Skip to main content
sharethis

เสวนาออนไลน์จับตาเลือกตั้ง อบจ. 67-68 มองผ่านการเมืองระดับชาติถึงท้องถิ่น สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ชี้บทบาทศาล รธน. ยุบก้าวไกลสะท้อนระเบียบทางการเมืองฝ่ายจารีตนิยมดำเนินต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเริ่มเห็นขุมข่ายภูมิใจไทยผสานพลังการเมืองท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง - ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สะท้อนภาพการเมืองบ้านใหญ่พยายามรักษาความสัมพันธ์พื้นที่-ผู้คน ในขณะที่คนรุ่นใหม่เริ่มมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นมากขึ้นซึ่งในอนาคตจะเริ่มส่งผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น - ณัฐกร วิทิตานนท์ ชี้ว่าการเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ปี 67 ในหลายจังหวัดผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังออกมาไม่มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 66 ส่วนสนามเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ผู้สมัครแชมป์เก่าที่มีเครือข่ายยังได้เปรียบผู้สมัครหน้าใหม่ ยิ่งไม่มีฐานเสียงยิ่งเสียเปรียบ แต่ยังมีความหวังกระจายอำนาจต้องรื้อระบบราชการส่วนภูมิภาคด้วย เพราะงบ คน อำนาจ อยู่ที่ราชการส่วนภูมิภาคและผู้ว่าราชการจังหวัด

เสวนาโฉมหน้าประเทศไทย มองผ่าน #เลือกตั้งอบจ. 67-68

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวประชาไทจัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘โฉมหน้าประเทศไทย มองผ่าน #เลือกตั้งอบจ. 67-68’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาออนไลน์กับนักข่าวพลเมืองภายใต้โครงการท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ เพื่อถอดรหัสและทำความเข้าใจการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปี 2567 และ 2568 และการเลือกตั้งสภา อบจ.ทั่วประเทศ รวมทั้งภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล และถอดถอนนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ปัจจัยเหล่านี้จะกระทบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวาระรณรงค์กระจายอำนาจอย่างไร

ระเบียบทางการเมืองจารีตที่ต่อเนื่องสะท้อนผ่านบทบาทศาลรัฐธรรมนูญ

“ผลของการวินิจฉัยคดีการเมืองทั้ง 2 คดีของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไร มันเพียงสะท้อนโครงสร้างทางการเมืองในระบอบประยุทธ์ หรือระบอบขุนศึกศักดินาที่ต่อเนื่องมา” สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนอาวุโสในฐานะบรรณาธิการโครงการท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ เริ่มต้นการเสวนาด้วยประเด็นดังกล่าว เขากล่าวว่า ระบบโครงสร้างทางอำนาจนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 คณะรัฐประหารทำให้ระบบการปกครองของประเทศไทยรวมศูนย์อำนาจไปอยู่ที่ชนชั้นนำทางจารีตประเพณี โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ 2560

และที่สำคัญถ้าเราอ่านและฟังการให้เหตุผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในคดีการยุบพรรคก้าวไกล ก็สะท้อนให้เห็นว่าเหตุผลทางจารีตประเพณีและอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่เหนือเหตุผลทางกฎหมาย และแสดงให้เห็นว่าอำนาจตุลาการนั้นอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

“คุณเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีนโยบายปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมว่ากฎหมายใดๆ ก็ตามฝ่ายนิติบัญญัติก็มีอำนาจอันชอบทำที่จะเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย โดยหลักการแล้วคุณอาจจะเสนอกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือขัดกับอุดมการณ์หลักของชาติ แต่โดยกระบวนการของมันไม่มีทางที่จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานและเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเสนอปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เขาเห็นว่าไม่สอดคล้อง

ประการที่สองในแง่ของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่ควรทำก็คือบอกประชาชนว่าถ้าได้อำนาจไปแล้วจะไปทำอะไร การหาเสียงว่าจะแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมเป็นหน้าที่ๆ จะบอกประชาชนอย่างโปร่งใส ผมไม่เห็นด้วยที่บางคนแม้แต่ในฝ่ายก้าวหน้าเสนอว่าลดเพดานเรื่องมาตรา 112 ไปแล้วก็ไม่ต้องบอกถึงเวลาก็แก้ไปเลยที่เดียวในสภา ผมก็เห็นว่าเป็นการมุมมิบทำ ถ้าจะทำก็ควรหาความสนับสนุนจากประชาชน ถ้าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ก็สมควรก็จะมีโอกาสได้รับทราบ”

ศาลก็เอาอำนาจจารีตประเพณี มาอยู่เหนือสิทธิทางรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าพรรคการเมืองที่มีแนวคิดออกนอกกรอบของการรวมศูนย์ทางอำนาจ พวกเขาจะไม่สามารถทำได้

พลังภูมิใจไทยผสานขุมข่ายท้องถิ่น

จากปัญหาการเมืองระดับชาติ สุภลักษณ์ได้เชื่อมโยงกลับมายังการเมืองในระดับท้องถิ่น ที่ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นกลุ่มการเมืองฝ่ายก้าวหน้ายังไม่สามารถสร้างฐานทางการเมืองในระดับท้องถิ่นได้ สืบเนื่องมาจากกลุ่มคนที่มักจะได้รับเลือกในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยังเป็นกลุ่มคนที่มีเครือข่ายเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติ หรือกลุ่มคนที่มีฐานทางการเมืองที่เข้มแข็งเท่านั้น หรือที่เรียกว่า ‘การเมืองบ้านใหญ่’ จึงจะได้รับเลือก

การบริหารงานในท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ การผันทรัพยากร ซึ่งพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่อย่างก้าวไกล/ประชาชนยังไม่สามารถเข้าไม่ถึงโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิม ไม่ต้องดูไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่การคัดเลือก สว. ล่าสุดก็สะท้อนภาพดังกล่าว

ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยไม่เพียงแต่ มีขีดความสามารถจับโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยได้อย่างแน่นหนา แต่ยังสามารถผสมผสานกับพลังทางการเมืองขุมข่ายอื่นได้มากกว่า อย่างในกรณีเครือข่าย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. แถมในบางพื้นที่ยังสามารถประสานกับเครือข่าย อบต. อบจ. ได้อีก ขีดความสามารถในการเข้าถึงมวลชนเช่นนี้เองสามารถแปรเป็นผลการเลือกตั้งท้องถิ่นได้

การเมืองบ้านใหญ่ พี่ใหญ่ในระดับท้องถิ่น

อาจารย์ ดร.ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้นำเสนอถึงขอบเขตอำนาจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งนี้ โดยในเรื่องขอบเขตนั้นพบว่า อบจ.มีหน้าที่การดูแลสาธารณะของทั้งจังหวัดรวมถึงการจัดเก็บรายได้ในท้องถิ่น ซึ่งต้องทำงานกับท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ดังนั้นคนที่จะมาเป็นนายกอบจ. จึงเป็นคนที่ต้องเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มท้องถิ่น ดังนั้นการเมืองในลักษณะของบ้านใหญ่ที่มีความยึดโยงกับพื้นที่จึงยังคงมีอิทธิพลเสมอมา

“บ้านใหญ่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิดมาตลอดตั้งแต่ในอดีต” ธัญณ์ณภัทร์เปรียบเทียบกับการเมืองในสมัยใหม่ “แต่การเมืองแบบใหม่ คนมองว่าท้องถิ่นควรมีระบบการรับฟังปัญหาที่ดีกว่านี้ ดังนั้นบ้านใหญ่เองก็พยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์กับพื้นที่ ผู้คน เพราะเมื่อคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในท้องถิ่นมากขึ้น ย่อมส่งผลกับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้”

อย่างไรก็ดีธัญณ์ณภัทร์เสริมว่า ความหมายของคำว่าบ้านใหญ่นั้น ไม่ได้เป็นภาพเดียวกันกับที่สื่อพยายามนำเสนอ เพราะในจังหวัดหนึ่งพื้นที่ถูกแบ่งในหลายตระกูลย่อย ในหลายจังหวัดยังปรากฎลักษณะของการเมืองบ้านใหญ่ที่ประกอบไปด้วยบ้านขนาดกลาง และขนาดเล็กหลายๆ หลังเข้าด้วยกัน ซึ่งแยกหรือร่วมมือกันทำงานตามสถานการณ์ทางการเมือง

ก้าวไกล/ปชน. ยังไม่เข้าเป้าเลือกตั้งท้องถิ่น-เพื่อไทยใช้กลยุทธ์ผสานบ้านใหญ่ได้ผลกว่า

ทางด้าน ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ก็ได้เสริมว่า กลุ่มคนชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ยังไม่รู้สึกร่วมกับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น สะท้อนจากอัตราการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งระดับชาติในปี 2566 สูงถึง 75% ในขณะที่การเลือกตั้ง อบจ. ที่คึกคักที่สุดในปี 2563 มีผู้ออกไปใช้สิทธิเฉลี่ยทั้งประเทศ 62% (หมายเหตุ-ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ราชบุรีเมื่อ 1 ก.ย. 67 มีผู้ออกไปใช้สิทธิ 75%)

ณัฐกรพบว่าความคาดหวังของคนที่อยากเห็นการเมืองดีนั้น ฝากความหวังไว้กับการเมืองระดับชาติในการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ปฏิรูปกองทัพ รวมทั้งการกระจายอำนาจ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้งมายาคติที่ฝังมาอย่างยาวนานว่าการเมืองท้องถิ่นเต็มไปด้วยความรุนแรง ทั้งที่จริงแล้วการเลือกตั้งคือคำตอบ คือการตัดสินที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้

ซึ่งหลังจากปี 2563 เป็นต้นมา ณัฐกรพบว่าพรรคการเมืองกระโดดมาเล่นการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าอย่างพรรคก้าวไกล (เดิม) ยังคงไม่ประสบความสำเร็จในเวทีท้องถิ่น ในขณะที่กลยุทธ์ของพรรคเพื่อไทยที่เน้นใช้กลยุทธ์การเมืองแบบบ้านใหญ่กลับประสบผลสำเร็จมากกว่า

“การเมืองท้องถิ่นยิ่งคุณมีเครือข่ายก็ยิ่งได้เปรียบ ในขณะที่ผู้สมัครหน้าใหม่ ตัวคนเดียวไม่มีฐานเสียงก็เสียเปรียบ เพราะมันไม่ได้เกิดการเลือกตั้งพร้อมๆ กัน” ณัฐกรกล่าว

ห้องเรียนออนไลน์ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

 

ทิศทางการกระจายอำนาจ โจทย์ท้าทายของรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง

ธัญณ์ณภัทร์มองว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน จะไม่เกิดขึ้นโดยทันทีในรัฐบาลที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร โดยนโยบายการกระจายอำนาจนั้นจะไปอยู่ในนโยบายเรื่องอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทย เช่น นโยบายเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone – NBZ) หรือนโยบายอย่าง Soft Power ที่มีการชูอัตลักษณ์ของท้องถิ่นขึ้นมา ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่านโยบายเหล่านี้ จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจและพลังของท้องถิ่นขึ้นมาได้อย่างไร

โดยอีกหนึ่งนโยบายของพรรคเพื่อไทยคือนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดนำร่อง แต่นโยบายดังกล่าวก็มีทีท่าว่าจะไม่ได้ไปต่อ เนื่องจากทางพรรคภูมิใจไทยเป็นคนกุมอำนาจในกระทรวงมหาดไทย และสุภลักษณ์ก็มองว่าพรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้แข็งแรงพอที่จะปล่อยอำนาจเหล่านี้ออกไป เพราะเรื่องของการกระจายอำนาจเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่หากมีการปล่อยให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการเลือกมากขึ้น การแข่งขันก็จะสูงตามมา อย่างไรก็ดีสุภลักษณ์ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

“ถ้าจะกระทำการกระจายอำนาจต้องคิดทั้งระบบ ต่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ไม่มีการกระจายอำนาจ โครงสร้างอำนาจไม่ได้เอื้อให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจขนาดนั้น ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะไม่สามารถไปสั่งการหน่วยงานราชการอื่นๆ ได้” สุภลักษณ์กล่าว

ดังนั้นณัฐกรจึงได้เสริมว่า ถ้าจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจำเป็นต้องรื้อระบบราชการส่วนภูมิภาคด้วย เพราะงบประมาณส่วนใหญ่อยู่กับราชการส่วนภูมิภาค และเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดยังเชื่อมโยงและมีอำนาจอยู่ในหน่วยงานราชการพื้นที่ตนเองด้วย

“ถ้าจะกระจายอำนาจให้ได้ผล ต้องนำมาสู่การปฏิรูประบบราชการด้วย แต่ความพยายามที่ผ่านมาเกิดการต่อต้านค่อนข้างสูงกับการที่ไปจัดการกับระบบงานของหน่วยงานราชการ” ณัฐกรกล่าว

โดยในตอนท้ายของการเสวนา ธัญณ์ณภัทร์ได้กล่าวสรุปภาพรวมของการเมืองในระดับท้องถิ่นที่ถูกแบ่งอำนาจการปกครองผ่านนายก อบจ. และผู้ว่าราชการจังหวัดที่ปกครองในพื้นที่เดียวกัน แต่มีการแยกส่วนอำนาจกัน เช่น ฝั่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีอำนาจนำในการบริหาร แต่เรื่องของงบประมาณยังคงต้องพึ่งพิงจากท้องถิ่นที่มีงบประมาณอยู่ในมือ รวมทั้งปัญหาที่มาของผู้ว่าที่มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้นเขาจึงทำงานรับใช้ผู้แต่งตั้งที่นโยบายจากรัฐบาลเป็นงานสำคัญมากกว่าปัญหาของประชาชน ในขณะที่นายกอบจ.นั้นมาจากการแต่งตั้งของประชาชน จึงทำให้ในฝั่งหลังนี้จำเป็นต้องออกนโยบายเพื่อเอาใจมวลชน 

ดังนั้นการกระจายอำนาจที่จะตอบโจทย์การบริหารท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่นั้น จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน ทำให้คนรุ่นใหม่และคนในเมืองเห็นความสำคัญของการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งปฏิรูประบบราชการที่เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยเสมอมา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net