ อินเตอเนชั่นแนล เมื่อเดือน พ.ย. 2566 ว่า เขาเคยถูกจับกุมขึ้นโรงพัก และถูกทรมานเมื่อปี 2553

จนกระทั่งเมื่อ 11 มิ.ย. 2567 อี ควิน เบดั๊บ ถูกทางการไทยจับกุมที่กรุงเทพฯ ข้อหา "อยู่เกินกำหนด" ตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หนึ่งวันหลังจากเบดั๊บ ให้สัมภาษณ์กับสถานทูตแคนาดาเพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ หลังจากนั้นทางการเวียดนามได้มีคำขอถึงทางการไทยให้ส่งตัวเบดั๊บกลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

คดีที่นำมาสู่การขอส่งกลับ

เหตุแห่งคดีที่นำมาสู่การส่งคำขอถึงรัฐบาลไทยให้ส่งตัวเบดั๊บ คือกรณีที่มีผู้โจมตีอาคารที่ทำการของรัฐบาลเวียดนาม และสถานีตำรวจ จังหวัดดั๊กลัก เมื่อ มิ.ย. 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 ราย หลังเกิดเหตุ เวียดนามตั้งข้อกล่าวหาชาวมองตานญาด กว่า 100 คนว่ามีความเกี่ยวข้อง รวมถึงอี ควิน เบดั๊บ 

เบดั๊บ ถูกดำเนินคดี 'อยู่เบื้องหลังและคอยควบคุมสั่งการ' การก่อการร้าย มาตรา 299 ประมวลกฎหมายอาญาเวียดนาม ต่อมา เดือน ม.ค. 2567 ศาลเวียดนามพิพากษาจำคุกเบดั๊บ เป็นเวลา 10 ปี แม้ว่าช่วงเกิดเหตุโจมตีเมื่อปี 2566 เบดั๊บ ไม่ได้อาศัยในประเทศเวียดนาม และไม่มีโอกาสได้สู้คดีความหรือแต่งตั้งทนาย 

ทั้งนี้ ช่องยูทูบ "VTV4" ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม เคยเผยแพร่สารคดีข่าวเมื่อ 5 ก.ย. 2567 อ้างว่า อี ควิน เบดั๊บ อยู่เบื้องหลังการโจมตีสถานีตำรวจ จ.ดั๊กลัก เมื่อปี 2566 โดยอ้างหลักฐานเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับกุมว่าเบดั๊บ อยู่เบื้องหลังจัดตั้งนักรบ และมีเอกสารการแสดงภาพแคปหน้าจอพูดคุยบนแอปพลิเคชัน "Whatsapp"

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ภาคประชาสังคมหลายองค์กรวิจารณ์ว่า การพิจารณาคดีของเบดั๊บ หรือชาวมองตานญาดหลายคนในคดีนี้เป็นการพิจารณาคดีแบบลับหลังโดยใช้ศาลเฉพาะกิจ (Mobile Court) คือแม้ว่าจำเลยจะไม่ได้มาขึ้นศาล แต่ว่าถูกตัดสินคดีไปแล้วทั้งที่เจ้าตัวอาจไม่ได้รับรู้หรือมีโอกาสชี้แจง ซึ่งขัดกับหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

ภาพจากยูทูบที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม VTV4 เผยแพร่เมื่อ 5 ก.ย. 2567 อ้างว่า อี ควิน เบดั๊บ อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตีที่จังหวัดดั๊กลัก เวียดนาม (ที่มา: ยูทูบ VTV4)

ไม่เป็นคดีการเมือง (?)

การสืบพยานคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ ดำเนินตั้งแต่ ก.ค. 2567 จนกระทั่งเมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญา อ่านคำพิพากษา ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 พบว่าคดีที่เบดั๊บ ถูกพิพากษาในเวียดนามนั้น "ไม่มีลักษณะเป็นคดีการเมือง" ซึ่งจะเข้าเงื่อนไขให้ส่งกลับไปรับโทษได้ จึงมีคำสั่งให้ขังตัวเบดั๊บ เพื่อรอการส่งกลับไปรับโทษ แต่ขอให้รอการตัดสินใจของรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ ห้ามส่งกลับภายใน 30 วัน หลังจากมีคำพิพากษา

ณัฐาศิริ ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลให้ความเห็นคดีของเบดั๊บว่าไม่เข้าข่ายคดีการเมือง แต่มองเป็นคดีอาญา ซึ่งศาลอาจมองว่าคดีการเมืองต้องเกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครอง หรือมีความขัดแย้งกับรัฐบาล

นักวิจัยจากแอมเนสตี้ฯ เผยว่า แม้ว่าศาลไทยจะไม่มองว่าเป็นคดีการเมือง แต่ในระดับสากล ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายท่าน วิจารณ์ว่ากฎหมายการก่อการร้ายของเวียดนาม "มีความเป็นการเมือง" อย่างมาก เนื่องจากข้อกฎหมายมีบทบัญญัติที่กำกวม และถูกนำไปตีความได้อย่างหลากหลายซึ่งเจ้าหน้าที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือจับกุมนักเคลื่อนไหวอย่างสันติ ลิดรอนเสรีภาพการแสดงออก ผู้วิจารณ์รัฐบาล และเสรีภาพการชุมนุม

ไม่พิจารณาหลักไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย

ฝั่งจำเลยยกข้อต่อสู้คดีว่า ตัวของเบดั๊บ ได้รับสถานะ 'ผู้ลี้ภัย' จาก UNCHR แล้ว และการส่งตัวกลับอาจละเมิดมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งระบุว่า

"ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย"

ศาลมองว่า ข้อกฎหมายนี้ไม่ได้เป็นหน้าที่ของศาลต้องพิจารณา หรือตัดสินว่าเป็นการละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศหรือไม่ แต่เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารต้องตัดสินใจ โดยศาลวินิจฉัยเฉพาะ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาตรา 19 หรือกระบวนการร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของเวียดนามทำถูกต้องหรือไม่

องค์ประกอบที่ต้องพิจารณา ได้แก่ 1) คำร้องขอถูกส่งผ่านการทูตโดยถูกต้องหรือไม่ 2) ความผิดที่กล่าวหาเป็นความผิดใน 2 ประเทศ 3) บุคคลที่ทำผิดในเวียดนามกับผู้ที่รัฐบาลเวียดนามร้องขอ เป็นคนๆ เดียวกันหรือไม่ และ 4) อายุคดีความยังอยู่ในกรอบระยะเวลาหรือไม่ เมื่อศาลมองว่าคำร้องขอรัฐบาลเวียดนามไม่ขัดต่อมาตรา 19 พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน จึงมีคำสั่งควบคุมตัว เบดั๊บ เพื่อรอรัฐบาลตัดสินใจ ผลักดันกลับอีกครั้ง

ควรพิจารณา ม.13 พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน

ณัฐาศิริ มองว่า ศาลควรพิจารณาทั้งในส่วนของ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ เพราะเป็นกฎหมายที่ศักดิ์เท่าเทียมกัน และมองด้วยว่า การที่ศาลสั่งขังเพื่อรอส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไป อาจเป็นการละเมิดกฎหมายภายในประเทศ  

"ศาลควรรับพิจารณามาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ ประกอบกับที่ศาลยอมรับว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย มันน่าจะเป็นข้อยุติแล้วว่าต้องไม่ส่งกลับประเทศต้นทาง… ที่ศาลสั่งให้ขังเพื่อรอส่งเขาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปอาจเป็นการกระทำที่ผิดขัดกับกฎหมายภายในประเทศ และพันธะกรณีระหว่างประเทศ" ณัฐาศิริ กล่าว และระบุว่าปัจจุบัน เบดั๊บ ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ชนาธิป เสริมว่า หลังจากนี้ควรมีการถอดบทเรียนว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำยังไงที่จะทำให้ร่างกฎหมายใหม่ หรือ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทำไมต้องผ่านศาล

ส่วนสาเหตุที่การส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องผ่านการพิจารณาจากศาลอาญา ณัฐาศิริ อธิบายว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดน มี 2 วิธี ประกอบด้วย แบบที่ 1 ส่งตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่าง 2 ประเทศ และ 2. หากไม่มีสนธิสัญญาระหว่าง 2 ประเทศ ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

กระบวนการต่อจากนี้อำนาจการตัดสินใจส่งผู้ร้ายข้ามแดนขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร ถ้ารัฐบาลมีจุดยืนไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยคนดังกล่าว และต้องการปล่อยตัว ก็ไม่ต้องส่งเรื่องให้ศาลพิจารณา รัฐบาลสามารถคุ้มครองได้ทันทีโดยผ่านคำสั่งนายกรัฐมนตรี  

สำหรับคดีนี้จะสิ้นสุดที่ชั้นอุทธรณ์เท่านั้น โดยจำเลยสามารถยื่นเรื่องอุทธรณ์ภายใน 30 วันหลังมีคำพิพากษา

ชะตากรรมบนฝ่ามือรัฐบาล

กัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม และเคยทำงานใน UNHCR มองว่า ผลคำตัดสินของศาลเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะศาลรับคำร้องให้พิจารณาในส่วนของ พ.ร.บ.ผู้ร้ายข้ามแดนฯ และอาจไม่อยากยุ่งการเมืองภายในเวียดนาม

สส.พรรคเป็นธรรม กล่าวต่อว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะต้องมาพิจารณาว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับหรือไม่ แต่รัฐจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ เพราะมีข้อกฎหมายภายในประเทศตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งหากส่งตัวกลับไปแล้ว เขาได้รับอันตราย รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ

"อยากให้ฝ่ายบริหารพิจารณาโดยใช้หลักการมนุษยธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เข้าใจฝ่ายบริหารต้องพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเวียดนามด้วย แต่สุดท้าย ถ้าคนที่ส่งกลับไป และต้องเผชิญการระหัตประหารอีกครั้งหนึ่ง คนที่รับผิดชอบคือรัฐบาลไทย …ก็อยากให้กำลังใจรัฐบาล ยึดหลักการมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ถ้าหลักการเราแม่นยำ มันก็ช่วยในการตัดสินใจได้" กัณวีร์ กล่าว 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net