Skip to main content
sharethis

ฝ่ายต่อต้านเผด็จการพม่ารวมทั้งกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ไม่ยอมรับข้อเสนอเจรจาสันติภาพกับกองทัพเผด็จการพม่า มองฝ่ายเผด็จการทหารไม่จริงใจ และเป็นหลักฐานชี้ว่าฝ่ายกองทัพพม่ากำลังพ่ายแพ้ 

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ฝ่ายกองทัพเผด็จการพม่ายื่นข้อเสนอเจรจาสันติภาพต่อกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม รวมถึงกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDFs) ฝ่ายติดอาวุธของรัฐบาลเงาฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหาร รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) โดยกองทัพพม่าระบุว่าอยาก "เสนอให้แก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีทางการเมือง"

กองทัพพม่าได้เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ยุติการกระทำพวกเขาเรียกว่าเป็น "การก่อการร้าย" และให้เตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า (2568)

แต่อีกหลายชั่วโมงถัดมา หลังจากที่กองทัพพม่ามีข้อเสนอให้เจรจาสันติภาพ กองทัพพม่าก็ทำการโจมตีทางอากาศใส่เมืองล่าเสี้ยวซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางตอนเหนือของรัฐฉาน โดยทิ้งระเบิดลงในตลาดกับย่านที่พักอาศัยของประชาชน ทำให้พลเรือนถูกสังหารไป 2 ราย

สำหรับเมืองล่าเสี้ยวนี้ กองกำลังโกก้าง MNDAA ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรสามภราดรภาพ สามารถยึดเมืองนี้จากฝ่ายเผด็จการทหารเอาไว้ได้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาหลังจากสู้รบกันอยู่ 1 เดือน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการจัดตั้งกลุ่มบูรณะล่าเสี้ยวเพื่อทำการฟื้นฟูเมืองนี้ขึ้นมาใหม่หลังจากที่ตกอยู่ภายใต้การสู้รบ

Lway Yay Oo โฆษกกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง TNLA ซึ่งเป็นกองกำลังสมาชิกพันธมิตรสามภราดรภาพ กล่าวว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้กองกำลังติดอาวุธทิ้งการต่อสู้ของตัวเองไปเข้าร่วมการเลือกตั้งที่เสนอโดยกองทัพเผด็จการ Lway Yay Oo ตั้งข้อสังเกตอีกว่ากองทัพพม่ากำลังสูญเสียพื้นที่ในการควบคุมของตนเองและกำลังจะพ่ายแพ้ ทำให้กองทัพพม่าใช้วิธีการเรียกเจรจาสันติภาพเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กองทัพตนเองและเปลี่ยนมาเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง

Lway Yay Oo บอกว่า "มันเป็นแค่การเล่นการเมือง" ในแบบของกองทัพเผด็จการพม่าเท่านั้น เธอเสนอว่าฝ่ายเผด็จการทหารควรจะเป็นฝ่ายปลดอาวุธเองต่างหากเพราะกองทัพพม่ายังคงทิ้งระเบิดและกดขี่ปราบปรามประชาชนอยู่ทุกวัน ทำให้การชวนเจรจาสันติภาพทั้งที่ยังโจมตีประชาชนอยู่แบบนี้เป็นเรื่องรับไม่ได้ในสายตาของฝ่ายต่อต้าน

อีกกลุ่มหนึ่งที่แถลงต่อต้านข้อเสนอของฝ่ายเผด็จการ คือ รัฐบาลเฉพาะกาลรัฐกะเรนนี ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองที่ต่อต้านเผด็จการทหาร พวกเขาแถลงว่ากลุ่มเผด็จการทหารเสนอเรื่องเจรจาสันติภาพเพื่อเป็นประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น

รัฐบาลเฉพาะกาลรัฐกะเรนนีแถลงอีกว่าพวกเขาจะไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับเผด็จการทหารที่ได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรม และจะยังคงต่อสู้ขัดขืนเพื่อพัฒนาจัดตั้งระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐต่อไป ทั้งนี้ทางรัฐบาลเฉพาะกาลรัฐกะเรนนี ยังเรียกร้องให้ฝ่ายต่อต้านร่วมใจกันสะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชนและทำการต่อต้านเผด็จการทหารต่อไป

ทางฝั่ง NUG โฆษกกระทรวงกลาโหม U Maung Maung Swe บอกว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับข้อเสนอของเผด็จการทหารที่กำลังพยายามหนีจากความพ่ายแพ้

Salai Htet Ni โฆษกของกองทัพแห่งชาติชิน หรือ CNA กล่าวว่าเผด็จการทหารพยายามจะชักใยผู้คนและหลอกลวงประชาคมโลกเพื่อที่ตัวเองจะอยู่รอด และการรัฐประหารเมื่อปี 2564 ได้ทำลายกระบวนการทางการเมืองไปแล้ว พวกเขาจะไม่ให้ฝ่ายเผด็จการทหารมาเป็นผู้จัดการเลือกตั้งในรัฐชินที่กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ปกครองอยู่ร้อยละ 80 แต่เผด็จการทหารปกครองเมืองไม่กี่แห่งเท่านั้น

Padoh Saw Taw Nee โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศว่า พวกเขาจะยอมเจรจาสันติภาพกับกองทัพเผด็จการก็ต่อเมื่อพวกเขาปฏิบัติตามเงื่อนไขว่ากองทัพพม่าต้องยอมรับ "เป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน" คือกองทัพพม่าต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ต้องเห็นชอบให้ร่าง "รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐประชาธิปไตย" และกองทัพพม่าจะต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงคราม ถ้าหากพวกเขาไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเหล่านี้ก็จะไม่มีการเจรจา ทาง KNU จะกดดันกองทัพพม่าทั้งทางการเมืองและทางการทหารต่อไป

นับตั้งแต่กองทัพพม่าก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีเมื่อปี 2564 เป็นต้นมาได้ปราบปรามประชาชนผู้ประท้วงอย่างสันติอย่างรุนแรง ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลเงา NUG กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF ขึ้นมาเพื่อต่อต้านเผด็จการพม่า โดยที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้ร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มในการต่อสู้กับกองทัพพม่าจนสามารถยึดพื้นที่จากฝ่ายเผด็จการได้จำนวนมาก

นอกจากฝ่ายเผด็จการทหารจะต้องรับมือกับการสู้รบจากฝ่ายต่อต้านแล้ว พวกเขาก็เพิ่งจะเผชิญกับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมจนมีผู้คนเสียชีวิตมากกว่า 400 ราย และมีผู้คนอีกหลายแสนคนที่ต้องการความช่วยเหลือ

ในขณะที่ฝ่ายเผด็จการพม่าพยายามจะขายเรื่องการเลือกตั้งภายในปี 2568 เพื่อโน้มน้าวให้ฝ่ายต่างๆ ยอมเจรจาสันติภาพ แต่กองทัพพม่าสังหารพลเรือนไปแล้วมากกว่า 5,700 ราย และจับกุมผู้คนมากกว่า 20,000 รายนับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ตัวเลขอ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า

สหประชาชาติออกคำเตือนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สิทธิมนุษยชนในพม่ากำลังตกต่ำระดับ "ดิ่งลงเหว" โดยระบุถึงการที่ผู้ต้องขังถูกทุบตีด้วยไม้พลองเหล็ก, ไม้ไผ่ และโซ่รถจักรยานยนต์ รวมถึงมีการใช้งูกับแมลงมาใช้ขู่นักโทษด้วย

 

เรียบเรียงจาก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net