Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินจำกัดการใช้โทษประหารเฉพาะคดีร้ายแรง แต่ยังไม่ยกเลิกทั้งหมด กลุ่มต่อต้านโทษประหารชี้ข้อเสียหลายประการ ทั้งเสี่ยงประหารผิดคน ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่แก้ปัญหาสังคมที่เป็นต้นเหตุ แต่ผลสำรวจล่าสุดพบประชาชนกว่า 80% ยังสนับสนุนโทษประหาร สะท้อนอุปสรรคใหญ่ในการผลักดันยกเลิกโทษประหารผ่านสภานิติบัญญัติ


ที่มาภาพ: Alpha Photo (CC BY-NC 2.0) 

Hsieh Chih-Hung เป็นผู้ที่เคยถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตด้วยข้อหาที่เขาไม่ได้เป็นคนก่อ ในตอนที่เขาถูกจับกุมด้วยข้อหานี้ เขาอายุได้เพียง 20 ปี ในตอนนั้นเขาถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุฆาตกรรมผู้หญิงอายุ 18 ปี และชายอายุ 68 ปีในไต้หวัน

มีการจับกุม Hsieh Chih-Hung เมื่อเดือน มิ.ย. 2543 เขาและครอบครัวพยายามสู้คดีแก้ต่างให้ตัวเองว่าไม่ได้กระทำผิด พวกเขาเคยเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะใช้ได้จริง แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตเมื่อเดือน ต.ค. 2544 ในขณะเดียวกันก็มีข้อกล่าวหาว่าทางการอาศัยวิธีการทารุณกรรม Hsieh ให้ยอมรับสารภาพ

เรื่องนี้ทำให้ Hsieh สูญเสียความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เขารู้สึกว่าไม่มีที่ให้เขาอยู่ในโลกใบนี้

กรณีของ Hsieh สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ไต้หวันจะเป็นประเทศที่มีลักษณะแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย แต่ก็ยังคงมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ และการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมานี้เอง

กลุ่มนักโทษรอการประหารชีวิต 37 รายเคยยื่นร้องเรียนขอให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในไต้หวันเมื่อเดือน เมษายน ที่ผ่านมา แต่ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันก็ตัดสินเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะไม่ยกเลิกโทษประหารโดยสิ้นเชิง แต่จะจำกัดการใช้โทษประหารอยู่แค่กับอาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้นแทน โดยพวกเขาอ้างว่าโทษประหารชีวิตนั้นเป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญไต้หวัน

ถึงแม้ว่าคำตัดสินดังกล่าวจะถือว่าเป็นชัยชนะสำหรับนักโทษประหารบางส่วน แต่ผู้เรียกร้องยกเลิกโทษประหารชีวิตก็มองว่า การไม่ยอมยกเลิกโทษประหารโดยสิ้นเชิงก็ยังนับว่าเป็นความล้าหลังสำหรับไต้หวัน

ข้อโต้แย้ง 1 เสี่ยงประหารผิดคน

หนึ่งในสาเหตุที่มีการเรียกร้องยกเลิกโทษประหารนั่นก็คือการกลัวว่ามันจะกลายเป็นการประหารผิดคน คือ เป็นการที่ผู้ต้องหาซึ่งถูกดำเนินคดีหรือถูกตัดสินลงโทษทั้งที่พวกเขาไม่ได้ผิดจริงจะโดนประหารชีวิตไปฟรีๆ กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในไต้หวันเช่นกัน

กลุ่มเอ็นจีโอไต้หวันชื่อ 'ไต้หวันอินโนเซนซ์โปรเจกต์' (TIP) เป็นกลุ่มเอ็นจีโอที่คอยช่วยเหลือคนที่ถูกกล่าวหาแบบผิด ๆ เอ็นจีโอกลุ่มนี้ระบุว่า เหตุการณ์ที่มีคนถูกประหารชีวิตเพราะอาชญากรรมที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งมาก

เช่นกรณีของทหารอากาศชื่อ Chiang Kuo-Ching ถูกตัดสินเมื่อปี 2549 ว่ามีความผิดข้อหาข่มขืนและฆาตกรรมเด็กหญิงวัย 5 ขวบ ถึงแม้ว่าในปี 2554 จะมีการพลิกคำตัดสินอีกครั้งว่าเขาไม่มีความผิด แต่เขาก็ถูกประหารชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้ 14 ปี

แต่ก็มีกรณีอื่น ๆ ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือการที่ผู้ถูกลงโทษทั้งที่ไม่มีความผิดไม่ได้รับการพลิกคำตัดสิน และอาชญากรตัวจริงก็ยังคงลอยนวล Ko Yun-Ching รองผู้อำนวยการ TIP บอกอีกว่าการประหารชีวิตจำเลยที่ไม่มีความผิดยังจะกลายเป็นการทำให้คดีนั้นสูญเสียพยานสำคัญไปคนหนึ่งด้วย พอสูญเสียพยานไปก็ทำให้มีหลักฐานน้อย ทำให้สืบหาความจริงได้ยากขึ้น

ข้อโต้แย้ง 2 สิทธิในการมีชีวิตอยู่

ฝ่ายต่อต้านโทษประหารชีวิตระบุว่า ต่อให้คน ๆ หนึ่งก่ออาชญากรรมจริง ซึ่งควรจะถูกประณาม แต่กระนั้นรัฐก็ไม่มีสิทธิที่จะปลิดชีวิตคนๆ นั้น

Wu Jiazhen รองผู้อำนวยการกลุ่มพันธมิตรไต้หวันเพื่อการยกเลิกโทษประหาร TAEDP บอกว่ากลุ่มของพวกเขามองว่า "โทษประหารเป็นความรุนแรงจากรัฐในรูปแบบหนึ่ง" แน่นอนว่าสิ่งที่อาชญากรกระทำก็ไม่ใช่เรื่องที่สมควร แต่มันก็ไม่สมควรเหมือนกันที่จะปลิดชีวิตคน

กลับมาที่เรื่องของ Hsieh อดีตนักโทษประหารผู้ถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ เขาเคยต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำที่คุมขังนักโทษประหารมาเป็นเวลา 19 ปี เปิดโอกาสให้เขามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเหล่านี้เป็นประจำ ทำให้เขามองเห็นความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่แม้แต่ในตัวอาชญากรเหล่านี้ได้ มันทำให้ Hsieh สรุปได้ว่า เหตุผลที่คนๆ หนึ่งประกอบอาชญากรรม "ไม่ใช่เพราะคน ๆ นั้นเป็นคนชั่วร้าย" Hsieh จึงอยากให้ "เลิกอคติและมองพวกเขาในฐานะเป็นคนๆ หนึ่ง"

ข้อโต้แย้ง 3 ทำให้รัฐไม่แก้ปัญหาสังคมที่เป็นต้นเหตุ

ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันจะอ้างว่าพวกเขาใช้โทษประหารชีวิตในฐานะการป้องปรามไม่ให้มีการกระทำผิด แต่ฝ่ายต่อต้านโทษประหารมองเรื่องการต่อต้านอาชญากรรมในสังคมกว้างกว่าแค่การกลัวการโดนลงโทษแต่เพียงเท่านั้น

ฝ่ายต่อต้านโทษประหารมองว่าการเน้นโทษประหารจะเป็นการโฟกัสเรื่องอาชญากรรมไปที่ผู้ก่อเหตุแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จนหลงลืมปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบสร้างให้เกิดการก่ออาชญากรรมมาตั้งแต่แรก เช่นปัญหาในสังคม สิ่งเหล่านี้จะถูกละเลย เมื่อถูกละเลยก็ทำให้ไม่สามารถลดอาชญากรรมได้อย่างแท้จริง

เส้นทางเรื่องโทษประหารในไต้หวันจะเป็นอย่างไรต่อไป

ถึงแม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันจะกำหนดให้มีความเข้มงวดมากขึ้นในการใช้โทษประหารชีวิต เช่น คำตัดสินจากผู้พิพากษาต้องเป็นเอกฉันท์ ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากสามารถอุทธรณ์ในเรื่องโทษประหารได้

แต่ในสายตาของฝ่ายต่อต้านโทษประหารชีวิตนั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นในเชิงหลักการมากกว่า ทำให้พวกเขามองว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องโทษประหารครั้งล่าสุดนี้อาจจะกลายเป็นดาบสองคมได้

Cheng-Yi Huang ศาสตราจารย์นักวิจัยที่สถาบันนิติศาสตร์ของอคาเดเมียซินิกากล่าวว่า การที่แค่เพิ่มข้อกำหนดในการใช้โทษประหารแต่ไม่ยกเลิกโดยสิ้นเชิงนั้น อาจจะทำให้การต่อสู้เพื่อยกเลิกโทษประหารโดยสิ้นเชิงนั้นทำได้ยากขึ้น เพราะศาลจะใช้เป็นข้ออ้างในการโต้แย้งได้ และอาจจะทำให้มีการท้าทายในเรื่องนี้น้อยลง ทำให้ Huang มองว่าการเปลี่ยนแปลงล่าสุดเป็นความล้าหลังมากกว่าจะเป็นชัยชนะเล็กๆ

อุปสรรคจาก 'มติมหาชน'

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้เรียกร้องยกเลิกโทษประหารชีวิตคือความคิดเห็นจากประชาชน เนื่องจากการพยายามผลักดันยกเลิกโทษประหารผ่านทางศาลนั้นเป็นเรื่องยาก ทำให้นักรณรงค์มองช่องทางผลักดันผ่านสภานิติบัญญัติ แต่อิทธิพลของความคิดเห็นสาธารณะที่ส่วนใหญ่ไม่อยากให้ยกเลิกโทษประหารก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเรื่องนี้ได้

สมาคมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมไต้หวัน เคยรายงานผลสำรวจเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาระบุว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 81.6 ยังคงเห็นด้วยกับโทษประหาร มีอยู่เพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่ต่อต้านโทษประหาร นอกจากนี้ยังมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 80.9 ที่มองว่าการคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตไม่ได้ขัดต่อกระแสโลก

ในผลสำรวจอีกแห่งหนึ่งที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือจากผลสำรวจของมูลนิธิความคิดเห็นสาธารณะของไต้หวัน ออกมาเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 84.6 เห็นด้วยกับการยังคงโทษประหารชีวิตเอาไว้ มีอยู่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลง การสำรวจดังกล่าวนี้มาจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,077 ราย ซึ่งในแบบสอบถามมีการถามความคิดเห็นทางการเมืองเรื่องอื่นๆ อยู่ด้วยนอกเหนือจากเรื่องโทษประหาร

นอกเหนือจากความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ในไต้หวันก็มีฝ่ายการเมืองที่แสดงจุดยืนสนับสนุนโทษประหารชีวิต นั่นคือพรรคก๊กมินตั๋ง KMT ซึ่งในปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ พวกเขาถึงขั้นประท้วงไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้มีการจำกัดการใช้โทษประหารแต่กับคดีร้ายแรง

ในขณะที่พรรคการเมืองประชาธิปไตยก้าวหน้า DPP ของไต้หวัน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีภาพลักษณ์เป็นเสรีนิยมในประเด็นทางสังคม แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพวกเขาปิดปากเงียบในเรื่องโทษประหาร ซึ่งมีคนสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะพวกเขากลัวกระทบคะแนนเสียงถ้าพูดแตะเรื่องนี้

แต่กลุ่มเอ็นจีโอที่ต่อต้านโทษประหารก็ยังไม่หมดหวัง Hsieh บอกว่าถ้าอยากให้เกิดความก้าวหน้าในประเด็นนี้คงต้องทำให้คนได้พูดคุยหารือกันเรื่องโทษประหารอย่างเปิดกว้างมากขึ้น Hsieh หวังว่าคำตัดสินล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้เรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นอภิปรายในระดับชาติได้ ถึงแม้ว่าเขาจะเสียดายที่ศาลไม่ได้ยกเลิกโทษประหารโดยสิ้นเชิงก็ตาม


เรียบเรียงจาก
After Taiwan rules to uphold death penalty, the next battle abolitionists face is in the court of public opinion, Hong Kong Free Press, 06-10-2024
Most want to keep death penalty: poll, Taipei Times, 19-09-2024
 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
Taiwan Public Opinion Foundation : May 2024 Public Opinion Poll – English Excerpt, 28-05-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net