Skip to main content
sharethis

“สุภลักษณ์” ชี้ปัญหากองทัพถือครองคลื่นวิทยุโทรทัศน์ไว้มาใช้เองทั้งไม่มีประสิทธิภาพ คนดูไม่มี รายได้ลด และยังน่าสงสัยถึงการบริหารของ ททบ.5 กับบริษัท RTA Enterprise ที่มีหนี้ไขว้กันเองไปมา แถมผู้บริหารบริษัทยังเป็นทหารที่ตามกฎหมายก็ห้ามเข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วย

12 ต.ค.2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการข่าวอาวุโส หนึ่งในกรรมาธิการทหารกล่าวถึงปัญหากองทัพไทยผูกขาดคลื่นวิทยุโทรทัศน์ที่บริหารอย่างไม่โปร่งใสและประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งในงาน “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ” ที่จัดโดย คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร

สุภลักษณ์กล่าวว่ากองทัพไทยที่มีหน้าที่หลักคือการป้องกันประเทศ แต่ครอบครองใบอนุญาตคลื่นวิทยุโทรทัศน์ดิจิทัลรวมแล้วอยู่ถึง 200 ใบ มากกว่ากรมประชาสัมพันธ์ที่มีหน้าที่ประกาศข่าวทางราชการถึง 2 เท่าตัว และเรื่องที่มีปัญหามากที่สุดคือสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 ปัจจุบันครอบครองคลื่นทีวีดิจิทัล 1 คลื่นเป็นทีวีสาธารณะประเภทความมั่นคงที่ให้เฉพาะกองทัพ และมีใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย MUX 2 และ MUX 5 สำหรับให้คนรอื่นมาเช่าใช้ได้

กมธ.ทหารเล่าถึงปัญหาของ ททบ.5 ที่มีวัตถุประสงค์จัดตั้งขึ้นมาเพื่อความมั่นคงแต่ไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงเพราะลงทุนไปมหาศาลเพื่อทำเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงแค่ 8% ของรายการทั้งหมด อีกทั้งเรตติ้งก็ต่ำมากเป็นอันดับ 19 ของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลทั้งหมดและมีคนดูเฉลี่ยในช่วงเวลาหนึ่งแค่ 8,000 กว่าคนเข้าถึงคนดูได้ 7 ล้านคน

ททบ.5 มีกำไรจนถึงปี 2560 แต่หลังจากนั้นมาก็ขาดทุนมาตลอด และไม่ทราบว่าขาดทุนเพราะอะไร เพราะเคยขอให้ชี้แจงงบดุลตั้งแต่เขาเข้าร่วมทำงานกับ กมธ.ทหารจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ และทางช่องก็ก็ชี้แจงแค่ว่าขาดทุนเฉลี่ยปีละ 100 ล้านบาท แต่ไม่รู้ว่าขาดทุนเพราะจากการบริหารสถานีหรือการให้เช่าใช้ MUX 

อย่างไรก็ตาม เขาพอจะทราบราคาเช่าใช้ MUX ในปัจจุบัน ถ้าเป็นโครงข่ายความคมชัดระดับ HD จะมีค่าเข่าใช้ 10.5 ล้านบาทต่อเดือน ถ้าเป็น SD ค่าเช่าจะมี 3.5 ล้านบาทต่อเดือน รวมกันแล้วคาดว่า ททบ.5 จะมีรายได้จากการรับจ้างถ่ายทอดสัญญาณประมาณ 822 ล้านบาท

สุภลักษณ์เน้นย้ำว่า เรื่องนี้มีความผิดปกติมากมายหลายอย่างที่ผู้แทนทั้งจาก ททบ.5 และกองทัพบกมาชี้แจงว่า ททบ.5 เป็นหน่วยงานสังกัดกองทัพบกแต่พอขอดูรายได้ของ ททบ.5 จากกองทัพบกเขาก็บอกว่าดูไม่ได้เพราะไม่ได้รวมบัญชีกัน

เขายังได้เล่าย้อนไปถึงวันที่บริษัท ททบ.5 ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีกองทัพบกถือหุ้นเองทั้งหมดในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2540 ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเพียงไม่กี่เดือน แต่พบรายงานของผู้สอบบัญชีช่วงปี 2543-2544 แจ้งว่าบริษัทนี้มีหนี้สิน 1,400 ล้านบาท

นอกจากนั้นบริษัทนี้มีชื่อนายพลจากกองทัพบกถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่และยังมีนายพลคนหนึ่งที่มีชื่อเป็นตัวแทนถือหุ้นแทนกองทัพบก แล้วต่อมาวันที่ 19 พ.ค.2540 ปรากฏชื่อบริษัท  RTA entertainment แต่รับโอนหนี้สินและทรัพย์สินจากบริษัท ททบ.5 ซึ่งพิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นบริษัทเดียวกันเพียงแต่เปลี่ยนชื่อ

สุภลักษณ์กล่าวว่าบริษัทนี้มีความสัมพันธ์ที่ผิดปกติกับ ททบ.5 จนปี 2547 คณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนความผิดปกติที่เกิดขึ้นราว 4-5 ประเด็น

ประการแรก สถานี ททบ.5 ให้บริษัท RTA entertainment เช่าเวลาและทำการตลาดต่อเนื่องถึง 30 ปีและต่ออายุออกไปอีกได้ครั้งละ 10 ปีโดยไม่มีเงื่อนไข

ประการที่สอง มีการโอนหุ้นการซื้อหุ้นเพิ่มของธนาคารทหารไทยให้กับบริษัทหนึ่งที่จดทะเบียนในเกาะบริทิชเวอร์จิ้น

ประการที่สาม น่าจะมีปัญหาเรื่องประโยชน์ทับซ้อนเพราะผู้บริหารสถานี ททบ.5 กับผู้บริหารบริษัท RTA entertainment  เป็นคนกลุ่มเดียวกัน คณะกรรมการที่ ครม.ตั้งมาได้เสนอให้ส่งเรื่องไป ปปช. แต่ต้องใช้เวลา 19 ปี ปปช.ถึงมีมติให้ตีตกเรื่องนี้ด้วยเหตุผลว่า ไม่พบผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นกระทำการใดที่ถือว่าเป็นความผิด

สุภลักษณ์กล่าวถึงข้อสังเกตว่าปกติหน่วยงานของรัฐถือหุ้นข้างมากกว่า 50% ของทั้งหมดบริษัทนั้นจะมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจและต้องรายงานเหมือนรัฐวิสาหกิจทั่วไป แต่ ททบ.5 ในเวลานั้นตั้งขึ้นมาโดยมีกองทัพบกถือหุ้น 100% และมีพนักงานอยู่แค่ 6 คน

แต่ปัญหานี้สินของ ททบ.5 กับบริษัทที่เริ่มเปลี่ยนชื่อจาก RTA entertainment มาจบที่ RTA enterprise ในปี 2547 บริษัท ททบ.5 กู้เงินจากสถานี ททบ.5 เพื่อซื้อหุ้นในธนาคารทหารไทยเพื่อพยุงสถานะของธนาคารในวิกฤติเศรษฐกิจเพราะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมหลายหน่วยไปถือหุ้นธนาคารทหารไทยไว้ต่อมาสถานี ททบ.5 ขอให้บริษัท ททบ.5 ไปกู้เงินธนาคารทหารไทยเพื่อมาทำทีวีดาวเทียมเป็นจำนวน 1,600 กว่าล้านบาท 

ผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่ ครม.ตั้งมาพบว่า บริษัท RTA entertainment เป็นหนี้สถานี ททบ.5 อยู่จำนวน 1,320 ล้านบาทและสถานีก็เป็นหนี้ RTA entertainment อยู่ 216 ล้านบาทแต่เรื่องนี้ ปปช.ก็ตีตกไปแล้วไม่มีการสอบสวนต่อ

สุภลักษณ์เล่าต่อว่าในปี 2561-2562 มีการกู้เงินระยะยาวในนาม ททบ.5 เป็นจำนวน 1,200 กว่าล้านบาท แล้ว 2562 เมื่อเปลี่ยนแปลงมาเป็นบริษัท RTA entertainment บริษัทก็รายงานผู้ถือหุ้นรับรู้ว่าหนี้นี้เป็นหนี้ของบริษัท

จากนั้น 2564 มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็น RTA enterprise บริษัทใหม่นี้เป็นทั้งบริษัทโฮลดิ้ง แล้วก็มีบริษัทดิจิทัลฮับแล้วก็ยังมีบริษัทไทยพรีเมี่ยมบุชเชอร์ ในรายงานการสอบบัญชี 2566 มีผลการดำเนินงานขาดทุนมากกว่าทุนจดทะเบียน 1,005 ล้านบาท ในทางเทคนิคต้องถือว่าบริษัทนี้ล้มละลายแล้ว

สถานีกับบริษัทที่มีความเกี่ยวพันก็คือตามประเพณีแล้วผู้อำนวยการ ททบ.5 เมื่อหมดวาระแล้วจะมาเป็นประธานกรรมการบริษัทต่อ แต่ปรากฏว่าในปี 2565 ผอ.ช่อง 5 ไม่เข้ารับตำแหน่งต่อในบริษัทซึ่งคาดได้ว่าคงเห็นปัญหาของบริษัท RTA enterprise  นี้แล้ว

ในรายงานผู้สอบบัญชี ปี 2565 เขียนไว้ในรายงานสอบบัญชีว่า ความสามารถในการดำเนินงานของบริษัท RTA enterprise ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการประกอบการของสถานี ททบ.5 แล้วสถานีก็ยังยืนยันจะสนับสนุน RTA enterprise  ต่อไปแม้ว่าจะขาดทุน แต่พอเข้าปี 2566 ผู้สอบบัญชีระบุหมายเหตุในรายงานว่าสถานี ททบ.5 ไม่ยืนยันจะสนับสนุนทางการเงิน RTA enterprise  อีกต่อไปแล้วและในปีเดียวกันข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้าภายในก็ยังระบุว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ยังเป็นกองทัพบก

“เราเห็นหนี้ เราเห็นบริษัทที่ถือว่าล้มละลายแล้ว มีความสัมพันธ์กันอยู่”

สุภลักษณ์มีข้อเรียกร้องต่อเรื่องนี้ถึงผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งให้ชี้แจงใน 4 ประเด็นคือ

ข้อแรก กองทัพบกจัดตั้งบริษัท ททบ.5 ที่ต่อมาเป็น RTA enterprise ได้อย่างไร เพราะตามพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานในสังกัดดำเนินการในเชิงพานิชย์หรือร่วมกับเอกชน

ข้อสอง นายพลทั้งหลายที่ถือหุ้นและเป็นกรรมการใร RTA enterprise ยังอยู่ได้อย่างไรเพราะคำสั่งคณะปฏิรุปการปกครองแผ่นดิน 2519 ห้ามข้าราชการกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการบริษัทหรือผู้จัดการบริษัทหรือให้คนอื่นอ้างชื่อก็ไม่ได้ แต่สภาพนี้ก็ยังดำรงอยู่

ข้อสาม เกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้บริหารสถานี ททบ.5 ชี้แจง กมธ.ทหารโดยปฏิเสธว่าบริษัทกับสถานีไม่เกี่ยวข้องกัน บริษัทอยู่ที่ไหนทำอะไรไม่รู้ แต่ กมธ.เคยโทรศัพท์บริษัทเพื่อเชิญให้ข้อมูลก็เจอแต่แม่บ้าน ก็ไม่รู้จะไปตามหาอย่างไรแม้จะมีชื่อคนชื่อบัญชีทุกอย่างหมด

ข้อสี่ ผู้แทนของสถานี ททบ.5 ยอมรับว่าบริษัท RTA enterprise เป็นลูกหนี้ แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการบังคับหนี้และเป็นหนี้เสียที่อาจจะเป็นหนี้สูญ

 

สุภลักษณ์กล่าวถึงหัวข้อต่อมาเรื่องคลื่นวิทยุของกองทัพ กมธ.มีข้อค้นพบว่า กองทัพมีสถานีวิทยุทั้งระบบ FM และ AM ทั้งหมด 196 สถานี คลื่นวิทยุ FM ทั้งหมด 40 คลื่น กองทัพมีอยู่ 19 คลื่น และรายได้จากสถานีวิทยุลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีรายได้เลยและอีกจำนวนไม่น้อยคือขาดทุน นอกจากนั้นยังมีรายจ่ายของสถานีที่น่าเคลือบแคลงสงสัย แล้วก็ยังให้บริษัทเอกชนส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการซึ่งดูแล้วน่าจะเกิน 40% ตามระเบียบของ กสทช.ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตใช้คลื่นต้องดำเนินการเองโดยให้บริษัทภายนอกเข้ามาร่วมได้ไม่เกิน 40%

นอกจากนั้นรายการส่วนใหญ่ในคลื่นไม่เกี่ยวกับความมั่นคงบางคลื่นเปิดเพลงเกือบ 24 ชั่วโมง และสุดท้ายคนไม่ฟังวิทยุแล้วเพราะย้ายไปแพลตฟอร์มอื่น

สุภลักษณ์กล่าวถึงเรื่องรายได้ของคลื่นวิทยุของกองทัพว่าช่องที่มีรายได้สูงคือบางช่องที่เป็นรายการเพลงเช่น คลื่นที่เปิดเพลงลูกทุ่ง 24 ชั่วโมงแล้วก็มีข่าวต้นชั่วโมงไม่ได้มีเนื้อหาอะไรเกี่ยวกับความมั่นคงมากมายนัก หรือคลื่น 93 ก็ให้บริษัทในเครืออาร์เอสเข้ามาทำเกิน 40% แน่เพราะเปิดเพลงเหมือนกัน

เขาแจกแจงถึงรายได้ของคลื่นวิทยุของแต่ละหน่วยด้วยเช่นคลื่นของกองบัญชาการกองทัพไทยที่มีอยู่ 14 คลื่น ปี 2559 มีรายได้ 70 ล้าน แต่ช่วงไม่กี่ปีนี้เหลือรายได้แค่ปีละ 4-5 ล้านบาทจะเห็นว่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เงินรายได้ที่ได้มาก็ถูกเอาไปใช้จ่ายในหมวดการดำเนินกิจการวิทยุกลับเป็นนำไปบริจาคให้สมาคมแม่บ้านและชมรมทหารอาวุโส ไปซื้อของขวัญอีก 6 ล้านบาท

“มันจะทำให้สถานีวิทยุเจริญก้าวหน้าแบบไหนถ้าใช้จ่ายกันมากขนาดนี้”

สุภลักษณ์ยังชี้ให้เห็นอีกว่ากองบัญชาการกองทัพไทยจ่ายค่าใบอนุญาตรายปีทั้ง 14 คลื่นให้กับ กสทช.ในปี 2566 เพียง 3,631.50 บาท และทางหน่วยงานก็ไม่ได้ชี้แจงว่าแล้วปีก่อนๆ จ่ายเท่าไหร่อย่างชัดเจนเพียงแค่บอกว่าคงลืมลงในบัญชี

“จำนวนมันน้อยนิดจนรู้สึกว่าประเทศชาตินี้เงินทองหายไปไหนหมด”

สุภลักษณ์กล่าวต่อถึงคลื่นวิทยุของกองทัพเรือที่มีอยู่ทั้งหมด 21 คลื่นเป็น FM 14 คลื่น AM 7 คลื่น ที่มีรายได้จากการดำเนินงานลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน และคลื่นที่กองทัพเรือถือก็แบ่งให้เอกชนถือครอง แม้จะมีคลื่นหนึ่งที่มีรายได้ดีคือ 93 full Fahrenheit แล้วก็คลื่น 106 ของครอบครัวข่าว แต่ว่าคลื่นที่ไม่มีคนทำก็ต้องจ่ายเหมือนกันก็ใช้วิธีเปิดเพลงหรือให้ทหารมาพูดบ้างเพราะ กสทช.กำหนดไว้ว่าห้ามยุติดำเนินการจนกว่าใบอนุญาตจะหมดอายุ

ส่วนกองทัพอากาศมีทั้งหมด 36 คลื่น FM/AM อย่างละ 18 คลื่น แต่ AM มีคนเข้าร่วมผลิตรายการเพียง 3 คลื่นที่เหลืองกองทัพอากาศต้องดำเนินการเอง และกองทัพอากาศก็ขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2562 และ 2566 และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเหลืออยู่ 1 คลื่นก็ชี้แจงมาโดยมีงบดุลในปี 2565 กับ 2566 ตัวเลขเท่ากันหมดจนถึงเศษสตางค์ แต่ก็ยังเป็นตัวเลขขาดทุนอยู่ดี

ข้อสรุปของสุภลักษณ์ต่อเรื่องทั้งหมดนี้ว่าโดยเขาตั้งเกณฑ์ไว้ 4 เกณฑ์ที่กองทัพจะดำเนินการกับคลื่นต่างๆ ที่เป็นทรัพย์สินของชาติไว้

ข้อแรก กองทัพมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บคลื่นไว้หรือไม่ เขาเห็นว่าไม่จำเป็นเพราะเนื้อหาทั้งหมดมีแค่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง ถ้าทำเนื้อหาน้อยขนาดนี้เขาคิดว่าสามารถไปขอลงกับสถานีอื่นได้โดยไม่ต้องลงทุนเป็นร้อยล้านพันล้านเพื่อทำสถานีวิทยุเอง

ข้อสอง ประสิทธิภาพในการดำเนินการธุรกิจ เพราะสภาพขาดทุน เรตติ้งคนดูคนฟังน้อย ไม่คุ้มค่าดำเนินการ บางแห่งที่ไม่มีรายได้ก็ยังต้องเอารายได้จากหน่วยอื่นมาอุ้มไว้

ข้อสาม การดำกิจการวิทยุโทรทัศน์ของทหารส่วนใหญ่ไม่โปร่งใส อย่างกรณีของ ททบ.5 ทั้งเรื่องหนี้สินจะทำอย่างไรใครจะรับผิดชอบ

ข้อสี่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยงานในกองทัพกันเองที่หน่วยหนึ่งสามารถมีสวัสดิการหรือทำมาหากินจากคลื่นที่ครอบครองอยู่ได้แต่อีกหน่วยหนึ่งไม่สามารถมีได้ และยังเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยงานทหารกับหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่ฝ่ายทหารได้รับอภิสิทธิ์เอาคลื่นมาทำสวัสดิการให้กับพวกตัวเองได้

“ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมกับสังคมอย่างยิ่งที่ทรัพยากรของชาติจำนวนมากมายเอามาใช้กันอย่างอิรุ่ยฉุยแฉกไร้ประสิทธิภาพทำให้ประเทศชาติเสียหาย ผมอยากจะเรียกร้องผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านทั้งรัฐบาล รัฐมนตรีกลาโหม ผบ.เหล่าทัพทุกท่านได้แนวแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง ให้ประเทศชาติราษฎรได้มั่นคงและยืนยงวัฒนาถาวรเอย” สุภลักษณ์ทิ้งท้าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net