Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีคำถามมาตลอดว่า ทั้งๆ ที่ “เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ” หรือเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เป็นชาวพุทธ ทำไมจึงมีการล้อมฆ่านักศึกษาร่วมร้อยคน ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเฉพาะสถานที่เกิดเหตุล้อมฆ่านั้น คือพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยู่ข้างๆ  “พระอารามหลวง” แค่คนละฝั่งถนน คือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ราชวรมหาวิหาร และยังมีการทารุณกรรมศพผู้เสียชีวิตอย่างอำมหิตป่าเถื่อน ด้วยการตอกอกศพ, ลากศพไปตามพื้นดิน, แขวนคอศพกับกิ่งไม้และใช้เก้าอี้ฟาด เป็นต้น ณ บริเวณท้องสนามหลวง หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “วัดพระแก้ว” อันเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ประจำพระบรมมหาราชวัง และเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” พระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมือง

คำถามดังกล่าว น่าจะอยู่บนสมมติฐานว่าพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตากรุณา สันติ อหิงสา แต่ทำไมจึงเกิดความรุนแรงป่าเถื่อนในลักษณะขัดแย้งกับคำสอนพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิงขึ้นมาได้ ณ บริเวณหน้าวัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

บางคนอาจแย้งว่า แม้ความรุนแรงป่าเถื่อนเช่นนั้นจะเกิดขึ้นที่หน้าวัดพระแก้ว แต่ก็ “ไม่เกี่ยวอะไรกับพุทธศาสนา” เพราะเป็นความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่าง “ฝ่ายขวา” ที่ชูอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กับ “ฝ่ายซ้าย” ที่ชูอุดมการณ์คอมมิวนิสต์

แต่เราจะบอกว่าไม่เกี่ยวใดๆ กับพุทธศาสนาเลยได้จริงๆ หรือ เพราะ “ชนวนเหตุ” นองเลือดเกิดจากกรณีจอมพลถนอม กิตติขจร เผด็จการทหารที่ถูกประชาชนขับไล่ออกจากประเทศในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อมาได้บวชเณรที่สิงคโปร์เพื่อใช้ “ผ้าเหลืองเป็นเกราะคุ้มภัย” กลับเข้าไทย และได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระญาณสังวรเป็นพระอุปัชฌาย์ ในวันที่ 19 กันยายน 2519

 พระจอมพลถนอม กิตติขจร (รูปกลาง) ที่มาภาพ https://workpointtoday.com/rewind21/

การบวชกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม เป็นเหตุให้ขบวนการนักศึกษาที่นำโดยศูนย์นิสิตและแนวร่วมต้านเผด็จการแห่งชาติยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล คัดค้านจอมพลถนอมที่ใช้ศาสนาบังหน้า ทำให้ศาสนามัวหมอง เรียกร้องให้นำจอมพลถนอมมาขึ้นศาลพิจารณาคดี พร้อมทั้งคัดค้านความพยายามที่จะก่อการรัฐประหาร ขณะที่ “กลุ่มยุวสงฆ์” ก็ออกแถลงการณ์คัดค้านสถานะภิกษุของจอมพลถนอม โดยขอให้มหาเถรสมาคมตรวจสอบการบวชครั้งนี้ว่าถูกต้องตามพระวินัยหรือไม่ และถวายหนังสือต่อสมเด็จพระสังฆราชให้สอบสวนพระญาณสังวรด้วย ในฐานะที่ทำการบวชให้แก่ผู้ต้องหาคดีอาญา ปรากฏว่าสมเด็จพระสังฆราชยอมรับว่าการบวชนั้นถูกต้อง ส่วนเรื่องขับไล่จอมพลถนอมจากประเทศนั้นเป็นเรื่องทางโลกที่ทางมหาเถรสมาคมไม่อาจเกี่ยวข้องได้ ขณะที่กิตติวุฑโฒภิกขุได้แถลงย้ำว่า การบวชของพระถนอมครั้งนี้ ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้นพระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์ (ดู https://doct6.com/learn-about/how/chapter-4)

ประเด็นคือ การบวชเพื่อใช้ผ้าเหลืองเป็นเกราะคุ้มภัย เป็น “การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง” แบบหนึ่งในประเพณีการต่อสู้ต่อรองอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำไทย ที่สืบมาตั้งแต่ยุคสังคมศักดินา เรียกการบวชเช่นนี้ว่า “บวชหนีราชภัย” โดยทั่วไปจะเป็นคู่แข่งทางการเมืองของกษัตริย์จำเป็นต้องออกบวชเพื่อรักษาชีวิต ขณะที่เป็นพระก็ต้องอยู่ในสายตาของกษัตริย์ตลอดว่าเขาผู้นั้นจะไม่กระด้างกระเดื่อง หรือซ่องสุมกำลังมาก่อกบฎได้ แปลว่าความราบรื่นของประเณีบวชหนีราชภัยขึ้นอยู่กับฝ่ายกษัตริย์ผู้กุมอำนาจยอมให้มีการบวชหนีราชภัยได้ภายใต้ “การจับตา” ว่าผู้บวชหนีราชภัยนั้นๆ จะต้องไม่มีพิษสงใดๆ ต่อราชบัลลังได้

แต่เมื่อนำประเพณีบวชหนีราชภัยแบบยุคสังคมศักดินามาใช้ในสังคมสมัยใหม่ ในกรณีการบวชของจอมพลถนอม แม้กลุ่มชนชั้นนำจะเจรจาต่อรองจนสามารถบวชพระได้ในพระอารามหลวงของนิกายประจำราชสำนัก แต่อำนาจต่อรองทางการเมืองในสังคมสมัยใหม่ไม่สามารถจำกัดไว้เฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น นักศึกษาและประชาชนที่ยืนยันว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” ย่อมจะไม่ยอมให้อำนาจทางการเมืองถูกผูกขาดในกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น และนี่คือสาเหตุที่พวกเขาออกมาประท้วงคัดค้านการบวชกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม

การบวชกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม จึงสะท้อนว่าพุทธศาสนามีส่วนเกี่ยวข้อง ในแง่ของการมีส่วนร่วมให้นำประเพณี “บวชหนีราชภัย” อันเป็นเกมต่อรองอำนาจทางการเมืองที่ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในยุคสังคมศักดินามาใช้กับสังคมสมัยใหม่ จนเป็นชนวนเหตุสำคัญของความขัดแย้งและการนองเลือด 6 ตุลาในที่สุด

แต่ถ้ามอง “ปรากฏการณ์” ดังกล่าวทะลุไปถึง “อุดมการณ์” จะพบว่าปัญหาความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ก็ยังมีพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งอยู่ดี เพราะอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” กลุ่มชนชั้นนำ (ทั้งพระและฆราวาส) ก็ยืนยันมาตลอดว่า “ศาสนา” หมายถึง “พุทธศาสนา” เช่น สัญลักษณ์ธงชาติไทย “สีขาว” ร.6 นิยามไว้ชัดเจนว่าหมายถึง “พระไตรรัตน์” หรือพุทธศาสนานั่นเอง

หากมองย้อนไปในยุครัฐประหาร 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สถาปนาระบบเผด็จการทหารขึ้นมา จนกลายเป็น “โมเดล” ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับการทำรัฐประหารครั้งต่างๆ ต่อมา ก็ชัดเจนว่า “ระบบเผด็จการทหารสถาปนาขึ้นควบคู่กับการชูอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แต่แทนที่จะเรียกตรงๆ ว่า “ระบบเผด็จการทหาร” ก็เลี่ยงไปเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย” ที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็มี “ความชอบธรรม” ได้ หากบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน สร้างความสามัคคี และพิทักษ์ไว้ซึ่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และในยุคสฤษดิ์เป็นต้นมาก็มีการใช้คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้าน “ภัยคอมมิวนิสต์” จนต่อมาเกิดกระแสโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นลัทธิที่มุ่งทำลายล้างพุทธศาสนาและสถาบันกษัตริย์

ดังที่เราทราบกัน พระชื่อดังนาม “กิตติวุฑฺโฒภิกขุ” คือผู้สร้างวาทะประวัติศาสตร์ขัดแย้งทางอุดมการณ์ในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” โดยเขาอธิบายว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ผู้มุ่งทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นั้น “ได้บุญมากกว่าบาป” เหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรถวายพระ ข้ออ้างสำคัญของเขาคือ “ถ้าเราไม่ฆ่าคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์จะยุให้คนไทยฆ่ากันเอง อาตมาขอยกตัวอย่าง ลัทธิคอมมิวนิสม์เข้าประเทศจีน คนจีนฆ่ากันเองเกือบร้อยล้านคน” (ดู https://themomentum.co/feature-rightwing-6oct/)

ที่มาภาพ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=3077314845893532&id=1551751431783222&set=a.1636533129971718

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.สุดสาย หัสดิน ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มกระทิงแดง” ว่า “อย่าไปเสียใจ (กับการเสียชีวิตนักศึกษา) เพราะผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อส่วนรวม ทำให้ชาติบ้านเมืองรอดพ้นจากการเป็นคอมมิวนิสต์” เนื่องจากเขาเชื่อว่านักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเอกสารที่พบในธรรมศาสตร์ก็เป็นเอกสารเกี่ยวกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เมื่อนักศึกษาหนีเข้าป่าก็ไปต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จริงๆ (ดู https://www.facebook.com/jom.petchpradab/videos/1711031409679297)


อย่างไรก็ตาม ประเด็นว่านักศึกษาในธรรมศาสตร์เป็น “คอมมิวนิสต์” จริงหรือไม่ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงและหาหลักฐานสนับสนุนให้ชัดเจนกันต่อไปเพื่อเคารพ “ความจริง” ทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นบทเรียนสำหรับอนาคต แต่ที่ชัดเจนแน่ๆ คือมีการชูอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นข้ออ้างในการล้อมฆ่านักศึกษาจริงภายใต้การโหมโฆษณาว่านักศึกษาเหล่านั้นเป็นคอมมิวนิสต์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ในช่วงรอยต่อระหว่างประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 กับ 6 ตุลา 19 ก็มีประเด็นเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่สำคัญคือ การเสนอแนวคิด “ธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาสภิกขุที่มองว่า ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยก็มีปัญหาในแง่ของการใช้เสรีภาพตามใจกิเลส สังคมนิยมที่ต้องได้มาจากการปฏิวัติด้วยความรุนแรง ก็มีปัญหาและไม่เหมาะกับสังคมไทยเช่นกัน ที่น่าจะเหมาะกับสังคมไทยคือธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการโดยธรรม คือการใช้ธรรมะเป็นหลักการปกครองด้วยวิธีเด็ดขาดเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ แต่แล้ว “เผด็จการโดยธรรม” ก็คือเผด็จการโดยคนดีที่มีธรรมะ เช่น มีทศพิธราชธรรมเป็นต้น ซึ่งไปสอดคล้องกับอุดมการณ์ฝ่ายขวามากกว่า แม้พุทธทาสจะถูกฝ่ายขวาบางคนกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” เพราะใช้คำว่า “สังคมนิยม” ในการเสนอแนวคิดก็ตาม

จนกระทั่งปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง “เสื้อเหลือง” กับ “เสื้อแดง” แนวคิดเผด็จการโดยธรรม (ตัด “สังคมนิยม” ทิ้งไป) ของพุทธทาสถูกนำมาอ้างสนับสนุนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ชัดเจนขึ้น ก็ยิ่งเป็นการเน้นย้ำ “ความเป็นหนึ่งเดียว” ของพุทธศาสนากับสถาบันกษัตริย์ชัดเจนขึ้น

ดังนั้น การเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองของพุทธศาสนาไทย แม้ในทางปรากฏการณ์อาจเป็นเรื่องบทบาททางความคิด และการเคลื่อนไหวของพระบางรูป กลุ่มพระสงฆ์และชาวพุทธบ้างกลุ่มที่อ้างธรรมะ ธรรมาธิปไตยในทางการเมืองเป็นต้นก็ตาม แต่ก็ย่อมถือว่าเป็นการเกี่ยวข้องทางการเมืองของ “พุทธศาสนาไทย” อยู่ดี เพราะเมื่อเกิดข้อพิพาทใดๆ ที่ต้องให้ศาสนจักรหรือ “มหาเถรสมาคม” ตัดสิน ก็ย่อมตัดสินบนหลักคิดที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นด้านหลักเสมอมา จึงเท่ากับพุทธศาสนาไทยแยกไม่ออกจากชาติและกษัตริย์

ปัจจุบันพุทธศาสนายิ่งถูกเน้นให้เป็นหนึ่งเดียวกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น เช่น ผ่านแนวคิดบนรูปลักษณ์ของ “สัปปยะสภาสถาน” จนมาถึงการเผยแพร่ “ธรรมนาวา วัง” เป็นต้น ดังนั้น เวลาเราพูดถึง “พุทธศาสนาไทย” เราจะไม่มีทางเข้าใจเนื้อแท้ของพุทธศาสนาเช่นนี้ได้เลย หากมองไม่เห็นความเป็นจริงว่าพุทธศาสนาไทยกับอุดมคติการปกครองโดยธรรมของสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ไม่อาจแยกจากกัน และไม่เห็นความจริงว่าการปกครองคณะสงฆ์ไทยอยู่ภายใต้พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณีที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะและเป็นอัครศาสนูปถัมภก  


สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาที่สร้างขึ้นตามอุดมคติการปกครองโดยธรรมโยงไปถึงคติไตรภูมิพระร่วง 
ที่มาภาพ https://parliamentmuseum.go.th/2564/ar64-sappaya-sapa.html

เมื่อพุทธศาสนาไทยกับสถาบันกษัตริย์คือเนื้อเดียวกัน หรือพุทธศาสนาไทยคือส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ คำถามที่ว่าทำไมจึงเกิดเหตุล้อมฆ่านักศึกษาที่ธรรมศาสตร์และการทารุณกรรมศพที่บริเวณสนามหลวงหน้าวัดพระแก้ว คำตอบก็ชัดเจนแล้วจากนักบวชอย่างกิตติวุฑโฒภิกขุว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้บุญมากกว่าบาป” เพราะเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์

หากมองใน “กรอบคิดประวัติศาสตร์อารมณ์” ที่อธิบายว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ครั้งสำคัญๆ มักมีแรงผลักดันทางอารมณ์ความรู้สึกอยู่เบื้องหลังเสมอ การล้อมฆ่านักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็เกิดจาก “อารมณ์ความรู้สึกกลัว” ของฝ่ายขวาต่อ “ภัยคอมมิวนิสต์” (ไม่ว่ากลุ่มนักศึกษาใน มธ.จะมีคอมมิวนิสต์แฝงตัวอยู่จริงหรือไม่) ที่ถูกปลุกเร้าอย่างเข้มข้นจนนำไปสู่ “ความรู้สึกเกลียดชัง” อย่างรุนแรง เช่น ความกลัวที่ถ่ายทอดผ่านคำพูดของกิตติวุฒโฒภิกขุ ตามที่ยกมาแล้วว่า “ถ้าเราไม่ฆ่าคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์จะยุให้คนไทยฆ่ากันเอง อาตมาขอยกตัวอย่าง ลัทธิคอมมิวนิสม์เข้าประเทศจีน คนจีนฆ่ากันเองเกือบร้อยล้านคน” การโหมกระพืออารมณ์ความรู้สึกกลัวเช่นนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยคล้อยตามได้ว่า “จำเป็นต้องฆ่านักศึกษา” ที่ถูกเชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และฆ่าไปแล้วก็ “ไม่ต้องรู้สึกเสียใจใดๆ” ตามความเห็นของผู้ก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดง เพราะเป็นการทำให้ประเทศไทยพ้นจากการตกเป็นคอมมิวนิสต์

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยอารมณ์ความรู้สึกกลัวที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ก็ไม่ได้มองแค่ว่า “คอมมิวนิสต์” เท่านั้นที่เป็นภัยคุกกคามอันน่ากลัว แม้แต่สิ่งที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” ก็เคยถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมาแล้ว อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกลก็เป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวเช่นกัน จึงต้องยุบพรรคในที่สุด

ดังนั้น เมืองพุทธที่มีพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงไม่ใช่เมืองพุทธที่เราจะคาดหวังได้ว่าคำสอนเรื่องเมตตากรุณา อหิงสา สันติ จะใช้ปฏิบัติได้จริงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพราะพุทธศาสนาเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง และมีบทบาทสำคัญในการสร้างความกลัวทั้งต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เสรีประชาธิปไตย หรืออะไรก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่มีพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในสามของสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดนั้น

ที่น่าเศร้าคือเราแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากประวัติศาสตร์เลือด 6 ตุลา หน้าวัดพระแก้ว เพราะจาก 6 ตุลา ในนามของการรักษาความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เราสร้างความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ จนปัจจุบันไม่มีภัยคอมมิวนิสต์แล้ว เรายังขยายความกลัวออกไปอย่างไร้ขอบเขต เช่น กลัวการแก้ 112 กลัวพรรคการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตย กลัวคนแบบอานนท์ นำภา และเพื่อนๆ ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ฯลฯ

สรุปคือ จากการสร้างความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ในประวัติศาสตร์เลือด 6 ตุลา มาสู่การสร้างความกลัวความเป็นประชาธิปไตยและกลัวหลักสิทธิมนุษยชนสากลในปัจจุบัน ซึ่งพุทธศาสนาไทยก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อเลี้ยงความกลัวที่ไร้เหตุผลเช่นนั้น 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net